สู่วันพิพากษาหลังสู้คดีกว่า 2 ปีครึ่ง: 4 นักศึกษาคดีชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทนtoo ยันกิจกรรมไม่เสี่ยงโรค ไม่วุ่นวาย ไม่มีผู้ติดเชื้อ

วันที่ 16 ก.พ. 2566 นี้ เวลา 9.00 น. ศาลแขวงเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีจากการชุมนุมแฟลชม็อบ #เชียงใหม่จะไม่ทนtoo ที่จัดขึ้นที่ลานประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2563  โดยภายหลังจากกิจกรรมดังกล่าวมีนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 4 ราย ได้แก่ ธนาธร วิทยเบญจางค์, ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์, วัชรภัทร ธรรมจักร และ ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ ถูกตำรวจดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

คดีนี้ นับเป็นคดีจากการชุมนุมทางการเมืองคดีแรกในจังหวัดเชียงใหม่ หลังเริ่มมีการชุมนุมเยาวชนปลดแอกในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา กิจกรรมจัดขึ้นเพื่อร่วมสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ หยุดคุกคามประชาชน ยุบสภา และแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีการปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล รวมไปถึงปัญหาการรับมือกับสถานการณ์โควิด–19 ในช่วงเวลาดังกล่าว ในระหว่างกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบคอยสังเกตการณ์ในพื้นที่ และประกาศแจ้งเตือนผู้เข้าร่วมให้ทำการยุติการชุมนุม เนื่องจากอาจจะเสี่ยงต่อโรคโควิด–19 แต่ไม่เกิดเหตุวุ่นวายใดๆ

ภายหลังกิจกรรม ตำรวจ สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้ออกหมายเรียกและแจ้งข้อกล่าวหาต่อจำเลยทั้ง 4 โดยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนคดีจะอยู่ที่ชั้นอัยการกว่า 1 ปี 9 เดือน พนักงานอัยการจึงมีคำสั่งฟ้องที่ศาลแขวงเชียงใหม่เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2565

คดีมีการสืบพยานไประหว่างวันที่ 30 พ.ย. จนถึง 2 ธ.ค. 2565 โดยพนักงานอัยการนำพยานโจทก์เข้าเบิกความรวม 4 ปาก ได้แก่ ตำรวจผู้กล่าวหา, ตำรวจชุดสืบสวน, หัวหน้าชุดสืบสวน และพนักงานสอบสวนในคดี โดยฝ่ายจำเลยรับคำให้การของพนักงานสอบสวนอีกปากหนึ่ง ที่มีเนื้อหาคล้ายกันกับพยานที่เข้าเบิกความแล้ว ทำให้ไม่ต้องนำพยานเข้าสืบ

ด้านฝ่ายจำเลยมีพยานเข้าเบิกความจำนวน 5 ปาก คือ จำเลยทั้ง 4 อ้างตนเองเป็นพยาน และผู้สังเกตการณ์ชุมนุมจากโครงการ Mob Data ที่ไปสังเกตการณ์กิจกรรม นอกจากนั้นยังมีอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้ยื่นหนังสือเป็นคำเบิกความในประเด็นการใช้และตีความ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เข้ามา แต่ไม่ได้เข้าเบิกความ

ประเด็นการต่อสู้สำคัญของฝ่ายจำเลย คือจำเลยทั้ง 4 รับว่าขึ้นกล่าวปราศรัยในกิจกรรมตามฟ้อง แต่ไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมการชุมนุม ทั้งจำเลยทั้ง 4 ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดในเบื้องต้นก่อนจะเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ขณะที่สถานที่เกิดเหตุยังเป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้ มีการเว้นระยะห่างระหว่างกันกับผู้ปราศรัย คนส่วนใหญ่สวมใส่หน้ากาก กิจกรรมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่ได้มีเหตุวุ่นวาย ไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่อย่างใด ทั้งบริเวณที่เกิดเหตุยังมีการจัดถนนคนเดินร่วมด้วย ซึ่งมีทั้งนักท่องเที่ยวและประชาชนอื่นๆ เดินไปมาเป็นปกติ โดยยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในจังหวัดเชียงใหม่ขณะนั้นก็มีตัวเลขเป็นศูนย์

หลังผ่านไป 2 ปี 7 เดือนนับจากวันเกิดเหตุ หากเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในวันนั้น ก็กำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 ผู้กำลังจะจบการศึกษาในวันนี้ ก่อนศาลชั้นต้นกำลังจะมีคำพิพากษา ชวนทบทวนการสืบพยานต่อสู้คดีนี้

.

ตำรวจระบุไม่ได้ว่าจำนวน 1,041 คน คือผู้เข้าร่วมทั้งหมดหรือไม่ เพราะวันเกิดเหตุมีถนนคนเดินด้วย แต่รับกิจกรรมเป็นไปอย่างสงบ ไม่มีเหตุวุ่นวาย

พยานโจทก์ทั้งหมด 4 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.มนัสชัย อินทร์เถื่อน รองผกก.สืบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ ผู้กล่าวหา, ร.ต.อ.ชัยพล ชัยชนะ รองสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่, พ.ต.อ.ภูวนาท ดวงดี ผกก.สภ.เมืองเชียงใหม่, พ.ต.ท.สมยศ วังเวียง ราชการบำนาญ ขณะเกิดเหตุเป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้

พยานตำรวจทั้งสี่ปาก เบิกความถึงเหตุการณ์กิจกรรมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 ไปทำนองเดียวกัน ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามการความเคลื่อนไหวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และทราบว่าจะมีการจัดชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้นที่ลานประตูท่าแพ พบว่ามีประชาชนในเชียงใหม่ให้สนใจต่อกิจกรรมนี้เป็นจำนวนมาก ต่อมาในวันที่ 19 ก.ค. 2563 เจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมกำลังในเครื่องแบบเพื่อดูแลความเรียบร้อย และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเพื่อสังเกตการณ์ รวมทั้งสืบสวนหาข้อมูลและระบุตัวบุคคล

ในเวลาประมาณ 16.00 น. ประชาชนเริ่มทยอยเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีทั้งการจัดกิจกรรมและงานถนนคนเดินพร้อมกันด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บันทึกภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวไว้เป็นหลักฐานในระหว่างจัดกิจกรรม

ต่อมาเมื่อกิจกรรมแล้วเสร็จ ตำรวจจึงนำภาพเหตุการณ์ในเวลา 17.30 น. ซึ่งเป็นเวลาที่มีจำนวนประชาชนอยู่ในบริเวณดังกล่าวมากที่สุดมาวิเคราะห์ เพื่อระบุจำนวนผู้เข้าร่วมทั้งหมด โดยใช้เครื่องมือพิเศษที่สามารถใช้ระบุจำนวนได้ ได้ผลลัพธ์คือประมาณ 1,041 คน

แต่เมื่อตอบทนายจำเลยถามค้านว่า “เครื่องมือที่ใช้วัดนั้นคือเครื่องมืออะไร และจำแนกคนได้หรือไม่อย่างไร” พยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.มนัสชัย อินทร์เถื่อน และ ร.ต.อ.ชัยพล ชัยชนะ ตอบในลักษณะสอดคล้องกับคำเบิกความของ พ.ต.อ.ภูวนาท ดวงดี ว่า เป็นโปรแกรมที่ใช้นับจำนวนเท่านั้น แต่ไม่สามารถจำแนกได้ว่าใครเป็นใคร เป็นผู้เข้าร่วมชุมนุม เป็นพ่อค้า-แม่ค้า หรือเป็นคนมาเที่ยวถนนคนเดิน ไม่สามารถจำแนกได้ลึกขนาดนั้น พ.ต.ท.มนัสชัย ยังเบิกความตอบทนายจำเลยว่า ในสถานที่เกิดเหตุมีผู้คนอยู่ร่วมกันหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ เป็นต้น

พยานโจทก์ทุกปากเบิกความตอบทนายจำเลยตรงกันว่า เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบลงพื้นที่ดูแลเรื่องความเรียบร้อยในที่เกิดเหตุ พบว่ากิจกรรมครั้งนี้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ผู้ชุมนุมไม่มีการพกอาวุธ ไม่มีการยุยงให้เกิดความวุ่นวาย

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าในคำฟ้องของพนักงานอัยการคดีนี้ ระบุจำนวนผู้เข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้ว่ามีประมาณ 400 คน

.

.

ตำรวจรับสถานที่จัดชุมนุมเป็นลานกว้าง โล่งแจ้ง ไม่แออัด

กลุ่มพยานเจ้าหน้าที่ที่ได้ลงพื้นที่เกิดเหตุทุกปากยังเบิกความตอบทนายจำเลยตรงกัน คือ ลานประตูท่าแพนั้นเป็นสถานที่เปิดโล่ง ไม่มีหลังคา มีผู้คนเดินเข้าออกได้ และเคลื่อนตัวได้ ทั้ง ร.ต.อ.ชัยพล และ พ.ต.อ.ภูวนาท รับว่าขณะทั้ง 2 อยู่ในที่เกิดเหตุ ไม่พบเห็นหรือได้รับรายงานว่ามีประชาชนเกิดอาการเจ็บป่วยหรือเป็นลมที่เกิดขึ้นจากความแออัด

ร.ต.อ.ชัยพล ยังระบุถึงการได้รับหน้าที่ให้เป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ปฏิบัติภารกิจสืบทราบระบุตัวผู้ชุมนุม และสืบสวนหาข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม โดยพยานปากนี้ได้ทำการรังวัดพื้นที่บริเวณลานประตูท่าแพด้วย พบว่าในส่วนความกว้างนั้น หากวัดจากฟุตบาทมาถึงประตูท่าแพ จะมีความยาวประมาณ 60 เมตร ส่วนความยาวหากวัดจากต้นไม้ด้านซ้ายมือ มาถึงคูเมืองด้านล่างอยู่ที่ประมาณ 200 เมตร

เมื่อทนายจำเลยถามว่า การวัดความกว้างและยาวของที่เกิดเหตุนั้น พยานเคยทำการวัดโดยใช้เครื่องมือหรือจัดทำแผนที่โดยละเอียดด้วยหรือไม่ เนื่องจากความเป็นจริงพื้นที่ของลานจะมากกว่านี้  พยานเบิกความว่า ไม่เคยใช้ พยานใช้แค่ประสบการณ์การนับก้าวของพยานเองเท่านั้น

.

ตำรวจระบุไม่มีมาตรการป้องกันโควิด แต่ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่สวมใส่หน้ากากอนามัย

พ.ต.ท.มนัสชัย ผู้กล่าวหา ยังเบิกความว่า ในฐานะที่พยานเป็นหัวหน้าชุดสืบสวน ก่อนกิจกรรมชุมนุมยังได้ติดต่อประสานงานไปยังหน่ายงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หน่วยงานสาธารณสุข โดยติดต่อว่ามีการขออนุญาตจัดกิจกรรมหรือไม่ แต่ไม่พบว่ามีการขออนุญาต ส่วน ร.ต.อ.ชัยพล และ พ.ต.อ.ภูวนาท เบิกความถึงว่าในที่ชุมนุมไม่มีมาตรการควบคุมการแพร่กระจายโรคติดเชื้อโควิด-19 ถึงแม้ผู้ร่วมชุมนุมส่วนใหญ่จะสวมใส่หน้ากากอนามัย แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่ได้ใส่ รวมไปถึงกลุ่มแกนนำด้วย แต่ก็รับกับทนายจำเลยว่าจากภาพรวม ผู้เข้าร่วมโดยส่วนใหญ่ยังสวมใส่หน้ากากอนามัย

.

จำเลยทั้งสี่ไม่ใช่ผู้จัด ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ยืนยันใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ในส่วนของพยานจำเลยนั้น จำเลยทั้งสี่ ซึ่งขณะเกิดเหตุยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทั้งหมด เบิกความถึงความสนใจร่วมกิจกรรมแสดงออกทางการเมืองว่า ในวันที่ 18 ก.ค. 2563 พยานต่างคนต่างได้เห็นโพสต์จากเพจเฟซบุ๊กชื่อ “พรรควิฬาร์” ว่าจะมีการจัดกิจกรรมแสดงออกทางการเมืองในวันที่ 19 ก.ค. 2563 ที่บริเวณลานประตูท่าแพ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน ยุบสภา และแก้ไขรัฐธรรมนูญ สนับสนุนนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในกรุงเทพฯ

ในวันจัดกิจกรรมชุมนุมนั้นยังเป็นวันเดียวกับงานถนนคนเดินด้วย อีกทั้งในช่วงเวลาดังกล่าวสถานการณ์โควิด–19 ในจังหวัดเชียงใหม่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ ตามรายงานสถานการณ์โควิด-19 รายวันที่ยื่นประกอบต่อศาล พยานทั้งสี่จึงสนใจจะไปร่วมกิจกรรมและงานถนนคนเดินด้วย

ต่อมาเวลาประมาณ 16.30 น. ก่อนที่กิจกรรมจะเริ่ม พยานต่างเตรียมตัวเดินทางโดยออกจากที่พักของแต่ละคน ทั้งนี้ก่อนที่จะเข้าร่วมกิจกรรม จำเลยที่ 1 และ 3 ได้เข้าไปยังร้านสะดวกซื้อก่อน ส่วนจำเลยที่ 2 ก่อนจะเข้าพื้นที่กิจกรรมได้เข้าไปร้านกาแฟซึ่งอยู่ตรงข้ามลานประตูท่าแพ และจำเลยที่ 4 เดินทางมาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งหมดได้ทำการตรวจวัดอุณหภูมิและใช้เจลล้างมือแล้ว ก่อนเข้ามาบริเวณลานประตูท่าแพ

พยานทั้ง 4 ยังเบิกความตรงกันว่า บริเวณลานประตูท่าแพเป็นที่เปิดโล่ง ไม่มีหลังคา ไม่เป็นที่แออัด โดยผู้ร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่สวมใส่หน้ากากอนามัย และมีการพกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือส่วนตัว เนื่องจากการป้องกันตัวเองนั้นเป็นเรื่องสำคัญ

พยานเบิกความต่อว่า ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวมีการเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจอยากจะพูดปราศรัยก็สามารถขึ้นกล่าวปราศรัยได้เลย ทั้งพยานสนใจเองและรับไมค์ซึ่งส่งต่อๆ กันมาจากคนอื่น พยานทั้งหมดจึงได้ร่วมกล่าวปราศรัย โดยบริเวณที่พยานยืนกล่าวปราศรัยนั้นมีผ้ากั้นและมีระยะห่างระหว่างผู้พูดกับเหล่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 2 เมตร

.

.

ในระหว่างปราศรัย พยานได้ยินเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามประกาศให้ยุติการจัดกิจกรรม ซึ่งทราบภายหลังว่าได้ประกาศ 2-3 ครั้ง เนื่องจากในวันเกิดเหตุ มีเสียงของผู้ชุมนุม เสียงโดยรอบ และเสียงจากที่เจ้าหน้าที่ประกาศนั้นตีกัน จึงได้ยินไม่ชัด โดยพยานทั้ง 4 กล่าวปราศรัยในประเด็นที่ตนเองสนใจ เช่น การบริหารงานของรัฐบาล และการจัดการวัคซีนโควิดที่ล้มเหลว สภาพเศรษฐกิจในประเทศไทยและในเชียงใหม่ด้วย ต่อมาเมื่อได้กล่าวปราศรัยแล้ว พยานได้อยู่ในกิจกรรมต่ออีกสักพัก แล้วจึงแยกย้ายกันต่างคนต่างกลับไม่เกินเวลา 18.00 น. ส่วนจำเลยที่ 3 ออกจากกิจกรรมเวลาประมาณ 18.10 – 18.20 น.

พยานทั้ง 4 ยังเบิกความเห็นว่าการเข้าร่วมกิจกรรมหรือการออกมาแสดงออกทางความคิดนั้น ไม่ควรเป็นความผิดโดยเป็นไปตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่รับรองไว้ในรัฐธรมนูญ ในการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ก็เป็นการเข้าร่วมที่มีเจตนาบริสุทธิ์ ไม่มีการสร้างความวุ่นวายหรือเสียหายใดๆ

ในการถามค้าน อัยการถามกับประสิทธิ์ ว่า ตามภาพเหตุการณ์การชุมนุมพยานทราบหรือไม่ว่าในที่ชุมนุมไม่มีการจัดตั้งจุดคัดกรองหรือไม่มีมาตรการอื่นๆ ใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่า พยานไม่ทราบว่าในที่ชุมนุมไม่มีการตั้งจุดคัดกรอง พยานมาทราบก็เมื่อตอนที่มาอยู่ในที่ชุมนุมแล้ว

จำเลยทั้ง 4 ยังเบิกความว่า ในช่วงที่ตนต้องขึ้นกล่าวปราศรัย เนื่องจากหายใจไม่ทัน จึงจำเป็นต้องนำหน้ากากอนามัยลง เมื่อปราศรัยเสร็จก็กลับมาใส่ตามเดิม ซึ่งสอดคล้องกับที่ พ.ต.อ.ภูวนาท พยานโจทก์ ก็ระบุว่าภาพถ่ายของจำเลยทั้ง 4 ที่ถอดหน้ากากอนามัยนั้น อยู่ในช่วงที่กำลังกล่าวปราศรัย

ทั้งนี้คดีนี้ หลังสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลได้แจ้งว่าต้องส่งร่างคำพิพากษาให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ตรวจสอบด้วย ก่อนจะกำหนดวันนัดอ่านคำพิพากษาเป็นวันที่ 16 ก.พ. 2566 เวลา 9.00 น.

.

X