บันทึกการต่อสู้คดี ‘ชักผ้าแดง 112’ ขึ้นแทนธงชาติ “เบนจา – พิมชนก” ยืนยันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพราะเพื่อนไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้มีเจตนาเหยียดหยามธง-ประเทศชาติ

วันที่ 20 มิ.ย. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ พิมชนก จิระไทยานนท์  และ เบนจา อะปัญ สองนักศึกษา-นักกิจกรรมทางการเมือง ในข้อหา พ.ร.บ.ธง และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 118 หลังถูกกล่าวหาว่านำผ้าสีแดงมีตัวเลข “112” ชักขึ้นไปบนยอดเสาธงแทนธงชาติ ที่หน้า สภ.คลองหลวง เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2564 ระหว่างกิจกรรมติดตามให้กำลังใจ “เดฟ” ชยพล ดโนทัย

ที่มาที่ไปในคดีนี้ เกิดขึ้นหลังจากในช่วงดึกวันที่ 13 ม.ค. 2564 ตำรวจจับกุมตัวสิริชัย นาถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามหมายจับในคดีมาตรา 112 กรณีถูกกล่าวหาว่าพ่นสีข้อความ “ยกเลิก 112” บนรูปพระบรมวงศานุวงศ์ และพบว่าตำรวจได้ขอออกหมายจับชยพลด้วย โดยที่เขามีหลักฐานที่อยู่ยืนยันว่าอยู่ต่างจังหวัดในวันเกิดเหตุดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง

จากนั้นในวันที่ 15 ม.ค. 2564 ชยพลจึงได้เดินทางไปแสดงตัวต่อพนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง และในที่สุดตำรวจไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อเขาและได้ไปขอเพิกถอนหมายจับในที่สุด ระหว่างนั้น มีนักกิจกรรมและประชาชนเดินทางติดตามไปให้กำลังใจ และได้มีการปราศรัยและแสดงออกทางการเมืองต่าง ๆ บริเวณด้านหน้าสถานีตำรวจ (อ่านต่อที่นี่)

ต่อมา ตำรวจมีการดำเนินคดีตามมา ต่อนักกิจกรรมและประชาชนรวมทั้งหมด 16 คน แยกเป็นสามคดี ได้แก่ 

  1. คดีของนักกิจกรรม 9 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำและถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสามด้วย โดยเฉพาะพิมชนกและเบนจา ยังถูกแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.ธง และ ป.อาญา มาตรา 118 ด้วย
  2. คดีของประชาชน 6 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เข้าร่วม ไม่ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำ ซึ่งต่อมาถูกสั่งฟ้องเฉพาะข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และศาลจังหวัดธัญบุรีได้มีคำพิพากษายกฟ้องไป และปัจจุบันคดีถึงที่สุดแล้ว
  3. คดีของ “สายน้ำ” ขณะยังเป็นเยาวชน ทำให้ถูกแยกฟ้องที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปทุมธานี ต่อมาให้การรับสารภาพ ศาลให้เข้ามาตรการพิเศษแทนมีคำพิพากษา และปัจจุบันคดีถึงที่สุดแล้ว

.

ในส่วนคดีของนักกิจกรรม 9 คนนั้น หลังพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้กับอัยการ พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีของนักกิจกรรม 7 คน ในทุกข้อหา แต่เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2566 เจษฎา ทองแย้ม พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี มีคำสั่งฟ้องเฉพาะพิมชนกและเบนจาในกรณีการแสดงออกเกี่ยวกับการนำผ้าแดงขึ้นสู่ยอดเสาธง โดยไม่ฟ้องทั้งสองในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ป.อาญา มาตรา 215 และดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ทำให้ทั้งสองคนถูกสั่งฟ้องในข้อหาดังต่อไปนี้

1. มาตรา 45 ของ พ.ร.บ.ธง พ.ศ. 2522 ร่วมกันฝ่าฝืนการใช้ ชักหรือแสดงธงที่มีความหมายถึงประเทศไทย 

2. มาตรา 53 ของ พ.ร.บ.ธง พ.ศ. 2522 กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อธงชาติ ดังต่อไปนี้ 
(1) ประดิษฐ์รูป ตัวอักษร ตัวเลข หรือเครื่องหมายอื่นใดในผืนธง รูปจำลองของธง หรือในแถบสีธง นอกจากที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น
(2) ใช้ ชัก หรือแสดงธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงอันมีลักษณะตาม (1)
(3) ใช้ ชัก หรือแสดงธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงไว้ ณ ที่อื่นโดยวิธีอันไม่สมควร
(4) ประดิษฐ์ธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงไว้ ณ ที่หรือสิ่งใด ๆ โดยไม่สมควร
(5) แสดงหรือใช้สิ่งใด ๆ ที่มีรูปธง รูปจำลองของธง หรือมีแถบสีธงอันมีลักษณตาม (4) โดยไม่สมควร

3. มาตรา 54 ของ พ.ร.บ.ธง พ.ศ. 2522 ร่วมกันกระทำการอันใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการเหยียดหยามต่อธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธง

4. มาตรา 118 ของประมวลกฎหมายอาญา ร่วมกันกระทำการอันใด ๆ ต่อธงหรือเครื่องหมายอื่นใดอันมีความหมายถึงรัฐ เพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ 

ทั้งนี้ ถ้าหากพิมชนกและเบนจาถูกพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิดตามฟ้อง จะมีอัตราโทษจำคุกสูงสุด จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ภาพรวมการสืบพยาน

หลังจากนั้น ศาลจังหวัดธัญบุรีได้นัดหมายสืบพยานทั้งสิ้น 1 นัด ในวันที่ 18 เม.ย. 2567 โดยฝ่ายโจทก์ได้นำพยานเข้าเบิกความทั้งสิ้น 2 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.พิศิษฐ บุญมีสุข (สารวัตรสอบสวน สภ.คลองหลวง) และ ร.ต.อ.พงษ์พนนท์ รุ่งโรจน์ (รองสารวัตรสืบสวน สภ.คลองหลวง) และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงพยานโจทก์ 2 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.เศกสรรค์ บัวเรือง ผู้กล่าวหา (รองผู้กำกับการปราบปราม สภ.คลองหลวง) และ พ.ต.ท.เสฎฐพงศ์ ทรงกลด (รองผู้กำกับการสืบสวน สภ.คลองหลวง)

ส่วนฝ่ายจำเลยได้นำพยานจำเลยเข้าสืบ 1 ปาก ได้แก่ พิมชนก จิระไทยานนท์ (จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน) และได้นำส่งแถลงการณ์ปิดคดีต่อศาล ก่อนที่ศาลจะนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 20 มิ.ย. 2567

.

ในคดีนี้ จำเลยยอมรับข้อเท็จจริงว่าได้ร่วมชุมนุมบริเวณหน้า สภ.คลองหลวง ในวันเกิดเหตุ โดยมีเหตุมาจาก “เดฟ” ชยพล เพื่อนของจำเลยทั้งสองคนที่ถูกออกหมายจับในคดีมาตรา 112 อย่างไม่เป็นธรรม เพื่อสะท้อนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ ที่มิได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสมและปราศจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง

การที่พิมชนกและเบนจาชักธงชาติลงจากยอดเสาและนำผืนผ้าสีแดงมีข้อความ “112” ชักขึ้นไปแทน เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องให้มีการปรุบปรุงแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้มาตรา 112 ซึ่งไม่ได้กระทำโดยความไม่เคารพธงชาติ หรือเพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ

อีกทั้ง หลังจากเมื่อนำธงชาติลงและปลดออกจากเชือกแล้ว ผู้ชุมนุมก็นำธงชาติไปเก็บไว้เท่านั้น ไม่ได้กระทำการใด ๆ ต่อธงชาติในลักษณะดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือลดทอนคุณค่า เช่น กระชาก เหยียบย่ำ ถ่มน้ำลายรด เผา หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นกิริยาดูหมิ่นเกลียดชังแต่ประการใด

ภาพจากกิจกรรมเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2564 หน้า สภ.คลองหลวง (ภาพจาก THAI NEWS PIX)

.

ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในลักษณะ ‘การชักธง’ ขึ้นสู่ยอดเสาแทนธงชาติ ถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 2 คดี แต่คดีนี้เป็นคดีแรกที่ถูกดำเนินคดีข้อหามาตรา 118 ร่วมกับ พ.ร.บ.ธง

สำหรับอีกคดีหนึ่งเป็นคดีของ 3 นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เหตุจากการชักธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ขึ้นสู่เสาธงในระหว่างการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2564 ถูกดำเนินคดีในข้อหาตาม พ.ร.บ.ธง พ.ศ. 2522 มาตรา 45, 53 (3) และ 54 ซึ่งเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2565 ศาลแขวงขอนแก่นได้พิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตาม พ.ร.บ.ธง มาตรา 45 และ 53 (3) แต่ให้รอการกําหนดโทษไว้ 2 ปี และยกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.บ.ธง มาตรา 54 

และต่อมาในวันที่ 16 ส.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องทุกข้อหาโดยเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่นําสืบมา จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จําเลยมีเจตนาปฏิบัติต่อธงชาติโดยวิธีอันไม่สมควร ไม่เคารพ หรือทําให้เกิดความเสื่อมเสียซึ่งเกียรติภูมิของประเทศไทยหรือชาติไทย ซึ่งปัจจุบันนี้คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว

.

พ.ต.ท.พิศิษฐ บุญมีสุข สารวัตรสอบสวน สภ.คลองหลวง

เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2564 เวลา 20.30 น. หลังจับกุมสิริชัย นาถึง ตามหมายจับของศาลจังหวัดธัญบุรี ตามข้อหามาตรา 112 และทำให้เสียทรัพย์ฯ ต่อมาพยานได้รับทราบจากโซเชียลมีเดียว่ามีการโพสต์เชิญชวนให้ไปร่วมชุมนุมหน้า สภ.คลองหลวง ในวันที่ 15 ม.ค. ​2564 เวลา 11.00 น. เป็นต้นไป

ในวันเกิดเหตุ ผู้บัญชาการจึงจัดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และตำรวจควบคุมฝูงชนเข้ามาระงับและป้องกันเหตุบริเวณ สภ.คลองหลวง จากนั้นเมื่อเวลาประมาณ​ 10.00 น. มีประชาชนมาชุมนุมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต่อมามีรถยนต์บรรทุกเครื่องขยายเสียงมาจอด มีกลุ่มการ์ด We Volunteer มาดันแผงกั้นหน้าสถานีตำรวจ และมีรถตู้สีดำมาจอดหน้าสถานีตำรวจ

จากนั้น “เดฟ” ชยพล เหมือนกับว่ากระทำผิดมาตรา 112 ด้วย ได้มาประกาศว่าสิริชัยไม่ใช่ผู้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา มีการใช้กำลังดันแผงเหล็กบริเวณหน้าเสาธงเพื่อติดตั้งป้ายไวนิลคำว่า ‘ตื่นเถิดตำรวจไทย ปวงประชาจะคุ้มภัย’ จากนั้นมีตำรวจไปผลักดัน แต่ก็ไม่สามารถต้านทานตำรวจได้

ต่อมาพิมชนกและเบนจา เดินไปที่เสาธงและนำธงชาติลงจากยอดเสา จากนั้นก็นำผ้าสีแดงมีข้อความ 112 ผูกกับเชือกและชักขึ้นยอดเสา ผู้ชุมนุมร้องเพลงชาติไทยระหว่างชักธงดังกล่าว และมีกลุ่มการ์ด We Volunteer ล้อมป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไประงับเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงถ่ายภาพเหตุการณ์ไว้ตามเอกสารในคดีนี้ ทั้งบันทึกวิดีโอเหตุการณ์ที่ปรากฏภาพจำเลยทั้งสองคนอยู่ด้วย 

หลังจากนั้นตำรวจได้ชักธงสีแดงที่จำเลยชักขึ้นลงมา และเก็บไว้เป็นของกลาง แต่ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมแย่งไป หลังจากที่ธงสีแดงถูกแย่งไปได้ จำเลยทั้งสองไม่ได้นำกลับไปผูกและชักอีกครั้ง นอกจากนี้ไม่มีกลุ่มผู้ชุมนุม รวมถึงจำเลยทั้งสองคนกระทำการต่าง ๆ ในที่เกิดเหตุอีก โดยมีการชุมนุมถึงเวลา 14.00 น. 

ต่อมา ผู้บังคับบัญชาตำรวจภูธร ภาค 1 ตั้งคณะสืบสวนสอบสวน โดยแต่งตั้งให้พยานเป็นคณะทำงาน ซึ่งพยานได้สอบปากคำผู้กล่าวหาคือ พ.ต.ท.เศกสรรค์ บัวเรือง และ ร.ต.อ.พงษ์พนนท์ รุ่งโรจน์ รองสารวัตรสืบสวน เป็นพยาน

พยานกล่าวว่าได้มีรายงานการสืบสวนสอบสวนที่ยืนยันตัวตนผู้กระทำผิดคือ พิมชนกและเบนจา และได้มีการถอดเทปเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุจากไลฟ์สดทางเฟซบุ๊ก และจากการรวบรวมพยานหลักฐาน พยานมีความเห็นว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันเหยียดหยามต่อธง มีความผิดตามมาตรา 118 และ พ.ร.บ.ธง ต่อมาพยานได้แจ้งข้อกล่าวหาและแจ้งสิทธิแก่จำเลยทั้งสอง ในชั้นสอบสวนจำเลยได้ให้การปฏิเสธ

พ.ต.ท.พิศิษฐ ตอบทนายถามค้านว่า ในการรวมตัวหน้า สภ.คลองหลวง ในวันเกิดเหตุมีมูลเหตุมาจากการออกหมายจับชยพล มีการมาให้กำลังใจชยพล และแสดงออกต่อความไม่พอใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งในการชุมนุมมีการปราศรัยโจมตีการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

พยานตอบทนายว่าผ้าสีแดงที่จำเลยทั้งสองคนใช้ผูกเป็นธงไม่ใช่ผ้าผืนเดียวกันกับผ้าที่คลุมแพะ และในประเด็นเกี่ยวกับธงสีแดงที่มีเลข 112 พยานตอบทนายว่าไม่ได้เป็นธงของประเทศใด ๆ และเห็นว่าการที่มี “112” บนธง แสดงถึงการไม่เห็นด้วยต่อมาตรา 112

นอกจากนั้น พยานยังไม่ได้ศึกษาระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 ข้อ 5 ซึ่งกำหนดว่าปลัดสำนักนายกมีอำนาจวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับประเด็นการเหยียดหยามธง แต่พยานเห็นว่าตามระเบียบดังกล่าวมีการกำหนดเวลานำธงขึ้นและลงจากเสา ทั้งนี้ อัยการไม่ถามติง

.

ร.ต.อ.พงษ์พนนท์ รุ่งโรจน์ รองสารวัตรสืบสวน สภ.คลองหลวง 

เกี่ยวกับคดีนี้ ก่อนเกิดเหตุพยานทราบว่าจะมีนักศึกษาและประชาชนนัดหมายกันมาชุมนุมหน้า สภ.คลองหลวง ในวันที่ 15 ม.ค. 2564 เวลาประมาณ 10.00 น. เนื่องจากมีเหตุว่า ตำรวจจับกุมนักศึกษาตามข้อหามาตรา 112 ผู้บัญชาการจึงจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อป้องกันเหตุร้าย ต่อมาในวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 8.00 น. มีประชาชนทยอยเข้ามาหน้า สภ.คลองหลวง ก่อนที่เวลา 10.00 น. เริ่มมีการปราศรัยและทำกิจกรรม

หลังเกิดเหตุ ผู้บัญชาการมอบหมายให้พยานถอดเทปบันทึกคำปราศรัยในขณะเกิดเหตุจากวิดีโอไลฟ์สดเฟซบุ๊กเพจ “ข่าวพลังมด” ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเสนอข่าวของนักศึกษา ในบันทึกการถอดเทปมีเหตุการณ์ชักธงชาติลงจากเสาธงและเปลี่ยนเป็นผ้าสีแดงคล้ายธง โดยมีผู้ชุมนุมร้องเพลงชาติ

พยานไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ พยานเป็นเพียงผู้ถอดเทป ซึ่งในการถอดเทปจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนายอื่นดูภาพ ส่วนพยานเป็นผู้ฟังและพิมพ์ข้อความตามที่ได้ยินเสียง ทั้งนี้ ทนายจำเลยไม่ถามค้าน

.

พิมชนก จิระไทยานนท์ จำเลยที่ 1 อ้างตนเองเป็นพยาน

ขณะเกิดเหตุ พยานเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมหน้า สภ.คลองหลวง เพราะเป็นเพื่อนชยพลและรู้สึกว่าชยพลไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะไม่ได้ทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112  

พยานและเบนจา ร่วมกันชักธงชาติลงจากเสาและนำผ้าสีแดงผูกแทนธงดังกล่าว พยานเข้าใจในทางกฎหมายนั้นหมายความว่าเป็นการกระทำร่วมกัน ซึ่งพยานยอมรับว่าเป็นผู้นำธงชาติลง แต่ไม่ได้เป็นผู้นำธงสีแดงขึ้น และไม่ทราบว่าใครเป็นคนชักขึ้น และไม่ได้ร่วมร้องเพลงชาติไทยขณะชักธงสีแดงขึ้น แต่กลุ่มบุคคลบริเวณนั้นร้องกันเอง

พยานและพวกไม่ได้ตั้งใจ และไม่มีเจตนาดูหมิ่นเหยียดหยาม เพราะพยานไม่เห็นว่าธงชาติเป็นสิ่งไม่ดี ไม่ได้รังเกียจเหยียดหยามประเทศชาติ พยานเพียงต้องการสื่อสารเพื่อแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยที่ชยพลถูกดำเนินคดี

พิมชนกตอบอัยการถามค้าน พยานทราบว่าธงไตรรงค์คือตัวแทนแสดงออกของรัฐ และยอมรับว่าในที่เกิดเหตุมีการนำแพะจำนวน 2 ตัวมาคลุมผ้ามีตัวเลข 112 ซึ่งตัวเลข 112 พยานทราบความหมายว่าหมายถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

อัยการถามว่าธงสีแดงดังกล่าวจะสามารถกระทำในบริเวณอื่นใดนอกจากเสาธงได้หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ได้มีความตั้งใจว่าจะเป็นเสาธง เป็นจุดอื่นได้

พยานยอมรับว่าเป็นคนปลดธงชาติออกและช่วยผูกธงสีแดง และยอมรับอีกว่ารูปที่ปรากฏตามสำนวนในคดีนี้คือรูปของพยาน และตอบว่าหลังจากที่ปลดธงชาติลงมา พยานก็ไม่ได้นำธงชาติไปทำลายหรือกระทำการใด ๆ ต่อ ทั้งนี้ ทนายไม่ถามติง

หลังการสืบพยานเสร็จสิ้น ทนายจำเลยได้ยื่นแถลงการณ์ปิดคดีในส่วนของเบนจาเมื่อวันที่ 20 พ.ค.​ 2567 โดยมีใจความสำคัญดังนี้

การกระทำของเบนจาเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อสะท้อนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ ที่มิได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสมแก่กรณีและปราศจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องในการออกหมายจับชยพล ดโนทัย โดยถูกกล่าวหาว่าร่วมทำผิดกับ สิริชัย นาถึง ในข้อหามาตรา 112 และมาตรา 358 ซึ่งในขณะเกิดเหตุคดีดังกล่าว ชยพลไม่ได้อยู่ในสถานที่ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดแต่อย่างใด 

การที่เบนจาและผู้ชุมนุมชักธงชาติลงจากยอดเสา และนำผืนผ้าสีแดงมีข้อความ “112” ชักขึ้นไปแทนนั้น เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องให้มีการปรุบปรุงแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้มาตรา 112 ซึ่งไม่ได้กระทำโดยความไม่เคารพธงชาติ หรือเพื่อเหยียดหยามประเทศชาติแต่อย่างใด 

นอกจากนั้นหลังเบนจาและผู้ชุมนุมชักธงชาติลงจากยอดเสาและปลดธงชาติออกจากเชือกแล้ว ผู้ชุมนุมก็นำธงชาติไปเก็บไว้เท่านั้น ไม่ได้กระทำการใด ๆ ต่อธงชาติในลักษณะดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือลดทอนคุณค่า เช่น กระชาก เหยียบย่ำ ถ่มน้ำลายรด เผา หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นกิริยาดูหมิ่นเกลียดชังแต่ประการใด

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ปากคำพยานคดีชักธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ใน ม.ขอนแก่น: 3 นศ.ยืนยัน เพียงทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้แสดงความไม่เคารพ-ไม่มีเจตนาเหยียดหยามธงชาติ

ตร.ไม่แจ้งข้อหา ม.112 “เดฟ ชยพล” ระบุไม่มีหมายจับ แต่ต่อมากลับไปขอยกเลิกหมายจับ

X