จับตา 26 ตุลา ศาลสมุทรปราการนัดพิพากษาคดี ม.112 “พิพัทธ์” หนุ่มพิษณุโลก กรณีถูกกล่าวหาโพสต์ข้อความในกลุ่ม “ตลาดหลวง” ปี 63

ในวันที่ 26 ต.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดสมุทรปราการนัดฟังคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ของ “พิพัทธ์” (สงวนนามสกุล) หนุ่มวัย 21 ปี จากจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) สืบเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ พร้อมใส่ข้อความแทรกบนภาพ 2 ประโยค ในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส”

คดีนี้มีผู้กล่าวหาคือ นางสาวอุราพร สุนทรพจน์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาคดีมาตรา 112 ไว้ที่ สภ.บางแก้ว ไม่ต่ำกว่า 5 คดี จากจำนวนไม่น้อยกว่า 14 คดี ที่สถานีตำรวจนี้ และศาลนัดสืบพยานจนเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 23-24 ส.ค. 2565

ชวนทบทวนประเด็นการต่อสู้ในคดีนี้ และปากคำของพยานระหว่างพิจารณาในชั้นศาล ก่อนศาลมีคำพิพากษา

.

ข้อมูลประกอบการสืบพยาน 

IP Address หรือ Internet Protocal Address  คือ หมายเลขประจำเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องในระบบเครือข่ายที่ใช้โปรโตคอลแบบ TCP/IP สามารถบอกได้ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งอยู่ที่ไหน และแต่ละ IP จะไม่ซ้ำกัน


URL Facebook หรือ Copy link ของ Facebook คือ ที่อยู่ของชื่อบัญชีเฟซบุ๊กผู้ใช้


URL หรือ Universal Resource Locator คือ ที่อยู่เว็บแบบสมบูรณ์ที่ใช้ค้นหาหน้าเว็บที่เฉพาะเจาะจง ขณะที่โดเมนคือชื่อของเว็บไซต์ URL จะเป็นสิ่งที่นำไปยังหน้าใดหน้าหนึ่งภายในเว็บไซต์ ทุก URL จะประกอบด้วยชื่อโดเมนและองค์ประกอบอื่นๆ ที่จำเป็นในการค้นหาหน้าเว็บหรือเนื้อหาที่เจาะจง 

ตัวอย่าง URL ได้แก่

http://www.google.com
https://www.youtube.com/feed/trendin

.

ภาพรวมการสืบพยาน: โจทก์เห็นว่าโพสต์เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และรัชทายาท จำเลยยืนยันต่อสู้คดี ย้ำตนไม่ได้เป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กตามที่ถูกฟ้อง

ศาลออกนั่งพิจารณา 09.30 น. ก่อนเริ่มการสืบพยาน ศาลได้สอบถามจำเลยอีกครั้งว่า จะให้การยอมรับหรือปฎิเสธ จำเลยยืนยันให้การปฎิเสธและขอต่อสู้คดี 

ภาพรวมของการสืบพยานโจทก์ โจทก์นำพยานขึ้นเบิกความทั้งหมด 6 ปาก เบิกความในทำนองเดียวกันว่า โพสต์และข้อความตามฟ้องนั้นเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และองค์รัชทายาท รวมถึงจากการสืบสวนจากข้อมูลทะเบียนราษฎรพบว่า จำเลยน่าจะเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวโพสต์ข้อความแต่เพียงคนเดียว

ด้านข้อต่อสู้ของฝ่ายจำเลยคือ โพสต์เฟซบุ๊กที่ผู้กล่าวหาแคปหน้าจอและพิมพ์ออกมา ก่อนนำมาแจ้งความร้องทุกข์นั้นขาดความน่าเชื่อถือ เนื่องจากอาจผ่านการตัดต่อ แก้ไข และเปลี่ยนแปลงข้อมูลมาแล้ว รวมถึงจำเลยยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์เฟซบุ๊กดังกล่าวแต่อย่างใด โดยฝ่ายจำเลยนำพยานขึ้นเบิกความทั้งหมด 3 ปาก

.


ผู้กล่าวหาชี้การกระทำของจำเลยเป็นการดูหมิ่น ใช้เสรีภาพไม่ถูกต้อง รับว่าเก็บหลักฐานจากการแคปหน้าจอโทรศัพท์ ไม่ได้สั่งพิมพ์จากเฟซบุ๊ก

อุราพร สุนทรพจน์ อายุ 35 ปี ประกอบอาชีพนักธุรกิจ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อปี 2563 พยานได้เปิดเฟซบุ๊กเจอกลุ่ม “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส” จึงเข้าไปสอดส่องเพื่อดูว่าสถานการณ์ทางการเมืองเป็นอย่างไร เท่าที่พยานทราบ วัตถุประสงค์ของกลุ่มนี้คือเพื่อสร้างความเท็จและมุ่งทำลายสถาบันกษัตริย์ ในความเข้าใจของพยาน คำว่า “สถาบันฯ” หมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 และราชวงศ์จักรี 

อุราพรเบิกความว่า สาเหตุที่เข้ากลุ่มดังกล่าว เพื่อติดตามดูทัศนคติของคนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะอาจมีพนักงานของตนอยู่ในนั้น โดยได้พบชื่อเฟซบุ๊กของจำเลยโพสต์พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าทีปังกรฯ พร้อมข้อความ 2 ประโยค ซึ่งเห็นว่าเป็นข้อความดูหมิ่น เสียดสี และใส่ความ ในฐานะที่พยานเป็นประชาชนคนหนึ่ง มองว่าการกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้เสรีภาพไม่ถูกต้อง และเป็นการใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด 

เกี่ยวกับการพิสูจน์ตัวตนผู้โพสต์ อุราพรไม่ทราบ IP Address ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จำเลยใช้ 

พยานแค่มาที่ สภ.บางแก้ว เพื่อแจ้งความดำเนินคดี และได้นำพยานหลักฐานซึ่งเป็นภาพ มาให้พนักงานสอบสวนดู พยานไม่รู้จักจำเลย พนักงานสอบสวนจึงทำการสืบค้นข้อมูล แล้วปรากฎว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับที่ปรากฎอยู่ในทะเบียนราษฎรด้วย  

นอกจากนี้ อุราพรเบิกความว่า แม้กลุ่ม ‘รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส’ จะเป็นกลุ่มปิด แต่เนื่องจากมีสมาชิกเป็นล้าน ทำให้กลุ่มเป็นสาธารณะในตัวเอง 

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน อุราพรเบิกความโดยสรุปทราบว่ากลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” มีสมาชิกมากกว่า 1 ล้านคน โดยมี “ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์” เป็นผู้ดูแลกลุ่มดังกล่าว เท่าที่ทราบ ปัจจุบันกลุ่มนี้ก็ยังมีอยู่ แต่มีการปิดกั้นการเข้าถึงโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขณะนี้ในกลุ่มจึงมีสมาชิกเพียงหลักแสน 

อุราพรเบิกความว่า ตนเคยเป็นสมาชิกกลุ่มดังกล่าวพบว่ามีโพสต์และคอมเมนท์ที่วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ต่างๆ นานา ในลักษณะดูถูก ดูหมิ่น เป็นที่สนุกสนานเฮฮา แต่พยานไม่ได้แคปภาพถ่ายไว้ทั้งหมด 

ต่อมา เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2563 พยานใช้โทรศัพท์ส่วนตัว ไม่ใช่ของบริษัท แคปภาพหน้าจอโพสต์ที่มีการหมิ่นประมาท และส่งให้เลขาไปพิมพ์ภาพออกมา ตรงภาพหน้าจอของพยานจะมีการแสดงสัญญานไฟ ระดับแบตเตอรรี่ และเวลา พอแคปออกมาแล้วก็จะมีการตัดเอาเฉพาะข้อความ 

พยานไม่ทราบว่า หากปริ้นข้อความจากหน้ากลุ่ม “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส” โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ จะปรากฎ URL หรือไม่ พยานไม่ได้รู้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะสนใจเพียงแค่ข้อความ ทั้งนี้เกี่ยวกับข้อความที่แคปมา อุราพรรับว่า หากพิจารณาจากภาพก็จะไม่เห็นว่ามีหลักฐานว่าเอามาจากที่ไหน หากตนไม่ระบุว่ามาจากกลุ่ม “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส” ผู้อื่นก็จะไม่ทราบที่มา

ภายหลังจากแคปข้อความแล้ว พยานได้ค้นหาชื่อของผู้ที่โพสต์ข้อความดังกล่าวในเฟซบุ๊กเพื่อดูว่าเป็นใคร ก่อนที่จะรวบรวมหลักฐานส่งให้พนักงานสอบสวน โดยก่อนหน้านี้พยานได้โทรถามตำรวจแล้วว่า ต้องใช้อะไรบ้าง เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกให้พยานแคปหน้าจอและลิงค์บัญชีหน้าจอ พยานไม่ได้มอบไฟล์ภาพอิเล็กทรอนิกส์ และไม่ได้ปริ้นออกมาจากเครื่องเป็นกระดาษ เพียงแค่แคปหน้าจอไว้ 

เจ้าพนักงานตำรวจได้แจ้งพยานให้เปิดโพสต์เฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาให้ดู แต่เมื่อเปิดแล้ว กลับไม่สามารถเข้าถึงหน้าดังกล่าว เพราะถูกปิดกั้นจากผู้ดูแลกลุ่ม พยานอยู่ในกลุ่มมาตั้งแต่ปี 2562 และถูกผู้ดูแลกลุ่มขับออกจากกลุ่มรอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส 

อุราพรยอมรับว่าเคยแจ้งความมาตรา 112 กับบุคคลคนอื่นอีก 3 คน เนื่องจากเห็นว่าข้อความเข้าข่ายมาตรา 112  

ช่วงอัยการถามติง อุราพรณ์เบิกความว่า แม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันว่าข้อความมาจากที่ใด แต่พยานยืนยันว่าข้อความเอามาจากลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” พยานพยายามจะขอเข้าร่วมกลุ่มอีกครั้ง แต่ผู้ดูแลกลุ่มปฎิเสธที่จะไม่รับ

.

ตำรวจสืบสวนอ้างว่าเฟซบุ๊กเป็นของจำเลย แต่ไม่ได้ตรวจสอบในกลุ่ม “รอยัลลิสต์ฯ” ว่าโพสต์จริงหรือไม่

ร.ต.อ.อภิวัฒน์ ไหมดี พนักงานสืบสวน สภ.บางแก้ว เบิกความโดยสรุปว่า ตนทำเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 ตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน ในคดีนี้ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ตรวจสอบคดี โดยพยานพบเฟซบุ๊กของจำเลยว่ามีการเคลื่อนไหวในเรื่องทั่วๆ ไป แต่ไม่ได้มีการหมิ่นประมาทในหน้าเฟซบุ๊กของจำเลยเองแต่อย่างใด แต่จากการตรวจสอบทะเบียนราษฏร พบว่าชื่อบัญชีเฟซบุ๊กตรงกับชื่อจริงของจำเลย ซึ่งมีเพียงแค่บัญชีเดียวเท่านั้น

ร.ต.อ.อภิวัฒน์ยืนยันว่า จำเลยกับผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กเป็นคนๆ เดียวกัน หลังจากรู้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก พยานก็ไม่ได้ไปตามดูในกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลสอีก เนื่องจากเข้าไม่ได้ อย่างไรก็ตาม บัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยล่าสุดยังมีการเคลื่อนไหวอยู่ 

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน ร.ต.อ.อภิวัฒน์เบิกความว่า ตนใช้เฟซบุ๊กมาตั้งแต่ปี 2560 มีความรู้เกี่ยวกับการใช้เฟซบุ๊ก เวลาสมัครไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารยืนยันตัวตน จะใช้รูปใดตั้งเป็นรูปโปรไฟล์ก็ได้ จะสามารถใช้ชื่อบัญชีซ้ำกันก็ได้ ดังนั้นการปลอมแปลงเฟซบุ๊กสามารถทำกันได้โดยง่าย 

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบปรากฎว่าบัญชีผู้ใช้มีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหามีเพียงบัญชีเดียว ซึ่งเป็นการตรวจสอบ เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564 วิธีตรวจสอบคือ ร.ต.อ.อภิวัฒน์ ได้เข้าไปในเฟซบุ๊ก และพิมพ์ชื่อจำเลย จึงพบว่ามีเพียงคนเดียวที่ใช้ชื่อ “พิพัทธ์”

ร.ต.อ.อภิวัฒน์ เบิกความว่า บัญชีผู้ใช้สามารถลบทิ้งได้ พอตรวจค้นหาอีกครั้งก็อาจจะไม่เจอได้ แต่ทั้งนี้ Copy link ของเฟซบุ๊กจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เปรียบให้เข้าใจง่ายขึ้น หากมีชื่อบัญชีซ้ำกัน แต่ตัว ID หรือ Copy link จะแตกต่างกัน หากจะตรวจสอบว่าเป็นบัญชีเดียวกันหรือไม่ จะต้องนำมาเปรียบเทียบกัน

.

ตัวอย่าง Copy link เฟซบุ๊กของบัญชีผู้ใช้

ภาพโดย Wiki
ภาพโดย Wiki

.

นอกจากนี้ ร.ต.อ.อภิวัฒน์ ได้ตรวจพบบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2563 แต่เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเกิดเหตุ จะมีบัญชีชื่อ “พิพัทธ์” อื่นๆ อีกหรือไม่ พยานไม่ทราบ โดยหลังเข้าไปดูเฟซบุ๊คของจำเลยไม่พบว่ามีเรื่องการเมือง เป็นเพียงการโพสต์เรื่องส่วนตัวเท่านั้น และไม่มีการโพสต์หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด 

.

ทนายความประจำ สภ.บางแก้ว ชี้โพสต์ข้อความเป็นการหมิ่นประมาทราชวงศ์ กระทบจิตใจของคนไทยที่เคารพสถาบันฯ 

จรินทร์ ภูริคุปต์ ทนายความผู้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรา 112 เบิกความว่า เขาทำหน้าที่เป็นทนายความประจำที่สอบปากคำร่วมกับพนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว เนื่องจากในคดีอาญาที่มีโทษสูง จำเป็นต้องมีทนายความเข้าร่วมสอบปากคำด้วย

เมื่อปี 2564 พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ได้เรียกพยานมาให้ความเห็นทางกฎหมายในคดีมาตรา 112 ไม่ต่ำกว่า 10 คดี โดยเกี่ยวกับคดีนี้ หลังจรินทร์อ่านโพสต์ข้อความแล้ว เห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาทองค์พระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับราชวงศ์ การกระทำเช่นนี้ไม่สมควร กระทบจิตใจคนไทยที่ให้การเคารพต่อสถาบัน ถือเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และการโพสต์ลงเฟซบุ๊กก็เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

ทนายจำเลยถามค้านว่า หากดูจากภาพที่ถูกแคปมาอย่างเดียวจะทราบหรือไม่ว่าข้อความมาจากที่ใด จรินทร์ตอบว่าไม่ทราบว่ารูปภาพมาจากไหน เพราะไม่มีอะไรบ่งชี้

.

สืบจังหวัดตรวจพิสูจน์หลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ แต่ไม่ได้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐาน

พ.ต.ต.พลประชา ธรรมโชติวงศ์ สารวัตรสืบสวน กองบังคับการตำรวจภูธรสมุทรปราการ เบิกความว่า ตนทำงานมาแล้วประมาณ 10 ปี โดยทำงานเกี่ยวกับการพิสูจน์หลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์มา 10 คดี โดยคดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีแรก

เกี่ยวกับคดีนี้ เนื่องจากมีคนมาแจ้งความร้องทุกข์ ผู้บังคับการจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงให้สืบว่าใครเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว จากการตรวจสอบพบว่าเป็นของจำเลย เพราะปรากฎว่ามีเฟซบุ๊กนี้เฟซบุ๊กเดียวในประเทศไทย

พ.ต.ต.พลประชา ยอมรับว่า ยืนยันตัวตนจากเพียงสถานภาพเฟซบุ๊คของจำเลย แต่ภายหลังที่เข้าไปดูกลุ่มรอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส พบว่าจำเลยไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มแล้ว

จากการตรวจสอบพบว่า ชื่อบัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหามีชื่อ “พิพัทธ์” เพียงคนเดียว มีเพื่อนประมาณ 3,000 คน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่เฟซบุ๊กของจำเลยจะถูกแฮก อย่างไรก็ตาม พยานไม่ทราบว่าจำเลยยังสามารถเข้าเฟซบุ๊กอยู่ได้หรือไม่

ในประเด็นนี้ศาลได้ตั้งคำถามกับ พ.ต.ต.พลประชา ว่า ได้ตรวจสอบหรือไม่ว่าจำเลยโพสต์ข้อความโดยใช้อุปกรณ์อะไร เป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ พ.ต.ต.พลประชา ยอมรับว่า ไม่ได้มีการตรวจสอบแต่อย่างใด มีการตรวจสอบแค่ว่าเจ้าของเฟซบุ๊กคือใครเท่านั้น 

พยานเบิกความย้อนไปว่า เมื่อปี 2563 ที่เกิดเหตุฟ้องร้องในคดีนี้ รัฐบาลมีนโยบายไม่ดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชน แต่เมื่อปี 2564 ก็มีการเปลี่ยนนโยบายเพื่อดำเนินคดี ผู้บังคับบัญชาจึงให้พยานตรวจสอบจำเลยในคดีนี้

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ต.พลประชา เบิกความว่า ตนมีเฟซบุ๊กที่ใช้งานไม่ต่ำกว่า 10 ปีแล้ว เกี่ยวกับการแคปหน้าจอ บางครั้งเมื่อแคปภาพออกมาแล้วก็จะไม่ปรากฎวันที่และเวลา ส่วนกรณีปริ้นออกมาจะปรากฎวันที่และเวลาหรือไม่ พยานก็ไม่ทราบเพราะไม่เคยปริ้นภาพออกมา เกี่ยวกับพยานหลักฐานทางไฟล์ภาพ พยานยังไม่เคยเจอภาพแก้ไขตกแต่ง เพราะพนักงานสอบสวนได้คัดกรองมาแล้วในระดับหนึ่งก่อนส่งมอบให้พยาน  

พ.ต.ต.พลประชา รับว่าไม่เจอภาพหรือข้อความอื่นๆ ที่จำเลยเป็นคนโพสต์ เป็นไปได้ว่าได้มีการลบออกไปแล้ว หรือจำเลยไม่เคยโพสต์มาก่อนก็เป็นไปได้ โดยเขาทราบว่าในกลุ่ม “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส” มีจำนวนสมาชิกเป็นล้านบัญชี 

สำหรับการสมัครเฟซบุ๊กนั้นไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานยืนยันตัวตน สามารถใช้ภาพหรือเฟซบุ๊กคนอื่นสร้างตัวตนได้

ก่อนเกิดเหตุจะมีชื่อบัญชี “พิพัทธ์” กี่บัญชี พยานไม่ทราบและไม่ได้ตรวจสอบ แต่เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2564 ตรวจสอบพบว่าบัญชีชื่อ “พิพัทธ์” เพียงบัญชีเดียว และจากการสืบสวนไม่ปรากฎว่าบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยไปเชื่อมโยงกับเพจใดบ้าง  

นอกจากนี้ พบว่าจำเลยไม่ได้โพสต์เฟซบุ๊กในหน้าส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องการเมืองและสถาบันกษัตริย์ รวมถึงไม่เคยเห็นจำเลยไปกดไลค์เกี่ยวกับเพจสถาบันฯ เช่นกัน

.

หน้าเว็บไซต์ของเฟซบุ๊ก iLaw ที่สั่งพิมพ์โดยตรงจากคอมพิวเตอร์ จะปรากฎวันที่, เวลา, copy link facebook และที่มาอย่างชัดเจน

.

พนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งความ ระบุจำเลยรับว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กจริง แต่เอกสารคำให้การระบุว่าจำเลยไม่ได้รับว่าเป็นผู้โพสต์ภาพแต่อย่างใด

พ.ต.ท.ธนเดช ปัญญาลิขิตกุล พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว เป็นผู้รับแจ้งเหตุจากผู้กล่าวหา เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2563 มีผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษ เนื่องจากพบโพสต์ข้อความและภาพที่ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ 

พ.ต.ท.ธนเดช ได้ทำหนังสือไปที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อตรวจสอบผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวว่าใครเป็นเจ้าของ และได้มีการรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ อย่างไรก็ตาม พยานไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นเจ้าของ เพราะผู้ให้บริการอยู่ต่างประเทศ 

จากการสืบสวนพบว่า มีบุคคลชื่อ “พิพัทธ์” ซึ่งตรงกับบัญชีเฟซบุ๊กจึงออกหมายเรียกมาและทำการสอบสวนในฐานะพยาน พิพัทธ์ยอมรับว่าเป็นผู้ใช้บัญชีดังกล่าว โดยใช้เบอร์โทรศัพท์ผูกกับบัญชีมือถือ จำเลยยืนยันว่าเป็นผู้ใช้เพียงคนเดียว และรู้รหัสเพียงคนเดียว

จำเลยเคยให้การว่าเคยไปดูเพจรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส ส่วนเรื่องโพสต์ข้อความดังกล่าว จำเลยเคยให้การว่าไม่รู้เรื่อง แต่เฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของจำเลยจริง จากนั้นพยานก็ส่งต่อให้คณะกรรมการสอบสวน

ช่วงทนายถามค้าน พยานเบิกความรับว่า ในคำให้การชั้นสอบสวน ไม่ปรากฎว่าจำเลยระบุว่าเคยโพสต์เฟซบุ๊กในกลุ่ม “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส” ตามที่ถูกกล่าวหา

.

พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี ระบุโพสต์เป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ มีความเห็นสั่งฟ้อง 

พ.ต.ท.รังสรรค์ คำสุข พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2564 พยานได้รับมอบสำนวนจากผู้รับผิดชอบในคดีนี้ ต่อมามีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนในคดี และได้ความว่าบัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาเป็นบุคคลคนเดียวกันกับบุคคลในทะเบียนราษฏร

จากนั้นพยานได้สอบนายจรินต์ ในฐานะพยานความเห็น เห็นว่าผู้โพสต์มีเจตนาหมิ่นสถาบันกษัตริย์ มีความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยหลังผู้กล่าวหาได้พบเห็นข้อความแล้ว ได้กดตรงชื่อบัญชีซึ่งลิงค์กับหน้าเฟซบุ๊กจำเลยในขณะนั้น ดังนั้นแล้วคนอื่นจะโพสต์เป็นไปไม่ได้ มีหลักฐานอันน่าเชื่อถือว่าจำเลยเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กนี้ 

ทั้งนี้คดีเกี่ยวกับความมั่นคง เมื่อรับคำร้องทุกข์จะต้องรายงานภายใน 24 ชั่วโมง และส่งให้ตำรวจภูธร ภาค 1 เพื่อตรวจสอบ 

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.รังสรรค์ เบิกความรับว่า เกี่ยวกับภาพและข้อความที่จำเลยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ มีพยานยืนยันที่เห็นว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ คืออุราพรเพียงคนเดียว นอกจากนี้พยานยังไม่เคยเห็นภาพและข้อความดังกล่าวจากในกลุ่ม “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส” 

.

พิพัทธ์ หนุ่มพิษณุโลก รับว่าเป็นบัญชีเฟซบุ๊กของตัวเอง แต่ไม่เคยโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการเมืองหรือสถาบันฯ 

พิพัทธ์ อายุ 21 ปี จบการศึกษาจาก ปวช. เกี่ยวกับคดีนี้เขาเบิกความว่า ตนเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าวจริง ใช้งานมาเกือบ 10 ปี ส่วนใหญ่จะโพสต์เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน ไม่เคยโพสต์เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาก่อน

พยานเคยไปให้การที่ สภ.บางแก้ว เมื่อปี 2563 เกี่ยวกับคดีนี้ในฐานะพยาน ตำรวจได้เอาพยานหลักฐานมาให้ดู ถามว่าได้โพสต์หรือไม่ และถามว่ารู้จักกลุ่ม “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส” หรือไม่ พยานตอบว่าไม่รู้จักกลุ่มดังกล่าว และไม่ได้โพสต์ตามที่ตำรวจให้ดู  

ต่อมาตำรวจได้เรียกไปให้การและแจ้งข้อหาในปี 2564 จำเลยให้การปฎิเสธข้อหา จำเลยยืนยันว่าไม่เคยเป็นสมาชิกกลุ่มดังกล่าว ไม่เคยเข้าไปโพสต์ในกลุ่มแต่อย่างใด 

ช่วงอัยการถามค้าน พิพัทธ์เบิกความว่า ตนมีอีเมลแต่เวลาสมัครเฟซบุ๊กได้ใช้หมายเลขโทรศัพท์ และการเข้าสู่ระบบเฟซบุ๊กได้จะต้องใส่รหัส พิพัทธ์ยอมรับว่าภาพโปรไฟล์ปกของเฟซบุ๊กตรงกับภาพของจำเลย และเฟซบุ๊กดังกล่าวมีการตั้งค่าเป็นสาธารณะ 

พิพัทธ์รับว่าตนไม่เคยแจ้งความดำเนินคดีผู้ที่เอาภาพเฟซบุ๊กของจำเลยไปใช้ 

.

ทีมงาน iLaw ชี้รูปภาพที่ผู้กล่าวหาแคปมาแจ้งความ ไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีหลักฐานระบุว่านำภาพมาจากที่ใด 

พัชชา ชัยมงคลทรัพย์ อายุ 28 ปี อาชีพกราฟฟิกดีไซน์เนอร์ เรียบจบจากคณะออกแบบมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในการเรียนมีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการออกแบบ โดยตนทำงานที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) มาเป็นระยะเวลา 3 ปีแล้ว และเคยทำงานที่บริษัทเอกชน ตำแหน่งกราฟฟิกดีไซน์เนอร์อีกด้วย

พยานเบิกความเกี่ยวกับการให้บริการของเฟซบุ๊ก จะมีบัญชีส่วนตัว บัญชีเพจ และบัญชีสาธารณะที่เป็นตัวแทนบุคคลสาธารณะและองค์กรนั้นๆ บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปดูได้ หากกดติดตามเพจดังกล่าว ทั้งนี้ถ้าเป็นเพจสาธารณะสามารถมีผู้ดูแลหลายคน 

ทั้งนี้ กลุ่มเฟซบุ๊กจะต่างจากเพจสาธารณะ เพราะเป็นชุมชนที่แลกเปลี่ยนข่าวสาร ไม่เป็นสาธารณะเหมือนกับเพจ ตัวผู้ดูแลกลุ่มจะต้องได้กดรับอนุญาตให้บุคคลทั่วไปถึงจะเข้ากลุ่มได้ แล้วแต่การตั้งค่าของผู้ดูแลว่าจะกดรับเข้าหรือไม่ การตั้งค่าดังกล่าวสามารถปรับแต่งได้ แล้วแต่ผู้ดูแลกลุ่ม  

พัชชาเบิกความอีกว่า หากดูจากรูปภาพที่ผู้กล่าวหาแคป (Capture) มา จะไม่สามารถยืนยันได้ว่าแหล่งที่มามาจากไหน เพราะไม่มีอะไรบ่งชี้ 

ตามเอกสารที่แคปมาและอ้างว่าเป็นการหมิ่นประมาท อาจมีการตัดแต่งเปลี่ยนรูปภาพโปรไฟล์เฟซบุ๊กได้หลายวิธี เช่น การใช้โปรแกรม Photoshop, Illustrator, Layout framework

ช่วงอัยการถามค้าน พัชชาเบิกความว่าไม่เคยให้การในคดีอื่นๆ มาก่อน 

.

ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ระบุหลักฐานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ อาจผ่านการแก้ไข ตัดต่อ หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลมา

ดลภาพ สุวรรณปัญา ทำงานด้านวิศวกรข้อมูล จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่ง ในตำแหน่งวิศวกรข้อมูลอาวุโส มีหน้าที่จัดการออกแบบข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น ข้อมูลแบงค์ในอินเตอร์เน็ต 

เกี่ยวกับการรวบรวมหลักพิสูจน์ตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ ดลภาพเบิกความว่า หากจำเป็นต้องปริ้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต สิ่งที่จะยืนยันได้ว่าปริ้นมาจากที่ไหน คือลิงค์ข้อมูลและข้อมูลต้นทาง ตัวอย่างเช่น มาตราฐานสากลของการส่งพลายหลักฐาน คือ ลิงก์แหล่งที่มา อย่างเฟซบุ๊กก็จะมี fb.com หรือ / ข้อมูลย่อย ซึ่งในเอกสารที่เป็นข้อความตามฟ้องคดีนี้ ไม่ปรากฎแหล่งที่มา จึงไม่สามารถใช้ยืนยันเป็นข้อเท็จจริงได้ว่าถูกโพสต์ลงที่ใด

ดลภาพเบิกความในลักษณะเดียวกับพัชชาว่า รูปโปรไฟล์เฟซบุ๊กสามารถตัดต่อได้ง่ายๆ ทั้งทำได้ผ่าน Google Chrome หรืออาจจะใช้ Web Inspector 

ช่วงอัยการถามค้าน ดลภาพเบิกความว่า จากหลักฐานของฝั่งโจทก์พบว่าเป็นเพียงแค่การเชื่อมโยงข้อมูลประกอบและคาดเดาว่าคนโพสต์น่าจะเป็นจำเลย เพราะตัวผู้ให้บริการเฟซบุ๊กไม่ได้ให้ข้อมูลบัตรประชาชนแต่อย่างใด จึงไม่มีทางทราบว่าใครเป็นเจ้าของ ID ดังกล่าว

.

ภาพก่อนแก้ไข Web inspector
ภาพหลังแก้ไข Web inspector

.

X