ในห้วงเวลาปี 2563 ที่สถานการณ์การเมืองร้อนแรงคุกรุ่น ประชาชน นักเรียน และนักศึกษาได้รวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย รวมไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์สถานะบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ก็เริ่มพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา ทั้งในรูปแบบการปราศรัย การชุมนุม การถือป้ายข้อความชูสัญลักษณ์ต่างๆ หรือแม้แต่การแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์อย่างเข้มข้น
อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล หรือ “ก้อง” เด็กหนุ่มนักศึกษาวัย 22 ปี ในขณะนั้น ก็เป็นเหมือนกับใครหลายๆ คนที่เมื่อตื่นรู้ทางการเมืองแล้ว ก็เริ่มออกมาร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้อง เขาเข้าร่วมกลุ่ม “เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย” เริ่มจับไมค์ขึ้นปราศรัยบนเวทีอยู่หลายครั้ง รวมไปถึงแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จนเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 โดยไม่ได้คาดคิด ถึง 2 คดี ใน 2 สถานีตำรวจ และถูกฟ้องใน 2 ศาล
.
.
จุดเริ่มต้นการถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ที่ สภ.บางแก้ว
เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2563 ศิวพันธ์ุ มานิตย์กุล ‘นักร้องคดีมาตรา 112’ แห่งจังหวัดสมุทรปราการ ได้เข้าแจ้งความที่ สภ.บางแก้ว สืบเนื่องจากพบผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กแชร์โพสต์ข่าวของเพจ Jonh New World เข้ากลุ่มรอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส ซึ่งเป็นข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมของชาวต่างชาติเพื่อประท้วงพระมหากษัตริย์ไทยที่หน้าโรงแรมแห่งหนึ่งในประเทศเยอรมนี พร้อมข้อความประกอบการแชร์ว่า “อย่างนี้ต้องทรงพระเจริญเต็มที่เลยนะเนี่ย”
ต่อมา ศิวพันธุ์ได้ให้เพื่อนที่รู้จัก นำชื่อบัญชีเฟซบุ๊กซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ แต่สะกดภาษาไทยได้ ไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร พบว่ามีชื่อดังกล่าว และมีใบหน้าตรงกับภาพโปรไฟล์ของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว จึงเชื่อว่าอุกฤษฏ์เป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว
ศิวพันธุ์เห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นการใส่ความพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ต่อบุคคลที่สาม คือประชาชนทั่วไปที่ได้เข้ามาเห็นและอ่านข้อความ อันประการจะทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จึงได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี
คดีของอุกฤษฏ์ นับเป็นหนึ่งในคดีมาตรา 112 ของ สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 14 คดี และเป็นหนึ่งในอย่างน้อย 9 คดี ที่ศิวพันธุ์เป็นผู้กล่าวหา โดยแทบทั้งหมดมีสาเหตุมาจากการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ในช่วงกลางปี 2563 และศาลจังหวัดสมุทรปราการได้ทยอยมีคำสั่งฟ้องและคำพิพากษาออกมา
.
.
การถูกจับกุมครั้งแรกของ “ก้อง” ไปที่ บก.ปอท. ก่อนถูกสอบสวนโดยไม่มีทนายความ
ก่อนหน้าการถูกจับกุมในคดีของ สภ.บางแก้ว อุกฤษฏ์ได้ถูกดำเนินคดีที่กองบังคับการปราบการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) มาก่อน
วันที่ 8 มิ.ย 2564 ตำรวจจาก บก.ปอท. ได้สนธิกำลังบุกจับกุมอุกฤษฎ์ จากหอพักย่านรามคำแหงไปที่ บก.ปอท. ก่อนที่อุกฤษฏ์จะถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และ พ.รบ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) คดีนี้ต่อมาเขายังถูกแจ้งพฤติการณ์เพิ่มเติมด้วย ทำให้รวมเขาถูกกล่าวหาจากการแชร์โพสต์ข้อความรวม 5 โพสต์
อุกฤษฎ์เล่าให้ฟังว่าวันนั้น เขาถูกสอบสวนในคดีนี้เพียงคนเดียวในห้องสอบสวน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เขาติดต่อทั้งทนายความหรือผู้ไว้วางใจ โทรศัพท์มือถือของเขายังถูกยึดและตรวจค้น แรงกดดันที่ต้องเผชิญเพียงลำพัง ทำให้อุกฤษฎ์ยินยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหา
ภายหลังสอบสวนเสร็จสิ้น เขาถูกคุมตัวที่ สน.ทุ่งสองห้อง เป็นเวลา 1 คืน ก่อนที่เช้าของวันที่ 9 มิ.ย. 2564 พนักงานสอบสวนจะยื่นขอฝากขังอุกฤษฎ์ต่อศาลอาญา ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ก่อนศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง แต่อนุญาตให้ประกันตัว
.
ถูกอายัดตัวไป สภ.บางแก้ว ทันทีที่ได้ประกัน ก่อนถูกฟ้องมาตรา 112 คดีที่สอง
หลังจากที่อุกฤษฎ์เพิ่งได้รับการประกันตัวในช่วงเย็นของวันที่ 9 มิ.ย. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางแก้ว ได้เข้าอายัดตัวอุกฤษฏ์ นำตัวเขาไปยังสภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) อีกคดีหนึ่งทันที
อุกฤษฎ์เล่าว่า ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2563 เขาเคยได้รับหมายเรียกพยานจาก สภ.บางแก้ว มาก่อน ระบุว่าให้เขาไปให้ปากคำเพื่อเป็นพยานประกอบคดี แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีหมายเรียกผู้ต้องหามาแต่อย่างใด จนกระทั่งเขาถูกจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการ
หลังการสอบสวนเสร็จสิ้น อุกฤษฎ์ได้ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนถูกควบคุมตัวไว้ที่ สภ.บางแก้วอีก 1 คืน ก่อนจะได้รับการประกันตัวเช่นกัน
หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2564 ร.ต.อ.ชูมิตร ชุณหวาณิชพิทักษ์ พนักงานอัยการ จังหวัดสมุทรปราการ ได้สั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ
คำฟ้องโดยสรุประบุว่าระหว่างวันที่ 7 -26 พ.ค. 2563 จำเลยได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยมีใจความว่า “อย่างนี้ต้องทรงพระเจริญเต็มที่เลยนะเนี่ย” ประกอบกับข้อความที่แชร์มาจากโพสต์เฟซบุ๊กมีใจความว่า “นักต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยชาวไทยและชาวเยอรมัน ได้มีการชุมนุมประท้วงหน้าโรงแรมใหญ่ ซอนเนนบิคล์…” และมีรูปพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10
อัยการระบุว่า ข้อความดังกล่าวถือเป็นข้อความเท็จทั้งสิ้น ในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่ได้เป็นไปตามที่ใส่ความแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยเป็นการล่วงเกิน ใส่ร้าย ใส่ความ ดูหมิ่น และหมิ่นประมาท ทำให้ประชาชนเกิดความเกลียดชัง
.
เหตุผลที่รับสารภาพในชั้นศาล
ในตอนแรกอุกฤษฏ์ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาในชั้นศาล จนเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2565 ในนัดสืบพยานคดีนัดแรก ที่ห้องพิจารณา 19 ก่อนเริ่มการพิจารณา ศาลได้สอบถามจำเลยว่าตามข้อหาอัยการสั่งฟ้องนั้น จำเลยจะให้การรับสารภาพใช่หรือไม่ พร้อมกับแจ้งว่าหากมีอะไร ให้แถลงต่อศาลได้เลย ศาลอนุญาต
เบื้องต้นศาลได้อธิบายกระบวนการพินิจสืบเสาะให้จำเลยฟัง พร้อมกับให้คำแนะนำการแสดงออกเพื่อบรรเทาโทษลง เพื่อส่งให้พนักงานคุมประพฤติดู ทั้งนี้ศาลได้กำชับว่า การพิจารณาทั้งหมดจะอยู่ในดุลยพินิจ ไม่ได้มีการตั้งธงในการพิจารณาคดีแต่อย่างใด
ทั้งนี้ จากที่ศาลตรวจดูหลักฐานเอกสารก็พบว่าข้อความเป็นของจำเลยจริง จำเลยเป็นผู้โพสต์จริง หากรับสารภาพอย่างน้อยก็จะได้รับการลดโทษ
หลังการปรึกษาหารือ ฝ่ายจำเลยได้แถลงขอถอนคำให้การเดิม และกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ รวมถึงจำเลยได้เขียนคำแถลงประกอบคำรับสารภาพยื่นเข้าไปในคดี และศาลได้สั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาด้วย ก่อนกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 16 ก.พ. 2566 เวลา 09.00 น.
สำหรับอุกฤษฎ์ พื้นเพเป็นคนพัทยา ปัจจุบันอายุ 24 ปี ศึกษาอยู่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงในชั้นปีสุดท้าย โดยเขาเหลืออีกเพียงเทอมการศึกษาเดียว จะเรียนจบแล้ว ช่วงหลังๆ เขาหันไปเป็นสมาชิกกลุ่ม “ทะลุราม” ทำกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย หลังจากศาลอาญาฯ มีคำพิพากษาจำคุก 5 ปี 30 เดือน (หรือประมาณ 7 ปี 6 เดือน) โดยไม่รอลงอาญา ในคดีมาตรา 112 คดีแรกของเขา ทำให้ก้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค. 2565
ล่าสุด ศาลฎีกาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์คดี เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2566 ภายใต้ความช่วยเหลือหลักทรัพย์ประกันตัว 300,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลกำหนดเงื่อนไขให้ติดกำไล EM ด้วย
รวมทำให้เขาถูกคุมขังมาเป็นระยะเวลา 46 วัน ก่อนต้องเดินทางฟังคำพิพากษาในคดีที่ 2 อีกคดีหนึ่ง
.
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง