เกือบสามปี อัยการสั่งฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 แกนนำนักศึกษา มช. เดินขบวนเรียกร้อง ตร.สลายชุมนุมมิชอบ ตั้งแต่ปลายปี 63

4 ส.ค. 2566 ที่ศาลแขวงเชียงใหม่ พนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ได้นัดหมาย 3 นักกิจกรรมนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ ธนาธร วิทยเบญจางค์, วัชรภัทร ธรรมจักร และ ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ (รามิล) เพื่อสั่งฟ้องคดี จากกรณีการชุมนุม #ม็อบ17พฤศจิกา2563 ซึ่งมีการเดินขบวนจากอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ไปยัง สภ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อแจ้งความดำเนินคดีเรื่องการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กับเจ้าหน้าที่ที่ใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา ในกรุงเทพฯ

คดีนี้มี พ.ต.ท.มนัสชัย อินทร์เถื่อน อดีตรองผู้กำกับสืบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ เป็นผู้กล่าวหา และทั้งสามคนได้เข้ารับทราบข้อหาที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ ไปเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2564 โดยถูกตำรวจแจ้ง 5 ข้อกล่าวหา ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6), ใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และเดินขบวนกีดขวางการจราจร

ต่อมาตำรวจได้ส่งสำนวนให้กับอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564 และคดีได้อยู่ที่ชั้นอัยการมากว่า 2 ปี เศษ โดยก่อนหน้านี้อัยการเจ้าของสำนวนมีความเห็นไม่ฟ้องคดีนี้ แต่เมื่อส่งสำนวนไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ทางผู้ว่าฯ ได้มีความเห็นให้สั่งฟ้องคดี 

ทางอัยการจึงได้ขออนุญาตอธิบดีอัยการภาค 5 ซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายให้พิจารณาเพื่อสั่งฟ้องคดี จนได้มีหนังสืออนุญาตให้สั่งฟ้องคดีลงวันที่ 9 มิ.ย. 2566 และผู้ต้องหาทั้งสามคนได้ขอเลื่อนวันฟ้องคดีมาจากช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ในวันนี้ ทั้งสามคนเดินทางมาตามนัดหมาย คดีนี้มีนางสาวบุษยมาศ นุชนารถ เป็นพนักงานผู้เรียงฟ้อง โดยฟ้องทั้งสามคนในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพียงข้อหาเดียว เนื่องจากข้อหาอื่นๆ ที่มีโทษปรับ หมดอายุความไปแล้ว

คำฟ้องโดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 จำเลยทั้งสามกับพวก อีกประมาณ 200 คน ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมชูป้ายภาพแสดงข้อความสัญลักษณ์ทางการเมือง โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง ในลักษณะยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย อยู่ใกล้ชิดแออัด มีการสนทนา หันหน้าเข้าหากัน ทำกิจกรรมระหว่างกันเป็นระยะเวลานาน โดยไม่เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และไม่มีมาตรการป้องกันโรค ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และบริเวณสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ อันเป็นสถานที่แออัดในเขตพื้นที่ที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในขณะที่โรคโควิด-2019 ยังเป็นโรคติดต่ออันตราย ที่อาจทำให้จำเลยทั้งสามกับพวก รวมถึงประชาชนทั่วไปติดเชื้อและมีโอกาสแพร่ระบาดออกไป โดยกิจกรรมไม่ได้รับการยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย

หลังการสั่งฟ้องคดี ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวทั้งสามคนโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ ต่อมาศาลอนุญาตให้ประกันตัวโดยไม่ต้องวางเงินประกัน พร้อมกำหนดวันนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานในคดีต่อไปในวันที่ 2 ต.ค. 2566 เวลา 9.00 น.

ภาพการเดินขบวนและพยายามเข้าแจ้งความของแกนนำนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563

ทั้งนี้ การชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ดังกล่าว เป็นวันที่มีการประชุมของรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ Resolution ที่ประชาชนร่วมกันลงชื่อเสนอร่างเข้าไป นำโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือ iLaw ทำให้มีการนัดหมายชุมนุมของประชาชนบริเวณรัฐสภา แต่ได้เกิดเหตุตำรวจฉีดน้ำแรงดันสูงจากรถจีโน่เข้าใส่ผู้ชุมนุม ใช้แก๊สน้ำตา รวมทั้งเหตุการณ์ปะทะกันกับกลุ่มปกป้องสถาบันฯ

ในต่างจังหวัด จึงมีการนัดหมายชุมนุมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยุติการใช้ความรุนแรงกับประชาชน โดยที่จังหวัดเชียงใหม่ แกนนำนักศึกษามีการนัดหมายชุมนุมบริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ก่อนมีการเดินขบวนมาที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อพยายามแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ใช้กำลังกับประชาชนในกรุงเทพฯ ว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยตำรวจได้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ผู้ชุมนุมจึงแยกย้ายกันกลับ และต่อมามีผู้ถูกดำเนินคดีเป็นแกนนำนักศึกษา 3 รายดังกล่าว

.

X