“เผารูป ≠ อาฆาตมาดร้าย” ประมวลการต่อสู้คดี ม.112 “แอมมี่-ปูน” กรณีถูกกล่าวหาวางเพลิงรูปหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนพิพากษา

ในวันที่ 26 มี.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ “แอมมี่ The Bottom Blues” และ “ปูน” ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรม “ทะลุฟ้า” ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และ “วางเพลิงเผาทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 217 จากกรณีถูกกล่าวหาว่าวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ด้านหน้าเรือนจำกลางคลองเปรมเมื่อเช้ามืดวันที่ 28 ก.พ. 2564 เฉพาะไชยอมร ยังถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ภาพเหตุการณ์ด้วย

.

ย้อนดูเหตุแห่งคดี: “แอมมี่-ปูน” วางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หน้าเรือนจำ 

สำหรับคดีนี้มี พรเทพ ตรีอมรสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ เป็นผู้กล่าวหา โดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564 จำเลยได้ร่วมกันวางเพลิง โดยใช้น้ำมันก๊าดราดใส่ และจุดเผาพระบรมรูปฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ซึ่งได้ประดิษฐานติดตั้งบริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม อันเป็นทรัพย์สินของกลางของเรือนจำ จนไฟได้ลุกลามไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมโครงสร้างไม้และเหล็ก และอุปกรณ์ที่ประดับจนได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 6 รายการ และค่าติดตั้ง 1 รายการ รวมความเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน 60,000 บาท

ต่อมา ไชยอมรได้โพสต์รูปภาพที่ไฟกําลังลุกไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ในบัญชีเฟซบุ๊ก และมีการพิมพ์ข้อความว่า “สื่อคงไม่กล้าออก มิตรสหายท่านหนึ่งแจ้งว่าเมื่อคืนเกิดเหตุไฟไหม้พระบรมฯ ที่หน้าเรือนจําคลองเปรม คนละ 1 แชร์แด่อิสรภาพ #ปล่อยเพื่อนเรา”

สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2564 ไชยอมรได้ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญา และถูกนำตัวไปขอฝากขัง ซึ่งเขาไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน และถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 69 วัน จึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกมาต่อสู้คดี 

ส่วนธนพัฒน์ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์นี้ด้วย เจ้าหน้าที่ได้ออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ประชาชื่น เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 ก่อนจะได้รับการประกันตัวระหว่างสอบสวน โดยในชั้นศาล กรณีของธนพัฒน์ ได้ยื่นคำร้องขอให้โอนย้ายคดีไปที่ศาลเยาวชนฯ เนื่องจากเขาเพิ่งอายุ 18 ปี 9 วันในวันที่เกิดเหตุ แต่ศาลได้ยกคำร้องของจำเลยโดยให้เหตุผลว่า เหตุการณ์ตามโจทก์ฟ้องเกิดขึ้นขณะจำเลยพ้นเกณฑ์เยาวชนตามกฎหมายแล้ว รวมถึงจำเลยมีสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญาและนิสัย ปกติสมบูรณ์สมวัย ไม่มีความผิดปกติที่แสดงให้เห็นชัดเจน จึงยังไม่เห็นสมควรที่ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาจะโอนคดีไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนฯ

ต่อมา เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2564 ศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐาน โดยโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอรวมพิจารณาคดีของแอมมี่และปูน เนื่องจากเป็นกรณีเดียวกัน และพยานหลักฐานเป็นชุดเดียวกัน ศาลจึงอนุญาตให้รวมพิจารณาคดีโดยให้ถือคดีของแอมมี่เป็นสำนวนหลัก และให้เรียกธนพัฒน์เป็นจำเลยที่สอง 

.

จำเลยต่อสู้การเผาไม่ได้เป็นการอาฆาดมาดร้ายต่อตัวบุคคล ไม่ถือเป็นความผิด ม.112

สำหรับการสืบพยานคดีนี้ จำเลยทั้งสองได้ให้การรับว่าได้เผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ตามที่โจทก์ฟ้อง แต่การกระทำของจำเลยไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 แต่อย่างใด ทำให้มีการรับพยานปากต่าง ๆ ของฝ่ายโจทก์ เหลือพยานที่นำมาสืบจำนวน 2 ปาก เมื่อวันที่ 23 และ 28 ก.พ. 2566 ได้แก่ พรเทพ ตรีอมรสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ผู้แจ้งความ และ  พ.ต.ต.หัสนัย เฟื่องสังข์ พนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น

ด้านฝั่งจำเลยนำพยานนักวิชาการเข้าเบิกความจำนวน 1 ปาก คือ ปิยบุตร แสงกนกกุล เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566

คดีนี้ศาลยังพิจารณาคดีโดยวิธีการบันทึกภาพและเสียง ไม่มีการทำบันทึกคำเบิกความ โดยให้คู่ความสามารถดูเทปบันทึกการสืบพยานย้อนหลังได้ แต่ไม่อนุญาตให้คัดลอกไฟล์หรือนำกลับไปดูที่บ้าน และเจ้าหน้าที่ศาลจะทำสรุปคำเบิกความให้ ทั้งนี้ สรุปคำเบิกความไม่ถือเป็นคำเบิกความ

ข้อต่อสู้ที่สำคัญของฝ่ายจำเลย คือ จำเลยทั้งสองรับว่าการเผาพระบรมฉายาลักษณ์นั้นเป็นการเพื่อสื่อถึงนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ แต่ไม่ได้มุ่งหมายหรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ยิ่งไปกว่านั้น การเผาเป็นการแสดงออกทางการเมืองเพื่อสะท้อนความคิดเห็นทางการเมือง ไม่ได้สร้างความกระทบกระเทือนหรืออันตรายต่อตัวบุคคลพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด   

.

เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แจ้งความ จำเลยกระทำผิด ม.112 แม้ไม่มีเจตนาอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ 

พรเทพ ตรีอมรสวัสดิ์ ผู้กล่าวหา เบิกความว่า ตนเป็นเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์อยู่ในวันเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564 บริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีการเผาพระบรมฉายาลักษณ์เกิดขึ้น แต่ไม่มีข้อความว่าเรียกร้องหรือเผาเพื่ออะไร รวมถึงตอนไปแจ้งความครั้งแรก พยานรับว่าไม่ได้ประสงค์แจ้งความข้อหามาตรา 112 แต่แจ้งเฉพาะข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ 

อย่างไรก็ตาม ผู้กล่าวหาได้เห็นโพสต์เฟซบุ๊กของไชยอมร โดยมีข้อความระบุว่า “การกระทำการเผาพระบรมในครั้งนี้เป็นฝีมือของผมและผมขอรับผิดชอบไว้แต่เพียงผู้เดียว และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเคลื่อนไหว หรือ การเรียกร้องใด ๆ เหตุผลของผมนั้นเข้าใจง่ายมาก เล่าไปถึงตอนผมโดนจับไปวันที่ 13 ตุลา ปีที่แล้ว เพนกวิ้นคือคนแรกที่โทรหาผมบนรถห้องขัง และ ประกาศรวมพลมวลชนทันที แต่กลับกันในครั้งนี้กวิ้น และ พี่น้องของผม ต้องติดอยู่ในคุกนานกว่า 20 วันแล้ว แต่ผมไม่สามารถที่จะช่วยเหลือพวกเค้าได้เลย ผมรู้สึกละอายและผิดหวังในตัวเอง”

“การเผาในครั้งนี้ ผมยอมรับว่าเป็นความคิดที่โง่เขลา และทำให้ตนเองต้องตกอยู่ในอันตราย แต่ความหมายที่ซ่อนอยู่ในการเผาครั้งนี้ มีอยู่มากมาย เป็นเชิงสัญลักษณ์ง่าย ๆ ที่หวังว่าทุกคนเข้าใจและจะมองเห็นมัน หวังว่าจะได้พบกันใหม่ ขอให้ทุกคนสู้ต่อไป”

หลังจากพรเทพเห็นโพสต์เฟซบุ๊กสารภาพผิดของจำเลย ผู้กล่าวหาจึงแจ้งความมาตรา 112 

.

พนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น ลงความเห็นสั่งฟ้อง ม.112 แม้ในที่เกิดเหตุและโพสต์เฟซบุ๊กไม่มีข้อความที่ระบุถึงพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด 

พ.ต.ต.หัสนัย เฟื่องสังข์ พนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น เบิกความว่า ผู้กล่าวหาตอนแรกไปแจ้งความเฉพาะข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ และพยานไม่ได้แนะนำให้แจ้งมาตรา 112 แต่หลังจากนั้นเมื่อทราบว่าจำเลยที่หนึ่งและสองทำความผิดจริง จึงได้มีการแจ้งความเพิ่มเติมทีหลัง ซึ่งเป็นเหตุเดียวกับที่แจ้งไว้ตอนแรก

สำหรับในการตรวจที่เกิดเหตุ ไม่พบว่ามีใบปลิวหรือข้อความใด ๆ ว่าเป็นการหมิ่นประมาทในหลวง อย่างไรก็ตามจำเลยที่หนึ่ง ได้มีการโพสต์เฟซบุ๊กยอมรับว่าเป็นผู้กระทำเอง โดยให้เหตุผลว่าต้องการเรียกร้องให้ปล่อย พริษฐ์ ชิวารักษ์ ผู้ต้องขังทางการเมือง และในตอนท้ายโพสต์เขายอมรับว่าเป็นความคิดที่โง่เขลาและอาจถูกดำเนินคดีได้ 

.

นักวิชาการกฎหมายระบุ ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปตัดสิน การเผาพระบรมฉายาลักษณ์กษัตริย์ เป็นการแสดงออกทางความคิดเห็น ไม่เข้าข่ายว่าเป็นความผิด 

ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการด้านกฎหมายและเลขาธิการคณะก้าวหน้า เบิกความว่า จากการค้นคว้าของพยานในประเด็นการประท้วงเผาเชิงสัญลักษณ์ พบว่าประเทศที่มีคดีคล้าย ๆ กันในลักษณะนี้ คือประเทศสเปน โดยเกิดในช่วงปี 2540 มีการฟ้องร้องคดีต่อศาลอาญา และศาลพิพากษาลงโทษ 

อย่างไรก็ตาม ประเทศสเปนเป็นรัฐภาคีอยู่ในอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนของยุโรป ดังนั้น ผู้เสียหาย คู่ความโจทก์ จำเลยต่าง ๆ หลังจากพิพากษาแล้วก็สามารถร้องต่อไปยังศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้ ซึ่งคดีนี้พอไปถึงศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเห็นว่า การกระทำของจำเลยในคดีนั้นเป็นการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของกษัตริย์ มีคำอธิบายว่า เป็นการแสดงออกทางการเมืองเพื่อสะท้อนความคิดเห็นทางการเมือง 

ศาลเห็นว่าการแสดงออกทางการเมืองแม้จะกระทบกระทั่งผู้คนอื่นอยู่บ้าง ทำให้สังคมสะเทือนใจอยู่บ้าง แต่ในสังคมประชาธิปไตยก็ต้องอดทนอดกลั้นความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบทางกฎหมาย ในกรณีนี้ พยานไม่เห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 แต่อย่างใด  

นอกจากนี้ ในความเห็นของพยาน คำว่า “อาฆาตมาดร้าย” หมายถึงข่มขู่ว่าจะกระทบกระเทือนเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของพระมหากษัตริย์ สำหรับการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ ผู้เผาก็แสดงออกอย่างชัดเจน ได้โพสต์เฟซบุ๊กสื่อสารว่าต้องการเรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ชุมนุมทางการเมือง จึงไปแสดงออกหน้าเรือนจำ ไม่ได้มุ่งหมายอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 

ต่อมา ประเด็นการตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 เริ่มต้นครั้งแรกรัฐธรรมนูญ ฉบับวันที่ 10 ธ.ค. 2475 มีเอกสารบันทึกชัดเจนว่า ผู้ที่ยกร่างคือพระยามานวราชเสวี อธิบายว่านำความคิดนี้มาจากรัฐธรรมนูญสมัยเมจิของญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว เพราะต้องการเทอดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทย 

หยุด แสงอุทัย ให้ความเห็นอธิบายว่า ข้อความที่ว่าพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ละเมิดไม่ได้นั้น ต้องการให้ความถึงว่า กษัตรย์หลุดพ้นเรื่องการเมือง หากข้องเกี่ยวกับการเมืองจะนำมาซึ่งการติฉินวิพากษ์วิจารณ์ได้ ดังนั้นจำเป็นต้องออกแบบกฎหมาย รัฐธรรมนูญ ให้พระมหากษัตริย์พ้นจากการเมือง จึงจะนำมาซึ่งการเคารพสักการะ หลักการนี้สอดคล้องกับหลักการ The king can do no wrong พระมหากษัตริย์ไม่กระทำผิดเลย เนื่องจากมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้กระทำแทน และถวายคำแนะนำให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย จึงเป็นที่มาของการเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้ไว้ คำอธิบายรัฐธรรมนูญมาตรา 6 เป็นต้นมา ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 

ดังนั้น ในการพิจารณาถึงสถานะอันล่วงละเมิดไม่ได้ จึงไม่ได้เป็นการจัดวางสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือการเมือง หรือมีอีกความหมายหนึ่งก็คือ กษัตริย์ไม่อาจกระทำความผิด (King can do no wrong) จึงหมายถึงว่าในการดำเนินภารกิจต่าง ๆ ทางการเมืองไม่ได้เป็นการกระทำของพระมหากษัติรย์โดยตรง หากแต่เป็นการกระทำของสถาบันทางเมืองที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เช่น นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา เป็นต้น 

เมื่อมิได้เป็นการกระทำโดยพระมหากษัตริย์แล้วจึงไม่ต้องมีความรับผิดติดตามมา เพราะถือว่าไม่ได้เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดำเนินการแต่อย่างใด 

ทั้งนี้ หากเป็นการกระทำในลักษณะส่วนพระองค์หรือเป็นการกระทำที่ไม่ได้มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ก็ไม่ได้มีบทบัญญัติในส่วนใดที่ห้ามประชาชนแสดงความเห็นหรือกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ดังกล่าว จึงมีที่มาและแสดงเจตนารมณ์แตกต่างจากองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เนื่องจากเป็นบทบัญญัติที่มีบทลงโทษอาญา ซึ่งเป็นการลงโทษบุคคล การตีความจึงต้องกระทำโดยเคร่งครัด 

.

แถลงการณ์ปิดคดีของ “ปูน” แพทย์ระบุแม้อายุเกิน 18 ปี แต่วุฒิภาวะยังไม่พ้นเยาวชน ขาดความยับยั้งชั่งใจและคล้อยตามเพื่อน

หลังสืบพยานแล้วเสร็จ ฝ่ายจำเลยยังได้ยื่นคำแถลงปิดคดีประกอบการจัดทำคำพิพากษาของศาล ในส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ปิดคดีส่วนของธนพัฒน์ ระบุว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยอายุ 18 ปี 9 วัน  และทนายจำเลยที่สองได้ยื่นคำร้องขอโอนคดีไปพิจารณาในศาลเยาวชน  ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 97 ศาลจึงมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจที่โรงพยาบาลตุลาการเฉลิมพระเกียรติ สำนำงานศาลยุติธรรม โดยแพทย์มีความเห็นว่า ธนพัฒน์วู่วาม ขาดความยั้งคิด คล้อยตามเพื่อน รับผิดชอบต่อสิ่งตั้งใจได้แค่บางส่วน และวินิจฉัยว่า พฤติกรรมและนิสัยสอดคล้องกับพฤติกรรมของเยาวชน อย่างไรก็ตาม ศาลไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง

นอกจากนี้ ธนพัฒน์ยังเป็นนักเรียน ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และอยู่ระหว่างการเตรียมสอบเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาหรือแอดมิชชั่น ซึ่งมีกำหนดสอบระหว่างวันที่ 16-18 มี.ค. 2567 ธนพัฒน์ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนต่อในชั้นอุดมศึกษาเพื่ออนาคตและครอบครัว

.

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ ปอ.ม.217 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ขัดหลักนิติธรรม ก่อนนัดพิพากษาวันที่ 26 มี.ค. 

ขณะเดียวกัน หลังการสืบพยานเสร็จสิ้น จำเลยทั้งสองยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 140,000 บาท” นั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 34 หรือไม่

ต่อมา เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดพร้อมเพื่ออ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีใจความโดยสรุปเห็นว่า ข้อโต้แย้งของจำเลยทั้งสองที่ว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 เป็นบทบัญญัติที่ไม่ชัดเจนแน่นอน เนื่องจากไม่ได้บัญญัติถ้อยคำว่า “อันเป็นอันตรายแก่ประชาชนทั่วไป” อันแสดงถึงคุณธรรมที่เป็นมูลฐานที่กฎหมายต้องการคุ้มครองอย่างชัดแจ้ง เปิดช่องให้เกิดการตีความที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสอง และบทบัญญัติที่มุ่งหมายจะคุ้มครองทรัพย์ของบุคคลมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ฐานทำให้เสียทรัพย์อยู่แล้ว ทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า การกระทำเช่นใดจะเป็นความผิดกฎหมายบทใดระหว่างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 กับมาตรา 358

ทั้งเมื่อพิจารณาการเผาทรัพย์ที่เป็นการแสดงออกทางศิลปะหรือการประท้วงเรียกร้อง เป็นการแสดงออกทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ทำให้บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้สัดส่วนและเกินสมควรแก่เหตุ

นอกจากนี้ บทกำหนดโทษของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ยังไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด เมื่อเทียบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ซึ่งเป็นการทำลายหรือทำให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียไปเช่นเดียวกัน กลับมีบทกำหนดโทษต่ำกว่าและเป็นความผิดอันยอมความได้อีกด้วย

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามหลักนิติธรรมกฎหมายอาญาต้องมีความชัดเจนแน่นอน เนื่องจากเป็นกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำใดเป็นความผิดและกำหนดโทษสำหรับความผิดนั้น และโดยที่การลงโทษทางอาญาเป็นมาตรการที่กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล ต้องมีหลักประกันว่ากฎหมายอาญาต้องบัญญัติถ้อยคำที่เป็นองค์ประกอบความผิดให้ชัดเจนแน่นอนไม่คลุมเครือ เพื่อให้ประชาชนรู้ได้ว่าการกระทำใดกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดและต้องรับโทษเช่นใด

อย่างไรก็ตาม กฎหมายอาญาอาจบัญญัติถ้อยคำเพียงเท่าที่ชัดเจนแน่นอนพอควรและอาศัยการตีความตามบริบทของเรื่องประกอบกับบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรเพื่อให้สามารถเข้าใจถึงความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องบัญญัติถ้อยคำให้อยู่ในระดับที่ระบุเฉพาะเจาะจงลงไปอย่างละเอียด เพราะบางกรณีอาจเป็นการเหลือวิสัยที่กฎหมายจะบัญญัติโดยใช้ถ้อยคำให้ชัดเจนแน่นอนจนปราศจากการต้องตีความโดยสิ้นเชิง ซึ่งหลักการตีความกฎหมายอาญาเพื่อลงโทษบุคคลนั้น นอกจากการตีความตามตัวอักษรเพื่อค้นหาเจตนารมณ์แล้ว ยังต้องคำนึงถึงคุณธรรมทางกฎหมายที่ถือเป็นประโยชน์หรือคุณค่าที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองซ่อนอยู่ภายใต้บทบัญญัติที่ผู้ตีความต้องค้นหาเพื่อใช้ประกอบการตีความด้วยเช่นกัน

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น…” กับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย…” ประกอบกับการจัดลักษณะความผิดของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายมุ่งจะคุ้มครองแล้ว เห็นได้ว่า ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ เป็นบทบัญญัติในลักษณะ 6 ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันอันตรายต่อประชาชน มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน

เนื่องจากการนำเพลิงไปวางเพื่อเผาทรัพย์ของผู้อื่นเป็นความผิดที่ก่ออันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชน เพราะโดยสภาพและธรรมชาติของไฟนั้น หากเกิดเพลิงไหม้แล้ว ย่อมเป็นธรรมดาที่จะเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ยิ่งไปกว่านั้น ความเสียหายจากการวางเพลิงเผาทรัพย์ยังเป็นความเสียหายที่ยากแก่การควบคุม ไม่อาจกำหนดขอบเขตความเสียหายไว้เพียงแค่ทรัพย์ที่ผู้กระทำมุ่งหมายกระทำ และความเสียหายนั้นอาจลุกลามแผ่ขยายออกไปได้อีกอย่างรวดเร็วและไม่มีขอบเขตจำกัดจนไม่อาจประเมินได้ ภยันตรายที่เกิดขึ้นจากการวางเพลิงเผาทรัพย์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อผู้อื่นและประชาชน

ฝ่ายนิติบัญญัติประสงค์ที่จะป้องกันไม่ให้ภยันตรายดังกล่าวเกิดขึ้น จึงบัญญัติความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ขึ้น โดยหากผู้กระทำรู้ว่าทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่นและต้องการวางเพลิงเผาทรัพย์นั้น ผู้นั้นกระทำโดยมีเจตนาวางเพลิง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 140,000 บาท และด้วยเหตุที่เป็นการกระทำที่มีความร้ายแรงต่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป จึงบัญญัติให้เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดินหรือความผิดอันยอมความไม่ได้ และลงโทษการกระทำที่แม้เป็นเพียงการตระเตรียมกระทำความผิด

ดังนั้น แม้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 จะมิได้มีถ้อยคำที่บัญญัติว่า “อันอาจเป็นอันตรายแก่ประชาชนทั่วไป” ก็ตาม แต่โดยสภาพของการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์ของผู้อื่นและเป็นภยันอันตรายต่อประชาชนอยู่ในตัว บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นบทบัญญัติที่มีความชัดแจนแน่นอนพอควร และเนื่องจากความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์มีผลกระทบที่ร้ายแรงมากกว่าความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ กล่าวคือ มิได้ส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินของปัจเจกบุคคลเพียงเท่านั้น แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนด้วย การที่มาตรา 217 บัญญัติให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษทางอาญาหนักกว่าและบัญญัติให้เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน หรือความผิดอันยอมความไม่ได้ จึงได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของการกระทำความผิดแล้ว

ส่วนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 นั้น เสรีภาพดังกล่าว ไม่ใช่เสรีภาพโดยสมบูรณ์ที่รัฐไม่อาจจำกัดได้ หากแต่เป็นเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขให้จำกัดได้เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน เมื่อมาตรา 217 เป็นบทบัญญัติที่ตราขึ้นเพื่อมุ่งคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นบทบัญญัติที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามเงื่อนไขการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34

ส่วนการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ จะตกอยู่ภายใต้การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครองไว้หรือไม่ หรือการแสดงออกนั้นจะเข้าข่ายความผิดที่จะต้องรับโทษทางอาญาหรือไม่ ย่อมเป็นอำนาจของศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนั้นที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป

ดังนั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 เป็นบทบัญญัติที่ชัดเจนแน่นอน ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม และเมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์สาธารณะที่จะได้รับตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน กับผลกระทบจากการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลแล้ว เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง และไม่ขัดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคล ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และ มาตรา 34

ทั้งนี้ หลังศาลอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้กำหนดนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 26 มี.ค. 2567

.

.

ดูฐานข้อมูลคดีนี้คดี 112 “แอมมี่-ปูน” วางเพลิงรูป ร. 10 หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ  

ย้อนอ่านเรื่องราวเกี่ยวข้อง: ทบทวน ม.112 ผ่านคดีแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์: การตีความขยายขอบเขตกฎหมาย และการส่ง “เสียง” ที่ไม่ถูกรับฟัง

X