เดือนพฤษภาคมที่ผ่านไป ไม่ได้มีคดีความจากการแสดงออกทางการเมืองเพิ่มขึ้นนัก แต่การต่อสู้ในชั้นศาลในคดีเดิมยังคงดำเนินไปอย่างเข้มข้น ทั้งศาลมีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 อีกกว่า 10 คดี และคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 4 คดี โดยมีคดีสำคัญได้แก่ คดี “ธนพร” แม่ลูกอ่อนจากอุทัยธานี ที่ถูกศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ทำให้เธอกลายเป็นอีกหนึ่งผู้ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 นอกจากนั้นยังมีกรณีการเสียชีวิตของ “บุ้ง เนติพร” เป็นสถานการณ์สำคัญ ขณะเดียวกันคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของ “ดนัย” ศิลปินจากภูเก็ต ศาลฎีกาก็ยกฟ้องหลังต่อสู้มานานกว่า 4 ปีเศษ
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,954 คน ในจำนวน 1,296 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงเดือนเมษายน มีคดีเพิ่มขึ้น 1 คดี
หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 4,003 ครั้ง
สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่
1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 272 คน ในจำนวน 303 คดี
2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 152 คน ในจำนวน 50 คดี
3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,466 คน ในจำนวน 670 คดี
4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 181 คน ในจำนวน 99 คดี
5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 202 คน ในจำนวน 225 คดี
6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 43 คน ใน 25 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี
จากจำนวนคดี 1,296 คดีดังกล่าว มีจำนวน 567 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 729 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่าง ๆ
.
.
แนวโน้มการดำเนินคดีในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 มีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้
สถานการณ์คดี ม.112 ศาลพิพากษากว่า 10 คดี คดีแม่ลูกอ่อนพิพากษาถึงชั้นฎีกา ต้องโทษจำคุก ขณะบุ้งเสียชีวิตในเรือนจำ
เดือนที่ผ่านมาไม่มีรายงานคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้น แต่มีคดีที่ผู้ต้องหาเข้ารับทราบข้อกล่าวหา 1 คดี หลังจากได้รับหมายเรียกมาตั้งแต่เดือนก่อนหน้า ได้แก่ คดีของพิพัฒน์ วิเศษชุมพล ประชาชนจากบุรีรัมย์วัย 32 ปี ได้เดินทางไปรับทราบข้อหาที่ สภ.ควนขนุน จ.พัทลุง หลังจากถูก ทรงชัย เนียมหอม จากกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน ไปแจ้งความกล่าวหาเอาไว้ เหตุจากการโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับกรณีการประหาร “ชิต บุศย์ เฉลียว” เมื่อช่วงวันที่ 28 มี.ค. 2566
เท่าที่ทราบข้อมูล พิพัฒน์นับเป็นผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รายที่ 10 แล้ว ที่ถูกแจ้งข้อหาโดยมีกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันเป็นผู้กล่าวหา ก่อนหน้านี้มีคดีที่ถูกกล่าวหากระจายไปในหลายสถานีตำรวจในจังหวัดทางภาคใต้ โดยส่วนใหญ่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นประชาชนทั่วไป ซึ่งไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางภาคใต้แต่อย่างใด ทำให้แต่ละคนมีภาระและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่อสู้คดี
.
.
ส่วนคดีมาตรา 112 ที่ดำเนินอยู่ในชั้นศาล เดือนที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษาออกมาอีก 10 คดี โดยแยกเป็นคำพิพากษาในศาลชั้นต้น 8 คดี, ศาลอุทธรณ์ 1 คดี และศาลฎีกา 1 คดี
คดีที่สำคัญ ได้แก่ คดีของชลธิชา แจ้งเร็ว กรณีปราศรัยประเด็นการแก้ไขกฎหมายโอนย้ายทรัพย์สินของกษัตริย์ หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564 คดีนี้จำเลยต่อสู้ว่าถ้อยคำที่ปราศรัยนั้นเป็นข้อเท็จจริง ปราศรัยภายใต้ความปรารถนาดีต่อสถาบันฯ และเนื้อหาหลักเป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แก้ไขและออกกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์หลายฉบับ
แต่ศาลจังหวัดธัญบุรีพิพากษาเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 โดยศาลเห็นว่าถ้อยคำปราศรัยของจำเลยฟังแล้วทำให้เข้าใจว่า พระมหากษัตริย์เอาเงินภาษีของประชาชนมาใช้ส่วนพระองค์ แทรกแซงอำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ เป็นการทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง ลงโทษจำคุก 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี โดยศาลยังให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี
ปัญหาเรื่องการแสดงความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์ในข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงพระราชอำนาจอย่างสำคัญในรัชกาลปัจจุบัน แต่กลับถูกดำเนินคดีและลงโทษตามมาตรา 112 ยังเป็นประเด็นปัญหาสำคัญในการต่อสู้คดีข้อหานี้
.
.
เดือนที่ผ่านมา ยังมี 2 คดี ที่เกี่ยวข้องกับการวางเพลิง ซึ่งถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ด้วย และศาลมีคำพิพากษาออกมา ได้แก่ คดีของแอมมี่-ปูน กรณีวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์หน้าเรือนจำคลองเปรม ศาลอาญาเห็นว่า แม้จำเลยจะอ้างว่าการเผาเป็นเพียงการแสดงออกเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางการเมือง แต่ย่อมแสดงให้เห็นว่า หากไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง จำเลยย่อมสามารถเผาหรือทำลายตัวพระมหากษัตริย์ได้ จึงถือเป็นการขู่เข็ญและเป็นการลดคุณค่าของพระมหากษัตริย์ ทั้งแอมมี่ยังเผยแพร่ภาพให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียชื่อเสียง ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกแอมมี่รวม 4 ปี และจำคุกปูนรวม 1 ปี
และ คดีของมิกกี้บัง-จิตริน กรณีถูกกล่าวหาเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติบริเวณดินแดง ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ19กันยา64 ศาลอาญาก็พิพากษาว่ามีความผิดเช่นกัน โดยเชื่อว่าจำเลยทั้งสองมีส่วนร่วมในการเผา และเชื่อตามพยานโจทก์ ที่อ้างว่าการวางเพลิงรูปเป็นการสาปแช่ง อาฆาตมาดร้าย เป็นการกระทำที่ไม่สมควร ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ เข้าข่ายมาตรา 112 ลงโทษจำคุกคนละ 3 ปี และยังลงโทษมิกกี้บังจำคุกเพิ่มอีก 2 ปี กรณีถูกกล่าวหาวางเพลิงป้อมจราจร โดยในทั้งสองคดี ศาลอาญาให้ประกันตัวจำเลยทั้งหมดระหว่างอุทธรณ์
จากสถานการณ์ดังกล่าว แนวทางการตีความการแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์หรือสัญลักษณ์ในคดีมาตรา 112 ยังเป็นไปอย่างหลากหลาย โดยก่อนหน้านี้มีคดีวางเพลิงรูปที่ไม่ถูกกล่าวหาในข้อหานี้ หรือ การปลดรูปและการปาสีใส่รูป โดยไม่มีข้อความอื่น ๆ นั้น มีศาลที่วินิจฉัยเห็นว่ามีความผิดเฉพาะข้อหาเกี่ยวกับการทำลายทรัพย์ ไม่ได้สะท้อนเจตนาชัดเจนว่าเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย แต่อย่างใด
สำหรับคดีที่มีคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์ ได้แก่ คดีของ “บอส ฉัตรมงคล” กรณีถูกกล่าวหาไปคอมเมนต์ใต้โพสต์เพจ “ศรีสุริโยไท” เดิมคดีนี้ศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่เพียงพอระบุว่าจำเลยเป็นผู้คอมเมนต์ข้อความดังกล่าว แต่อัยการได้อุทธรณ์คดีต่อมา และศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้กลับคำพิพากษา เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง โดยหันไปรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์ว่าจำเลยเป็นผู้คอมเมนต์ข้อความ พิพากษาลงโทษจำคุก 27 เดือน โดยศาลฎีกายังให้ประกันตัวจำเลยระหว่างฎีกา หลังเขาถูกคุมขังไป 1 คืน
.
.
ส่วนคดีที่ไปถึงชั้นศาลฎีกา ได้แก่ คดีของธนพร แม่ลูกอ่อนวัย 24 ปี จากจังหวัดอุทัยธานี ผู้ถูกฟ้องจากการไปแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์เฟซบุ๊กของเพจซึ่งเผยแพร่ภาพตัดต่อของรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 เมื่อช่วงปี 2564
คดีนี้เธอให้การรับสารภาพ โดยไม่มีทนายความในชั้นสอบสวน ต่อมาศาลอาญาตลิ่งชันพิพากษาจำคุก 4 ปี ให้การรับสารภาพ ลดโทษเหลือ 2 ปี และให้รอการลงโทษไว้ แต่อธิบดีผู้พิพากษาศาลได้ทำความเห็นแย้งว่าไม่ควรให้รอการลงโทษ และอัยการก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อมา โดยศาลอุทธรณ์ได้แก้คำพิพากษา โดยเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการก้าวล่วง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันกษัตริย์ จึงไม่ให้รอลงอาญา โดยเธอยังได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกา
ท้ายที่สุด เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2567 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเห็นตามศาลอุทธรณ์ ทำให้ธนพรถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงธนบุรีในฐานะผู้ต้องขังคดีถึงที่สุด โดยเท่าที่ทราบข้อมูล คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 ในช่วงหลังปี 2563 คดีที่ 2 ที่มีคำพิพากษาในชั้นศาลฎีกา โดยทั้งสองคดีเป็นคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ แต่ศาลฎีกาพิพากษาไม่รอลงอาญาเช่นกัน
.
.
เดือนที่ผ่านมา ยังมีสถานการณ์สำคัญในกรณีของ “บุ้ง เนติพร” นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวังวัย 28 ปี ที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีมาตรา 112 กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ และได้อดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทั้งหมด มาตั้งแต่ช่วงต้นของการถูกคุมขังในระลอกใหม่นี้ปลายเดือนมกราคม 2567 และเธอได้เสียชีวิตลงหลังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 โดยทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์พยายามส่งตัวต่อไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ แต่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ การเสียชีวิตของบุ้ง ยังต้องมีการตรวจสอบสาเหตุที่ชัดเจน และการทำหน้าที่ดูแลผู้ต้องขังของบุคลากรในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ต่อไป
ขณะที่หลังกรณีการเสียชีวิตของบุ้ง ศาลได้ให้ประกันตัว “ตะวัน” และ “แฟรงค์” คดีข้อหาหลักตามมาตรา 116 กรณีถูกกล่าวหาบีบแตรใส่ขบวนเสด็จ หลังถูกคุมขังระหว่างสอบสวนและพิจารณาไปเกือบ 4 เดือน โดยเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป การสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยไม่มีโอกาสยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ประกอบโจทก์ไม่ค้านประกัน อีกทั้งจำเลยต้องขังในชั้นสอบสวนมานานพอสมควรแล้ว น่าสนใจว่าก่อนหน้านั้นทนายความก็ได้มีการยื่นประกันทั้งสองคนในชั้นพิจารณาไปหลายครั้ง แต่ศาลก็สั่งในลักษณะว่าไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมแต่อย่างใด
ในกรณีผู้ต้องขังที่คดียังไม่สิ้นสุดคนอื่น ๆ แม้จะมีความพยายามยื่นขอประกันตัวอีกครั้งในเดือนที่ผ่านมา แต่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกายังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเช่นเดิม ทำให้จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม ยังมีผู้ต้องขังมาตรา 112 ถูกคุมขังอยู่อย่างน้อย 26 คน แยกเป็นผู้ต้องขังคดีถึงที่สุด 8 คน ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา 17 คน และผู้ต้องขังเยาวชนที่ถูกคุมขังตามคำสั่งศาลเยาวชนฯ 1 คน นอกจากนั้นยังมีผู้ต้องขังทางการเมืองในคดีข้อหาอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 16 คน
.
ไม่มีคดีชุมนุมคดีใหม่ แต่มีการจับกุมผู้ต้องหาในคดีเดิม ส่วนคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลพิพากษาเพิ่มอีก 4 คดี
ในเดือนพฤษภาคม ไม่พบว่ามีคดีจากการชุมนุมคดีใหม่เกิดขึ้น มีเพียงคดีที่อยู่ในชั้นศาล และจำเลยในคดีเดียวกัน ให้การต่างกัน ทำให้ศาลให้แยกฟ้องคดีที่จำเลยยังต่อสู้คดีเข้ามาใหม่ และมีคำพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ให้การรับสารภาพ ทำให้ต้องนับจำนวนคดีแยกออกจากกัน
ในเดือนที่ผ่านมา พบว่าเจ้าหน้าที่มีการจับกุม “ถนอม” คนไร้บ้านวัย 55 ปี ที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม #ม็อบ20มีนา2564 บริเวณแยกคอกวัว โดยเมื่อช่วงกลางปี 2566 อัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีนี้ แต่ถนอมไม่ได้เดินทางไปตามนัด และไม่สามารถติดต่อได้ ทำให้เขาถูกออกหมายจับ จนเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2567 เขาได้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยไม่มีใครทราบเรื่อง จนกระทั่งช่วงปลายเดือนแล้ว ผู้ต้องขังทางการเมืองรายอื่น ๆ จึงได้พบกับเขา และได้แจ้งเรื่องกับทนายความ ก่อนมีการทำเรื่องขอประกันตัวเขาออกมา รวมถนอมถูกคุมขังอยู่ราว 25 วัน
นอกจากนั้น ยังมีกรณีของ “ตะวัน” หลังได้รับการปล่อยตัวในคดีมาตรา 116 ตำรวจ สน.พระราชวัง ได้เข้าอายัดตัว ตามหมายจับในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมสนับสนุน “บังเอิญ” ในการพ่นสีกำแพงวัง โดยเป็นหมายจับออกโดยศาลอาญาตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566 แต่ตำรวจกลับไม่เคยมีการดำเนินการแสดงหมายจับหรือเข้าแจ้งข้อกล่าวหา แม้มีการจับกุมตะวันในคดีอื่น ๆ หรือเธอถูกคุมขังอยู่ก็ตาม โดยตำรวจได้ให้ประกันตัวในชั้นสอบสวนทันที ตะวันนับเป็นผู้ถูกกล่าวหากรณีรายที่ 4 ต่อจากผู้สื่อข่าวประชาไท-ช่างภาพอิสระ และสายน้ำ
ปัญหาการใช้หมายจับ เป็นเครื่องมือในการเลือกช่วงเวลาจับกุมที่มีผลทางการเมือง และสร้างความหวาดกลัวให้นักกิจกรรม ยังเป็นประเด็นหนึ่งที่ตำรวจดำเนินการเช่นนี้มาอย่างต่อเนื่อง
.
.
เดือนที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นยังมีคำพิพากษาคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมออกมาอีก 3 คดี โดยมีคดีจากการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564 ที่ศาลจังหวัดธัญบุรีพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสิบ โดยเห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม พื้นที่หน้าศาลเป็นพื้นที่กว้างโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่แออัด จำเลยสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และไม่ปรากฏว่าหลังชุมนุมมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ตรงกันข้ามกับแนวทางในอีก 2 คดี ที่ศาลเห็นว่ามีความผิด ได้แก่ คดีของ 3 อดีตนักศึกษา ม.เชียงใหม่ เดินขบวนจากสามกษัตริย์ ไป สภ.เมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ที่ศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษาปรับคนละ 4,000 บาท โดยเห็นว่าการชุมนุมมีลักษณะใกล้ชิดกัน ผู้ชุมนุมใส่หน้ากากอนามัยบางส่วน ไม่มีการตั้งตรวจวัดอุณหภูมิ แม้ปรากฏตามพยานหลักฐานทั้งของโจทก์และจำเลยว่าก่อนและหลังการชุมนุมไม่มีผู้ติดเชื้อก็ตาม และคดีของ 3 สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า ที่ถูกกล่าวหาจากการชุมนุมที่ดินแดง ใน #ม็อบ19กันยา2564 ที่ศาลพิจารณาว่าเมื่อจำเลยทั้งสามเข้าร่วมชุมนุม ก็ถือเป็นความผิดแล้ว ลงโทษจำคุกคนละ 10 วัน (พ่วงกับข้อหาอื่น ๆ)
นอกจากนั้นยังมีคดีคาร์ม็อบสตูล ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษายืน เห็นว่าจำเลยทั้งสามมีความผิด แม้จะไม่ชัดเจนว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมหรือไม่ และแม้จำเลยทั้งสามและผู้เข้าร่วมกจะมีมาตรการในการป้องกันตนเองจากเชื้อโควิด-19 และไม่ได้ติดเชื้อภายหลังเข้าร่วมกิจกรรมก็ตาม ศาลพิพากษาให้รอการกำหนดโทษไว้ 1 ปี
.
.
ศาลฎีกากลับเป็นยกฟ้องคดี พ.ร.บ.คอมฯ ของ “ดนัย” กรณีโพสต์ไม่มีการคัดกรองโควิดที่สุวรรณภูมิ คดีสิ้นสุดสู้กว่า 4 ปี
ในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคม ยังมีคดีสำคัญอีกคดีหนึ่งที่มีคำพิพากษาในชั้นศาลฎีกาออกมา ได้แก่ คดีของ “ดนัย อุศมา” หรือ Mr.Zen ศิลปินกราฟฟิตี้จากจังหวัดภูเก็ต ซึ่งถูกกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (2) จากกรณีใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2563 ว่าได้เดินทางกลับจากเมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน เข้าประเทศไทย โดยที่ไม่มีเจ้าหน้าที่มาตรวจคัดกรองผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิในช่วงการเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-2019 ทำให้ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของการท่าอากาศยานไทยไปแจ้งความกล่าวหาดนัย
คดีนี้ใช้เวลาต่อสู้นานกว่า 4 ปี ไปจนถึงชั้นศาลฎีกา จากเดิมศาลชั้นต้นยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์กลับเห็นว่ามีความผิด และพิพากษาลงโทษจำคุกถึง 1 ปี และ ปรับ 50,000 บาท โดยให้รอลงอาญา ฝ่ายจำเลยยืนยันว่าตนแสดงความคิดเห็นตามสิ่งที่พบว่าเกิดขึ้นจริง ไม่ได้มีเจตนาจะเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ทำให้เกิดความผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศแต่อย่างใด
จนในชั้นศาลฎีกา ศาลได้กลับเป็นพิพากษายกฟ้องอีกครั้ง โดยเห็นว่าจำเลยโพสต์ข้อความดังกล่าว เป็นการโพสต์เรื่องราวที่ตัวจำเลยเข้าใจว่าเกิดขึ้นจริงกับตัวเอง ว่าไม่ได้มีเจ้าหน้าที่มาตรวจคัดกรองอุณหภูมิผู้เดินทางเข้าประเทศ คดีมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเจตนากระทำผิดตามฟ้องหรือไม่
คดีนี้เป็นตัวอย่างของคดีที่ไม่ควรเป็นคดีตั้งแต่ต้น หากประชาชนเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นผิดไป และแสดงความคิดเห็นไปตามที่ตนพบเห็น โดยมีเจตนาสุจริต หน่วยงานรัฐก็เพียงแต่ออกมาชี้แจงทำความเข้าใจ หรือให้แก้ไขข้อมูล ไม่จำเป็นต้องใช้ข้อกฎหมายมากล่าวหาดำเนินคดีเช่นนี้ และปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาต้องพิสูจน์ต่อสู้ด้วยตนเอง การถูกดำเนินคดีได้สร้างผลกระทบ และภาระในการต่อสู้คดีให้กับดนัย โดยไม่มีสิ่งใดชดเชยเยียวยาต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
.