วันที่ 29 พ.ค. 2567 ศาลแขวงเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาคดีของ 3 อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ ธนาธร วิทยเบญจางค์, วัชรภัทร ธรรมจักร และ ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ (รามิล) ที่ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีการชุมนุมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหยุดกระทำความรุนแรงกับประชาชน เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะร่วมกันเดินขบวนไปยังสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ เพื่อดำเนินการแจ้งความเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงที่แยกเกียกกาย หน้ารัฐสภาที่กรุงเทพฯ
คดีนี้ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษามาจากเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2567 เนื่องจากต้องส่งร่างคำพิพากษาให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ตรวจก่อน โดยมีการอ้างอิงถึงคำพิพากษาในคดีจากการชุมนุมแฟลชม็อบ #เชียงใหม่จะไม่ทนtoo ที่ลานประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2563 ซึ่งถูกฟ้องที่ศาลแขวงเชียงใหม่เช่นกัน และศาลในคดีดังกล่าวได้ส่งร่างคำพิพากษาให้อธิบดีตรวจเช่นกัน
.
เวลา 9.50 น. จำเลยทั้งสามคนเดินทางมาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 8 ของศาล โดยมีเพื่อนนักกิจกรรมเดินทางมาให้กำลังใจราว 4-5 คน ในตอนแรกเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ได้แจ้งเชิญบุคคลที่ไม่ใช่คู่ความออกไปรอนอกห้องพิจารณาก่อน แต่หลังทนายความพูดคุย ก็อนุญาตให้คนอื่น ๆ เข้าร่วมฟังคำพิพากษาได้
เวลา 10.00 น. กิตติมา โลหะวณิชย์ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน อ่านคำพิพากษา โดยสรุปเห็นว่าคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
โจทก์มี พ.ต.อ.มนัสชัย อินทร์เถื่อน ผู้กล่าวหา เบิกความว่าในวันเกิดเหตุมีเพจเฟซบุ๊กสามเพจโพสต์เชิญชวนให้มาชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และไปแจ้งความตำรวจที่สลายการชุมนุมที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ โดยเพจพรรควิฬาร์เป็นเพจของจำเลยที่ 1 (ธนาธร) และเฟซบุ๊กของจำเลยที่ 2 (วัชรภัทร) เป็นเฟซบุ๊กส่วนตัว
พอถึงเวลา 17.00 น. ซึ่งเป็นเวลานัดหมาย พ.ต.อ.มนัสชัย เดินทางไปที่เกิดเหตุ พบจำเลยที่ 1 เป็นแกนนำผู้เชิญชวนและปราศรัย ต่อมามีแกนนำคนอื่น ๆ ปราศรัยอีก โดยสืบทราบได้ว่าคือจำเลย 2 และ 3 พ.ต.อ.มนัสชัยเดินไปแจ้งกับจำเลยที่ 1 ว่าการชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้แจ้งการชุมนุม โดยจำเลยที่ 1 แจ้งว่าการชุมนุมเป็นการเร่งด่วน จึงไม่สามารถแจ้งได้ ต่อมามีการเดินขบวนเคลื่อนต่อไป สภ.เมืองเชียงใหม่
จนถึงเวลา 19.23 น. พ.ต.อ.ภูวนาถ ดวงดี พูดคุยให้มีตัวแทนเข้าไปแจ้งความ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนเข้าแจ้งความว่ามีการสลายการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมายในกรุงเทพฯ หลังจากนั้นการชุมนุมปราศรัยและถ่ายภาพร่วมกันบริเวณหน้าสถานีตำรวจ ต่อมาผู้กล่าวหาจึงพิจารณาว่าการกระทำนั้นมีความผิดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยทั้งสามไปร่วมการชุมนุม และมีปัญหาว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมในสถานที่แออัดเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค อันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่
เห็นว่าแม้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 และมาตรา 44 จะบัญญัติให้คุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุม แต่ในระหว่างเกิดเหตุปี 2563 มีการแพร่ระบาดร้ายแรงของโรคไวรัสโคโรนา-2019 และยังไม่มียารักษา และนายกรัฐมนตรีประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ห้ามมิให้ชุมนุม ทำกิจกรรม ในสถานที่แออัด การออกกฏหมายดังกล่าวเป็นการควบคุมโรคแพร่ระบาด ไม่ให้ขยายเป็นวงกว้าง ดังนั้นประกาศดังกล่าวจึงไม่เป็นการแทรกแซงสิทธิการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญดังที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้าง ส่วนข้อกำหนดของผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จะต้องไปว่ากันต่างหาก
สำหรับการพิจารณา “สถานที่แออัด” ไม่สามารถพิจารณาจากจำนวนคน ประกอบกับสถานที่ได้ แต่จะต้องพิจารณาประการอื่นประกอบด้วย ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ชุมนุมมีการชุมนุมในลักษณะใกล้ชิดกันในปริมาณหนาแน่น มีผู้ใส่หน้ากากอนามัยบางส่วน ไม่มีการตั้งจุดตรวจวัดอุณหภูมิ และไม่เว้นระยะห่าง
จำเลยไม่ได้นำสืบว่ามีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างไร พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าการชุมนุมของจำเลยทั้งสามนั้นมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคแล้ว แม้ปรากฏตามพยานหลักฐานทั้งของโจทก์และจำเลยว่าก่อนและหลังการชุมนุมไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ แต่ไม่ได้หมายความว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ส่วนที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้างว่ามาตรการป้องกันโรคโคโรนา-2019 ในช่วงดังกล่าวผ่อนคลายลง โดยมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงเวลาเกิดเหตุตามที่จำเลยอ้างเช่น ประเพณียี่เป็ง งานคอนเสิร์ตฟาร์มเฟสติวัล แต่จำเลยไม่ได้แสดงให้ชัดแจ้งว่างานดังกล่าวชอบหรือไม่ชอบด้วยกฏหมายอย่างไร จึงไม่ใช่เหตุผลที่จำเลยจะนำมาอ้างได้ ข้ออ้างของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ศาลลงโทษปรับคนละ 6,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ มีเหตุบรรเทาโทษให้หนึ่งในสาม เหลือลงโทษปรับคนละ 4,000 บาท ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจากคดีของศาลแขวงดุสิต (เฉพาะจำเลยที่ 1) และศาลแขวงเชียงใหม่ในอีกคดีหนึ่ง แต่ไม่ปรากฏว่ามีโทษจำคุกในคดีดังกล่าวจึงไม่นับโทษต่อ รวมแล้วทั้งสามคนต้องชำระค่าปรับเป็นเงิน 12,000 บาท
.
ภาพสองตัวแทนนักศึกษาขอเข้าแจ้งความใน สภ.เมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 (ภาพจากเพจประชาคมมอชอ)
.
ทั้งนี้ จำเลยทั้งสามต่อสู้คดีว่า การเข้าร่วมชุมนุมดังกล่าว เนื่องจากทนไม่ได้กับเหตุการณ์สลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 เพื่อดำเนินการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความรุนแรง การชุมนุมเป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ตามสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญฯ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (ICCPR) ในพื้นที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ไม่แออัด ช่วงเวลาดังกล่าวก็ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิดในเชียงใหม่ทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์เป็นเวลาหลายเดือน ทั้งรัฐก็มีการผ่อนปรนมาตรกา มีการจัดกิจกรรมสาธารณะต่าง ๆ ซึ่งย่อมอยู่ในวิสัยที่ข้อห้ามเรื่้องการชุมนุมนั้นจะผ่อนปรนลงไปด้วย เพราะการชุมนุมสาธารณะนั้นเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องได้รับความเคารพยิ่งกว่ามิติเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
น่าสังเกตว่า แนวคำวินิจฉัยและบทลงโทษดังกล่าว มีลักษณะเดียวกับคดีชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทนtoo ที่ศาลแขวงเชียงใหม่นี้ และศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็มีคำพิพากษายืน ขณะเดียวกันหากพิจารณาโดยภาพรวมในคดีชุมนุมในช่วงปี 2563-65 หลายศาลมีแนวคำวินิจฉัยที่ต่างออกไป ในคดีที่ต่อสู้คดี มีสัดส่วนที่ศาลยกฟ้องมากกว่าที่เห็นว่ามีความผิดราว 3 ต่อ 2 โดยขณะนี้มีคำพิพากษายกฟ้องไปอย่างน้อย 100 คดี ขณะที่เห็นว่ามีความผิดอย่างน้อย 67 คดี
.
ย้อนอ่านประมวลการต่อสู้คดีนี้
.