17 มิ.ย. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ในคดีของ “สายน้ำ” นักกิจกรรมเยาวชนอายุ 19 ปี ที่ถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการร่วมชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า #ศุกร์13ไล่ล่าทรราช หรือ #ม็อบ13สิงหา64 ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มทะลุฟ้า ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษปรับ 6,000 บาท แต่เห็นว่าจำเลยเบิกความเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษเหลือปรับ 4,000 บาท แต่น่าสังเกตว่าในคดีจากการชุมนุมเดียวกันนี้ และถูกกล่าวหาในลักษณะเดียวกัน ของนักกิจกรรมอีก 13 คน อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องไปทั้งหมดตั้งแต่ปี 2565 แล้ว
.
ย้อนดูคำฟ้องถึงคำพิพาษาศาลชั้นต้น เห็นว่าจำเลยฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ระบุการชุมนุมมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดโควิด-19
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2565 ธีรภัทร์ เมฆฉา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 1 ได้มีคำสั่งฟ้องคดีของสายน้ำ โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2564 ขณะเกิดเหตุมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และสายน้ำได้เข้าร่วมการชุมนุมทำกิจกรรมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคโควิด-2019 โดยมีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และมีผู้เข้าร่วมประมาณ 500 คน ในการชุมนุมดังกล่าว มีการรื้อลวดหนามของเจ้าหน้าที่และนำป้ายข้อความต่าง ๆ มาวางบนพื้น ผู้ชุมนุมได้ผลัดกันขึ้นปราศรัยบนรถติดเครื่องขยายเสียง
อัยการกล่าวหาว่าการชุมนุมดังกล่าว เป็นการร่วมกันจัดกิจกรรมของบุคคลที่มีจำนวนมากกว่า 5 คนขึ้นไป ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
สายน้ำได้ต่อสู้คดี และหลังสืบพยานเสร็จสิ้น เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2566 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้มีคำพิพากษาในวันเดียวกันทันที โดยไม่ได้เว้นระยะจัดทำคำพิพากษาหลังสืบพยาน
ศาลเห็นว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้ว ขณะเกิดเหตุมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว รัฐบาลไทยจึงได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และออกข้อกำหนดเรื่องการห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม และการมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ประกาศดังกล่าวนั้นมีความมุ่งหมายที่จะป้องกันและระงับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มิใช่การห้ามการชุมนุมโดยสิ้นเชิง ดังนั้นการที่จำเลยอ้างและนำสืบว่าการเข้าร่วมชุมนุมของจำเลยนั้นเป็นสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมาย และตามกติการระหว่างประเทศนั้น การชุมนุมของจำเลยต้องไม่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งข้อเท็จจริงที่ปรากฏ จำเลยได้เข้าร่วมชุมนุมโดยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย เดินชุมนุมปะปนไปกับผู้อื่น ไม่มีการเว้นระยะห่างแต่อย่างใด การชุมนุมของจำเลยจึงเป็นการร่วมชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค เป็นการกระทำที่มีความผิดตามฟ้อง
ขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุ 17 ปี จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 75 ลงโทษปรับ 6,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุให้บรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงเหลือปรับ 4,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมกรุงเทพมหานคร มีกำหนด 8 วัน
.
ฝ่ายจำเลยยื่นอุทธรณ์ระบุการชุมนุมเป็นไปตามสิทธิเสรีภาพ ไม่ถึงขนาดแออัด จำเลย
ต่อมาที่ปรึกษากฎหมายได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาไปเมื่อ 27 ก.ย. 2566 โดยสรุประบุว่า จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ประการแรก คำบรรยายฟ้องของอัยการไม่ได้มีการบรรยายฟ้องให้ชัดแแจ้งว่าสถานที่จัดกิจกรรมการชุมนุมนั้นเป็นสถานที่แออัดแต่อย่างใด แต่บรรยายเพียงว่าจำเลยร่วมกันชุมนุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยพากันออกมารวมกลุ่มชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งร่วมชุมนุมกันประมาณ 500 คน เป็นการชุมนุมในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มากกว่า 5 คน เท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นการฟ้องที่เคลือบคลุม ไม่ครบองค์ประกอบกฎหมาย
ประการที่สอง บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินั้นเป็นสถานที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเท ประชาชนเดินไปมาได้สะดวก ไม่กระจุกตัว ใช้เวลาทำกิจกรรมไม่นาน ลักษณะการชุมนุมจึงไม่ถึงขนาดฟังได้ว่าผู้ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมอยู่กันอย่างหนาแน่นเต็มพื้นที่ตลอดเวลาในสภาพที่ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ จนทำให้ผู้ชุมนุมในพื้นที่ทั้งหมดหรือส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะเสี่ยงต่อการใกล้ชิดสัมผัสกัน สถานที่ชุมนุมจึงไม่ใช่สถานที่แออัดตามข้อกำหนดแต่อย่างใด และจำเลยก็อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุเพียงเวลาไม่นาน
ประการที่สาม สำหรับความผิดตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เรื่องการห้ามชุมนุม ทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2563 เรื่องแต่งตั้งผู้กำกับการปฎิบัติงานหัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น แม้พ.ร.ก.ฉุกเฉนฯ จะกำหนดให้นายกรัฐมนตรีอาจมอบอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นผู้ออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แทนได้
แต่ในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กลับมีข้อความมอบอำนาจให้ผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เฉพาะแต่เพียงประกาศกำหนดเขตพื้นที่ซึ่งห้ามการชุมนุมเท่านั้น หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงจึงไม่มีอำนาจออกข้อกำหนดลักษณะของการชุมนุมที่ต้องห้ามอันถือเป็นองค์ประกอบความผิดทางอาญาเพิ่มเติมไปจากข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือการห้ามชุมนุมในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยเท่านั้น
หัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ จึงไม่อาจออกประกาศ เรื่องห้ามการชุมนุม ทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด การออกประกาศข้อกำหนดดังกล่าวจึงเป็นการออกโดยไม่มีอำนาจ ไม่มีสถาพบังคับทางกฎหมาย
ประการที่สี่ จากพยานหลักฐานโจทก์ไม่ได้ชัดเจนว่า จำเลยไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัย และกำลังเดินปะปนกับบุคคลอื่นที่ร่วมชุมนุม ไม่มีลักษณะการเว้นระยะห่าง ตามที่ศาลชั้นต้นระบุแต่อย่างใด มีเพียงภาพถ่ายที่ไม่ใช่ภาพที่ต่อเนื่องจนทำให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ทั้งผู้คนที่อยู่รอบตัวตามภาพ ก็ไม่ได้หนาแน่น และมีการสวมหน้ากากอนามัย
ประการที่ห้า หลักการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมนั้นเป็นสิทธิที่ได้รับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีตั้งแต่ปี 2539 และยังได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญไทยเรื่อยมา
สิทธิในการชุมนุมโดยสงบจึงเป็นสิทธิสำคัญในระบอบประชาธิปไตย เพราะจะช่วยให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลสามารถผลักด้นข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องของตนต่อความรับรู้ของผู้มีอำนาจหรือสังคมทั่วไปได้ จึงเอื้อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่นอกเหนือไปจากการเมืองในระบบของสถาบันการเมืองต่าง ๆ รัฐจึงมีพันธกรณีในการเคารพสิทธิในการชุมนุมโดยการไม่จำกัดหรือลิดรอนสิทธิ รวมถึงมีหน้าที่เอื้ออำนวยให้การใช้สิทธิในการชุมนุมของประชาชนเป็นไปได้จริง
.
ศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ปรับ 4,000 บาท
วันนี้ (17 มิ.ย. 2567) สายน้ำเดินทางมายังห้องพิจารณาคดีที่ 4 เพื่อฟังคำพิพากษาตามนัดหมาย แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมฟังการอ่านคำพิพากษา จึงต้องรอติดตามรายละเอียดคำพิพากษาต่อไป
ผลคำพิพากษานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษปรับ 6,000 บาท แต่จำเลยเบิกความเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษหนึ่งในสาม เหลือปรับ 4,000 บาท
สำหรับกิจกรรม “ศุกร์ 13 ไล่ล่าทรราช” กลุ่มทะลุฟ้านัดหมายมวลชนเพื่อเดินคล้องแขนเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยังบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อเรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเมื่อถึงแยกดินแดง พบว่ามีแนวตู้คอนเทนเนอร์ที่ตำรวจนำมาวางขวางเส้นทางยาวกว่า 100 เมตร มวลชนจึงปักหลักปราศรัยและดำเนินกิจกรรมภายใต้กรอบสันติวิธี แต่ไม่นานเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนได้ตอบโต้มวลชนด้วยการยิงแก็สน้ำตาและกระสุนยาง ทำให้กลุ่มทะลุฟ้าประกาศยุติการชุมนุมลงในเวลา 17.25 น. โดยยังไม่ได้เคลื่อนขบวนไปถึงบ้านพักของนายกฯ แต่อย่างใด
ระหว่างการชุมนุมดังกล่าว “ลูกนัท” ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย ถูกกระสุนแก็สน้ำตาเข้าบริเวณเบ้าตาด้านขวาจนได้รับบาดเจ็บ หลังเข้ารับการผ่าตัดและรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลไม่นาน ลูกนัทได้ออกมาเปิดเผยพร้อมกับใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันว่าดวงตาข้างขวาที่ถูกยิงดังกล่าวไม่สามารถมองเห็นได้
นอกจากคดีของสายน้ำแล้ว มีผู้ถูกกล่าวหาในลักษณะเดียวกันนี้ เป็นนักกิจกรรมทั้งหมด 13 คน แต่พนักงานอัยการฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ได้มีหนังสือลงวันที่ 26 ก.ย. 2565 แจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้อย่างเด็ดขาดมายังผู้กำกับการ สน.พญาไท ทำให้คดีสิ้นสุดไปแล้ว โดยอัยการเห็นว่าคดีไม่มีพยานหลักฐานว่าทั้ง 13 คนเป็นผู้จัดกิจกรรม เพียงขึ้นเวทีปราศรัยแสดงความคิดเห็นถึงข้อเรียกร้องที่ประชาชนสามารถกระทำได้ ไม่มีพฤติการณ์ยุยงให้เกิดความไม่สงบ กิจกรรมเกิดขึ้นในที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเทสะดวก สถานที่ชุมนุมจึงไม่มีสภาพเป็นสถานที่แออัด แตกต่างจากแนวทางการวินิจฉัยในคดีของสายน้ำนี้โดยสิ้นเชิง
.