ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ยกฟ้อง ม.112 คดี  “สายน้ำ” ถูกฟ้องแปะกระดาษ Cancel Law 112-พ่นสีรูปสเปรย์บนรูป ร.10

วันที่ 8 ก.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษในคดีของ “สายน้ำ” กรณีถูกกล่าวหาว่าแปะกระดาษ “CANCEL LAW 112” และใช้สีสเปรย์สีดำพ่นทับข้อความ “ทรงพระเจริญ” บนรูปรัชกาลที่ 10 ระหว่างการชุมนุม #ทวงคืนประเทศไทยขับไล่ปรสิต ที่เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังทําเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564

คดีนี้ อัยการคดีเยาวชนฟ้อง “สายน้ำ” ใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, “วางเพลิงเผาทรัพย์” ตามมาตรา 217, “ทำให้เสียทรัพย์” มาตรา 358 และ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่า จำเลยได้หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และวางเพลิงเผาทรัพย์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โดยใช้กระดาษที่มีข้อความว่า “CANCEL LAW 112” จำนวน 1 แผ่น ข้อความ “เอาช่วงเวลาชีวิตพวกกูคืนมา” จำนวน 1 แผ่น โดยกระดาษทั้งหมดปิดทับบนรูปพระมหากษัตริย์ และจำเลยยังใช้สีสเปรย์สีดำพ่นทับข้อความ “ทรงพระเจริญ” ด้วยคำหยาบบนรูปดังกล่าว

อีกทั้งจำเลยยังจุดไฟเผา จนมีไฟลุกไหม้ที่ผ้าประดับสีเหลืองและสีขาว พานพุ่ม พร้อมกรวยธูปเทียนถวายพระพรที่ใช้ประดับรูป และรวมถึงรูปที่ติดตั้งบริเวณหน้ามหาวิทยาลัย

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิพากษายกฟ้องใน 3 ข้อกล่าวหา เนื่องจากจากพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้แน่ชัดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำการตามข้อกล่าวหาจริงหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย 

ในส่วนข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เห็นว่าจำเลยไปร่วมการชุมนุมกับกลุ่มเยาวชนปลดแอกในวันเกิดเหตุจริง และในขณะนั้นมีการออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยพบว่าจำเลยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย และมีพฤติกรรมที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 จึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษปรับ 6,000 บาท เห็นว่าจำเลยให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือปรับ 4,000 บาท

ต่อมาฝ่ายอัยการโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาคดีนี้ในส่วนที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยทั้งหมด คดีจึงไปสู่ชั้นศาลอุทธรณ์ โดยฝ่ายจำเลยไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาอีก

.

ช่วงเช้าที่ห้องพิจารณา 7 สายน้ำพร้อมครอบครัว ที่ปรึกษากฎหมาย รวมถึง สส. จากพรรคก้าวไกล และผู้ที่มาให้กำลังใจสายน้ำได้มานั่งรออยู่ในห้องพิจารณา เพื่อรอฟังคำพิพากษาอย่างคับคั่ง โดยสามารถเข้าร่วมรับฟังการอ่านคำพิพากษาได้

เวลา 09.45 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี และอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ มีใจความโดยสรุปว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่กระทำผิดตามมาตรา 112 หรือไม่

ประการแรก ศาลเห็นว่าภาพคนร้ายขณะลงมือกระทำความผิดต่อพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 คงปรากฏแต่เพียงภาพคนร้ายที่สวมชุดสีดำและมีผ้าปิดหน้าพรางตัวไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด โดยทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏรายละเอียดใด ๆ เกี่ยวกับคนร้าย ไม่ว่าจะเป็นส่วนสูง ขนาดร่างกาย หรือตำหนิรูปพรรณคนร้ายที่เด่นชัด เพียงพอที่จะแยกแยะได้ว่าคนร้ายเป็นผู้ใด แม้แต่เพศ หรือสีผิวของคนร้ายตามภาพถ่ายดังกล่าวก็ยังไม่ปรากฏรายละเอียดชัดเจนว่า คนร้ายเป็นเพศชายหรือเพศหญิง และมีผิวสีอะไร จึงยังไม่มีรายละเอียดตำหนิรูปพรรณของคนร้ายเด่นชัดเพียงพอที่จะแยกแยะและนำไปเปรียบภาพถ่ายบุคคลเพื่อติดตามหาตัวคนร้ายได้      

แม้จำเลยจะแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายชุดสีดำและสะพายย่ามลักษณะเช่นเดียวกันกับคนร้ายก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความตามทางพิจารณาว่า ในวันเกิดเหตุนอกจากจำเลยแล้วยังมีบุคคลอื่นที่แต่งกายลักษณะเดียวกับจำเลยอีกหลายคนปะปนในกลุ่มผู้ร่วมชุมนุม 

ทางนำสืบของโจทก์ยังไม่ปรากฏรายละเอียดแยกแยะให้ชัดเจนว่าจำเลยมีตำหนิใดที่ตรงกับคนร้าย และแตกต่างจากชายชุดดำคนอื่นที่ร่วมชุมนุมด้วยในวันเกิดเหตุอย่างไร หลังจากพนักงานตำรวจได้ตัวจำเลย ก็ไม่ปรากฏว่ามีการนำตัวจำเลยมายืนเปรียบเทียบขนาดร่างกายกับตำแหน่งสิ่งของในภาพถ่าย ทางนำสืบของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีขนาดร่างกายใกล้เคียงกับคนร้าย

ประการที่สอง แม้ขณะเกิดเหตุจะมีการถ่ายทอดสดเหตุการณ์การชุมนุม พยานโจทก์กลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ ทั้ง 4 ราย เบิกความยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุนั่งดูถ่ายทอดสดการชุมนุม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ติดตามรวบรวมข้อมูลหรือคลิปวิดีโอจากการถ่ายทอดสดมาเป็นพยานหลักฐานด้วย              

เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาคงมีเพียงภาพถ่ายคนร้ายที่ยังบ่งชี้ตำหนิรูปพรรณชัดเจนของคนร้ายไม่ได้ และไม่มีหลักฐานอื่นใดที่จะอาจแสดงถึงความเชื่อมโยงสอดคล้องว่าจำเลยเป็นบุคคลเดียวกับคนที่ร้ายที่ปรากฏตามภาพถ่ายนั้น จึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยเป็นบุคคลเดียวกันกับคนร้ายที่ปรากฏว่ากระทำผิดตามภาพถ่ายหรือไม่

ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ตามมาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้มานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น อุทธรณ์อื่นของโจทก์นอกจากนี้ล้วนแล้วแต่เป็นรายละเอียดปลีกย่อย ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่วินิจฉัยให้ พิพากษายืน

หลังอ่านคำพิพากษา เพื่อน ๆ และประชาชนที่มาร่วมติดตามฟังคำพิพากษาได้เข้ามาแสดงความยินดีกับสายน้ำ ก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ฐานข้อมูลคดี: คดี 112 เยาวชน “สายน้ำ” ถูกออกหมายจับ ม.112 เหตุแปะกระดาษ-พ่นสีสเปรย์บนรูป ร.10 ในม็อบ #18กรกฎา64

เปิดเผย ปลอดภัย เป็นธรรมหรือไม่: บทสนทนากับ “สายน้ำ” กับประสบการณ์พิจารณาคดีในศาลเยาวชนครั้งแรก

X