ตุลาคม 65: จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองยอดรวม 1,864 คน ใน 1,145 คดี

เดือนตุลาคม 2565 ไม่มีการดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้นใหม่มากนัก แต่ทั้งคดีตามมาตรา 112 และคดีจากการชุมนุมที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2563 ยังทยอยขึ้นสู่ศาลและมีคำพิพากษาอย่างต่อเนื่องในหลายคดี และแม้จะมีการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้ว แต่คดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ยังถูกอัยการสั่งฟ้อง และกระบวนการยุติธรรมต้องใช้เวลาไปกับการจัดการคดีเหล่านี้อีกมาก

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,864 คน ในจำนวน 1,145 คดี  ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 283 ราย

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนกันยายน 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้น 4 คน คดีเพิ่มขึ้น 6 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) 

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,710 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 217 คน ในจำนวน 236 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 127 คน ในจำนวน 39 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 662 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง) 

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 107 คน ในจำนวน 75 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 154 คน ในจำนวน 174 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 27 คน ใน 7 คดี

จากจำนวนคดี 1,145 คดีดังกล่าว มีจำนวน 268 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยเป็นคดีที่เป็นการปรับในชั้นสอบสวนหรือชั้นศาลจำนวน 156 คดี และมีคดีอัยการสั่งไม่ฟ้องจำนวน 35 คดี  เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 877 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ

.

.
แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีในช่วงเดือนตุลาคม 2565 นี้ มีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้

สถานการณ์คดี ม.112 เพิ่มขึ้น 2 คดี มีคำพิพากษาในรอบเดือนอีก 3 คดี 

เดือนตุลาคม ยอดรวมสถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เท่าที่ทราบข้อมูล เพิ่มขึ้น 2 ราย ใน 2 คดี โดยมีจำเลยในคดีข้อหานี้อย่างน้อย 3 คน ที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างต่อสู้คดี ได้แก่ สมบัติ ทองย้อย, พรชัย ยวนยี และมิกกี้บัง

สำหรับคดีที่เกิดขึ้นใหม่ ได้แก่ คดีของอติรุจ โปรแกรมเมอร์ วัย 25 ปี ที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวออกไประหว่างขบวนเสด็จของรัชกาลที่ 10 เคลื่อนผ่านบริเวณหน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยกล่าวหาว่าอติรุจไม่ยอมนั่งลง และตะโกนว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ” หลังการแจ้งข้อหา และการขอฝากขัง เขายังได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี

นอกจากนั้น ยังมีหมายเรียกมาตรา 112 ในคดีของ สภ.เมืองชุมพร ที่อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกลในพื้นที่ได้รับหมาย แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดข้อกล่าวหา 

เดือนที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นยังมีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 3 คดี โดยเป็นคดีของประชาชนทั่วไปที่ศาลจังหวัดนราธิวาส 2 คดี ซึ่งมี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหาไว้ทั้งสองคดี ได้แก่ คดีของ “วารี” ที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เห็นว่าพยานโจทก์ยังไม่เพียงพอให้เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้นำเข้าโพสต์ข้อความตามฟ้อง

ตรงกันข้ามกับคดีของภัคภิญญา ที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกถึง 9 ปี จากข้อความใน 3 กระทง โดยศาลเห็นว่าพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้องจริง แต่ศาลยังให้ประกันตัวในระหว่างยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา

.

ส่วนคดีของพิพัทธ์ ศาลจังหวัดสมุทรปราการได้มีคำพิพากษายกฟ้องในลักษณะเดียวกับคดีของ “วารี” เนื่องจากเห็นว่าหลักฐานที่ผู้กล่าวหานำมาแจ้งความ เป็นการแคปภาพหน้าจอ ไม่ใช่สิ่งพิมพ์จากข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยตรง จึงเห็นว่าพยานหลักฐานยังมีข้อสงสัย โดยคดีนี้เป็นอีกหนึ่งในชุดคดีที่กลุ่มปกป้องสถาบันฯ นำไปกล่าวหาไว้หลายสิบคดีที่ สภ.บางแก้ว

สถานการณ์คำพิพากษาและการสืบพยานในคดีของประชาชนทั่วไปที่ถูกฟ้องคดีที่ศาลต่างๆ ในข้อหาตามมาตรา 112 ยังเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญที่ต้องจับตาต่อไป

.

คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมยังดำเนินต่อ ศาลยกฟ้องไปอย่างน้อย 6 คดีในเดือนเดียว มีลงโทษ 2 คดี

เดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นเดือนแรกที่สถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศใช้ต่อเนื่องมากว่า 2 ปีครึ่งได้ยุติลงแล้ว ส่วนในการดูแลการชุมนุมสาธารณะได้กลับมาใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ เป็นตัวบทกฎหมายหลักแทน โดยยังไม่มีรายงานการดำเนินคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมคดีใหม่เกิดขึ้น

ยกเว้นมีรายงานเพียงกรณีของสมาชิกกลุ่ม Korat Movement ไปยืนชูป้ายระหว่างที่มีขบวนเสด็จผ่านในพื้นที่นครราชสีมา ทำให้ถูกพาตัวไปสถานีตำรวจ ก่อนสมาชิกรายหนึ่งจะถูกเปรียบเทียบปรับ 100 บาท ในข้อหาไม่พกพาบัตรประชาชน  

ขณะที่คดีข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ดำเนินต่อเนื่องมาจากการชุมนุมช่วงปี 2563-65 ก็ยังไม่ได้สิ้นสุดลง แต่ยังถูกนำขึ้นสู่ชั้นศาลอย่างต่อเนื่อง 

แนวโน้มส่วนใหญ่ พบว่าศาลยังคงมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยเดือนที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องไป 6 คดี ทั้งคดีชุมนุมของกลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทาน ที่ข้างทำเนียบรัฐบาล, คดีชุมนุมหน้าสถานทูตเมียนมา ของจำเลย 1 ราย, คดีชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย ของ อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์, คดี “แซน” เยาวชนร่วมชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว, คดีคาร์ม็อบแม่สอด และคดีนักกิจกรรมชุมนุมให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดีราษฎรโขงชีมูล ที่หน้า สภ.เมืองขอนแก่น

นอกจากนั้น ยังมีคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่อัยการสั่งไม่ฟ้องเพิ่มเติมอีก 5 คดี โดยเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่ดินแดง 4 คดี และคดีชุมนุม #ศุกร์13ไล่ล่าทรราช บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่ก็ยังมีอีกหลายคดีที่อัยการมีคำสั่งฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้นักกิจกรรมหลายคนมีภาระในการต่อสู้คดีจำนวนมาก

.

.

แต่ในเดือนที่ผ่านมา ยังมีคำพิพากษาในบางศาลที่วินิจฉัยไปในแนวทางว่าผู้ชุมนุมมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเพียงแค่จัดหรือเข้าร่วมการชุมนุมก็ถือเป็นความผิดแล้ว ได้แก่ คดีคาร์ม็อบอุตรดิตถ์ ที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 2 เดือน โดยไม่รอลงอาญา เห็นไปในแนวว่าแม้กิจกรรมมีลักษณะขับขี่รถไปตามท้องถนน ในพื้นที่โล่งแจ้ง มีความเสี่ยงต่ำ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่และสามารถแพร่โรคได้เช่นกัน โดยคดีนี้นับเป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมคดีแรกที่ศาลมีพิพากษาจำคุกและไม่รอลงอาญาอีกด้วย แต่จำเลยทั้งสองคนยังได้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์

นอกจากนี้ ยังมีคดีชุมนุม #ม็อบมุ้งมิ้ง ที่หน้ากองทัพบก เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2563 ที่ศาลแขวงดุสิตเห็นว่าการชุมนุมไม่ได้จัดให้มีจุดคัดกรอง ไม่มีการเว้นระยะห่าง จึงลงโทษปรับจำเลยคนละ 20,000 บาท และ ปรับข้อหาใช้เครื่องเสียงคนละ 200 บาท แต่ลดโทษให้ 1/4 เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์เหลือปรับคนละ 15,150 บาท โดยไม่ได้มีโทษจำคุกแต่อย่างใด

สถานการณ์คำพิพากษาข้างต้น ดูจะสะท้อนถึงแนวทางการวินิจฉัยที่แตกต่างกันของศาลต่างๆ ต่อข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการชั่งน้ำหนักกับเสรีภาพการชุมนุมของประชาชน ซึ่งแตกต่างกันไปตามความเห็นของผู้พิพากษา

.

.

คำพิพากษาน่าสนใจหลายคดี ทั้งคดี ม.116-พ.ร.บ.ชุมนุมฯ-ละเมิดอำนาจศาล

ช่วงเดือนตุลาคม ยังมีคำพิพากษาในคดีการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองที่น่าสนใจในข้อหาอื่นๆ โดยมีสองคดีที่มีแนวคำพิพากษาน่ากังวลต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม ได้แก่ คดี “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 ของทิวากร วิถีตน จากกรณีโพสต์เชิญชวนให้บุคคลทั่วไปเข้ามาลงชื่อในเว็บไซต์ Change.org ล่ารายชื่อคนที่ต้องการทำประชามติให้เลือกว่าจะคงไว้หรือยกเลิกระบอบกษัตริย์ ที่ศาลจังหวัดลำปางเห็นว่ามีความผิด โดยให้ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่ให้รอลงอาญาไว้ 

และคดีไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ของ “เจมส์ ประสิทธิ์” นักกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ จากกรณีชุมนุม #ไม่ถอยไม่ทน ที่ประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2562 ที่ต่อสู้คดีจนถึงชั้นศาลฎีกา แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ที่เห็นไปในแนวว่าการโพสต์ชวนเชิญให้เข้าร่วมชุมนุม ก็เข้าข่ายเป็น “ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ” แล้ว โดยเท่าที่ทราบข้อมูล คดีนี้เป็นคดีแรกที่ไปถึงชั้นศาลฎีกาและมีคำวินิจฉัยในประเด็นนี้ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ 

ส่วนคำวินิจฉัยอีกกรณีหนึ่ง ได้แก่ กรณีถูกกล่าวหาละเมิดอำนาจศาลของ “ลุงดร” ภราดร เกตุเผือก ผู้สื่อข่าวพลเมือง กรณีตั้งกล้องไลฟ์สดใกล้ประตูทางออกศาลอาญากรุงเทพใต้นั้น ศาลได้วินิจฉัยยกข้อกล่าวหา โดยเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ทราบถึงข้อกำหนดของศาล เนื่องจากไม่มีการติดประกาศถึงสถานที่หวงห้าม และบริเวณที่สามารถไลฟ์สดได้อย่างชัดเจน อีกทั้งไม่มีเจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ และไม่มีพยานหลักฐานใดที่ปรากฏว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบริเวณศาล

.

X