สมบัติ-อุกฤษฏ์-เอก-อัญชัญ-พลพล ร่วมฝากกำลังใจและความนับถือถึง “ตะวัน-แบม”

ช่วงปลายอาทิตย์ที่ผ่านมา ทนายความได้ทยอยเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองในเรือนจำ รวมทั้งหมด 5 คน ได้แก่ สมบัติ ทองย้อย, “ก้อง” อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล, เอก, อัญชัญ, และ “เก่ง” พลพล โดยร่วมกันอัพเดทถึงสถานการณ์การประกันตัวและการอดอาหาร-น้ำของ “ตะวัน” และ “แบม” ที่กลุ่มผู้ต้องขังต่างทยอยทราบข่าวการแสดงออกนี้

.

1

“หนุ่ม” สมบัติ ทองย้อย ผู้ยังถูกจองจำในคดีมาตรา 112 ระหว่างการอุทธรณ์คำพิพากษามากว่า 9 เดือนแล้ว บอกล่าสุดอาการไอของเขาดีขึ้นแล้ว โดยไม่แน่ใจว่าอาการที่ต่อเนื่องมานี้เกี่ยวข้องกับ “ลองโควิด” หรือไม่

พี่หนุ่มสอบถามถึงสถานการณ์การอดอาหารและน้ำของตะวัน พร้อมกับบอกว่า “ฝากบอกแบมกับตะวันว่า พี่หนุ่มเป็นกำลังใจให้นะ เคารพการตัดสินใจของทุกคน ขอบคุณที่ยังคิดถึงกัน และขอบคุณที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพของทุกคน”

พี่หนุ่มบอกว่าเขาเคารพในการเลือกแนวทางต่อสู้ของแต่ละคน แต่ก็เห็นว่าควรพยายามรักษาชีวิตไว้ เพื่อต่อสู้สู่เส้นชัยด้วยกัน แต่ก็เห็นว่าการต่อสู้ของแบมและตะวันเต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ เป็นการแสดงออกถึงความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับทุกๆ คน

“ถ้าความยุติธรรมมันมี เราคงได้ออกไปเจอกันข้างนอก ในที่ๆ ดีกว่านี้” พี่หนุ่มบอก

.

2

“ก้อง” อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ในคดีมาตรา 112 อีกราย เล่าถึงชีวิตภายใต้การจองจำตอนนี้ ว่าเขาใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะอ่านหนังสือกฎหมายจบไปหลายเล่ม อาทิ หลักวิชาชีพนักกฎหมาย กฎหมายระหว่างประเทศ คดีเมือง

ก้องเล่าว่าเขาได้อยู่ร่วมกับนักกิจกรรมรวม 6 คน อยู่ในแดน 4 ซึ่งทั้งหมดก็ร่วมกันหาทางแสดงออกทางการเมืองในระหว่างชีวิตประจำวันภายใต้การคุมขัง เช่น การชูสามนิ้วขณะเปิดเพลง

“แม้จะมีหนทางที่ทำให้พวกเราท้อใจบ้าง แต่พวกเราก็ยังยืนยันต่อสู้โดยยึดหลักประชาธิปไตยเหมือนเดิม ถึงจะอยู่ในเรือนจำ ก็ขังอุดมการณ์เราไม่ได้ เราจะต่อสู้อย่างสันติวิธี เพื่อต่อต้านความอยุติธรรม”

ก้องยังทราบข่าวเรื่องการอดอาหารและน้ำของตะวันและแบม จึงฝากความห่วงใยไปยังทั้งสองคน

.

3

“เอก” พนักงานบาร์วัย 28 ปี ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 หลังอัยการสั่งฟ้องในคดีที่เขาถูกกล่าวหาว่าแชร์โพสต์จากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” 1 โพสต์ และศาลไม่ให้ประกันตัว โดยกรณีของเขาเป็นกรณีเดียวเท่าที่ทราบข้อมูล  ซึ่งศาลไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 ตั้งแต่ช่วงการสั่งฟ้องคดี โดยยังไม่ได้ตรวจพยานหลักฐานหรือสืบพยานแต่อย่างใด โดยที่เขาเองก็ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี

เอกเล่าว่าเขายังมีความหวังเรื่องการประกันตัว แม้เขาเป็นเพียงมวลชนธรรมดา ไม่มีใครรู้จัก ทั้งเขาขอบคุณตะวันกับแบมที่ทราบว่าดำเนินปฏิบัติการอดอาหารและน้ำ เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของทุกคนเช่นนี้

“เข้าใจว่าการเคลื่อนไหวมันลดลง เพราะมันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ใกล้เลือกตั้ง คนคงไปสนใจเรื่องนั้นมากกว่า ก็ไม่แปลกที่เขาจะไม่สนใจนักโทษทางการเมือง”

“ผมนับถือหัวใจน้องเค้า ผมมาอยู่ในนี้ จะครบเดือนแล้ว ยังรู้สึกว่าเราเข้มแข็งสู้น้องไม่ได้เลย ผมไม่คิดว่าผมจะตัดสินใจทำอะไรแบบนี้ได้ เราไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว ก็ยังมีผมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องนั้น ขอบคุณจากใจเลย และฝากความห่วงใยให้น้องทั้งสอง”

.

4

อัญชัญ ผู้ต้องโทษด้วยคดีมาตรา 112 ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ผู้ถูกจองจำมาตั้งแต่ต้นปี 2564 โดยจากการตรวจสอบในช่วงปลายปี 2565 เธอยังต้องรับโทษไปจนถึงวันที่ 24 ก.ย. 2574 หรืออีกประมาณเกือบ 9 ปีข้างหน้า

ป้าบอกว่าชีวิตในเรือนจำมีความเครียดบ้าง มีเรื่องปวดหัวเวียนหัวอยู่บ้าง แต่การได้สวดมนต์นั่งสมาธิก็เป็นวิธีช่วยคลายเครียดของเธอ ตอนนี้ในเรื่องการอภัยโทษ ก็ไม่มีข่าวคราวใดๆ เลย

ป้าเพิ่งทราบเรื่องการอดอาหารและน้ำของนักกิจกรรมสองคน และสอบถามเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 3 ข้อ โดยเฉพาะข้อเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งป้าแสดงออกโดยการยกนิ้วโป้งถูกใจให้ แต่ในเรื่องการอดอาหารและน้ำ ป้าบอกว่ารู้สึกเศร้ามาก ที่ต้องมีการต่อสู้เพื่อข้อเรียกร้องด้วยวิธีการนี้

“ป้าก็ภูมิใจและซาบซึ้งใจจริงๆ นับถือใจ เค้ากล้ามากที่เอาชีวิตเข้าเสี่ยง” ป้าอัญชัญบอก

.

5

Trigger Warning: self-harm

เก่ง พลพล นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุแก๊ส อายุ 20 ปี ผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีมากว่า 7 เดือนแล้ว และเคยพยายามฆ่าตัวตายโดยการกินยาพาราฯ ทุกวันนี้ เขาก็ยังบอกว่าการใช้ชีวิตในเรือนจำแต่ละวัน ยังเต็มไปด้วยความเครียด

“ผมกินยาตามปกติครับ เมื่อคืนก็นอนหลับอยู่ แต่เมื่อวานเครียดจัด ไม่รู้จะระบายยังไง ก็เลย..กรีดแขน มันก็เลยดีขึ้นครับ แต่ผมกรีดไม่เยอะนะ” เขายืนยันพลางยกแขนให้ดู บริเวณข้อมือซ้ายของเก่งมีรอยแผลทั้งเก่าทั้งใหม่ “แค่ให้เป็นรอยแดงบางๆ ไม่ได้ลึกมาก ไม่ได้กรีดเอาตายครับ แค่ให้สบายใจขึ้นเฉยๆ”

แม้ทนายพยายามพูดคุยเพื่อคลายเครียดให้เก่ง แต่เก่งก็บอกว่าภาวะเครียดจะเกิดขึ้นในช่วงกลางคืน ทั้งคิดมากเรื่องการประกันตัว เครียดเรื่องสภาวะความเป็นอยู่ในนี้

“มันไม่มีความยุติธรรมเลยนะ พวกเจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยต้องรับผิดชอบอะไร ทั้งเรื่องซ้อมเด็ก หรือเรื่องที่ยิงน้องวาฤทธิ์ตาย วันนั้นผมก็อยู่แถว สน.ดินแดง นะพี่ แต่ไม่ได้อยู่ใกล้น้องมาก ผมเห็นน้องโดนยิงล้มลงไปต่อหน้าต่อตาเลย สุดท้ายมีใครรับผิดชอบอะไรบ้าง”

เมื่อเล่าเรื่องที่ตะวันกับแบมถอนประกันตนเองเพื่อเข้ามาอยู่ในเรือนจำ และประกาศอดน้ำอดอาหารเพื่อข้อเรียกร้อง 3 ข้อ หนึ่งในนั้นคือยุติการดำเนินคดีทางการเมือง และปล่อยตัวเพื่อนเราออกจากเรือนจำทุกคน เล่าถึงตรงนี้ เก่งก็เงียบไป

“ผมคิดว่า ผมอยู่นานเกินไป ไม่คิดว่าจะมีคนจำเราได้ คิดว่าคงลืมไปหมดแล้ว คดีของเราไม่เหมือนคนอื่น คนข้างนอกคงมองว่าเรารุนแรง แล้วก็ไม่สนใจ”

ทนายเล่าให้เก่งฟังว่า ตะวันอ่านบันทึกเยี่ยมตลอด อาหารพิเศษปีใหม่ที่ผู้ต้องขังทุกคนได้รับ ก็มาจากตะวันและเพื่อนๆ ช่วยกันลงขันซื้อ เพราะอยากให้กำลังใจผู้ต้องขังในเรือนจำ ตะวันพยายามเขียนคำร้องขอออกจากบ้านหลายครั้งเพื่อไปซื้ออาหารพิเศษ เก่งตาโต ถามย้ำว่าจริงเหรอที่ตะวันเป็นคนซื้อ เขานึกว่าพี่ทนายเป็นคนซื้อ เราตอบว่าจริง ตะวันอ่าน ส.ค.ส. ของพี่สมบัติ จึงรู้ว่าคนในเรือนจำอยากได้อะไร

“ผมเป็นห่วง คือผมไม่คิดว่าตะวันกับแบมจะทำเพื่อพวกเราขนาดนี้ ใจจริงผมไม่อยากให้ใครเข้ามาแล้ว ผมไม่ห่วงตัวเองหรอก เครียดแค่ไหนก็จะทนอยู่ นี่ก็อยู่มาจะ 7 เดือนแล้ว มันก็ทำอะไรไม่ได้ ตั้งแต่พวกผมเข้ามา ผมไม่เคยลืมคนข้างนอกสักคนเลย คิดถึงคนที่เคยสู้มาด้วยกันตลอด”

“ผมอยากให้ตะวันกับแบมดูแลตัวเอง พวกผมทนได้ ผมไม่ได้ห่วงชีวิตตัวเองเลย ถ้าผมตายไปแล้วทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ผมก็ยอมแลกนะ ไม่อยากให้ใครมาลำบากเพื่อพวกผม แค่รู้ว่าข้างนอกยังไม่ลืมพวกเราก็ดีใจแล้ว” เก่งทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม ก่อนที่บอกลากัน

.

X