9 นักกิจกรรมเข้ายื่นหนังสือต่ออัยการ ขอให้ยุติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง หลังยกฟ้องไปแล้ว 4 คดี ชี้ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ

เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2565 กลุ่มนักกิจกรรมทั้งหมด 9 ราย ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือที่สำนักอัยการคดีศาลสูง ถนนรัชดาภิเษก และสำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ อาคาร A ราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ขอให้อัยการไม่อุทธรณ์คดีและถอนฟ้อง ในคดีที่แต่ละคนถูกกล่าวหาจากการชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 หลังศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วรวม 4 คดี 

การดำเนินการยื่นหนังสือจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

1. ในเวลา 10.30 ทนายความ และนักกิจกรรม 4 ราย ประกอบไปด้วย ไพศาล จันปาน, วสันต์ กล่ำถาวร, อานันท์ ลุ่มจันทร์ และสุวรรณา ตาลเหล็ก ได้เข้ายื่นหนังสือต่ออธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูง ขอให้อัยการไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแขวงดุสิต โดยอ้างคำพิพากษายกฟ้องของศาลแขวงดุสิตที่ได้มีการพิพากษายกฟ้องคดีของทั้ง 4 คน ไปแล้ว 

นอกจากนั้นยังมี “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ซึ่งเคยเข้ายื่นหนังสือขอให้อัยการสูงสุดไม่อุทธรณ์คดีไปแล้ว และทางอัยการได้มีคำสั่งไม่อุทธรณ์คดีแล้ว เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2565 แต่ยังรอการส่งสำนวนไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้คดีสิ้นสุดลง ได้เดินทางมาร่วมให้กำลังใจกลุ่มนักกิจกรรมด้วย 

ทั้งนี้ ในระหว่างการรอดำเนินการยื่นเอกสารประมาณ 1 ชั่วโมง ได้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) เข้ามาถ่ายภาพกลุ่มนักกิจกรรมอยู่เป็นระยะ โดยบอกว่าถ่ายภาพเช่นนี้อยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ รปภ. ด้วย จากที่มีประจำอยู่ 1 คน เพิ่มเป็น 4 คน

ในหนังสือคำร้องที่มีต่อสำนักอัยการคดีศาลสูง ทั้งสี่นักกิจกรรมได้ขอให้อัยการยุติไม่ยื่นอุทธรณ์คดี โดยอ้างถึงคำพิพากษายกฟ้องของศาลแขวงดุสิต ซึ่งมีใจความสำคัญว่า “การที่จำเลยเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ จึงเป็นการชุมนุมทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีผลต่อความมั่งคงของรัฐและความปลอดภัยของสาธารณะ”

จึงขอให้อัยการยุติคดี โดยไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแขวงดุสิต ทั้งในคดีของกลุ่มจำเลยและกลุ่มคดีอื่นในลักษณะเดียวกัน และยังขอให้ถอนฟ้องในกลุ่มคดีลักษณะเดียวกันที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น หรือไม่สั่งฟ้องคดีที่อยู่ในระหว่างพิจารณาคดีด้วย เนื่องจากการอุทธรณ์หรือสั่งฟ้องคดีของกลุ่มจำเลยจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน และเป็นการสร้างภาระทางสังคม ตลอดจนสิ้นเปลืองทรัพยากรในกระบวนการยุติธรรมและงบประมาณของประเทศ 

2. ในเวลา 13:30 น. ทนายความ และนักกิจกรรม 5 ราย ประกอบไปด้วย วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล, ชลธิชา แจ้งเร็ว, อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์, ชาติชาย แกดำ และ กรกช แสงเย็นพันธ์ ได้เข้ายื่นหนังสือขอให้ยุติการพิจารณาคดีและถอนฟ้อง ต่อสำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ อาคาร A ราชบุรีดิเรกฤทธิ์ โดยมี “นุ้ย” สื่ออิสระผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 กรณีไปร่วมไลฟ์ทำโพลขบวนเสด็จ ได้ร่วมเดินทางมาให้กำลังใจวีรวิชญ์ด้วย โดยบรรยากาศในการยื่นหนังสือเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและรวดเร็ว

ในส่วนการยื่นหนังสือขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาถอนฟ้องคดีของนักกิจกรรมแต่ละคน ซึ่งมีเหตุเดียวกันกับคดีที่ยกฟ้องไปแล้วทั้ง 4 คดี แต่อยู่ระหว่างรอการนัดพร้อมและสืบพยานที่ศาลแขวงดุสิต มีใจความสำคัญระบุว่า “ขอให้อำนวยความยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิของจำเลยในฐานะประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ โดยพิจารณามีคำสั่งถอนฟ้องกลุ่มจำเลยแทนการสั่งฟ้องดำเนินคดี ซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบกับความปลอดภัย หรือความมั่นคงของชาติ และต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศแต่อย่างใด”

หลังจากยื่นหนังสือของทั้ง 2 ส่วนเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้รอติดตามการดำเนินการของอัยการคต่อไป ว่าจะดำเนินการยุติการอุทธรณ์และถอนฟ้องคดีหรือไม่

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

จับตา นักกิจกรรมเข้ายื่นหนังสืออัยการ ขอให้ยุติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง หลังศาลยกฟ้องแล้ว 4 คดี | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (tlhr2014.com)

9 ข้อสังเกต กับ 2 ปี การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อการชุมนุม | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (tlhr2014.com)

X