ศาลให้ประกันตัว “นุ้ย” สื่ออิสระ หลังถูกจับคดี ม.112 เหตุร้องเพลงของวงไฟเย็น ในกิจกรรมไล่ประยุทธ์

1 ก.ย. 2565 เวลาประมาณ 19.30 น. มีรายงานว่า วรัณยา แซ่ง้อ หรือ “นุ้ย” สื่ออิสระวัย 48 ปี ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมบริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ภายหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรม “ปล่อยเพื่อนเรา” โดยเป็นการจับกุมในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” จากกรณีการไปร่วมร้องเพลงของวงไฟเย็น ระหว่างกิจกรรมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565

.

จับกุมหลังออกหมายจับ 1 วัน แจ้งข้อหาเหตุร้อง 2 เพลง ของวงไฟเย็นใน #ม็อบ23สิงหา65

การจับกุมดังกล่าวเป็นการจับกุมตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 31 ส.ค. 2565 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.พญาไท เข้าจับกุม ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.อ.บวรภพ สุนทรเลขา ผู้กำกับการ สน.พญาไท

ในตอนแรกมีรายงานว่าตำรวจจะนำตัววรัณยา ไปยัง สน.พญาไท สถานีตำรวจเจ้าของคดี แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ภายในสโมสรตำรวจแทน

เวลา 21.00 น. ทนายความเดินทางติดตามไปถึง บช.ปส. แต่ยังรอพนักงานสอบสวนเดินทางมาถึง จากนั้นได้มีการจัดทำบันทึกจับกุม โดยส่วนหนึ่งได้ระบุว่าตำรวจได้รับแจ้งจาก “สายลับ” ว่าวรัณยาจะมาปรากฏตัวที่ถนนงามวงศ์วานดังกล่าว

พ.ต.ท.วิทยากร สุวรรณเรืองศรี รองผู้กำกับสอบสวน สน.พญาไท ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อวรัณยา โดยเหตุที่ถูกกล่าวหาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 เจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าวรัณยา พร้อมกับพวก ได้จัดกิจกรรมร้องเพลงเล่นดนตรีบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หลังป้ายรถเมล์ใต้สกายวอล์ค โดยมีการไลฟ์สดผ่านช่องยูทูป “ศักดินาเสื้อแดง” ให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าดูได้ โดยมีเนื้อเพลงลักษณะเสียดสีใส่ร้ายทางการเมือง และสถาบันพระมหากษัตริย์

เจ้าหน้าที่ได้ยกเนื้อเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” และ “ใครฆ่าร.8” ของวงไฟเย็น มากล่าวหา พร้อมระบุว่าบุคคลทั่วไปเมื่อได้ฟังเพลงดังกล่าว เจตนาด้อยค่าพระมหากษัตริย์ ทั้งพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันและในอดีต ทำให้ผู้ได้ยินได้ฟังรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังพระมหากษัตริย์ เป็นการนำข้อมูลอันเป็นเท็จมาแสดงต่อสาธารณะและสื่อโซเชียลที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

ตำรวจระบุว่าคดีนี้มี นายอัครวุธ ไกรศรีสมบัติ หรือ “เต้” จากกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ กับพวก เป็นผู้มาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา โดยวรัณยาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

หลังการสอบปากคำ พนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัววรัณยาไว้ที่ บช.ปส. 1 คืน

.

ตำรวจนำตัวขอฝากขัง ก่อนศาลให้ประกันตัว ภายใต้เงื่อนไข

ก่อนในช่วงสายวันที่ 2 ก.ย. 2565 จะนำตัวไปขออนุญาตศาลอาญาในการฝากขังผู้ต้องหา โดยตำรวจอ้างเหตุว่ายังต้องรอสอบพยานเพิ่มเติมอีก 6 ปาก และรอผลตรวจลายนิ้วมือและประวัติการต้องโทษ เป็นเหตุในการขอฝากขัง

พนักงานสอบสวนยังคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา โดยระบุว่าคดีมีอัตราโทษสูง หากได้รับการปล่อยตัว เกรงว่าจะหลบหนีและผู้ต้องหาเคยกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้มาก่อน และอยู่ระหว่างปล่อยตัวชั่วคราวของศาลอาญากรุงเทพใต้ เกรงว่าจะไปกระทำความผิดซ้ำ หรือทำผิดเงื่อนไขของศาล

ต่อมา ศาลอาญาได้อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาเป็นระยะเวลา 12 วัน ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน โดยเห็นว่ามีเหตุจำเป็นเมื่อการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ ทางทนายความจึงได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว

ก่อนที่เวลาประมาณ 17.15 น. ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์ 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ต้องหากระทำการใดๆ ในลักษณะหรือทำนองเดียวกันกับการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา หรือกระทำไปในทางที่ทำให้เสียหายหรือเสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ และให้ตั้งผู้กำกับดูแลผู้ต้องหา โดยให้ผู้ต้องหาไปรายงานตัวกับผู้กำกับดูแลทุก 15 วัน ในระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว มิฉะนั้นถือว่าผิดสัญญาประกัน

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ วรัณยาได้เคยถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ มาตรา 116 มาก่อน ในคดีกิจกรรมทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 โดยเธอไปไลฟ์สดกิจกรรมดังกล่าว ทำให้ถูกดำเนินคดีไปด้วย

จากการจับกุมในคดีนี้ ทำให้สถิติคดีมาตรา 112 ตั้งแต่หลังการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกปี 2563 เป็นต้นมา มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 229 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 210 คน

.

X