“ยิ่งเราอยู่ในนี้นานเท่าไร ก็ยิ่งประจานความเสื่อมเสียของกระบวนการยุติธรรม”: จาก ‘เก็ท โสภณ’ ถึง ‘ตะวัน-แบม’

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2566 ทนายความเดินทางเข้าเยี่ยม “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง บัณฑิตผู้จบการศึกษาด้านรังสีเทคนิค และนักกิจกรรมจากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ที่ต้องกลับเข้าเรือนจำเป็นครั้งที่ 2 หลังศาลอาญามีคำสั่งถอนการประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2566 เนื่องจากเห็นว่าเขาผิดเงื่อนไขการประกันตัวในคดีมาตรา 112 หลังเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมในช่วงการประชุมเอเปค (APEC2022)

วันนี้ สีหน้าของเก็ทยังดูสดใส เขาบอกถึงสภาพหัวจิตหัวใจ ว่าตอนนี้เป็นศูนย์ คือไม่บวก และไม่ลบ ยังต้องพยายามปรับตัวกับสภาพที่เกิดขึ้นหลายอย่าง แต่ก็พอคุมสติได้อยู่ การเข้าเรือนจำเที่ยวนี้ เก็ทพยายามเขียนบันทึกเป็นไดอารี่ว่าแต่ละวันชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง

ก่อนหน้าการถูกถอนประกันตัว เก็ทเล่าว่าแม้เขาอยู่ภายใต้เงื่อนไขการประกันตัวที่ให้อยู่ในเคหสถาน 24 ชั่วโมง แต่เจ้าหน้าที่ก็ดูจะพยายามติดตามสอดส่องอย่างต่อเนื่อง โดยมีครั้งหนึ่งที่เขาไปทำงาน พบว่ามีสายสืบปลอมตัวเป็นคนไข้มา เพราะเห็นบัตรประจำตัวของเจ้าหน้าที่ที่หล่นออกมา หลังต้องถอดเสื้อเพื่อทำการตรวจเอ็กซเรย์ 

ในช่วงปลายปี 2565 เขาพยายามยื่นคำร้องขอออกจากบ้าน ไปทำงานและไปเรียนเพิ่มเติม แต่ก็ถูกศาลปฏิเสธหลายครั้ง ในวันที่ถูกถอนประกันตัว เก็ทได้ยื่นขอออกไปกินอาหารกับเพื่อน แต่ศาลก็ไม่อนุญาต 

ทั้งหมดนี้ ทำให้เก็ทคิดว่าไม่ว่าคดีจะเป็นอย่างไร พิพากษาแล้วหรือไม่ สุดท้ายเขาก็จะเอาเข้าคุกอยู่ดี ในตอนไหนก็ได้  “เหมือนเอาเรามาเชือดไก่ให้ลิงดู ว่าถ้าออกมาเคลื่อนไหวมากๆ จะโดนแบบนี้นะ” เก็ทบอก

จังหวะการต้องเข้าคุกครั้งนี้ยังทำให้เก็ทบอกว่าต้องเสียโอกาสในชีวิตหลายอย่าง ทั้งเรื่องในครอบครัว เมื่อยายของเขาเพิ่งล้มป่วย ล่าสุดต้องเข้า ICU แต่ตอนนี้ทราบว่าอาการดีขึ้นแล้ว โดยเขายังไม่มีโอกาสได้ไปเยี่ยมและดูแลเลย

ทั้งเรื่องการงาน โดยในช่วงปลายเดือนมกราคม เดิมเก็ทตั้งใจว่าจะไปสอบเป็นนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ แต่ก็ไปไม่ได้แล้ว เพราะติดคุกอยู่ ทั้งในเดือนมีนาคมนี้ ยังมีกำหนดการรับปริญญา เขาก็ยังไม่รู้ว่าจะได้ออกไปทันไหม แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจมากแล้ว

“ยิ่งเราอยู่ในนี้นานเท่าไหร่ ก็ยิ่งประจานความเสื่อมเสียของกระบวนการยุติธรรมไทยมากขึ้นเท่านั้น” เก็ทสรุป

.

จนถึงตอนนี้หลังการถูกคุมขังรอบใหม่มา 16 วัน เก็ทยังกินอาหารตามปกติ แต่ได้ทราบว่าเพื่อนๆ ของเขาอีกสองคน – ตะวันและแบม – กำลังอดอาหารและน้ำอยู่ 

“เวลาเรากินข้าว หรือแม้แต่ตอนดื่มน้ำ เราก็จะเห็นหน้าแบมกับตะวันลอยมา ทำให้กินข้าวไม่ค่อยลง อยากฝากถึงศาล พรรคการเมืองทุกพรรคว่าจะต้องรอให้ตะวันกับแบมตายก่อนไหม ถึงจะขับเคลื่อนอะไรได้”

สำหรับข้อเรียกร้อง 3 ข้อที่แบมและตะวันประกาศ เก็ทเห็นว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ตัวเขาก็ตั้งใจจะผลักดันอยู่แล้ว และเห็นว่าทุกข้อเป็นพื้นฐานที่ประเทศไทยควรมีพันธะต้องกระทำตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เขาเคยคิดว่าทุกๆ กลุ่ม ทุกๆ ฝ่าย จะต้องช่วยกันผลักดันในระยะต่อไป แต่ก็ไม่คิดว่าแบมกับตะวันจะใช้วิธีผลักดันเช่นนี้

“มันเป็นเรื่องตลกร้ายมากๆ หนึ่ง สามข้อนี้มันควรทำได้อยู่แล้ว สอง สังคมเราเจออะไรนิ่มๆ เช่น จัดงานเสวนา จัดกิจกรรมต่างๆ เขาไม่สนใจ ไม่ตระหนักรู้ ต้องรอให้มีคนติดคุก หรือรอให้มีคนตาย เขาถึงจะสนใจ พอรู้ว่าศาลตั้งใจจะเอาเราเข้าคุกอยู่แล้ว เราเลยตั้งใจเอาความเจ็บปวดของเรา แลกกับ 3 ข้อเรียกร้องนั้น เพื่อให้สังคมสนใจสถานการณ์บ้านเมืองมากขึ้น” 

เก็ทประเมินว่าช่วงเวลานี้สำหรับเขา เป็นช่วงทางการเมืองที่กดดันและเป็นจุดสำคัญ ทั้งยังใกล้การเลือกตั้ง ข้อเรียกร้องต่างๆ ของประชาชนจึงมีความสำคัญที่พรรคการเมืองต่างๆ ต้องรับฟัง

“อย่าให้สิ่งที่เขาบอกว่าเราเป็นแค่ฝุ่น เป็นแค่จำนวนนับอย่างนั้นอย่างนี้ อย่าด้อยค่าตัวเองตามที่เขาด้อยค่าเรา ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นศาลหรือรัฐบาล มันเกิดจากจำนวนนับอย่างเราทั้งนั้น ถ้าไม่สู้ ก็อยู่อย่างทาส” เก็ทบอกถึงความคิดของเขา

เขายังวาดฝันเล็กๆ ว่าถ้าหากข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ประชาชนเคลื่อนไหวกันมาในรอบสามปีนี้ ประสบผลสำเร็จได้บ้าง อยากจะจัด “ม็อบหมูกระทะ” กันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยมันกินได้จริงๆ นะ มันอร่อยนะ และอยากให้พลเมืองทุกคนมาฉลองด้วยกัน เพราะมันเป็นความสำเร็จของทุกคน

เขายิ้มน้อยๆ กับความคิดนี้ของตัวเอง และแววตายังคงฉายแววแห่งความหวัง

.

X