การต่อสู้ของ “เอก” และ “ก้อง อุกฤษฏ์” สองผู้ต้องขัง ม.112 ในเรือนจำ

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2566 ทนายความเข้าเยี่ยม “เอก” พนักงานบาร์วัย 28 ปี และ “ก้อง” อุกฤษฏ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงวัย 24 ปี สองผู้ต้องขังที่ยังไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวในคดีมาตรา 112 ทั้งสองถูกคุมขังในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คือ เอกถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2565 ส่วนก้องถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค. 2565 ทำให้ขณะนี้ กำลังเข้าสู่รอบเดือนที่สองแล้วที่ทั้งคู่ถูกคุมขัง

.

เอกกับการต่อสู้ภายใน และความกังวลเรื่องการดูแลครอบครัว

กรณีของเอก เป็นกรณีมาตรา 112 กรณีเดียวเท่าที่ทราบข้อมูล ซึ่งไม่ได้รับการประกันตัวตั้งแต่ชั้นการสั่งฟ้องคดีในช่วงปี 2566 นี้ โดยคดียังไม่ได้มีการสืบพยานและมีคำพิพากษาใดๆ คดีของเขาถูกกล่าวหาจากการแชร์ภาพและข้อความ จากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” 1 โพสต์ ซึ่งเนื้อหาหลักถูกเขียนโดยเพจดังกล่าว ไม่ใช่ข้อความที่เขาเขียนเองแต่อย่างใด

เอกเดินส่งยิ้มทักทายทางจอวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เขาเอ่ยว่าเริ่มทำใจเรื่องคดีและเรื่องการไม่ได้ประกันตัวได้บ้างแล้ว แต่แววตายังดูเศร้าสร้อย เพราะเขาบอกตั้งแต่แรกว่าไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจกับการถูกคุมขังตั้งแต่ในชั้นนี้

แม้เอกจะบอกว่ายังโอเค แต่เขาก็ไม่มีกะจิตกะใจทำอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬาหรือดนตรีอย่างที่ผู้ต้องขังคนอื่นๆ ทำกัน ทำได้แค่กายบริหารเล็กๆ น้อยๆ เพราะเขาเป็นห่วงครอบครัว และภาระที่ยังต้องผ่อนที่พักอาศัย ซึ่งเขาเป็นกำลังหลัก ครอบครัวของเขาไม่ได้มีเงินสำรองใดๆ ที่จะรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้

“ถ้าผมอยู่คนเดียว ผมโอเค จะให้ติดนานแค่ไหนก็ได้ แต่ผมเป็นห่วงครอบครัว ผมต้องดูแลแม่ แฟน และลูก รายได้หลักๆมันมาจากผม” เอกบอกเล่าถึงความกังวล

เอกเล่าว่า พื้นเพเป็นคนอำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย อาชีพหลักที่บ้านคือทำนาทำไร่ เขาเริ่มสนใจการเมือง เพราะเหตุการณ์สังหารคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์เมื่อปี 2553 แต่ก็เป็นการติดตามข้อมูลอยู่ห่างๆ จากนั้นเขาเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในด้านรัฐศาสตร์ ช่วงปี 2555 ชีวิตในกรุงเทพฯ ทำให้เขาเห็นการชุมนุมของ กปปส. ที่นำไปสู่การรัฐประหาร 2557 จากนั้นเขาก็เริ่มติดตามการเมืองเข้มข้นขึ้น แต่ก็ไม่คาดคิดว่าจะต้องมาถูกดำเนินคดีในลักษณะนี้

“ที่บ้านเป็นห่วง เพราะอยู่ดีๆ ก็ต้องติดคุก ตอนนี้ไม่มีอะไรทำ ผมเลยไปลงเรียนคอมฯ เอาไว้ แต่มันก็สอนแค่ขั้นพื้นฐานแหละ ผมรู้มาหมดแล้ว อยากถามเขาว่ามีขั้น Advance กว่านี้ไหม (หัวเราะ)”

เราคุยอัพเดทกันเรื่องสถานการณ์ของการอดอาหารของตะวันและแบม เอกถอนหายใจ พร้อมบอกว่า “สงสารน้องๆ แต่ทำอะไรไม่ได้ นอกจากเป็นกำลังใจให้นะ”

เอกยังฝากขอบคุณผู้คนที่ส่งกำลังใจมาถึงเขา ผ่านจดหมายทุกฉบับด้วย

.

การต่อสู้ผ่านหนังสือของ “ก้อง” ในเรือนจำ

ทางด้าน “ก้อง” อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล สมาชิกกลุ่มทะลุราม เขาแจ้งสถานการณ์ของตนเองว่า สุขภาพยังสบายดี โดยแต่ละวันพยายามเดินหรือวิ่งประมาณ 30 รอบในอาณาบริเวณของเรือนจำ ทั้งเขาเพิ่งไปรับบริการบีบสิวจาก “ต้อม จตุพล” อีกหนึ่งผู้ต้องขังคดีทางการเมือง

อีกกิจวัตรของก้อง คือเขาพยายามอ่านหนังสือ ทั้งหนังสือเรียน พวกคำบรรยายรายวิชาต่างๆ ที่มีรุ่นพี่จัดส่งเข้ามาให้ และหนังสือนวนิยายต่างๆ สลับพักสมอง โดยตอนนี้เขาเล่าว่ากำลังอ่านทั้งหนังสือบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ อยู่

ก้องคุยว่าตอนนี้สนใจงานของจิตร อยากอ่านเรื่อง “แม่” ที่จิตรแปลเอาไว้ ทนายความจึงแจ้งว่ามีเล่มนี้อยู่และจะส่งเข้าไปให้ เขายังพูดถึงหนังสือนวนิยายของจอร์จ ออร์เวลล์ ที่เขาเคยอ่านเล่ม Animal Farm ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้อ่านเล่ม 1984 ซึ่งจะอยู่ในแผนการอ่านหนังสือของเขาต่อไป

“ข้างในยังมีการต่อสู้อยู่เสมอ แต่จะเป็นการสู้ทางความคิด ไม่กระทบเรือนจำ เช่น ตอนผมนั่งอ่านหนังสือ มีคนมาถามว่า อ่านอะไร ผมก็จะอธิบายไปถึงการเมืองให้เขาฟัง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราถนัดอยู่แล้ว ผมมองว่าทุกคนสนใจการเมือง แต่อาจจะไม่ได้สนใจเท่าคนที่ออกมาเคลื่อนไหว คือเขาก็รู้แค่ประยุทธ์ไม่ดี เราก็จะเสริมให้เขาเข้าใจว่ามันไม่ดียังไง” ก้องเล่าถึงความพยายามของเขา

ก้องยังฝากบอกว่าเขาได้ยินเสียงพลุที่มีคนจุดทุกๆ วัน อยากขอบคุณสิ่งเหล่านี้ที่เป็นกำลังใจถึงทุกคนในเรือนจำ แต่เสนอว่าไม่อยากให้จุดในช่วงดึกเกินไป เพราะคนข้างในนอนหลับยากอยู่ ต้องตื่นมาเพราะเสียงพลุตอนดึกๆ

เมื่อการพูดคุยถึงสถานการณ์มาถึงเรื่องของตะวันกับแบม ก้องยืนยันสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของทั้งสองคน โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นระบบ ทั้งตัวกฎหมายและปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่เขาก็คิดว่ากระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลา  

“ฝากบอกตะวันกับแบมว่า อดได้ไม่เป็นไร แต่อย่าให้ตายก็พอ รักษาสุขภาพด้วย ผมเป็นห่วงเค้า คิดว่าถ้าพวกเขาเป็นอะไรกันจริงๆ ผมคงทำใจไม่ได้” ก้องฝากข้อความพร้อมใบเศร้า

.

X