ยกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 4 นักกิจกรรม “ขอคืนไม่ได้ขอทาน” กรณีปักหลักใกล้ทำเนียบฯ ศาลชี้คำฟ้องไม่ชัดเจน–พนักงานคุมโรคไม่เคยออกหนังสือเตือน

3 ต.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ 4 สมาชิกกลุ่ม “ขอคืนไม่ได้ขอทาน” ประกอบด้วย “หมอบูรณ์” หรือ บูรณ์ อารยพล, ณพกฤษณ์ อัศวธิวากร, ตฤบดี ตฤกษ์วงนาค และประวัติ รองเดช ที่ถูกฟ้องในข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ 

เหตุแห่งคดีนี้สืบเนื่องมาจากช่วงต้นปี 2564 กลุ่มนักกิจกรรม “ขอคืนไม่ได้ขอทาน” ได้ปักหลักค้างคืนรอพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ใกล้ทำเนียบรัฐบาล ที่บริเวณหน้าศาลกรมหลวงชุมพรฯ ถนนพระราม 5 เพื่อเรียกร้องนายกรัฐมนตรี ช่วยแก้กฎหมายให้ผู้สมทบเงินประกันสังคมสามารถเบิกเงินสะสมชราภาพมาใช้ก่อนเกษียณ และให้ผู้ประกันตนรากหญ้าที่ได้รับผลกระทบจากช่วงโควิด-19 สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าจับกุมสมาชิกทั้งสี่คนไปดำเนินคดีที่ สน.นางเลิ้ง ในช่วงเช้าตรู่วันที่ 5 ม.ค. 2564 ทั้งสี่ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และยืนยันต่อสู้คดีเรื่อยมาเป็นเวลากว่า 1 ปี 9 เดือนแล้ว

ย้อนดูคดี>> จับอีกรอบ สี่สมาชิก “ขอคืนไม่ได้ขอทาน” ถูกแจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องประกันตัวที่ศาล

ที่ห้องพิจารณา 401 จำเลยทั้ง 4 ราย และทนายความได้ทยอยมาศาล เวลา 09.25 น. ผู้พิพากษาได้ออกนั่งอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อัยการบรรยายฟ้องไม่ชัดเจน ไม่ได้บรรยายพฤติการณ์จำเลยแต่ละคนว่ากระทำความผิดอย่างไรในสถานที่ที่อ้างว่าแออัด ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรค เลยยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดอย่างไร

ที่สำคัญตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ มาตรา 9 วรรค 2 ไม่ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีได้มอบอำนาจให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง หรือเป็นผู้ใช้อำนาจออกข้อกำหนดแทนนายกรัฐมนตรี ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 10 ดังนั้นการที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง (ผู้บัญชาการทหารสูงสุดโดยตำแหน่ง) ได้ออกประกาศห้ามกระทำการหรือมอบอำนาจในการประกาศกำหนดพื้นที่ห้ามมิให้กระทำการ ตามข้อ 3 แห่งข้อกำหนดเรื่องการชุมนุม การกระทำกิจกรรมการมั่วสุม จึงเป็นเพียงการสั่งการในลักษณะการบริหาร มิใช่การกระทำการที่ได้รับมอบอำนาจ ตามมาตรา 9 ศาลจึงไม่ต้องพิจารณาการกระทำของจำเลยทั้งสี่ว่าเป็นความผิดหรือไม่

ในส่วนประเด็นฟ้องเรื่องการกระทำการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจเป็นเหตุให้โรคระบาดแพร่ออกไป ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 กำหนดไว้ว่า “เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ เมื่อเกิดโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดหรือมีเหตุสงสัยว่าได้เกิดโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดในเขตพื้นที่ใด ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่นั้นมีอํานาจที่จะดําเนินการเองหรือออกคําสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ใดดําเนินการ” 

ศาลเห็นว่าตามกฎหมายแล้ว เจ้าพนักงานควบคุมโรคจะต้องออกคำสั่งแจ้งเตือนเป็นหนังสือต่อผู้กระทำผิด กรณีที่มีการฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ แต่กรณีนี้ไม่ได้มีการออกหนังสือแจ้งเตือนแต่อย่างใด จึงเป็นคำสั่งโดยมิชอบ พิพากษายกฟ้อง

.

หมอบูรณ์ยินดีที่ศาลยกฟ้อง น้ำหนักข้อกล่าวหาอ่อนตั้งแต่ต้น ด้านทนายจำเลยชี้รัฐไม่ควรใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาจำกัดสิทธิประชาชน

หลังอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว หมอบูรณ์ได้ระบุถึงความรู้สึกต่อคำพิพากษาในวันนี้ว่า รู้สึกพึงพอใจกับคำพิพากษา เพราะสิ่งที่เขาทำไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน และศาลก็เห็นว่าไม่ได้เป็นการกระทำความผิดตามข้อกฎหมาย

“ศาลบอกว่าน้ำหนักข้อกล่าวหามันอ่อน ขั้นตอนการแจ้งความก็ไม่ถูกต้อง ไม่ได้เข้าเกณฑ์ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พอฟังแล้วรู้สึกได้รับความเป็นธรรม เพราะในสิ่งที่เราเรียกร้อง เราก็เรียกร้องในสิทธิของเรา เรามีสิทธิที่จะมาหานายกฯ เพราะว่าเขาเป็นคนเดียวในประเทศที่จะมีอำนาจสั่งการในสิ่งที่เราเรียกร้อง” 

ด้านทนายความในคดีนี้ให้สัมภาษณ์เสริมว่า “เนื่องจากเป็นสถานการณ์ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เจ้าหน้าที่รัฐมักจะใช้กฎหมายนี้เหมารวมทุกอย่างว่าเป็นการชุมนุม แต่เกี่ยวกับคดีนี้ จำเลยเพียงต้องการสื่อสารกับรัฐบาล ไปยื่นเรื่องกับนายกรัฐมนตรี แล้วก็ไปเรียกร้องไปหลายรอบแล้ว ไปทุกหน่วยงาน แต่มันไม่คืบหน้า การเอาข้อกฎหมายที่เป็นข้อประกาศช่วงนั้นมาจำกัดสิทธิคนที่มาเรียกร้อง ก็ไม่ควรทำแต่แรก อีกทั้งการชุมนุมดังกล่าวมีเพียงแค่สี่คน ไม่มีความรุนแรง ไม่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค” 

อนึ่ง “หมอบูรณ์” และ “ประวัติ” ยังถูกอัยการฟ้องอีกหนึ่งคดี ในข้อหากีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 จากการถือป้ายสวัสดีปีใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล บนถนนนครปฐม เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2564 โดยถือว่าทั้งสองคนได้ถูกจับกุมต่อเนื่องกันสองวันในช่วงดังกล่าว เนื่องจากพยายามทำกิจกรรมอยู่บริเวณทำเนียบรัฐบาล

ในคดีถือป้ายสวัสดีปีใหม่นี้ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2565 ศาลแขวงดุสิตก็ได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วเช่นกัน หลังทั้งสองต่อสู้คดีมากว่าหนึ่งปีครึ่ง เนื่องจากศาลเห็นว่าบริเวณถนนที่ทั้งสองชูป้ายหน้าทำเนียบรัฐบาล ไม่ใช่ทางบกสำหรับประชาชนในการสัญจร ยังถือไม่ได้ว่าเป็นทางสาธารณะ การกระทำของทั้งสองจึงไม่ถือเป็นความผิด 

.

ดู สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

X