ศาลจังหวัดธัญบุรียกฟ้อง “พิมชนก – เบนจา” ข้อหาเหยียดหยามธงและประเทศชาติ แต่ลงโทษปรับ 400 บาท เหตุชักธงชาติลงก่อน 18.00 น. ผิดระเบียบสำนักนายกฯ 

25 มิ.ย. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรี นัดฟังคำพิพาคดีของ พิมชนก จิระไทยานนท์  และ เบนจา อะปัญ สองนักศึกษา-นักกิจกรรมทางการเมือง ในข้อหา พ.ร.บ.ธง มาตรา 45, 53, 54 และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 118 หลังถูกฟ้องจากกรณีนำผ้าสีแดงมีตัวเลข “112” ชักขึ้นไปบนยอดเสาธงแทนธงชาติ บริเวณหน้า สภ.คลองหลวง เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2564 ระหว่างกิจกรรมติดตามให้กำลังใจ “เดฟ” ชยพล ดโนทัย

ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีการกระทำที่เหยียดหยามธงชาติ หรือประเทศชาติ แต่การที่จำเลยได้ชักธงชาติลงก่อนเวลา 18.00 น. โดยไม่มีเหตุอันควร เห็นว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อ 15 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ที่ได้กำหนดไว้ว่าตามปกติต้องชักธงชาติขึ้นในเวลา 08.00 น. และชักธงลง 18.00 น.  

พิพากษายกฟ้องข้อหา ป.อาญา มาตรา 118 และ พ.ร.บ.ธง มาตรา 54 แต่เห็นว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ธง มาตรา 45, 48 ลงโทษปรับคนละ 600 บาท การนำสืบเป็นประโยชน์ จึงลดโทษเหลือปรับคนละ 400 บาท 

.

สำหรับที่มาที่ไปในคดีนี้ เกิดขึ้นหลังจากในช่วงดึกวันที่ 13 ม.ค. 2564 ตำรวจจับกุมตัวสิริชัย นาถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามหมายจับในคดีมาตรา 112 กรณีถูกกล่าวหาว่าพ่นสีข้อความ “ยกเลิก 112” บนรูปพระบรมวงศานุวงศ์ และพบว่าตำรวจได้ขอออกหมายจับชยพลด้วย โดยที่เขามีหลักฐานที่อยู่ยืนยันว่าอยู่ต่างจังหวัดในวันเกิดเหตุดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง

จากนั้นในวันที่ 15 ม.ค. 2564 ชยพลได้เดินทางไปแสดงตัวต่อพนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง และในที่สุดตำรวจไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อเขาและได้ไปขอเพิกถอนหมายจับในที่สุด ระหว่างนั้น มีนักกิจกรรมและประชาชนเดินทางติดตามไปให้กำลังใจ และได้มีการปราศรัยและแสดงออกทางการเมืองต่าง ๆ บริเวณด้านหน้าสถานีตำรวจ 

ต่อมาตำรวจมีการดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมและประชาชนรวมทั้งหมด 16 คน ถูกแบ่งออกเป็นสามคดี ซึ่งในคดีของนักกิจกรรม 9 คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำ ได้ถูกแจ้งข้อหาตาม ป.อาญา มาตรา 215 วรรคสาม, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ​, พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยเฉพาะพิมชนกและเบนจา ยังถูกแจ้งข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานฯ, พ.ร.บ.ธง และ ป.อาญา มาตรา 118 ด้วย

แต่หลังจากที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้กับอัยการ พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้องนักกิจกรรม 7 คนในทุกข้อหา แต่ในส่วนของพิมชนกและเบนจาถูกอัยการสั่งฟ้องในข้อหาเฉพาะกรณีการแสดงออกเกี่ยวกับธง ในข้อหา พ.ร.บ.ธง พ.ศ. 2522 มาตรา 45, 53, 54 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 118

.

ในคดีนี้ จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่ยอมรับข้อเท็จจริงว่าได้ร่วมชุมนุมบริเวณหน้า สภ.คลองหลวง ในวันเกิดเหตุ โดยมีเหตุมาจาก “เดฟ” ชยพล เพื่อนของจำเลยทั้งสองคนที่ถูกออกหมายจับในคดีมาตรา 112 อย่างไม่เป็นธรรม เพื่อสะท้อนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ ที่มิได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสมและปราศจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง

การที่จำเลยชักธงชาติลงจากยอดเสาและนำผืนผ้าสีแดงมีข้อความ “112” ชักขึ้นไปแทน เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องให้มีการปรุบปรุงแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้มาตรา 112 ซึ่งไม่ได้กระทำโดยความไม่เคารพธงชาติ หรือเพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ

อีกทั้ง หลังจากเมื่อนำธงชาติลงและปลดออกจากเชือกแล้ว ผู้ชุมนุมก็นำธงชาติไปเก็บไว้เท่านั้น ไม่ได้กระทำการใด ๆ ต่อธงชาติในลักษณะดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือลดทอนคุณค่า เช่น กระชาก เหยียบย่ำ ถ่มน้ำลายรด เผา หรือกระทำการใดอันเป็นกิริยาดูหมิ่นเกลียดชังแต่ประการใด

อ่านบันทึกการสืบพยาน >> บันทึกการต่อสู้คดี ‘ชักผ้าแดง 112’ ขึ้นแทนธงชาติ “เบนจา – พิมชนก” ยืนยันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพราะเพื่อนไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้มีเจตนาเหยียดหยามธง-ประเทศชาติ

.

คดีนี้ เดิมศาลนัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่เบนจาติดภารกิจการสอบ จึงขอเลื่อนนัดออกมา 

วันนี้ (25 มิ.ย. 2567) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 4 พิมชนกและเบนจาเดินทางมาฟังคำพิพากษา พร้อมกับเพื่อนนักกิจกรรมและประชาชนที่มาให้กำลังใจในคดีนี้ด้วย 

ต่อมาเวลาประมาณ 10.05 น.​ ศาลออกนั่งบัลลังก์และเริ่มอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ โดยสรุปใจความสำคัญได้ว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกับพยานหลักฐาน คำเบิกความของพยานโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือและน่ารับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยทั้งสองกับพวกนำธงชาติลงจากเสาธงหน้า สภ.คลองหลวง โดยหลังนำลงจากเสา ได้ปลดออก และนำผ้าสีแดงลักษณะคล้ายธงมีตัวเลข 112 ชักขึ้นแทนธงชาติ

แม้ธงชาติไทยจะเป็นธงที่มีความหมายถึงประเทศไทย ตาม มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ธง และข้อ 6 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529  แต่การกระทำต่อธงชาติจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 118 และ มาตรา 55 ตาม พ.ร.บ.ธง การกระทำของจำเลยต้องมีเจตนาและมูลเหตุจูงใจมุ่งหมายเหยียดหยามประเทศชาติ

การที่จำเลยทั้งสองชักธงชาติลง นำผืนผ้าสีแดงมีข้อความ 112 ชักขึ้นแทน แม้เป็นการกระทำที่ไม่ควร และใช้กำลังบังคับ แต่ก็ไม่มีพยานโจทก์มาเบิกความว่าจำเลยกระทำการต่อธงชาติด้วยความไม่สมควร ไม่เคารพ หรือทำให้เกียรติภูมิประเทศเสื่อมเสียอย่างไร

และวิดีโอพยานหลักฐาน เห็นว่าหลังจากปลดธงชาติออกแล้ว ก็มีการส่งต่อธงชาติออกไป โดยไม่พบเห็นว่าจำเลยทั้งสองทิ้งธงชาติกองลงกับพื้น หรือทำลายธงชาติ และผ้าสีแดงมีข้อความ 112 ไม่ใช่ธงที่มีความหมายถึงประเทศอื่น ผ้าดังกล่าวจึงไม่ใช่ธงตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ธง และข้อ 4 ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ

และได้ความจากจำเลยที่ 1 ว่าการแสดงออกนั้นเกิดจากการไม่เห็นด้วยต่อการดำเนินคดีกับชยพลเท่านั้น พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีการกระทำที่เหยียดหยามธงชาติ หรือประเทศชาติ

แต่ในข้อหาตามมาตรา 45 ของ พ.ร.บ.ธง ร่วมกันฝ่าฝืนการใช้ ชักหรือแสดงธงที่มีความหมายถึงประเทศไทย รับฟังได้ว่าจำเลยมาร่วมชุมนุมเวลาประมาณ 10.00 น. และเลิกชุมนุมประมาณ 14.00 น. ในช่วงเวลานั้น จำเลยร่วมกันชักธงชาติลงจากเสาธง ประกอบกับจำเลยแถลงยอมรับว่าได้กระทำการดังกล่าว 

ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยได้ชักธงชาติลงก่อนเวลา 18.00 น. โดยไม่มีเหตุอันควร อันเป็นการฝ่าฝืนข้อ 15 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ที่ได้กำหนดไว้ว่าตามปกติต้องชักธงชาติขึ้นในเวลา 08.00 น. และชักธงลง 18.00 น. โดยระเบียบดังกล่าวออกตามความในมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.ธง และมีบทกำหนดโทษไว้ในมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.ธง 

พิพากษายกฟ้อง ป.อาญา มาตรา 118 และ พ.ร.บ.ธง มาตรา 54 แต่เห็นว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ธง มาตรา 45, 48 ลงโทษปรับคนละ 600 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุลดโทษ 1 ใน 3 คงเหลือปรับคนละ 400 บาท ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ในคดีนี้ลงโทษปรับจึงนับโทษต่อไม่ได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้

หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยทั้งสองได้ชำระค่าปรับ รวมแล้วเป็นเงิน 800 บาท และเดินทางกลับบ้านตามปกติ

.

ทั้งนี้ ในชุดคดีที่เกิดเหตุบริเวณหน้า สภ.คลองหลวง เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2564 นอกจากในคดีนี้แล้ว ยังมีอีก 2 คดี ได้แก่ คดีของประชาชน 6 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุม ซึ่งต่อมาถูกสั่งฟ้องเฉพาะข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และศาลจังหวัดธัญบุรีได้มีคำพิพากษายกฟ้องไป และปัจจุบันคดีถึงที่สุดแล้ว

และ คดีของ “สายน้ำ” ขณะยังเป็นเยาวชน ทำให้ถูกแยกฟ้องที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปทุมธานี ต่อมาให้การรับสารภาพ ศาลให้เข้ามาตรการพิเศษแทนมีคำพิพากษา และปัจจุบันคดีถึงที่สุดแล้วเช่นกัน

X