ก่อนวันพิพากษา: เปิดแฟ้มคดี ม.112 – พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของ “พชร” สู้เรื่องพยานหลักฐานไม่น่าเชื่อถือ มีการตัดต่อภาพ – ไม่ใช่เฟซบุ๊กของจำเลย

ในวันที่ 16 ส.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดสมุทรปราการนัดฟังคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ของ “พชร” (สงวนนามสกุล) ฟรีแลนซ์วัย 34 ปี สืบเนื่องมาจากกรณีที่ถูกฟ้องว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” จำนวน 2 ข้อความ มีเนื้อหาเกี่ยวกับ ‘การทำคุณไสย’ และ ‘พฤติการณ์ทางเพศ’ พาดพิงรัชกาลที่ 10 และพระราชินีสุทิดา ตั้งแต่ปี 2563 

คดีนี้มีผู้กล่าวหาเป็นประชาชนทั่วไป คือ อุราพร สุนทรพจน์ ไปแจ้งความไว้ที่ สภ.บางแก้ว โดยพบว่า อุราพร ยังเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 กับ “พิพัทธ์” หนุ่มอายุ 20 ปี จากจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งภายหลังศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว และภัทร (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 16 ปี จากกรณีคอมเมนต์ลงในโพสต์ข้อความ ภายในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2563 เช่นเดียวกับพชร

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 จำเลยได้เข้าพบพนักงานสอบสวน โดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนจะถูกยื่นคำร้องขอฝากขัง ซึ่งศาลได้อนุญาตให้ประกันตัว กำหนดหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินจำนวน 150,000 บาท

จากนั้น อัยการได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ โดย อุทัยวรรณ สถานานนท์ พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ ผู้เรียบเรียงฟ้อง ระบุว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2563 จำเลยได้ใช้เฟซบุ๊กดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยจำเลยได้โพสต์ในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ จำนวน 2 ข้อความ โดยข้อความแรกเป็นการกล่าวหาว่าที่การใช้มนต์ดำ คุณไสย และอีกข้อความ มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมทางเพศของสมาชิกในราชวงศ์

ทั้ง 2 ข้อความสื่อถึงพระมหากษัตริย์และพระราชินี โดยรู้อยู่แล้วว่าข้อความดังกล่าวเป็นเท็จ ความจริงแล้วไม่ได้เป็นไปตามที่จำเลยใส่ความแต่อย่างใด ข้อความดังกล่าวเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ใส่ร้าย ใส่ความ ดูหมิ่น หมิ่นประมาทเบื้องสูง ทำให้เสียพระเกียรติยศ โดยจำเลยมีเจตนาให้ผู้อื่น หรือประชาชนโดยทั่วไป อ่านแล้วรู้สึกดูถูก ดูหมิ่น เกลียดชัง ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักร และสมเด็จพระราชินี

ย้อนอ่านข่าวสั่งฟ้องคดีของพชร >>> สั่งฟ้องหนุ่มวัย 32 ปี ข้อหา ม.112 ปมคอมเมนต์ใน “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” เกี่ยวกับคุณไสยฯ – พฤติกรรมทางเพศ ก่อนศาลให้ประกัน 

ศาลนัดสืบพยานทั้งสองฝ่ายรวมทั้งหมด 3 นัด โดยสืบพยานโจทก์ระหว่างวันที่ 25 – 26 พ.ค. 2566 และสืบพยานจำเลยวันที่ 26, 30 พ.ค. 2566 ทั้งนี้ อัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบ 5 ปาก และทนายจำเลยได้นำพยานจำเลยเข้าสืบทั้งหมด 2 ปาก จนเสร็จสิ้น

ภาพรวมการสืบพยาน:  โจทก์กล่าวหาจำเลยโพสต์เรื่องคุณไสย – พฤติการณ์ทางเพศ ทำให้ ร.10 – ราชินีสุทิดาเสื่อมเสีย ส่วนจำเลยต่อสู้เรื่องหลักฐานไม่ใช่ของจริง มีการตัดต่อกล่าวหาจำเลย

โจทก์นำสืบว่า จำเลยโพสต์หมิ่นประมาทกษัตริย์และพระราชินี จำนวน 2 ข้อความ ในกลุ่มตลาดหลวงฯ ในทำนองว่า มีการทำคุณไสย และมีพฤติการณ์ทางเพศที่เสียหาย อันเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน และใส่ร้ายเบื้องสูง ทำให้รัชกาลที่ 10 และพระราชินีเสื่อมเสียพระเกียรติ มีเจตนาทำให้ประชาชนหมดศรัทธาสถาบันฯ

จำเลยต่อสู้ว่า พยานหลักฐานทั้งหมดมีการตัดต่อ ไม่ปรากฏ IP Address หรือ URL ของบัญชีดังกล่าว จำเลยไม่ใช่เจ้าของเฟซบุ๊กตามคำฟ้อง และไม่เคยโพสต์หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ

ข้อมูลประกอบการอ่านบันทึกสืบพยานคดีของพชร

จำเลยต่อสู้ว่า พยานหลักฐานที่ใช้กล่าวหาจำเลย ไม่มี IP Address  ซึ่งมีความหมายคือ Internet Protocal Address  หรือ หมายเลขประจำเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องในระบบเครือข่ายที่ใช้โปรโตคอลแบบ TCP/IP สามารถบอกได้ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งอยู่ที่ไหน และแต่ละ IP จะไม่ซ้ำกัน

นอกจากนี้ ในโพสต์ข้อความตามฟ้องยังไม่ปรากฏ URL Facebook หรือ Copy link ของ Facebook คือ ที่อยู่ของชื่อบัญชีเฟซบุ๊กผู้ใช้

ซึ่ง URL หรือ Universal Resource Locator คือ ที่อยู่เว็บแบบสมบูรณ์ที่ใช้ค้นหาหน้าเว็บที่เฉพาะเจาะจง ขณะที่โดเมนคือชื่อของเว็บไซต์ URL จะเป็นสิ่งที่นำไปยังหน้าใดหน้าหนึ่งภายในเว็บไซต์ ทุก URL จะประกอบด้วยชื่อโดเมนและองค์ประกอบอื่นๆ ที่จำเป็นในการค้นหาหน้าเว็บหรือเนื้อหาที่เจาะจง  ตัวอย่างเช่น http://www.google.com และ https://www.youtube.com/feed/trendin 

พยานโจทก์ปากผู้กล่าวหาเบิกความ เข้าแจ้งความเพราะสำนึกพระกรุณาธิคุณในสถาบันฯ ที่ให้ครอบครัวคนจีนของพยานหนีร้อนมาพึ่งเย็น – สะเทือนใจที่พระเจ้าอยู่หัวถูกใส่ร้าย

อุราพร สุนทรพจน์  กรรมการผู้จัดการบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ผู้กล่าวหา เริ่มเบิกความโดยเล่าที่มาที่ไปของชีวิตตัวเองว่า ครอบครัวมีถิ่นกำเนิดที่เมืองกวางโจว ประเทศจีน แต่ตัวของพยานเกิดที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในสมัยของบิดามีความยากลำบากมาก เนื่องจากย้ายมาอาศัยที่แผ่นดินไทย จึงต้องรับจ้างทำทุกอย่าง บิดาได้สอนให้พยานสำนึกบุญคุณแผ่นดินไทยและพระเจ้าอยู่หัว เพราะเป็นแผ่นดินที่ให้ครอบครัวเราหนีร้อนมาพึ่งเย็น

พยานกล่าวต่อว่า เมื่อเริ่มสร้างตัวได้ ครอบครัวของตนได้เริ่มประกอบธุรกิจอู่ซ่อมรถยนต์ และรถมอเตอร์ไซค์ ต่อมาได้ขายอะไหล่รถยนต์

พยานเป็นบุคคลที่รักสถาบันฯ มาก เนื่องจากตั้งแต่เล็กบิดามักจะสอนให้พยานสำนึกบุญคุณของสถาบันกษัตริย์อยู่อย่างเสมอ เพราะสมัยนั้นการเป็นผู้อพยพจะต้องทำทุกอย่าง อีกทั้งในจังหวัดสุราษฎร์ธานีก็เป็นแหล่งรวมคอมมิวนิสต์ การเป็นต่างด้าวจึงต้องใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ 

บิดาเล่าให้ฟังว่า ในขณะนั้นเมื่อบิดาของพยานได้ทราบข่าวว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเสด็จมาพร้อมพระราชินีสิริกิติ์ เพื่อเยี่ยมเยียนประชาชนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี บิดาของพยานไม่กล้าเข้าเฝ้า เนื่องจากเป็นคนต่างด้าวกลัวจะถูกจับ แต่รัชกาลที่ 9 รับสั่งให้ทหารไปตามต่างด้าวมาเข้ารับเสด็จได้ไม่ต้องหลบต้องซ่อน นอกจากนี้ยังทรงมีรับสั่งให้ต่างด้าวไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่เพื่อทำบันทึกทะเบียนราษฎร์ 

บิดาของพยานได้กล่าวถึงความรู้สึกในวันดังกล่าวว่า เป็นบุญคุณที่จะจำจนวันตาย และก่อนตายได้สั่งเสียกับทุกคนไว้ว่า ให้สำนึกบุญคุณแผ่นดินไทยและพระเจ้าอยู่หัว ลูกๆ ทุกคนเลยตั้งใจเรียนจนได้ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ จบออกมาก็ทำธุรกิจรีสอร์ท โรงแรม จนผลประกอบการงอกเงย

ในองค์กรของพยานยึดหลักความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ แม้ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงค่อยๆ มาจากคนรุ่นใหม่มากขึ้น แต่กษัตริย์ยังคงเป็นที่พึ่งพาของประชาชนทุกชนชั้น ไม่ว่าจะเกิดภัยพิบัติ ฝนแล้ง ท่านไม่เคยทอดทิ้งประชาชน ซึ่งแตกต่างจากในประเทศอื่นๆ ที่พยานเคยได้ไปเล่าเรียน ทั้งจีนและอังกฤษ ก็ได้เห็นว่าประเทศเขาแม้จะมีสถาบันกษัตริย์ ก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นเท่าที่อยู่ในไทย 

เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2563 พยานได้ไปประชุมกรรมการบริหาร และร่วมรับประทานอาหารกับพี่ชาย ซึ่งได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการเมืองว่า เหตุใดสถาบันกษัตริย์จึงถูกดึงลงมาเกี่ยวกับการเมืองเยอะขนาดนี้ 

พี่ชายของพยานได้ให้ความเห็นว่า เพราะมีคนโดนคดีมาตรา 112 และหนีไปต่างประเทศ แล้วสร้างความเกลียดชัง หมิ่นประมาทสถาบันฯ ทำให้เกิดความวุ่นวาย เป็นตัวจุดชนวนให้เกิดการดึงสถาบันกษัตริย์ลงมาพูดถึงอยู่ทุกวันนี้ และบอกให้พยานเข้าไปดูในเพจตลาดหลวง

อัยการโจทก์ถามพยานว่า เหตุใดจึงเลือกเข้าไปดูที่กลุ่มตลาดหลวงในเฟซบุ๊ก พยานตอบว่า เพราะมีอาจารย์ปวิน หนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองเป็นคนดูแล  โดยในกลุ่มนี้ได้มีการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในเชิงเป็นปฏิปักษ์ มีสมาชิกหลายแสนคน และต้องสมัครสมาชิกก่อนถึงจะเข้าไปดูได้

ซึ่งพยานได้เข้าไปสอดส่องในกลุ่มดังกล่าว เพื่อต้องการรู้ว่ามีพนักงานบริษัทเข้าไปอยู่ในกลุ่มนั้น และมีทัศนคติที่เป็นภัยต่อสถาบันกษัตริย์หรือไม่ พยานจะได้แจ้ง HR ให้ดำเนินการสอบพฤติกรรม 

ในช่วงเวลาที่พยานได้เข้าไปเปิดดูคือช่วง 5 โมงเย็น ก็พบว่ามีข้อความเชิงวิพากษ์วิจารณ์ แชร์ข่าวเท็จ ดูถูกและดูหมิ่นเหยียดหยามกษัตริย์เหมือนว่าพระองค์ไม่ใช่กษัตริย์ โดยส่วนใหญ่ที่พยานได้เห็นเป็นการพูดถึงรัชกาลที่ 9 รัชกาลที่ 10 พระองค์ทีปังกร ราชินีสุทิดา 

และเมื่อพยานได้เข้าไปคอมเมนท์ แสดงความคิดเห็นในเชิงอธิบายข้อเท็จจริง พยานก็ถูกลบออกจากกลุ่ม

เมื่อเป็นเช่นนั้น พยานได้สั่งให้เลขาฯ ส่วนตัวสมัครเข้าไปในกลุ่มแทน เพื่อให้ไปดูข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ และให้แคปหน้าจอออกมา เพื่อนำมาแจ้งความดำเนินคดี 

พยานได้เจอข้อความของพชร หรือจำเลย ซึ่งโพสต์แสดงความคิดเห็นกล่าวหาหมิ่นรัชกาลที่ 10 และราชินีสุทิดาหลายข้อความตามฟ้อง

พยานกล่าวว่า หลังอ่านข้อความตามฟ้อง พยานรู้ได้ทันทีว่า คำว่า ‘นุ้ย’ หมายถึงราชินีสุทิดา เพราะเป็นชื่อเล่นของราชินีที่ใครก็รู้ และจากข้อความเรื่องคุณไสย พยานเข้าใจว่า เป็นการกล่าวหาว่า ราชินีทำเสน่ห์มนต์ดำใส่รัชกาลที่ 10 เพื่อให้ตัวเองได้เป็นราชินี  จึงได้พารัชกาลที่ 10 ไปอยู่เยอรมัน เพราะป้องกันไม่ให้เกิดการแก้มนต์ดำ ซึ่งหากประชาชนได้อ่านข้อความนี้ก็จะเกิดความเกลียดชังพระราชินีได้ 

ส่วนอีกข้อความ พยานมีความเห็นว่าส่อไปในทางเพศ ซึ่งในภาพมีรัชกาลที่ 10 และราชินี จึงทำให้ทราบได้ทันทีว่าหมายถึงใคร ซึ่งหากประชาชนอ่านแล้วคล้อยตามก็อาจทำให้เกิดความเกลียดชัง คิดว่ากษัตริย์มีพฤติกรรมเสียหายในทางเพศ เจ้าชู้ และสำส่อน 

ถ้อยคำทั้งหมด ทำให้พยานรู้สึกตั้งคำถามกับจำเลยว่า การที่โพสต์แบบนี้เขาเป็นคนไทยหรือเปล่า ถึงมีความคิดชั่วร้ายขนาดนี้

ในการติดตามตัวบุคคล พยานได้ใช้วิธีการสืบจากข้อมูลที่ทำงานซึ่งปรากฏบนหน้าเฟซบุ๊กของจำเลย โดยเห็นว่าเป็นช่างรับเหมาก่อสร้างให้กับบริษัทแห่งหนึ่งที่พยานรู้จักกับเจ้าของบริษัท จึงได้ขอให้ทางบริษัทดังกล่าวเช็กข้อมูลให้ พบว่ามีตัวตนอยู่จริงและอยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

พยานจึงได้ประสานขอความช่วยเหลือจากตำรวจที่รู้จักกันที่ สภ.แม่สอด ให้ช่วยสืบหาว่า มีบุคคลดังกล่าวอยู่ในพื้นที่จริงหรือไม่ ก็ได้พบว่า จำเลยมีตัวตนจริงเป็นคนจังหวัดตาก มีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง 

โดยนอกจากจำเลยแล้ว ในกลุ่มดังกล่าวยังมีบุคคลอื่นที่โพสต์ข้อความในลักษณะเดียวกันอีก 8 – 9 คน ซึ่งพยานได้ทำการแจ้งความที่ สภ.บางแก้ว ไว้แล้วพร้อมๆ กัน เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2563

อุราพรได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในความรู้สึกของพยาน จำเลยน่าจะมีทัศนคติที่ไม่ดีกับสถาบันฯ ถึงแม้จะเป็นคนที่มีการศึกษาและสถานภาพทางเศรษฐกิจที่ดีพอสมควร และเป็นคนไทย แต่ในฐานะที่เป็นคนไทยเหมือนกัน อยู่ใต้พระโพธิสมภาร ก็รู้สึกสะเทือนใจว่า พระเจ้าอยู่หัวถูกใส่ร้ายได้ขนาดนี้เชียวหรือ

ทนายจำเลยถามค้าน

ก่อนทนายจำเลยถามค้าน อุราพรได้ลุกขึ้นยืนแถลงต่อศาลว่า ชื่อและนามสกุลของตนเองถูกนำไปเผยแพร่ในเพจของ iLaw และเพจทนายสิทธิ พร้อมทั้งถามทนายจำเลยว่า เป็นทนายที่มาจากกลุ่มดังกล่าวใช่หรือไม่ ทนายจำเลยตอบว่า ตนเป็นทนายจากกลุ่มทนายสิทธิมนุษยชนจริง 

อุราพรกล่าวต่อศาลว่า ตนเองรู้สึกได้รับความไม่เป็นธรรม เพราะถูกล่าแม่มดจากการเผยแพร่ข่าวของกลุ่ม iLaw และทนายสิทธิ และจะหาทางดำเนินคดีกับทนายกลุ่มดังกล่าวต่อไปด้วย โดยศาลบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของพยาน และไม่ได้เกี่ยวกับคดีนี้ ขอให้พยานไปดำเนินการฟ้องเอาเอง ศาลไม่สามารถรับฟังเรื่องดังกล่าวได้

จากนั้นทนายจำเลยเริ่มถามค้าน โดยถามอุราพรว่า พยานเคยได้ยินพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2548 หรือไม่ที่พระองค์ได้กล่าวว่า ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ได้ พยานตอบว่า เคยได้ยิน

ทนายถามต่อไปว่า พยานสมัครบัญชีเฟซบุ๊กมาเป็นระยะเวลาเท่าไหร่แล้ว พยานตอบว่าจำไม่ได้ว่าใช้มากี่ปีแล้ว และไม่ได้ใช้เล่นจริงจัง ใช้คุยส่วนตัวกับญาติมิตรเท่านั้น แต่ทราบว่า ในการสมัครบัญชีเฟซบุ๊ก ไม่ต้องใช้บัตรประชาชนในการยืนยันตัวตน ใช้เพียงอีเมลและในการตั้งชื่อบัญชีเฟซบุ๊กจะใช้ชื่ออะไรหรือใช้ภาพโปรไฟล์เป็นอะไรก็ได้

ในส่วนการเก็บหลักฐานโพสต์ ทนายถามว่าพยานได้ใช้โทรศัพท์ยี่ห้อใด พยานตอบว่าตัวเองพกโทรศัพท์หลายยี่ห้อ

ทนายจึงถามต่อว่า ในการแคปภาพหน้าจอใดๆ ก็ตาม จะต้องปรากฏเวลาที่แคปบนจอภาพซ้ายมือส่วนขวามือของหน้าจอจะต้องปรากฏปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ และสามารถแคปได้ทีละภาพเท่านั้น ไม่สามารถแคปพร้อมกันหลายๆ ภาพได้ พยานตอบว่า ไม่ได้สังเกตรายละเอียดดังกล่าว และยอมรับว่าในการแคปภาพหน้าจอสามารถทำได้ทีละภาพเท่านั้น 

เมื่อทนายให้พยานดูภาพแคปหน้าจอของโพสต์ตามฟ้อง พยานบอกว่า พยานได้ส่งเอกสารให้ตำรวจเป็นจำนวน 4 แผ่น ไม่ใช่แผ่นเดียวตามที่ทนายจำเลยให้ดู ทนายจำเลยจึงกล่าวว่า ตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของพยานเอง พยานได้ให้การไว้ว่า หลักฐานมีเพียงแค่ 2 แผ่นเท่านั้น และพยานก็ได้ลงลายมือชื่อยืนยันไว้แล้ว แต่อุราพรยืนยันว่า ได้ส่งหลักฐานเป็นจำนวน 4 แผ่นจริง และคิดว่า เอกสารที่ทนายจำเลยให้ดูน่าจะเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งรวบรวมโพสต์ทั้งหมดให้อยู่ในเอกสารแผ่นเดียวกัน

อุราพรตอบทนายจำเลยอีกว่า พยานไม่ทราบว่า หลังพยานเข้าแจ้งความ พนักงานสอบสวนจะเข้าไปตรวจดูโปรไฟล์ของจำเลยหรือไม่ และได้บันทึกคำให้การของพยานที่ว่า จำเลยเคยทำงานกับบริษัทรับเหมาแห่งหนึ่งที่พยานรู้จักกับเจ้าของ ตามที่พยานเบิกความไปหรือไม่

ทนายจำเลยถามกับอุราพรว่า ทราบหรือไม่ว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และมีชื่อตามทะเบียนราษฎร์อยู่ที่กรุงเทพฯ ด้วย พยานกล่าวว่า ในหน้าโปรไฟล์เฟซบุ๊กของจำเลยระบุว่า อยู่จังหวัดตาก แต่พยานไม่ได้แคปหน้าจอโปรไฟล์ของจำเลยส่งให้พนักงานสอบสวน และนอกจากภาพหน้าจอ 4 แผ่น พยานไม่มีเอกสารอื่นใด นำส่งให้กับพนักงานสอบสวนอีก 

เมื่อทนายถามต่อว่า บัญชีเฟซบุ๊กของพชรจะมี IP Address หรือ URL Links ของโพสต์แต่ละโพสต์หรือไม่ พยานก็ไม่ทราบ และภาพโพสต์ที่พยานแคปหน้าจอส่งให้พนักงานสอบสวนก็ไม่มีชุดข้อมูลดังกล่าว พยานรับว่า ใช่

ทนายจำเลยถามต่ออีกว่า พยานหลักฐานที่อุราพรได้ดูอยู่นั้น เป็นการนำโพสต์ทั้ง 4 โพสต์ มารวบรวมไว้ในกระดาษแผ่นเดียวกันและสั่งพิมพ์ออกมาใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ เนื่องจากไม่มีความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี แต่พนักงานสอบสวนเคยแจ้งกับพยานว่า ในเรื่องดังกล่าวจะส่งให้ ปอท. ตรวจสอบอีกที พยานเข้าใจว่า ปอท. ได้ตรวจสอบแล้ว จึงหมดหน้าที่ของพยาน

ทั้งนี้ เมื่อทนายถามว่า ในบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของพยานก็ไม่พบว่า พยานได้ให้การไว้ว่าได้ติดต่อไปที่ สภ.แม่สอด จังหวัดตาก เพื่อค้นหาตัวบุคคลของจำเลย ตามที่พยานเบิกความตอบโจทก์ไป พยานรับว่า ไม่มี และรับด้วยว่า พยานไปให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนเป็นจำนวน 3 ครั้ง แต่ในครั้งที่ 2 – 3 ไม่มีการลงบันทึกประจำวันเอาไว้ 

อัยการถามติง

อัยการถามต่ออุราพรว่า ที่เบิกความตอบทนายจำเลยไปเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลของจำเลยในคดีนี้ว่ามีตัวตนจริงหรือไม่จริงนั้น เป็นเพียงการพูดคุยกันระหว่างพยานกับพนักงานสอบสวนเท่านั้นใช่หรือไม่ พยานตอบว่าเป็นการขอให้พนักงานสอบสวนไปทำการสืบค้น

เกี่ยวกับคำให้การในชั้นสอบสวน พยานแถลงต่อศาลว่า พนักงานสอบสวนน่าจะทำสำนวนสลับกับจำเลยอีกคนหนึ่งที่ชื่อพิพัฒน์  เนื่องจากในวันที่ไปแจ้งความจำเลยในคดีนี้ พยานได้ดำเนินการแจ้งความกับบุคคลอื่นอีกรวม 9 ราย โดยรายละเอียดบางส่วนของคำให้การเป็นคดีของพิพัฒน์ไม่ใช่จำเลยในคดีนี้ 

ส่วนพยานหลักฐานตามที่ทนายจำเลยให้ดู พยานยืนยันว่า เป็นภาพเดียวกันกับที่พยานได้ส่งให้พนักงานสอบสวน โดยเป็นการแคปมาจากในกลุ่มตลาดหลวง

.

ทนายความประจำ สภ.บางแก้ว ชี้ข้อความตามฟ้องเป็นการดูหมิ่น อาฆาต ราชินี – รัชกาลที่ 10 แต่ภาพโปรไฟล์ของผู้โพสต์ในพยานหลักฐานโจทก์มองเห็นใบหน้าไม่ชัด

จรินทร์ ภูริคุปต์ ทนายความที่ถูกพนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว เรียกไปให้ปากคำเป็นพยานความเห็น เบิกความว่า พยานเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้กับห้างร้านต่างๆ  โดยพยานเป็นบุคคลทั่วไปที่มีความเทิดทูนสถาบันกษัตริย์พอสมควร ซึ่งในรัฐธรรมนูญก็ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข

เกี่ยวกับคดีนี้ พยานถูกเรียกไปสอบปากคำที่ สภ.บางแก้ว ในช่วงประมาณปี 2564 พยานได้ดูหลักฐานภาพโพสต์ที่กล่าวหาจำเลยแล้วให้ความเห็นต่อข้อความแรกที่เป็นเรื่องคุณไสยว่า พยานเห็นว่า หากติดตามข่าวสารบ้านเมืองเป็นประจำ จะทราบว่า พระราชินีมีชื่อเล่นว่า นุ้ย และรัชกาลที่ 10 กับพระราชินีก็ทรงอยู่ด้วยกันเสมอ

และในคำว่า ‘พ่อ’ ก็เข้าใจว่ามีความหมายถึง รัชกาลที่ 10 ซึ่งย่อมาจากคำว่า ‘พ่อหลวง’

พยานเข้าใจโพสต์ดังกล่าวว่า เป็นการใส่ความอาฆาตราชินีว่าไปทำมนต์ดำใส่รัชกาลที่ 10 และพูดถึงหน้าตาของราชินีสุทิดาว่าไม่สวยพอที่จะเป็นราชินีได้

นอกจากนี้ทำให้เข้าใจว่า การที่รัชกาลที่ 10 ทรงเสด็จไปอยู่เยอรมัน เพราะไม่ต้องการให้ถอดคุณไสยของรัชกาลที่ 10 ออกไป โดยภาพรวมพยานคิดว่าโพสต์ดังกล่าวเป็นการดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายตามมาตรา 112 แต่ข้อความมุ่งเน้นดูหมิ่นพระราชินีโดยตรง

ส่วนข้อความที่สอง พยานมีความเห็นว่าหมายถึงรัชกาลที่ 10 โดยตรง เนื่องจากมีการเรียกพระองค์ว่า ไอดอลรุ่น 10 พยานอ่านแล้วเห็นว่าเป็นการกล่าวหารัชกาลที่ 10 ว่าสำส่อนทางเพศ

โดยรวมของข้อความนี้ พยานเห็นว่า ‘ไอดอล’ มีความหมายว่า ต้นแบบ ซึ่งทำให้พยานรู้สึกว่า หากบุคคลที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงจะเข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 กับพระราชินีมีความประพฤติที่ไม่ดี

นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนก็ได้ถามพยานไว้ในตอนสอบปากคำว่า นอกจากมาตรา 112 แล้ว พยานเห็นว่าผิดกฎหมายอื่นอีกหรือไม่ พยานก็ได้ให้ปากคำไว้ว่า เป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย

ทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถามจรินทร์ว่า ในภาพโพสต์ตามพยานหลักฐานของโจทก์ พยานมองออกหรือไม่ว่าภาพโปรไฟล์เป็นภาพของผู้ใด พยานบอกว่ามองไม่ออก แต่เห็นเป็นชื่อของจำเลย

นอกจากคดีนี้ พยานเคยเข้าให้ความเห็นต่อคดีมาตรา 112 มาหลายคดีรวมแล้วกว่า 10 คดี โดยในบางคดีพยานมีความเห็นว่าไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 

พยานไม่ทราบว่า จำเลยจะมีชื่อจริงว่าเป็นพุทธิพงศ์ หรือพชร เนื่องจากไม่ได้สนใจชื่อของจำเลย ตนเองมีหน้าที่เพียงเข้ามาให้ความเห็นทางคดีเท่านั้น  และในคดีที่พยานมาเบิกความต่อศาลนี้ในฐานะพยานโจทก์ ศาลจะพิพากษายกฟ้องไปแล้วกี่คดี พยานก็ไม่ทราบ

สารวัตรสืบสวนรับ ไม่ทราบว่าบัญชีที่ใช้โพสต์ข้อความตามฟ้องมีอยู่จริงหรือไม่ เนื่องจากมีการลบบัญชีออกไปทำให้ไม่สามารถสืบค้นได้

ร.ต.อ.สุนทร ทองพงศ์เนียม ขณะเกิดเหตุพยานเป็นสารวัตรสืบสวน สภ.บางแก้ว เบิกความว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2564 พยานได้พบกับอุราพร สุนทรพจน์ เข้ามาร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

ต่อมา พยานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้หาตัวผู้กระทำผิด โดยเมื่อดูชื่อผู้โพสต์จากพยานหลักฐานที่ได้รับจากอุราพรแล้ว พยานนำไปตรวจสอบกับข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ก่อนจะพบว่ามีตัวตนจริง โดยจำเลยในขณะเกิดเหตุมีอายุ 32 ปี 

และเมื่อเปรียบเทียบรูปโปรไฟล์กับรูปในทะเบียนราษฎร์แล้ว พบว่ามีรูปพรรณตรงกัน พยานจึงเชื่อว่า เป็นบุคคลเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีบัญชีชื่อ พชร อีกบัญชีที่มีรูปโปรไฟล์คล้ายกัน แต่ในขณะนั้นบัญชีของจำเลยได้ปิดไปแล้ว ทำให้พยานไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังได้

ต่อมา ในวันที่ 30 ก.ย. 2564 พยานได้รับทราบจากตำรวจอีกคนว่า พชรได้เข้ามาให้ปากคำว่า เป็นเจ้าของเฟซบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ ‘พชร’ จริง แต่บัญชีดังกล่าวมีบุคคลอื่นที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยคือลูกจ้างของจำเลย ซึ่งเป็นชาวเมียนมาร์ 

จากการสืบสวน พยานเชื่อว่าผู้ที่โพสต์ข้อความเป็นจำเลย โดยดูจากการใช้ถ้อยคำ ภาษา และวรรณยุกต์ในการโพสต์ ทั้งนี้ พยานรับราชการมาราว 30 ปีเศษ มีหน้าที่สืบสวนมาประมาณ 15 ปี และได้รับการอบรมเรื่องการสืบสวนเพิ่มเติมด้วย 

ทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถาม ร.ต.อ.สุนทร ว่า พยานไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญทางคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือได้รับการอบรมเรื่องการสืบสวนหาพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ใช่หรือไม่ พยานยืนยันตามที่ทนายจำเลยถามว่าไม่ได้รับการอบรมในเรื่องดังกล่าวจริง 

เกี่ยวกับคดีนี้ พยานทราบว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้ส่งพยานหลักฐานไปให้ ปอท. พิสูจน์หรือตรวจสอบว่า บัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาเป็นของจำเลยจริงหรือไม่ และจากการสืบสวน ก็ไม่ปรากฏว่ามีเฟซบุ๊กดังกล่าวอยู่จริงบนระบบเฟซบุ๊กแล้ว

ทนายจึงถามต่อไปว่า ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนที่พยานให้การว่า ได้นำภาพในทะเบียนราษฎร์ของจำเลยมาเปรียบเทียบภาพโปรไฟล์บนเฟซบุ๊ก ในความเป็นจริงแล้วเป็นการเปรียบเทียบกับภาพโปรไฟล์ของบัญชีอื่น ไม่ใช่บัญชีที่ปรากฏอยู่ในพยานหลักฐานของคดีนี้ และที่ทำการสืบสวนมาทั้งหมด พยานไม่มีภาพของจำเลยที่จะนำไปเปรียบเทียบได้เลยว่า ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นจำเลยในคดีนี้จริง ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า จำไม่ได้

และนอกจากนี้ พยานก็ไม่ทราบว่าบัญชีเฟซบุ๊กที่ปรากฏอยู่ในพยานหลักฐานจะมี URL Links เป็นอะไร หรือมี IP Address อะไร 

ทนายจึงถามต่อไปว่าในการสืบสวนก็ไม่ได้มีการเก็บอีเมลหรือรหัสผ่านและเบอร์โทรศัพท์ของจำเลย ที่ใช้เข้าถึงบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยไว้ด้วย พยานตอบว่า จำไมได้ และไม่ทราบว่า จำเลยมีอีเมลหรือเบอร์โทรเป็นอะไร

พยานไม่ทราบด้วยว่า IP Address คืออะไร เนื่องจากไม่ได้อยู่ในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว และยอมรับว่า ภาพที่ใช้เปรียบเทียบข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของจำเลยกับภาพโปรไฟล์บนเฟซบุ๊กอื่น ก็เป็นเพียงภาพที่สวมหมวกใส่แว่นตา ไม่ได้เปิดเผยใบหน้าชัดเจน

พยานยอมรับว่า ในการตั้งชื่อบัญชีเฟซบุ๊กจะสามารถใช้ชื่อว่าอย่างไรก็ได้ ซึ่งพยานก็เคยทำคดีที่เกี่ยวกับการปลอมแปลงเฟซบุ๊กมาอยู่บ้าง 

ทนายจึงได้ถามพยานต่อไปว่า จากการสืบสวนของพยาน บัญชีเฟซบุ๊กที่ปรากฏอยู่ในพยานหลักฐานมีอยู่จริงหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2563 พยานก็ไม่สามารถสืบค้นบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวได้

ทนายจำเลยถามอีกว่า เหตุใดก่อนหน้าวันที่ 28 พ.ย. 2563 ไม่มีรายงานการสืบสวนใดๆ เลย พยานตอบว่า ก่อนหน้านั้นเป็นการรายงานด้วยวาจาให้ผู้บังคับบัญชาทราบเท่านั้น

ทนายจึงถามต่อไปว่า ในหนังสือคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ตัวของพยานได้รับการแต่งตั้งในวันที่ 9 มี.ค. 2564 ซึ่งเป็นการแต่งตั้งเข้ามาเพื่อสืบสวนหาตัวบุคคล และหาบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยโดยเฉพาะใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่

อัยการถามติง

อัยการถามพยานว่า ที่ตอบทนายจำเลยว่า พยานทำหน้าที่ก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน เนื่องมาจากเหตุใด พยานตอบว่า พยานได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยวาจาแล้วจากผู้บังคับบัญชาของพยาน 

.

หน้าเว็บไซต์ของเฟซบุ๊ก iLaw ที่สั่งพิมพ์โดยตรงจากคอมพิวเตอร์ จะปรากฎวันที่, เวลา, copy link facebook และที่มาอย่างชัดเจน

พนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งความเบิกความรับ หลักฐานที่ผู้กล่าวหานำส่ง ไม่มี URL หรือ IP Address ที่จะตรวจสอบได้ว่าโพสต์ที่กล่าวหามีอยู่จริงหรือไม่ ด้านจำเลยเคยแสดงความบริสุทธิ์ใจให้รหัสผ่านเฟซบุ๊ก แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบ

พ.ต.ท.ธนเดช ปัญญาลิขิตกุล สารวัตรสอบสวนผู้รับแจ้งความ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2564 ขณะพยานปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนเวร อุราพรได้เข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ ขอให้ดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และยังยื่นคำร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาอื่นอีก 5 – 6 ราย สำหรับคดีนี้อุราพรมีพยานหลักฐานเป็นกระดาษมากล่าวหาจำเลยด้วยเป็นจำนวน 4 ภาพ เป็นภาพคอมเมนต์ใต้โพสต์เฟซบุ๊กตามคำฟ้อง โดยอุราพรเห็นว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์เป็นการใส่ร้ายดูหมิ่นพระราชินีและรัชกาลที่ 10 จึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษ

เมื่อได้รับแจ้งเหตุ พยานจึงได้ลงบันทึกประจำวันเอาไว้ และสอบปากคำผู้ร้องทุกข์ ซึ่งอุราพรได้ให้การถึงคอมเมนต์เกี่ยวกับการทำคุณไสยไว้ว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์เป็นการทำให้ราชินีถูกด้อยค่า ถูกเกลียดชังจากประชาชน 

ส่วนอีกคอมเมนต์ พยานได้บันทึกปากคำของอุราพรไว้ว่า เป็นข้อความเกี่ยวกับความประพฤติทางเพศในลักษณะที่สำส่อน ไม่เหมาะสม เมื่ออ่านแล้วทำให้รัชกาลที่ 10 ถูกด้อยคุณค่า เป็นคนไม่ดี และหมกมุ่นแต่กับเรื่องเพศ 

จากนั้น พยานได้ส่งบันทึกคำให้การทั้งหมดรายงานต่อผู้บังคับบัญชา และขอให้ชุดสืบสวนไปสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด รวมทั้งมีหนังสือไปที่กระทรวง DE เพื่อขอให้ตรวจสอบผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กที่มีการร้องทุกข์ว่าเป็นใคร แต่กระทรวง DE มีหนังสือแจ้งกลับมาว่า ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลให้ได้ เนื่องจากผู้ให้บริการอยู่ต่างประเทศ

ต่อมา พยานได้เรียกจำเลยมาให้การเป็นพยาน เนื่องจากเมื่อนำชื่อบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวไปตรวจสอบกับข้อมูลทะเบียนราษฎร์แล้ว พบว่ามีตัวตนอยู่จริง และมีผู้ที่ใช้ชื่อ-นามสกุลนี้เพียงคนเดียว หลังจากนั้นพยานได้ส่งหมายเรียกไปยังที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของจำเลย และจำเลยได้พบพร้อมกับทนายความ 

พ.ต.ท.ธนเดช เบิกความต่อไปว่า ในการสอบปากคำจำเลยในฐานะพยาน พยานได้สอบถามจำเลยว่าเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวจริงหรือไม่ โดยพยานได้นำโพสต์ข้อความตามฟ้องมาให้จำเลยดู ซึ่งจำเลยได้ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ยืนยันว่าภาพโปรไฟล์ที่ใช้ในบัญชีดังกล่าวเป็นภาพของจำเลยจริง นอกจากนี้ จำเลยยังได้ให้ปากคำว่า บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวนอกจากจำเลยยังมีลูกจ้างชาวเมียนมาร์ที่จำเลยให้ช่วยทำงานผ่านคอมพิวเตอร์ รู้รหัสผ่านและสามารถเข้าถึงได้ด้วย

ทั้งนี้ การสอบปากคำไม่มีการบังคับให้จำเลยลงลายมือชื่อในเอกสารใดๆ และที่ไม่ปรากฏชื่อของทนายที่มาด้วย  เนื่องจากเป็นการเรียกมาให้ปากคำในฐานะพยานเท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องลงลายมือชื่อก็ได้

พยานยืนยันตามที่อัยการถามว่าในการสอบสวนได้กระทำการในที่เปิดโล่ง ไม่มีใครบังคับขู่เข็ญหรือพยายามทำร้ายจำเลย และถ้อยคำที่ปรากฏในเอกสาร เป็นการให้โดยความสมัครใจ

ซึ่งภายหลังผู้บังคับบัญชาได้แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน พยานไม่ได้อยู่ในคณะทำงานดังกล่าว แต่มี พ.ต.ท.รังสรรค์ คำสุข รอง ผกก.(สอบสวน) เป็นผู้รับผิดชอบในคดีนี้

ทนายจำเลยถามค้าน

พยานตอบคำถามทนายจำเลยว่า พยานเคยมีประสบการณ์ทำคดีมาตรา 112 มาราว 20 กว่าคดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีที่มีอุราพร สุนทรพจน์ และศิวะพันธุ์ มานิตย์กุล เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ และในคดีมาตรา 112 สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีคำสั่งให้ผู้บังคับบัญชาในระดับจังหวัดเป็นหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน 

ในการทำรายงานสืบสวน จะต้องมีการหา Link ของ URL ของบัญชีเฟซบุ๊กที่โพสต์ข้อความ ซึ่งพยานไม่ได้เป็นคนทำในส่วนนี้ เป็นหน้าที่ของพนักงานสืบสวน ทั้งนี้ พยานทราบว่า URL เปรียบเสมือนบ้านเลขที่ของโพสต์ต่างๆ ว่ามีที่อยู่และเป็นโพสต์จริงที่ไม่ได้ผ่านการตัดต่อ แต่ในคดีนี้พยานหลักฐานที่ผู้กล่าวหานำมามอบให้ ไม่ปรากฏ URL ของโพสต์ใดๆ เลย

นอกจากนี้ ตามที่พยานได้เคยอบรมเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานทางอิเลคทรอนิกส์ จะต้องมีการนำโพสต์ที่เป็นความผิดไปตรวจสอบหา IP Address ด้วย ซึ่งหากมีการตรวจสอบจะทราบได้ว่าโพสต์จากที่ใด แต่ในคดีนี้พยานได้ขอให้กระทรวง DE ตรวจสอบแล้ว แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ 

ซึ่งในจำนวนคดีตามมาตรา 112 กว่า 20 คดีที่พยานได้เข้าไปมีส่วนร่วม พยานยอมรับว่าคดีนี้ ไม่ได้ขอให้จำเลยเซ็นรับรองไว้ว่าเป็นเฟซบุ๊กของจำเลย และไม่ทราบว่าในการตั้งค่าชื่อบนเฟซบุ๊กสามารถตั้งชื่อซ้ำกันกับคนอื่นได้หรือไม่อย่างไร 

และโดยทั่วไป ในการแจ้งสิทธิต่างๆ กับผู้ต้องหาจะมีการทำบันทึกการแจ้งสิทธิเป็นลายลักษณ์อักษร แต่สำหรับคดีนี้ ในขณะนั้นจำเลยมาในฐานะพยาน จึงแจ้งเพียงทางวาจาเท่านั้น ไม่ได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร 

ทั้งนี้ ทนายจำเลยได้ถามกับพยานว่า ในการที่จำเลยยอมรับว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าว จริงๆ แล้วเป็นการยอมรับว่า บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวมีชื่อตรงกับชื่อ – นามสกุลจริงของจำเลยเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นการยอมรับว่าเป็นผู้กระทำผิดตามที่กล่าวหา ซึ่งพยานยอมรับตามที่ทนายถาม

และที่พยานถามจำเลยว่า เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กหรือไม่นั้น เป็นเพียงการถามว่าจำเลยมีบัญชีเฟซบุ๊กหรือไม่ แต่ไม่ได้เป็นการถามว่าจำเลยเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีที่กระทำผิดหรือไม่ พยานยอมรับว่า ใช่ 

นอกจากนี้ พ.ต.ท.ธนเดช ได้ยอมรับอีกว่า จำเลยได้แสดงความบริสุทธิ์ใจ โดยการให้อีเมลและรหัสผ่านในการเข้าถึงบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย แต่พยานไม่ได้นำรหัสดังกล่าวไปเข้าระบบว่า เป็นบัญชีเดียวกับบัญชีที่กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ และจำเลยได้ให้การไว้ด้วยว่า เฟซบุ๊กของจำเลยไม่ได้ใช้งานมาตั้งแต่มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ 

หลังจากพยานได้มอบสำนวนและพยานหลักฐานทั้งหมดให้อัยการแล้ว ผู้กล่าวหาไม่เคยโต้แย้งว่า พยานหลักฐานในคดีเป็นคนละฉบับกับที่มอบให้พยานในตอนที่ไปร้องทุกข์ 

พยานยอมรับว่า ไม่ได้นำอุปกรณ์โทรศัพท์ของจำเลยไปให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบว่าจะเกี่ยวข้องกับคดีนี้อย่างไร รวมทั้งไม่ได้ส่งพยานหลักฐานของผู้กล่าวหาไปให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบว่ามีการตัดต่อภาพหรือไม่ ทนายจึงถามต่อไปว่า พยานเคยทำคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการโจรกรรมข้อมูลทางโทรศัพท์ หรือปลอมแปลงสวมรอยบุคคลในเฟซบุ๊กหรือไม่ พยานบอกว่าเคยทำ และมีคดีประเภทดังกล่าวให้เห็นเป็นประจำ 

พยานเป็นหนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนของคดีมาตรา 112 ในคดีอื่นด้วย แต่ไม่ทราบว่าศาลนี้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วกี่คดี

อัยการถามติง

พ.ต.ท.ธนเดช ตอบอัยการถามติงว่า จำเลยเคยให้การไว้ว่า ภาพดังกล่าวไม่ได้เป็นภาพที่จำเลยโพสต์ แต่ยอมรับว่าเป็นเฟซบุ๊กของจำเลย

พยานยืนยันว่า จำเลยไม่ได้ร้องขอให้ส่งภาพและข้อความที่ผู้กล่าวหานำมาแจ้งความไปให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบ ส่วนที่พยานไม่ได้นำรหัสผ่านที่จำเลยให้ไปตรวจสอบนั้น เป็นเพราะเคยตรวจสอบผ่านระบบเฟซบุ๊กแล้วไม่พบบัญชีดังกล่าวอยู่ในระบบแล้ว

ทั้งนี้ ทนายจำเลยได้ขอถามค้านคำถามของอัยการโจทก์อีก โดยถามพยานว่า เฟซบุ๊กที่จำเลยยอมรับว่าเป็นเจ้าของ เป็นคนละบัญชีกับที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามมาตรา 112 และที่ค้นหาในระบบไม่เจอ เนื่องจากว่าบัญชีดังกล่าวได้ปิดใช้งานไปแล้ว ใช่หรือไม่ อีกทั้ง ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน จำเลยไม่ได้ยอมรับว่าเป็นเจ้าของบัญชีดังกล่าว ที่พยานเบิกความตอบอัยการก็เป็นเพียงคำให้การด้วยวาจาเท่านั้น พยานไม่ได้บันทึกไว้ในคำให้การใช่หรือไม่ ซึ่งพยานรับว่า ใช่

.

พนักงานสอบสวนผู้มีความเห็นสั่งฟ้อง ม.112 และ พ.ร.บ.คอมฯ ยอมรับ มีการตัดต่อภาพโพสต์รวมให้อยู่ในภาพเดียวกัน ทั้งไม่มีพยานหลักฐานอื่นอีก

พ.ต.ท.รังสรรค์ คำสุข รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.บางแก้ว พนักงานสอบสวนผู้มีความเห็นสั่งฟ้อง เบิกความว่า เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2564 พยานได้รับคำสั่งให้เป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้แทน พ.ต.ท.ธนเดช โดยพยานเป็นผู้สอบปากคำพยานโจทก์ปากจริณ ภูริคุปต์ และคนอื่นๆ ซึ่งในการสอบปากคำเป็นการเรียกให้พยานมาให้ความเห็นต่อข้อความตามฟ้อง

ในการสอบปากคำ ร.ต.อ.สุนทร ชุดสืบสวนผู้จัดทำรายงานการสืบสวน ร.ต.อ.สุนทร ให้การว่า จากการสืบค้นไม่พบบัญชีเฟซบุ๊กที่โพสต์ข้อความตามฟ้องแล้ว พบแต่บัญชีอื่นที่ชื่อใกล้เคียงกัน มีภาพโปรไฟล์เป็นบุคคลเดียวกัน คือ จำเลยในคดีนี้ แต่ต่อมาบัญชีดังกล่าวก็ได้ถูกปิดไปเช่นเดียวกัน พยานจึงได้ไปค้นหาตัวบุคคลจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ก็พบว่า จำเลยมีตัวตนจริง แต่พยานจำไม่ได้ว่าจำเลยอาศัยอยู่จังหวัดใด

ซึ่งต่อมา พยานได้ส่งหมายเรียกไปสองครั้ง และจำเลยได้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 30 ก.ย. 2564 โดยจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ขอตอบคำถามที่ว่า มีบุคคลอื่นใช้เฟซบุ๊กร่วมกันหรือไม่ อีกทั้งไม่ได้ให้การเพิ่มเติมในภายหลังอีก

จากนั้น พยานได้สรุปสำนวนคดีและมีความเห็นควรสั่งฟ้องจำเลยในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 

ทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถาม พ.ต.ท.รังสรรค์ ว่า ในคดีนี้พนักงานสอบสวนสามารถนำพยานหลักฐานของผู้กล่าวหาไปตรวจพิสูจน์ได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ แต่พยานไม่ได้ส่งหลักฐานไปตรวจพิสูจน์ และไม่ได้ติดต่อผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบด้วยว่า หลักฐานดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือมากน้อยอย่างไร

พยานรับว่า ภาพโพสต์ที่นำมาเป็นหลักฐานกระทำความผิด ไม่มีการแสดง URL หรือวันเวลาที่โพสต์ มีเพียงข้อความว่า 24 นาทีและ 4 ชั่วโมง ซึ่งแสดงว่ามีการนำภาพโพสต์มาตัดต่อเรียงให้อยู่ในภาพเดียวกัน โดยใช้โปรแกรมบางอย่าง และมีการสร้างกรอบข้อความพร้อมทั้งลูกศรสีส้มชี้ไปที่ข้อความที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 โดยใช้โปรแกรมตัดต่อ 

พยานยอมรับด้วยว่า นอกจากภาพโพสต์บนกระดาษ 1 แผ่น  ไม่มีภาพหน้าบัญชีเฟซบุ๊กที่กระทำผิดหรือหลักฐานอื่นๆ อีกแล้ว

เมื่อทนายจำเลยถามว่า ในการสอบสวน ไม่ได้มีการตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ ของจำเลยว่ามีการเข้าถึงบัญชีที่กระทำผิดหรือไม่ พยานได้ตอบว่า มีการค้นหาเฟซบุ๊กของจำเลยในระบบ 

แต่ทนายตั้งข้อสังเกตว่า ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน ชื่อบัญชีเฟซบุ๊กที่จำเลยยอมรับว่าเป็นของตนเองนั้น เป็นคนละบัญชีกับที่พนักงานสอบสวนแจ้งว่า กระทำความผิดตามมาตรา 112 ดังนั้นที่พยานบอกว่า พบเฟซบุ๊กของจำเลยอยู่ แสดงว่า ขณะค้นหาในวันที่ 28 พ.ย. 2563 บัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยยังมีอยู่ แต่เมื่อตรวจสอบอีกครั้งในวันที่ 23 ก.ย. 2564 บัญชีดังกล่าวถูกปิดไปแล้ว ใช่หรือไม่ พยานยืนยันว่า ใช่ 

พยานได้ยอมรับตามที่ทนายถามว่า ในการสอบปากคำจำเลย ที่จำเลยยอมรับว่า เป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กนั้น จริงๆ แล้วเป็นการยอมรับว่า จำเลยมีเฟซบุ๊กจริง แต่ไม่ได้ยอมรับว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กที่ถูกแจ้งความ และในการสอบปากคำพยานก็ไม่ได้นำโปรไฟล์ของบัญชีทั้งสองมาเปรียบเทียบกันว่า มีข้อมูลส่วนตัวตรงกันหรือไม่  

และจนถึงปัจจุบัน บัญชีเฟซบุ๊กที่ได้ใช้ในการกระทำผิดนั้นไม่มีข้อมูลในส่วนทั้งโปรไฟล์ และข้อมูลส่วนบุคคล เนื่องจากพยานไม่สามารถสืบค้นได้ และไม่ได้ใช้รหัสผ่านที่จำเลยให้ไว้ในชั้นสอบสวนเข้าไปตรวจสอบว่า บัญชีของจำเลยเป็นบัญชีเดียวกันกับที่ผู้กล่าวหานำมาแจ้งความหรือไม่ 

ส่วนการส่งหนังสือขอให้กระทรวง DE ตรวจสอบ พยานไม่ได้แนบรหัสผ่านบัญชีเฟซบุ๊กที่จำเลยให้ไว้ไปด้วย เนื่องจากรหัสผ่านดังกล่าวได้มาหลังจากที่พยานทำหนังสือส่งไปที่กระทรวง DE แล้ว 

อัยการถามติง 

พ.ต.ท.รังสรรค์ เบิกความตอบอัยการถามติงว่า ที่พยานไม่ได้ส่งหลักฐานไปตรวจสอบ เนื่องจากจำเลยไม่ได้ร้องขอ และจำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลย โต้แย้งเพียงว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด 

และที่พยานไม่ได้ตรวจสอบโปรไฟล์บัญชีเฟซบุ๊กเพิ่มเติม เนื่องจากผลลัพธ์การค้นหาในช่องการค้นหาบนเฟซบุ๊กพบว่าบัญชีเฟซดังกล่าวถูกลบไปแล้ว

ทั้งนี้ ทนายจำเลยลุกขึ้นคัดค้านว่า ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่อัยการให้พยานดู เป็นผลลัพธ์การค้นหาบัญชีอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีนี้ อัยการจึงถามพยานใหม่ว่า ในการค้นหาบัญชีไม่พบอะไรเลยใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ 

.

จำเลยเบิกความชี้ มีเฟซบุ๊กจริงแต่ไม่ใช่บัญชีที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ และได้แสดงความบริสุทธิ์ใจโดยการให้รหัสผ่านเข้าเฟซบุ๊กของตนเองไปแล้ว แต่ตำรวจไม่นำไปตรวจสอบข้อเท็จจริง

พชร เบิกความเป็นพยานให้ตนเอง ระบุว่า จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโยธา กำลังอยู่ช่วงศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาเดียวกัน จำเลยไม่เคยมีคดีความอาญาหรือใดๆ ที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดมาก่อน

จำเลยเบิกความต่อไปว่า ตนเองไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันทางการเมืองใดๆ ครอบครัวของจำเลยเป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์มานาน โดยจำเลยและพ่อแม่เกิดและเติบโตในประเทศไทย 

ในคดีนี้ บัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้องไม่ใช่ของตนเอง และตนไม่ได้โพสต์ข้อความตามฟ้อง แม้ตนเองจะใช้เฟซบุ๊กจริง แต่เป็นอีกบัญชีหนึ่งไม่ใช่ชื่อบัญชีตามที่ปรากฏในคำฟ้อง 

ในวันที่ 30 พ.ย. 2563 ตนได้ไปให้การกับพนักงานสอบสวนในฐานะพยาน โดยไม่มีทนายความอยู่ด้วย และที่ตนได้ให้การยอมรับว่า เป็นเจ้าของเฟซบุ๊กนั้น เป็นการยอมรับว่าชื่อบัญชีดังกล่าวมีการสะกดชื่อเหมือนกับของจำเลย แต่ไม่ได้ให้การยอมรับว่า เป็นผู้โพสต์ข้อความตามที่มีผู้ร้องทุกข์ หรือเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าว

นอกจากนั้น ในระหว่างการสอบปากคำ ตนเองได้เห็นเพียงภาพบนกระดาษแผ่นเดียว ไม่ได้มี 4 แผ่นอย่างที่ผู้กล่าวหาเบิกความไว้ และไม่มีภาพโปรไฟล์หรือข้อมูลส่วนบุคคลของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวมาให้ดู

และจำเลยยืนยันว่า หากพนักงานสอบสวนได้นำรหัสผ่านเข้าบัญชีเฟซบุ๊กที่จำเลยได้ให้ไว้ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.2563 ก็จะเป็นการเข้าถึงบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวของจำเลยได้ ซึ่งใช้งานมาตั้งแต่ปี 2555 โดยเฟซบุ๊กดังกล่าวมี Link URL เป็นชื่อนามสกุลจริงภาษาอังกฤษของจำเลย แต่ไม่ได้เป็นชื่อบัญชีเฟซบุ๊ก และตามบันทึกคำให้การ ที่กล่าวหาว่าจำเลยโพสต์หมิ่นประมาทกษัตริย์และราชินี จำเลยได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า ไม่ได้เป็นผู้โพสต์ โดยที่พนักงานสอบสวนไม่ได้ถามว่า จำเลยเป็นเจ้าของบัญชีที่กระทำผิดหรือไม่

ทั้งนี้ จำเลยยืนยันต่อศาลอีกครั้งว่า ได้ตอบคำถามพนักงานสอบสวนไปหมดแล้วว่า ไม่ใช่เจ้าของบัญชีที่ถูกฟ้องในคดีนี้ และได้แสดงความบริสุทธิ์ใจโดยการให้รหัสผ่านเข้าถึงบัญชีเฟซบุ๊กของตนเอง ตั้งแต่ที่ไปให้การกับพนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2563

อัยการถามค้าน

อัยการถามจำเลยว่า จากพยานหลักฐานที่ได้ดูมีทั้งหมด 4 ข้อความใช่หรือไม่ จำเลยตอบว่าใช่ แต่ถูกจัดวางอยู่ในกระดาษแผ่นเดียวกัน ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยได้ดูหลักฐานแค่เพียงกระดาษแผ่นเดียว ไม่ใช่กระดาษ 4 แผ่น

อัยการถามจำเลยต่อไปว่า ข้อความที่ปรากฏบนเฟซบุ๊กเป็นการโพสต์หมิ่นประมาทกษัตริย์และราชินีใช่หรือไม่ จำเลยตอบอัยการว่า ได้ยืนยันไปแล้วว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวไม่ใช่ของตนเอง และตามบันทึกคำให้การไม่ปรากฏว่า พนักงานสอบสวนเคยถามถึงบัญชีดังกล่าวว่าเป็นของจำเลยหรือไม่ ในวันนั้นจำเลยก็ได้เปิดโปรไฟล์เฟซบุ๊กของตนเองให้พนักงานสอบสวนดูแล้วว่า ไม่ตรงกันกับบัญชีที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้

จำเลยไม่เคยรู้จักกับพยานโจทก์คนใดมาก่อน และไม่เคยทำงานรับเหมาก่อสร้าง แต่เคยเป็นที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมโยธา และตอนนี้เป็นฟรีแลนซ์ รับออกแบบบ้าน โครงสร้างบ้านส่วนตัว 

จำเลยยอมรับตามที่อัยการถามว่า เคยอาศัยอยู่ในจังหวัดตาก โดยพื้นเพเป็นคนแม่สอด แต่ไม่ได้เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงจนมีใครรู้จักมากมาย และยืนยันว่า ในการไปให้ปากคำในฐานะพยาน จำเลยไม่ได้ถูกบังคับขู่เข็ญ ให้ลงลายมือชื่อในเอกสารใดๆ ส่วนในการไปรับทราบข้อกล่าวหา จำเลยถูกสอบปากคำในห้องปิดทึบ แต่ได้อ่านคำให้การของตนเองก่อนลงลายมือชื่อแล้ว

และตั้งแต่เป็นพยาน จนกลายมาเป็นจำเลย จำเลยไม่เคยร้องขอให้ส่งหลักฐานหรือเอกสารใดๆ ในคดีนี้ไปตรวจสอบ เนื่องจากจำเลยไม่เคยได้รับเอกสารใดๆ มาก่อน  

ทั้งนี้ อัยการถามต่อจำเลยว่า ในวันที่ 30 พ.ย. 2563 ขณะไปให้ปากคำในฐานะพยาน จำเลยไม่ได้ปฏิเสธว่า จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าของเฟซบุ๊กที่กระทำผิด จำเลยตอบว่าใช่ เนื่องจากได้บอกพนักงานสอบสวนไปแล้วว่าตนเองใช้เฟซบุ๊กอีกบัญชีหนึ่ง ไม่ใช่บัญชีที่ถูกฟ้องในคดีนี้

และก่อนที่จะไปให้การในฐานะผู้ต้องหา จำเลยไม่ทราบว่าจะถูกแจ้งข้อกล่าวหาใด และไม่ได้เป็นคนรับหมายเรียกเอาไว้ ซึ่งภายหลังได้รับทราบว่า จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อเข้ามารับทราบข้อกล่าวหา ก็ได้พบว่ามีการระบุว่าจำเลยโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามมาตรา 112 

อัยการถามจำเลยต่อว่า เหตุใดจึงไม่ร้องขอให้ตำรวจนำบัญชีเฟซบุ๊ก และพยานหลักฐานดังกล่าวไปตรวจพิสูจน์ จำเลยตอบอัยการว่า หน้าที่ในการตรวจพิสูจน์ เป็นหน้าที่ของตำรวจไม่ใช่ของจำเลย และในความเป็นจริงเจ้าหน้าที่มีความสามารถที่จะทำได้อยู่แล้ว โดยไม่ต้องรอคำร้องของจำเลย

และนอกจากนี้ ในคำให้การที่ได้ให้ไว้กับพนักงานสอบสวนว่า มีลูกจ้างชาวเมียนมาร์ สามารถเข้าถึงบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยได้ด้วยนั้น เป็นบัญชีที่ไม่เกี่ยวข้องกับบัญชีเฟซบุ๊กที่อยู่ในคดีนี้ และในวันที่เข้าให้การกับพนักงานสอบสวน ก็ได้แสดงหน้าจอโทรศัพท์ของตัวเองให้พนักงานสอบสวนดูแล้วว่า บัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยชื่อว่าอะไร

ส่วนผู้ให้บริการเฟซบุ๊กจะสามารถลบบัญชีทิ้งได้หรือไม่ จำเลยได้ตอบอัยการไปว่า ไม่ทราบ แต่ทราบว่าสามารถตั้งค่าสถานะบัญชีให้เป็นส่วนตัว หรือสาธารณะได้ 

ส่วนในเรื่องการประกอบอาชีพ จำเลยทำงานกับกลุ่มคนจำนวนมาก และต้องติดต่อประสานงานกับผู้ว่าจ้าง และลูกจ้างอยู่เสมอ แต่จำนวนลูกจ้างจะมีอยู่เท่าไหร่ จำเลยไม่สามารถตอบได้เนื่องจากต้องดูสเกลขนาดของงานที่ได้รับมาด้วย 

ทนายจำเลยถามติง

ทนายถามจำเลยว่า ที่จำเลยตอบอัยการว่า ไม่เคยใช้บัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้องนั้น เนื่องจากจำเลยเคยให้รหัสผ่านเข้าถึงบัญชีเฟซบุ๊กของจริงของตนเองไปแล้วกับพนักงานสอบสวน ถ้าหากพนักงานสอบสวนนำไปตรวจสอบก็จะรู้ว่าเป็นบัญชีอื่นที่ไม่ตรงกันกับบัญชีตามฟ้องนี้ใช่หรือไม่ จำเลยตอบว่าใช่

ทนายจึงถามต่อไปว่า ที่จำเลยตอบอัยการไปว่าไม่มีการบังคับขู่เข็ญ แต่ตำรวจได้พยายามเร่งรัดทำสำนวนคดีนี้ให้แล้วเสร็จใช่หรือไม่ จำเลยบอกว่าใช่ เนื่องจากในครั้งแรกจำเลยได้รับทราบว่า เป็นการสอบปากคำในฐานะพยานเท่านั้น  และที่ไม่ได้เข้าให้การเพิ่มเติม เนื่องจากจำเลยได้ให้การไปตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. 2563 แล้วว่า บัญชีที่ถูกแจ้งความนั้นไม่ใช่ของจำเลย

ส่วนที่รายงานการสืบสวนปรากฏบัญชีของจำเลย พร้อม Link URL นั้น เป็นคนละบัญชีกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ และที่จำเลยตอบอัยการเรื่องการตั้งค่าบัญชีเฟซบุ๊ก ในส่วนบัญชีของจำเลยเองนั้น คนทั่วไปสามารถมองเห็นได้ปกติ ไม่ได้มีการตั้งค่าปิดกั้นใดๆ 

.

ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ เบิกความยืนยันว่า ภาพหลักฐานผ่านการตัดต่อมาแล้ว 

ดลภาค สุวรรณปัญญา วิศวกรข้อมูล เบิกความในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจำเลยว่า ปัจจุบันทำงานในบริษัทเอกชน ในตำแหน่งวิศวกรข้อมูลอาวุโส มีหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล ออกแบบสถาปัตยกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ เคยเข้าร่วมการพิจารณาคดีประเภทเดียวกันนี้มาแล้ว 3 ครั้ง

เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อทนายนำภาพหลักฐานให้ดู พยานยืนยันว่า ไม่มี Link URL ของโพสต์ข้อความที่ถูกกล่าวหา ซึ่งมีความหมายว่า ไม่สามารถหาที่ตั้งของข้อมูลที่อยู่ในภาพดังกล่าวได้  ทั้งนี้ พยานได้อธิบายความหมายเพิ่มเติม โดนกล่าวว่า Link URL เป็นชื่อตำแหน่งที่ตั้งของข้อมูล ใช้กับระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และช่วยให้สามารถยืนยันการเข้าถึงข้อมูลนั้นๆ ว่ามีอยู่จริงบนโครงข่ายอินเตอร์เน็ต

และในการทำภาพแบบ Capture หน้าจอโทรศัพท์ ซึ่งเป็นลักษณะคล้ายกับหลักฐานที่ได้ดูนั้น พยานให้ความเห็นว่า เป็นการสร้างให้ข้อมูลเป็นรูปภาพ ซึ่งโดยทั่วไปจะปรากฏภาพทั้งหน้าจอโทรศัพท์ อย่างน้อยที่สุดจะต้องปรากฏข้อมูลปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ด้านบนขวามือของจอ แต่ในภาพหลักฐานที่ทนายให้ดู ไม่ปรากฏสิ่งเหล่านี้อย่างชัดเจน และไม่ได้เป็นหลักฐานในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากไม่ปรากฏ URL วันที่ และเวลา ตลอดจนชื่อเว็บไซต์ที่มาของข้อมูลที่ใช้กล่าวหา

พยานให้ความเห็นในฐานะผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับข้อมูลว่า หลักฐานดังกล่าวไม่มีความน่าเชื่อถือ ผ่านการตัดต่อทั้งข้อความและการเพิ่มสัญลักษณ์พิเศษ เช่น การใส่ลูกศรชี้ไปที่ข้อความ และหากจะเป็นการ Capture ภาพจากโทรศัพท์ ภาพ Capture ก็ไม่มีลักษณะแบบภาพหลักฐานที่นำมาฟ้อง

ส่วน IP Address พยานอธิบายว่าคือที่อยู่ของอุปกรณ์ที่ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถติดต่อหากันได้ มีลักษณะเป็นชุดตัวเลขระบุที่อยู่ของอุปกรณ์ต่างๆ ให้ส่งข้อมูลหากัน และหากสามารถหา IP Address ของอุปกรณ์ได้ ก็จะสามารถบอกได้ว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว มีการเข้าถึงเครือข่ายอินเตอร์เน็ตหรือไม่

ทั้งนี้ พยานลงความเห็นว่า หากจะเอาผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พยานหลักฐานควรจะปรากฏ URL และ IP Address ที่มาของข้อมูลมาแสดงให้ศาลเห็นด้วย ดลภาคยืนยันว่า หากมีการนำอุปกรณ์ไปตรวจสอบ ผู้ตรวจสอบก็จะสามารถดูได้ว่า IP Address บนอุปกรณ์นั้นๆ เข้าถึงเครือข่ายอินเตอร์เน็ตหรือเว็บไซต์ใดไปแล้วบ้าง 

อัยการถามค้าน

พยานยืนยันตามที่อัยการถามว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงชื่อบัญชีผู้ใช้งานบนเฟซบุ๊ก จะไม่สามารถเข้าไปค้นหาชื่อบัญชีเดิมได้

แต่เมื่ออัยการถามว่า หากจะหา URL ของโพสต์ตามฟ้อง จำเป็นที่จะต้องเข้าไปค้นหาจากบัญชีผู้ใช้งานหรือไม่ พยานอธิบายว่า การค้นหา URL ไม่จำเป็นจะต้องกดเข้าไปดูบัญชีผู้ใช้งาน แต่สามารถกดคำสั่งพิมพ์บนคอมพิวเตอร์จากหน้าจอที่มีโพสต์ข้อความดังกล่าวอยู่ได้เลย และสามารถค้นหาได้โดยไม่จำเป็นต้องล็อกอินเข้าใช้งานบนเฟซบุ๊ก

ทั้งนี้ ดลภาคยอมรับตามที่อัยการถามว่า พยานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ โดยไม่ได้ขึ้นตรงกับหน่วยงานราชการใดๆ และไม่ได้มีใบรับรองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ แต่พยานมีบัตรประจำตัวพนักงานยืนยันได้ว่าทำงานอยู่ที่บริษัทเอกชนจริง และยืนยันได้ว่าหลักฐานในคดีนี้ที่พยานได้ดูนั้น ผ่านการตัดต่อหรือเข้าโปรแกรมบางอย่างมาแล้ว

พยานรับว่า เคยทำงานให้กับ iLAW ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์ไวรัสเพกาซัส ซึ่งเป็นปฏิบัติการทางคอมพิวเตอร์ที่หน่วยงานรัฐใช้เจาะเข้าถึงข้อมูลโทรศัพท์ของนักกิจกรรมทางการเมือง อาจารย์ นักวิชาการ และนักการเมือง

อัยการถามดลภาคอีกว่า ที่เข้ามาเป็นพยานจำเลยในคดีนี้ เนื่องจากพยานมีความเกี่ยวข้องกับ iLAW ที่พยายามผลักดันให้ยกเลิกมาตรา 112 ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ใช่ ที่เข้ามาเป็นพยานจำเลยในคดีนี้ เนื่องจากทนายจำเลยติดต่อขอให้มาให้ความเห็นในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ และ iLAW ไม่ได้ผลักดันให้ยกเลิกมาตรา 112 แต่ผลักดันให้เกิดการแก้ไขเท่านั้น นอกจากนี้ พยานได้ออกจากองค์กรดังกล่าวแล้ว ในรายละเอียดอื่นๆ จึงไม่ทราบ

ทนายจำเลยถามติง

ทนายจำเลยถามพยานว่า ที่พยานตอบอัยการเรื่องการค้นหาบัญชีในระบบเฟซบุ๊กว่า หากมีการเปลี่ยนชื่อแล้วจะไม่สามารถหาบัญชีในชื่อเดิมเจอได้ แต่หากค้นหาผ่าน URL ก็จะสามารถหาเจอได้เช่นเดียวกันใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ 

ส่วนในเรื่องการตัดต่อรูปภาพและข้อความในลักษณะตามคำฟ้อง ทนายถามดลภาคว่า หากให้พยานตัดต่อดูบ้างจะสามารถทำได้หรือไม่ พยานตอบว่า ทำได้ และมีโปรแกรมตัดต่อที่สามารถทำภาพในลักษณะนี้ได้จำนวนมาก 

ทั้งนี้ ดลภาคอธิบายเพิ่มเติมว่าในการตัดต่อภาพและข้อความ สามารถจำแนกและทำได้ 2 ทาง ดังนี้

1.การใช้โปรแกรม Photoshop และโปรแกรมตัดต่อ อื่นๆ 

2.การใช้ Web Inspector แก้ไขข้อความที่ปรากฏบนปลายทางของอุปกรณ์นั้นๆ 

ดลภาคยืนยันด้วยว่า ที่เข้าเบิกความเป็นพยานจำเลยในคดีนี้ ไม่ได้เป็นการเข้าให้ความเห็นเพื่อช่วยจำเลยแต่อย่างใด เป็นการมาให้ความเห็นทางหลักวิชาการเท่านั้น 

X