ถึงสิ้นเดือนกันยายน 2565 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ที่ดำเนินมากว่า 2 ปีครึ่งแล้ว ทำให้สภาวะทางกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม กลับมาใช้บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เป็นหลัก แต่คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมในช่วงที่ผ่านมานั้นยังดำเนินต่อไป แม้จะมีคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้องอย่างต่อเนื่องก็ตาม
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,860 คน ในจำนวน 1,139 คดี ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 283 ราย
เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้น 7 คน คดีเพิ่มขึ้น 19 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) บางส่วนเป็นคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูลเพิ่มเติม โดยเป็นคดีที่เกิดขึ้นก่อนแล้ว และมีกรณีการนับจำนวนคดีที่มีอยู่เดิมเปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า
หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,704 ครั้ง
สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่
1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 215 คน ในจำนวน 234 คดี
2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 127 คน ในจำนวน 39 คดี
3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,468 คน ในจำนวน 661 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง)
4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 107 คน ในจำนวน 75 คดี
5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 151 คน ในจำนวน 171 คดี
6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 27 คน ใน 7 คดี
จากจำนวนคดี 1,139 คดีดังกล่าว มีจำนวน 248 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว ในจำนวนนี้มีกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องจำนวน 30 คดี เท่ากับยังเหลือคดีอีกกว่า 891 คดี ที่ยังดำเนินอยู่
.
.
แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีในช่วงเดือนกันยายน 2565 นี้ มีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้
สถานการณ์คดี ม.112 ทราบผู้ถูกดำเนินคดี-คุมขังเพิ่ม 5 ราย มีคำพิพากษาใหม่อีก 4 คดี
เดือนกันยายนที่ผ่านมา ยอดรวมสถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เท่าที่ทราบข้อมูลไม่น้อยกว่า 215 คน ใน 234 คดี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 5 คน ใน 6 คดี โดยมีอย่างน้อย 2 คน ที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างต่อสู้คดี
สำหรับคดีที่เกิดขึ้นใหม่ในเดือนที่แล้ว จำนวน 1 คดี ได้แก่ คดีของ “นุ้ย” วรัณยา คนทำสื่ออิสระ ที่ถูกจับกุมจากเหตุไปร่วมร้องเพลงของวงไฟเย็น ระหว่างกิจกรรมขับไล่ประยุทธ์ ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยคดีมี “เต้ อาชีวะ” เป็นผู้กล่าวหาไว้ที่ สน.พญาไท ตำรวจได้ขอออกหมายจับ โดยที่ไม่เคยมีหมายเรียกมาก่อน และยังนำตัวไปที่ บช.ปส. ซึ่งไม่ใช่ท้องที่เกิดเหตุ ก่อนศาลจะให้ประกันตัว
นอกจากนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับทราบข้อมูลจากอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบของมาตรา 112 ที่มีต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชน ของสภาผู้แทนราษฎร ว่ามีกรณีผู้ถูกดำเนินคดีข้อหามาตรา 112 นี้ ในช่วงปี 2564-65 ซึ่งคดีสิ้นสุดแล้ว 5 ราย ได้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำหลายพื้นที่ โดยไม่ทราบรายละเอียดคดี แต่ไม่ใช่คดีที่ทราบข้อมูลก่อนหน้านี้ จึงได้นับเป็นข้อมูลทางสถิติไว้เพิ่มเติมจำนวน 5 คดี
เดือนที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นยังมีคำพิพากษาคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 4 คดี โดยมี 2 คดี ที่ต่อสู้คดี ได้แก่ คดีของ “นิว” จตุพร กรณีแต่งชุดไทยร่วมเดินแฟชั่นโชว์บนถนนสีลม ศาลอาญากรุงเทพใต้เห็นว่าจำเลยมีการแสดงตนเป็นราชินี ในเชิงล้อเลียนเสียดสี ก่อให้เกิดความตลกขบขัน เป็นการไม่แสดงความเคารพต่อสถาบันกษัตริย์ พิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา นิวต้องถูกคุมขังระหว่างรอประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ทั้งหมด 3 วัน
.
.
ส่วนคดีของทิวากร กรณีสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ถ่ายรูปโพสต์ลงเฟซบุ๊ก รวมถึงโพสต์เรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ยุติการใช้มาตรา 112 และปล่อย 4 แกนนำราษฎร ศาลจังหวัดขอนแก่นได้มีคำพิพากษายกฟ้องทุกข้อหา เห็นว่าข้อความของจำเลยไม่ได้ระบุให้รู้ได้โดยแน่นอนว่าเป็นองค์พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ และสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112
แนวทางการตีความที่เริ่มชัดเจนขึ้นในหลายคำพิพากษาในขณะนี้ คือการกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในภาพรวม ไม่ได้เจาะจงตัวบุคคล รวมทั้งกล่าวถึงอดีตพระมหากษัตริย์ ไม่ถือเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 แต่ก็ยังต้องจับตาคำพิพากษาในศาลสูงต่อไป
ขณะที่ยังมีอีก 2 คดี ที่จำเลยซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปตัดสินใจให้การรับสารภาพ และพบว่าแม้ศาลจะลงโทษจำคุก แต่ก็ให้รอลงอาญาไว้ ได้แก่ คดีของ “บุญลือ” (คอมเมนต์โต้ตอบกันเกี่ยวกับลักษณะที่ดีของกษัตริย์ และความจำเป็นในการปฏิรูปสถาบันฯ) และคดีของ “อัปสร” (แชร์โพสต์ข้อความของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ วิจารณ์ราชวงศ์ไทย แต่ไม่ได้เขียนข้อความใดประกอบ) ที่ศาลจังหวัดพังงา และศาลอาญามีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 3 ปี และ 4 ปี ตามลำดับ แต่ให้รอการลงโทษไว้ทั้งสองคดี
.
.
สิ้นสุดสถานการณ์ฉุกเฉินรับมือโควิด แต่คดีจากการชุมนุมยังดำเนินต่อ แม้อัยการไม่ฟ้อง-ศาลยกฟ้องต่อเนื่อง
เดือนกันยายน นับเป็นช่วงสิ้นสุดของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดำเนินมารวมระยะเวลา 2 ปี 6 เดือน กับ 6 วัน แต่คดีจากการชุมนุมทางการเมืองต่างๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้สิ้นสุดตามไปด้วย ยังมีคดีอีกไม่น้อยกว่า 574 คดี อยู่ระหว่างขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม (อ่านสรุปรายงานคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ภาพรวม)
แนวโน้มคดีที่มีการต่อสู้ พบว่าศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องเป็นส่วนใหญ่ เดือนที่ผ่านมา ศาลต่างๆ ได้มีคำพิพากษายกฟ้องเพิ่มเติมอีก 5 คดี ทั้งคดีคาร์ม็อบสัญจรยื่นหนังสือทะลุโลก, คดีชุมนุม #ม็อบ17ตุลา63 ที่วงเวียนใหญ่, คดีของคุณภัทร ผู้ไปขายหนังสือ-เสื้อใน #ม็อบ2พฤษภา64, คดีของมีมี่ เยาวชนที่ถูกกล่าวหาจากการร่วมปราศรัยใน #ม็อบ25ตุลา63 และคดีคาร์ม็อบฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต
ขณะที่มีคดีเดียวที่ศาลเห็นว่ามีความผิด แต่ให้ลงโทษปรับ ได้แก่ คดีชุมนุม #ม็อบ3กันยา64 ที่แยกราชประสงค์ ศาลลงโทษปรับจำเลย 2 ราย ที่เห็นว่าเข้าร่วมชุมนุม คนละ 20,000 บาท ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษปรับเหลือคนละ 13,333.33 บาท
นอกจากนั้นในเดือนกันยายน ยังมีรายงานคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีเพิ่มเติมอีก 3 คดี ทั้งคดีเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น 37 คน ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล, คดีคาร์ม็อบ #คนเชียงรายไม่ทน และคดีผู้ไปสังเกตการณ์ชุมนุมที่ดินแดง วันที่ 3 ก.ย. 2564
แต่ก่อนสิ้นสุดเดือนกันยายน ตำรวจยังคงมีการแจ้งข้อกล่าวหาในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใหม่ๆ อยู่อีก ได้แก่ คดีประชาชนและนักกิจกรรม 4 คน ร่วมกิจกรรมเดินขับไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในโอกาส #8ปีประยุทธ์ จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มายังทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23-24 ส.ค. 2565, คดีของกิจกรรมด้านสิทธิแรงงาน 5 ราย ร่วมเรียกร้องการแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตคนทำงาน และขับไล่ประยุทธ์ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 รวมทั้งมีการย้อนแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ชุมนุมอีก 2 ราย ที่เข้าร่วม #ม็อบ14พฤศจิกา64 กรณีคัดค้านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเรื่องล้มล้างการปกครองฯ ด้วย
ทั้งนี้ในเดือนที่ผ่านมา ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้แก้ไขสถิติคดีชุมนุมวันที่ 21 ต.ค. 2563 ซึ่งมีนักกิจกรรมและประชาชน 12 คน ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง ซึ่งเดิมนับเป็น 1 คดี แต่ต่อมาในการสั่งฟ้องคดี อัยการได้ฟ้องแต่ละคนแยกคนละคดี และไม่ได้มีการรวมการพิจารณาคดีเข้าด้วยกัน ศาลจึงทยอยมีคำพิพากษาออกมาในรายคดี จึงได้มีการแก้ไขการนับจำนวนคดีใหม่ ทำให้จำนวนสถิติข้อหานี้เพิ่มขึ้น 11 คดี
.
.
บทบาทของอัยการในการสั่งไม่ฟ้องคดี-ยุติคดี
สถานการณ์การดำเนินคดีต่อประชาชนที่ออกมาใช้เสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกอาจยุติลงได้ โดยการดำเนินการของฝ่ายอัยการ ซึ่งหลายคดีก็มีคำสั่งไม่ฟ้องให้เห็นแล้ว แต่ยังไม่มากนัก (ในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมอย่างน้อย 23 คดี) ขณะที่มีคดีจำนวนมากยังต้องต่อสู้ในชั้นศาล
เมื่อแนวโน้มคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนใหญ่ ศาลยกฟ้องอย่างต่อเนื่องแล้ว และสถานการณ์โรคระบาดก็สิ้นสุดลงแล้ว การดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันต่อไป ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ทั้งสร้างต้นทุนต่อทั้งผู้ถูกกล่าวหา และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมเอง ที่ต้องใช้เวลาดำเนินการในคดีเหล่านี้
องค์กรอัยการในภาพรวมอาจดำเนินการยุติคดีทั้งหมด ทั้งโดยการสั่งไม่ฟ้องคดี หรือยื่นขอถอนฟ้องคดีต่างๆ ได้ ซึ่งตาม มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 ก็ได้ให้อำนาจไว้
นอกจากคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เดือนกันยายนที่ผ่านมา ยังมีตัวอย่างคดีตามมาตรา 116 ของหนึ่งในสมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจของกลุ่ม และได้โพสต์เชิญชวนประชาชนให้มาร่วมชุมนุม จนเป็นเหตุให้มีกลุ่มคนก่อความไม่สงบเรียบร้อย ทางอัยการก็ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว โดยเห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่ชัดเจน และถ้อยคำที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวในไลฟ์สด ก็ยังไม่ได้เข้าข่ายองค์ประกอบมาตรานี้
.