เดือนมิถุนายนที่ผ่านไป ไม่มีคดีจากการแสดงออกทางเมืองเพิ่มขึ้นเท่าไรนัก แต่คดีจากการชุมนุมและคดีมาตรา 112 จำนวนมากยังทยอยรอสืบพยานและมีคำพิพากษาในชั้นศาล เดือนที่ผ่านมา มีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 อีก 5 คดี โดยเป็นคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์ถึง 2 คดี ที่ศาลกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไปในแนวเห็นว่ามีความผิด ขณะที่คดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ศาลพิพากษายกฟ้องอีกอย่างละ 1 คดี รวมทั้งยังมีผู้ชุมนุมทางการเมืองถูกคุมขังเพิ่มเติมอีก 1 ราย กรณีถูกกล่าวหาสับศอกใส่เจ้าหน้าที่หลังถูกจับกุมเมื่อปี 2564 และคดีถึงที่สุดแล้ว
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,954 คน ในจำนวน 1,297 คดี
เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงเดือนพฤษภาคม มีคดีเพิ่มขึ้น 1 คดี โดยเป็นคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่อยู่ในชั้นศาลเดิม และจำเลยในคดีเดียวกัน ให้การต่างกัน ทำให้ศาลให้แยกฟ้องคดีที่จำเลยยังต่อสู้คดีเข้ามาใหม่ จึงต้องนับจำนวนคดีเพิ่มเติม
หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 4,003 ครั้ง
สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่
1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 272 คน ในจำนวน 303 คดี
2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 152 คน ในจำนวน 50 คดี
3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,466 คน ในจำนวน 671 คดี
4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 181 คน ในจำนวน 99 คดี
5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 202 คน ในจำนวน 225 คดี
6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 43 คน ใน 25 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี
จากจำนวนคดี 1,297 คดีดังกล่าว มีจำนวน 590 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 707 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่าง ๆ
.
.
แนวโน้มการดำเนินคดีในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้
คดี ม.112 ศาลมีคำพิพากษา 5 คดี ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นสองคดีรวด
เดือนที่ผ่านมาไม่มีรายงานคดีมาตรา 112 คดีใหม่เพิ่มขึ้น แต่คดีที่สืบเนื่องมาในชั้นศาลจำนวนมากยังคงดำเนินต่อไป โดยในรอบเดือน มีคดีที่ศาลมีคำพิพากษาออกมาอีกอย่างน้อย 5 คดี แยกเป็นคำพิพากษาในศาลชั้นต้น 3 คดี และ ศาลอุทธรณ์ 2 คดี
คดีที่สำคัญ ได้แก่ คดีของ “เพชร-บีม” สองเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จากกรณีถูกไปเข้าร่วมกิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อปไปเดินสยามพารากอน เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563 คดีนี้จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่าเพียงแต่ไปร่วมกิจกรรมตามความสนใจ ไม่ได้มีการนัดหมายกับใคร และไม่ได้มีการแสดงออกใดที่เข้าข่ายมาตรา 112
แต่ศาลเยาวชนฯ เห็นว่าทั้งคู่มีความผิดตามฟ้อง โดยพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองเข้าร่วมกิจกรรมโดยตลอด แม้จะได้อ่านดูข้อความบนร่างกายและการแสดงออกของนักกิจกรรมคนอื่น ๆ หากจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาดูหมิ่นและหมิ่นประมาทก็ควรจะปลีกตัวแยกออกไป แต่ทั้งสองคนไม่ได้ปลีกตัวแยกออกไป จึงมีลักษณะเป็นการเห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว ศาลให้ลงโทษจำคุกคนละ 3 ปี แต่ทั้งสองมีอายุ 17 ปี จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน โดยให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นเข้ารับการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ กำหนดระยะเวลาขั้นต่ำ 1 ปี และขั้นสูง 2 ปี โดยต้องรับการฝึกวิชาชีพจำนวน 3 หลักสูตร
แม้ทั้งสองคนยังได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ และยังต้องต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ต่อ แต่แนวทางการวินิจฉัยโดยไม่ได้เพียงพิจารณาเฉพาะการแสดงออกของจำเลย แต่พิจารณาว่าจำเลยไม่แยกตัวออกจากกิจกรรม เท่ากับเห็นด้วยกับการแสดงออกของคนอื่น ๆ ยังเป็นแนวการวินิจฉัยที่น่ากังวล เป็นการตีความเจตนาไปอย่างกว้างขวาง และอาจทำให้เพียงการเข้าร่วมกิจกรรมหรือการชุมนุมที่ผู้อื่นจัดกลายเป็นความผิดไปด้วย
.
.
นอกจากนั้น ยังมีคดีในศาลชั้นต้นอีก 2 คดี ที่จำเลยให้การรับสารภาพ และศาลพิพากษาจำคุก แต่ให้รอลงอาญาไว้ ได้แก่ คดีของ “เสี่ยวเป้า” กรณีร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” และคดีของวรพลที่จังหวัดชุมพร กรณีเปลี่ยนภาพโปรไฟล์เฟซบุ๊ก
ในส่วนคดีชั้นศาลอุทธรณ์นั้น พบว่าในเดือนที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นถึง 2 คดี ได้แก่ คดีของพชร กรณีโพสต์ข้อความในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” เดิมศาลชั้นต้นยกฟ้องคดีนี้ โดยเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอในการยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กลับคำพิพากษาเป็นเห็นว่ามีความผิด ลงโทษจำคุก 2 ปี โดยเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความ แต่พชรยังได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกา
อีกคดีหนึ่ง คือคดีของ “สมพล” กรณีปาสีน้ำสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ บริเวณหน้าห้างโลตัสรังสิต ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 กลับคำพิพากษาเดิมเช่นกัน จากเดิมยกฟ้องมาตรา 112 เป็นเห็นว่ามีความผิด โดยวินิจฉัยว่าจากพฤติการณ์จำเลยปาสีน้ำใส่รูปในหลายท้องที่ มีลักษณะมุ่งประสงค์จะกระทำต่อรูปรัชกาลที่ 10 เป็นการเฉพาะ จึงเห็นว่าเข้าข่ายเป็นการดูหมิ่นตามมาตรานี้ ลงโทษจำคุก 2 ปี โดยเขายังได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกา
สำหรับสมพลถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการปาสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ในจุดต่าง ๆ 5 คดี เดิมศาลชั้นต้นมีแนวทางยกฟ้องข้อหามาตรา 112 ทั้งหมด แต่ลงโทษจำคุกในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ โดยมีทั้งคดีที่รอและไม่รอลงอาญา แต่คดีนี้เป็นคดีแรกที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาออกมา และวินิจฉัยแตกต่างจากแนวของศาลชั้นต้น จึงน่ากังวลถึงสถานการณ์คดีลักษณะนี้ต่อไป
โดยภาพรวมสถานการณ์คดีมาตรา 112 ในปี 2567 เพิ่มขึ้นไม่มากนัก ครึ่งปีที่ผ่านมา มีคดีใหม่อย่างน้อย 16 คดี แต่คดีเดิมนับจากปี 2563-66 ยังมีจำนวนมากที่ทยอยขึ้นสู่ศาล และศาลมีคำพิพากษาออกมาต่อเนื่อง โดยครึ่งปีนี้มีคำพิพากษาออกมาอย่างน้อย 43 คดี (เป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้น 29 คดี, ศาลอุทธรณ์ 13 คดี และศาลฎีกา 1 คดี)
ขณะเดียวกันการสืบพยานในชั้นศาลในคดีมาตรา 112 ยังเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะคดีของอานนท์ นำภา ที่มีการต่อสู้ในเนื้อหาข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทำให้มีการต่อสู้ทั้งเรื่องการขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารการเดินทางไปเยอรมนีของรัชกาลที่ 10 เมื่อศาลไม่ออก จึงมีการยื่นคำร้องคำคัดค้าน รวมถึงการเบิกความในเนื้อหาหลักการอย่างเข้มข้นของอานนท์
.
.
คดีชุมนุม ทั้งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ศาลยกฟ้องอีก
ในเดือนมิถุนายน ไม่มีรายงานคดีจากการชุมนุมคดีใหม่เกิดขึ้น แต่ศาลมีคำพิพากษาคดีที่ต่อสู้ข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมเพิ่มเติมอีก 2 คดี คดีสำคัญ ได้แก่ คดีกิจกรรมอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา #ม็อบ20กุมภา2564 ที่หน้าอาคารรัฐสภา ซึ่งมีนักกิจกรรมถูกฟ้องถึง 16 คน และศาลแขวงดุสิตได้พิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสิบหกเป็นผู้จัดการชุมนุมตามฟ้อง ตำรวจเสียอีกที่นำแผงเหล็กมากั้นและผลักดันผู้ชุมนุม จนเกิดความเบียดเสียดแออัดเสียเอง
ขณะที่อีกคดีหนึ่ง คือคดีของ “สายน้ำ” ในศาลเยาวชนฯ จากการร่วมชุมนุม #ม็อบ13สิงหา64 ซึ่งศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คือเห็นว่ามีความผิดตามฟ้อง ลงโทษปรับ 4,000 บาท ทั้งนี้น่าสนใจว่าคดีจากการชุมนุมครั้งนี้ในส่วนของผู้ใหญ่ ซึ่งมีนักกิจกรรม 13 คนถูกกล่าวหานั้น อัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องทั้งหมด เนื่องจากเห็นว่ากิจกรรมเกิดขึ้นในที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเทสะดวก จึงไม่มีสภาพเป็นสถานที่แออัด แตกต่างจากแนวทางการวินิจฉัยในชั้นศาลเยาวชนฯ กรณีของสายน้ำโดยสิ้นเชิง
ปัญหาการพิจารณาคดีชุมนุมในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีทั้งแนวการพิจารณายกฟ้องคดี และเห็นว่ามีความผิดสลับกันไป ดูเหมือนจะสะท้อนถึงทัศนคติหรืออุดมการณ์ของศาลผู้พิจารณาคดีนั้น ๆ ที่แตกต่างกันไป ไม่ได้มีบรรทัดฐานเดียวกัน รวมถึงการพิจารณาสั่งฟ้องของอัยการก็เช่นกัน
นอกจากนั้น ศาลยังมีคำพิพากษาในคดีตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ในกรณีนักกิจกรรม 6 คน ร่วมเดินขบวนเรียกร้องดวงตาให้ “พายุ ดาวดิน” หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม #ราษฎรหยุดAPEC เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2565 โดยยกฟ้องข้อหานี้ เห็นว่ากิจกรรมยังไม่เข้าองค์ประกอบเป็นการชุมนุมสาธารณะตามที่กฎหมายบัญญัติ เนื่องจากไม่ปรากฏการเผยแพร่ข่าวสารเชิญชวนให้บุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมได้ แต่ให้ลงโทษปรับจำเลย 4 ราย คนละ 500 บาท ข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรฯ เหตุจากการเดินขบวนบนถนน กีดขวางการจราจร แต่ให้ยกฟ้องสื่ออิสระ 2 ราย ที่เพียงไปถ่ายทอดสดกิจกรรม แต่กลับถูกกล่าวหามาด้วย
การใช้กฎหมาย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ กล่าวหาดำเนินคดีอย่างกว้างขวางไว้ก่อน ยังสะท้อนปัญหาการมุ่งควบคุมการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐ มากกว่าการใช้กฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวก และถ่วงดุลสิทธิในการชุมนุม กับสิทธิในการสัญจรของประชาชนคนอื่น ๆ
.
.
สถานการณ์คดีอื่น ๆ มีทั้งรอลงอาญาคดีละเมิดอำนาจศาล-ยกฟ้องคดีชักธง และจำคุกคดีผู้ชุมนุมสับศอกใส่จนท. ทำให้ผู้ต้องขังเพิ่ม 1 ราย
เดือนที่ผ่านมา ยังมีคดีจากการแสดงออกทางการเมืองที่ศาลมีคำพิพากษาที่น่าสนใจอีกส่วนหนึ่ง ได้แก่ คดีละเมิดอำนาจศาล 2 คดี ของณัฐชนน ไพโรจน์ นักกิจกรรมและบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรณีที่เข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องสิทธิการประกันตัว หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 29 และ 30 เม.ย. 2564 โดยทั้งสองคดีนี้ไปถึงชั้นศาลฎีกาแล้ว
เดิมนั้น ศาลอุทธรณ์ได้ลงโทษกักขังเป็นเวลา 1 เดือน และ 15 วันตามลำดับ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยสองคดีในลักษณะใกล้เคียงกันว่าการพิพากษาของศาลอุทธรณ์นั้นเหมาะสมแล้ว แต่เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ชุมนุมบริเวณหน้าบันได ไม่ได้เข้าไปในบริเวณศาล การรอลงโทษและคุมความประพฤติน่าจะเป็นผลดีมากกว่า จึงไม่ให้เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นกักขัง แต่ให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้แทน และให้คุมประพฤติ รวมทั้งให้meกิจกรรมบริการสาธารณะแทน ทำให้คดีทั้งสองของณัฐชนนสิ้นสุดลง
อีกคดีหนึ่ง ได้แก่ คดีของพิมชนก และเบนจา ซึ่งถูกฟ้องในข้อหามาตรา 118 และ พ.ร.บ.ธง จากกรณีการนำผ้าสีแดงมีตัวเลข “112” ชักขึ้นไปบนยอดเสาธงแทนธงชาติ บริเวณหน้า สภ.คลองหลวง เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2564 ศาลจังหวัดธัญบุรีได้ยกฟ้องข้อหาหลักในคดีนี้ เนื่องจากเห็นว่าโจทก์ไม่ได้มีพยานหลักฐานว่าจำเลยกระทำการต่อธงชาติด้วยความไม่สมควร ไม่เคารพ หรือทำให้เกียรติภูมิประเทศเสื่อมเสียอย่างไร แต่เห็นว่ามีความผิดเฉพาะในข้อหาเรื่องการชักธงชาติลงก่อน 18.00 น. จึงให้ลงโทษปรับคนละ 400 บาท
.
.
สุดท้ายยังมีคดีของยงยุทธ ประชาชนวัย 26 ปี ที่ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายเจ้าพนักงาน เหตุจากการสับศอกใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากถูกจับกุมที่ห้างเมเจอร์รัชโยธิน ก่อนการชุมนุม #ม็อบ6มีนา64 คดีนี้จำเลยยอมรับว่าได้กระทำการดังกล่าวจริง โดยไม่ทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และหลังเกิดเหตุได้พยายามขอโทษเจ้าหน้าที่และชดเชยค่าเสียหาย
ในทางคดีได้ดำเนินไปจนถึงชั้นศาลฎีกา โดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ลงโทษจำคุก 1 ปี ก่อนลดเหลือ 6 เดือน เพราะให้การรับสารภาพ พร้อมเห็นว่าเหตุที่จำเลยอ้างว่าไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและมีภาระที่ต้องเลี้ยงดูครอบครัว ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอในการรอการลงโทษ ทำให้ยงยุทธกลายเป็นอีกหนึ่งผู้ถูกคุมขังที่คดีถึงที่สุดแล้วในเดือนที่ผ่านมา
.