เปิดเนื้อหาการไต่สวนคำร้อง กรณี “สายน้ำ” เข้าร่วมชุมนุมหน้ากระทรวงวัฒนธรรม-พรรคเพื่อไทย ปี 66 ก่อนศาลชี้ เป็นการแสดงออกทางการเมือง ไม่ผิดเงื่อนไขคุมประพฤติ

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2567 และ 21 พ.ค. 2567 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดไต่สวนคำร้องรายงานพฤติการณ์จำเลยที่ตำรวจและอัยการกล่าวหาว่าผิดเงื่อนไขคุมประพฤติ ในคดีของ “สายน้ำ” นักกิจกรรมเยาวชนอายุ 19 ปี ที่ถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีแต่งเสื้อครอปท็อป (เสื้อกล้ามเอวลอย) เข้าร่วมเดินแฟชั่นโชว์ และเขียนข้อความบนร่างกายในการชุมนุม #ภาษีกู เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 ที่บริเวณด้านหน้าวัดแขก ถนนสีลม

เหตุที่ศาลนัดไต่สวนครั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก พ.ต.อ.กันตภณ โพธิ์อ๊ะ ผู้กำกับการ สน.ยานาวา ได้ยื่นคำร้องรายงานพฤติการณ์ของสายน้ำซึ่งได้เข้าร่วมการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองกับกลุ่มทะลุวัง 2 ครั้ง ได้แก่ กิจกรรมชุมนุมหน้ากระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2566 เรียกร้องถอดถอนเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภา ออกจากตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ และกิจกรรมหน้าพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2567 แสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทยร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาล โดยผู้กำกับ สน.ยานนาวา ระบุว่า เป็นการคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี จัดกิจกรรมก่อความวุ่นวาย ซึ่งผิดเงื่อนไขคุมประพฤติที่ศาลกำหนดไว้ว่า ‘ห้ามไม่ให้จำเลยคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี’ ภายหลังศาลมีคำพิพากษาในคดีนี้ให้จำคุกสายน้ำ 12 เดือน แต่รอการลงโทษไว้ 2 ปี และคุมประพฤติ 2 ปี 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2567 ศาลไต่สวนพยานผู้ร้อง 1 ปาก และพยานผู้ถูกร้อง 2 ปาก คือ สายน้ำและพ่อ และนัดไต่สวนพยานผู้ถูกร้องอีก 1 ปาก ในวันนี้ (21 พ.ค. 2567) อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ศาลได้ยกเลิกการไต่สวน ระบุว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนเพียงพอต่อการวินิฉัยแล้ว ก่อนมีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยเข้าร่วมแสดงออกทางการเมืองกับบุคคลอื่นนั้น ยังไม่ถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยไปคบหาสมาคมกับบุคลที่มีความประพฤติไม่ดี จึงยังไม่ถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขคุมประพฤติ” แต่ได้ตักเตือนสายน้ำว่า การเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานการเคารพสิทธิผู้อื่นและไม่ใช้ความรุนแรง

สืบนครบาลอ้าง เห็นสายน้ำ ‘พ่นสี-ขว้างพลุไฟ’ ระหว่างการชุมนุมกับกลุ่ม ‘ทะลุวัง’ แต่รับ ‘บุ้ง-ตะวัน’ ที่ร่วมชุมนุม ไม่ใช่บุคคลประพฤติไม่ดี 

พ.ต.ท.ณัฐพงศ์ น้อมก่อเกิด เจ้าหน้าที่สืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 พยานฝ่ายผู้ร้อง เบิกความว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2566 ตนได้รับรายงานว่า มีการก่อเหตุในพื้นที่รับผิดชอบ คือบริเวณหน้ากระทรวงวัฒนธรรม โดยเป็นการชุมนุมของกลุ่มทะลุวัง จากการสืบสวนพบว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้ามาชุมนุมในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. ซึ่งมี “บุ้ง” เนติพร, “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์  และสายน้ำ เข้าร่วมการชุมนุม 

การชุมนุมดังกล่าว มีกลุ่มผู้ชุมนุมรวมประมาณ 20-30 คน โดยสายน้ำเป็นคนพ่นสีสเปรย์ลงบนพื้น หลังจากนั้น เวลา 18.00 น. ทุกคนก็แยกย้ายกันกลับ และพยานได้ทำบันทึกเหตุการณ์ไว้ 

ต่อมา เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2566 กลุ่มทะลุวังได้ชุมนุมที่หน้าพรรคเพื่อไทย เวลา 15.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมมีพฤติการณ์พ่นสีและกล่าวปราศรัย โดยสายน้ำได้จุดและขว้างพลุไฟ ก่อนเวลา 16.00 น. ผู้ชุมนุมจะแยกย้าย และพยานได้ทำบันทึกเหตุการณ์ไว้เช่นกัน

พยานไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย

จากนั้น พ.ต.ท.ณัฐพงศ์ ได้เบิกความตอบที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยถามค้านว่า ตนจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เทียบเท่ากับปริญญาตรีสาขารัฐประศาสนศาสตร์

พยานรับว่า ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 34 ได้รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมาตรา 44 รับรองเสรีภาพการชุมนุมเอาไว้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อ 19 และข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ซึ่งรับรองไว้ตั้งแต่ปี 2539 

พยานรับด้วยว่า สิทธิในการมีส่วนร่วมตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กตามข้อ 13 ได้ระบุไว้ว่า “เด็กมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก รวมไปถึงการชุมนุมทางการเมือง”

พยานไม่ได้เป็นคนถ่ายภาพเหตุการณ์เอง แต่จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนอื่นบันทึกภาพเอาไว้ ในภาพถ่ายเป็นชายสวมหน้ากากปิดบังใบหน้า โดยพยานได้นำภาพดังกล่าวมาเทียบกับใบหน้าของจำเลย 

หน้ากระทรวงวัฒนธรรมและพรรคเพื่อไทยเป็นพื้นที่รับผิดชอบของ สน.ห้วยขวาง และ สน.มักกะสัน พยานไม่ได้มีอำนาจสอบสวนในทั้ง 2 ท้องที่ มีอำนาจแค่สืบสวน ส่วนทั้ง 2 สน.จะดำเนินคดีอย่างไร พยานเองก็ไม่ทราบ แต่ทราบว่าทั้ง 2 คดี ยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดี ยังไม่มีคำพิพากษาว่าผิดหรือไม่

พยานฝ่ายผู้ร้องตอบที่ปรึกษากฎหมายอีกว่า พฤติการณ์จุดพลุและพ่นสีเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, ทำให้เสียทรัพย์ และความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน และดอกไม้เพลิงฯ ไม่ใช่การกระทำความผิดตามมาตรา 112 ช่วงเกิดเหตุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็ยกเลิกไปแล้ว

พยานทราบว่า การชุมนุมดังกล่าวต้องการเรียกร้องให้ สว. ทำหน้าที่โหวตตามเสียงของประชาชน ซึ่งนอกจากกลุ่มของจำเลยก็มีประชาชนคนอื่นร่วมชุมนุมด้วย อย่างไรก็ตาม คนอื่น ๆ ร่วมชุมนุมโดยสงบและสันติ ไม่ได้มีการก่อความวุ่นวาย 

พยานไม่ทราบว่า พรรคเพื่อไทยดำเนินคดีกับสายน้ำหรือไม่  

พยานไม่ใช่พนักงานคุมประพฤติ ตาม พ.ร.บ.คุมประพฤติฯ รวมถึงไม่ได้ทำเรื่องรายงานถึงพนักงานคุมประพฤติเรื่องพฤติการณ์ของสายน้ำ เนื่องจากไม่ใช่หน้าที่ของพยาน 

ผู้ร้องอ้างว่า สายน้ำผิดเงื่อนไขการคุมประพฤติข้อที่ว่า ห้ามจำเลยคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี อย่างไรก็ตาม พยานรับว่า บุคคลที่จำเลยคบหา ได้แก่ เนติพรมีพื้นฐานครอบครัวที่ดี ครอบครัวเป็นผู้พิพากษา ส่วนทานตะวันได้รับรางวัล People Award จากการใช้สันติวิธีออกมาเรียกร้องสิทธิประกันตัว และได้รับทุนไปเรียนต่อสิงคโปร์ แม้ทั้งสองคนจะถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองหลายคดี แต่คดีทั้งหมดยังไม่มีคำพิพากษา และทั้งสองคนไม่ได้ปล้นจี้ชิงทรัพย์หรือฆ่าคนตาย 

.

สายน้ำยืนยัน ใช้สิทธิเสรีภาพชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ผิดเงื่อนไขคุมความประพฤติ 

สายน้ำเบิกความว่า กำลังเรียน กศน. เทอมสุดท้าย ก่อนหน้านี้ได้ไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติเป็นประจำ นอกจากนี้ตนยังปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมประพฤติโดยเคร่งครัด ทั้งในด้านการเรียนและการช่วยเหลือครอบครัว

เกี่ยวกับเหตุการณ์ชุมนุมหน้ากระทรวงวัฒนธรรม พยานจำไม่ได้ว่าได้ไปร่วมหรือไม่ เพราะไปชุมนุมหลายที่ การชุมนุมที่พยานไปเข้าร่วมส่วนมากก็เป็นการชุมนุมโดยสงบ ส่วนการชุมนุมที่พรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2566 นั้นพยานได้ไปเข้าร่วมจริง 

พยานรู้จักเนติพรและทานตะวัน โดยรู้จักกับเนติพรในการชุมนุมเมื่อปี 2563 จากนั้นก็ไปทำกิจกรรมที่ต่างจังหวัดด้วยกันบ่อย ๆ เช่น กิจกรรมพูดคุยกับผู้ลี้ภัยพม่าที่เข้ามาอยู่ที่แม่ฮ่องสอน ส่วนตะวันก็ทำกิจกรรมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนด้วยกันบ่อยครั้ง

นอกจากนี้ เนติพรยังคอยช่วยเหลือพยานในเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษ เพราะเนติพรเป็นติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษ ส่วนตะวันก็ช่วยพยานในเรื่องของการสอบ IELTS ซึ่งพยานกำลังจะสอบเพื่อยื่นเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ภาคอินเตอร์ 

ในวันที่ 7 ส.ค. 2566 พยานไปร่วมชุมนุมหน้าพรรคเพื่อไทยเพราะก่อนหน้านั้นมีการเจรจาเพื่อจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล พยานจึงไปแสดงออกเพื่อย้ำเตือนว่า ไม่เห็นด้วยที่พรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคภูมิใจไทยจัดตั้งรัฐบาล พยานไปชุมนุมในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และสิ่งที่ทำนั้นเป็นไปตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้การรับรอง 

.

พ่อสายน้ำเบิกความ สายน้ำประพฤติตัวดี ตั้งใจเรียน ไม่ได้คบหาสมาคมบุคคลไม่ไม่ดี 

มานะ (สงวนนามสกุล) บิดาของสายน้ำเบิกความว่า ตนทราบว่าสายน้ำถูกคุมประพฤติ และมารดาก็พาเขาไปรายงานตัวอยู่ตลอด

พยานประกอบอาชีพทำธุรกิจให้เช่าหอพัก ในแต่ละเดือนหากหอพักมีปัญหาเกี่ยวกับไฟฟ้า น้ำประปา สายน้ำก็จะช่วยดูแลซ่อมแซม ปัจจุบันสายน้ำเรียน กศน. กำลังจะจบเทอมสุดท้ายแล้ว และยังพยายามฝึกฝนภาษาอังกฤษ เพื่อจะได้เข้ามหาวิทยาลัย 

ในส่วนเรื่องการคบหาสมาคมกับบุคคลอื่นนั้น พยานพยายามเตือนไม่ให้สายน้ำเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด การพนัน และการใช้ความรุนแรง นอกจากนี้  พยานยังพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสายน้ำในเรื่องการแสดงออกทางการเมืองเป็นประจำ เพื่อให้เขาใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย 

พยานสามารถกำกับดูแลสายน้ำให้ปฎิบัติตามเงื่อนไขคุมประพฤติได้เป็นอย่างดี 

.

‘ป้ามล’ แถลงต่อศาล การเคลื่อนไหวของเด็กควรได้รับการคุ้มครองตามหลักสากล 

หลังจากไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกร้องไปแล้ว 2 ปาก ศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนเพียงพอต่อการวินิฉัยแล้ว ไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานปาก ทิชา ณ นคร หรือ “ป้ามล” ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก อีก 

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อทิชาเดินทางมาถึงศาลแล้ว ที่ปรึกษากฎหมายจึงขอให้ทิชาได้แถลงต่อศาลเกี่ยวกับคดีนี้เพื่อที่อาจจะนำความเห็นไปใช้ในคดีอื่น ๆ ต่อไป 

ทิชาแถลงต่อศาลว่า ตนทำงานเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชนมานาน เห็นว่า การตีความว่าเด็กเยาวชนคนใดเป็นคนดีหรือไม่ดี ไม่ควรตีความอย่างแคบ เนื่องจากทุกคนล้วนมีข้อดีและข้อไม่ดี โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนล้วนมีความน่ารักเป็นของตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมาตนได้มีส่วนร่วมสนับสนุนในการสร้างความตระหนักในสิทธิเด็กและเยาวชน เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เคลื่อนไหวทางความคิดตามหลักการที่เป็นสากล และการเคลื่อนไหวดังกล่าวควรได้รับการคุ้มครองตามหลักสากลเช่นกัน เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนเติบโตไปในทิศทางที่ดีและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ซึ่งการตั้งต้นที่ดีควรถูกมองเห็นและไม่ควรตัดสินโดยผู้ที่มองไม่เห็น

.

ศาลเห็นว่าเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ผิดเงื่อนไขคุมประพฤติ-ตักเตือนให้จำเลยแสดงออกทางการเมืองบนฐานเคารพสิทธิผู้อื่น

หลังเสร็จการไต่สวน ศาลมีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยเข้าร่วมแสดงออกทางการเมืองกับบุคคลอื่นใน 2 วันดังกล่าว ยังไม่ถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยไปคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี จึงยังไม่ถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขคุมประพฤติ 

อย่างไรก็ตาม ศาลได้กล่าวตักเตือนสายน้ำว่า การชุมนุมหรือการแสดงออกทางการเมืองต้องงดเว้นการใช้ความรุนแรง และตั้งอยู่บนพื้นฐานการเคารพสิทธิผู้อื่น พร้อมทั้งกำชับให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาและเงื่อนไขคุมประพฤติในคำพิพากษาอย่างเคร่งครัดและครบถ้วน รวมทั้งกำชับผู้ปกครองให้ควบคุมดูแลสายน้ำ หากมีเหตุขัดข้องต้องรีบแจ้งให้ศาลทราบ 

X