วันที่ 30 ก.ค. 63 เวลา 13.30 น. ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ 4 นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา พร้อมด้วยทนายความ หลังจากถูกหมายเรียกในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.โรคติดต่อ จากการทำกิจกรรมแฟลชม็อบ #เชียงใหม่จะไม่ทนtoo บริเวณประตูท่าแพ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา, ให้เจ้าหน้าที่รัฐหยุดคุกคามประชาชน และให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 63 ผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 10 ส.ค. 63
คดีนี้มี พ.ต.ท.มนัสชัย อินทร์เถื่อน รองผู้กำกับสืบสวนสภ.เมืองเชียงใหม่ เป็นผู้กล่าวหา ส่วนผู้ถูกออกหมายเรียกในคดีนี้ 4 ราย เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทั้งหมด ได้แก่ นายธนาธร วิทยเบญจางค์ คณะมนุษยศาสตร์, นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ คณะมนุษยศาสตร์, นายวัชรภัทร ธรรมจักร คณะนิติศาสตร์ และนายวิธญา คลังนิล คณะมนุษยศาสตร์
ในการแจ้งข้อกล่าวหา พ.ต.ท.สมยศ วังเวียง รองผู้กำกับการสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้อ่านพฤติการณ์ของทั้ง 4 คนที่ถูกกล่าวหา มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ชุดสืบสวนของสภ.เมืองเชียงใหม่ ได้ตรวจพบความเคลื่อนไหวที่มีการโพสต์ภาพถ่ายประกอบข้อความบนเพจเฟซบุ๊กของ “พรรควิฬาร์” นัดหมายกิจกรรม #คนเชียงใหม่จะไม่ทน too ในวันที่ 19 ก.ค. 63 เวลา 17.00 น. ที่ลานประตูท่าแพ
ในวันดังกล่าว ได้มีกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดยผู้ต้องหาทั้ง 4 รายนี้ และมีกลุ่มมวลชนทยอยเดินทางมาร่วม แยกเป็นกลุ่มนักศึกษาประมาณ 300 คน, แนวร่วมเสื้อแดงประมาณ 50 คน ประชาชนพ่อค้าแม่ค้าที่มาเดินตลาดถนนคนเดินประมาณ 50 คน หลังจากนั้น ได้มีการร่วมแสดงกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยการชูมือ ซูป้ายแสดงข้อความ จนถึงเวลาประมาณ 18.30 น. ในระหว่างกิจกรรม พ.ต.อ.ภูวนาถ ดวงดี ผู้กำกับสภ.เมืองเชียงใหม่ ได้อ่านประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แจ้งเตือนกลุ่มผู้ชุมนุม 3 ครั้ง
ผู้กล่าวหาพบว่าการกระทำของกลุ่มพลังมวลชนนี้ เป็นการฝ่าฝืนและเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมาย จึงได้ร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดี ในข้อกล่าวหา ได้แก่
- ร่วมกันชุมนุมทํากิจกรรม หรือการมั่วสุม ณ ที่ใด ในสถานที่แออัดหรือการกระทําการดังกล่าว อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่เรียบร้อย ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงประกาศกําหนด ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9 (2), มาตรา 18 ประกอบกับข้อกําหนด (ฉบับที่ 1) ข้อ 5, ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงเรื่องห้ามการชุมนุม การทํากิจกรรม การมั่วสุม ลงวันที่ 3 เมษายน 2563
- ข้อหาตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 34 (6) เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อห้าม ผู้ใดกระทําการหรือดําเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาดแพร่ออกไป
ด้านผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย เมื่อได้รับทราบข้อกล่าวหาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะขอให้การเพิ่มเติมในรายละเอียดที่ถูกกล่าวหาเป็นหนังสือภายในวันที่ 10 ส.ค. 63
ด้านพนักงานสอบสวนได้แจ้งนัดหมายในการส่งตัวผู้ต้องหา พร้อมด้วยกับสำนวนการสอบสวนให้กับอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่พิจารณาในวันที่ 13 ส.ค. 63 เวลา 13.00 น. ต่อไป
สำหรับบรรยากาศการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการนำแผงเหล็กมากั้นปิดเส้นทางเข้าออกของสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ พร้อมกับจัดให้มีทางเข้าออกทางเดียว และตั้งจุดคัดกรองโรค มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย แจกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ก่อนเข้าไปภายในสถานีตำรวจ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้เข้ามาชี้แจงว่าขอให้เฉพาะผู้ได้รับหมายเรียกและทนายความเท่านั้น ที่เข้าไปยังสถานีตำรวจได้ ส่วนผู้มาให้กำลังใจและผู้สื่อข่าวให้รอด้านนอกสถานี
หลังการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาผู้ที่เดินทางมาให้กำลังที่เป็นกลุ่มเยาวชนยังได้นำ “หลวงพ่อกระทิง” พร้อมด้วยดอกไม้ มามอบเพื่อเป็นกำลังใจให้กับนักศึกษาทั้ง 4 รายด้วย
ทั้งนี้ หลังมีรายงานข่าวเรื่องการได้รับหมายเรียกผู้ต้องหา จากกิจกรรม #คนเชียงใหม่จะไม่ทนtoo โดยผู้ถูกออกหมายเรียกรายหนึ่ง ได้แก่ นายวิธญา คลังนิล เป็นสมาชิกกลุ่มของ “ลานยิ้มการละคร” ที่ได้จัดการแสดง “สำรอกบทกวี” ในกิจกรรมดังกล่าว ทางมูลนิธิละครไทยได้ออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับการตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยเห็นว่างานแสดงศิลปะไม่สมควรถูกคุกคามด้วยการดำเนินคดีเป็นอย่างยิ่ง จึงคัดค้านการละเมิดเสรีภาพทางศิลปะในกรณีนี้ และได้เชิญชวนให้ร่วมกันลงชื่อในแถลงการณ์ดังกล่าวอีกด้วย (อ่านรายละเอียด)
ดูลำดับเหตุการณ์การชุมนุม น.ศ.-ปชช.ชุมนุมเรียกร้องยุบสภาประตูท่าแพ ตร.เตือนฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 รอบ ท่ามกลางเสียงโห่