จำคุก “แอมมี่” 4 ปี “ปูน” 1 ปี คดี 112 – พ.ร.บ.คอมฯ เหตุวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์หน้าเรือนจำคลองเปรม ชี้ลดคุณค่ากษัตริย์ ก่อนให้ประกันระหว่างอุทธรณ์

27 พ.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ “แอมมี่ The Bottom Blues” และ “ปูน” ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรม “ทะลุฟ้า” ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และ “วางเพลิงเผาทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 217 จากกรณีถูกกล่าวหาว่าวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ด้านหน้าเรือนจำกลางคลองเปรมเมื่อเช้ามืดวันที่ 28 ก.พ. 2564 เฉพาะไชยอมร ยังถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ภาพเหตุการณ์ด้วย ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 (แอมมี่) รวม 4 ปี และจำเลยที่ 2 (ปูน) รวม 1 ปี ไม่รอลงอาญา ก่อนศาลอาญาให้ประกันระหว่างอุทธรณ์โดยไม่กำหนดเงื่อนไขใด ๆ

คดีนี้ เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2564 ไชยอมรถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ บริเวณที่พักแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเป็นการจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาที่ 429/2564 ลงวันที่ 2 มี.ค. 2564 เจ้าหน้าที่กล่าวหาว่า ไชยอมรได้กระทำความผิดฐาน หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ ไชยอมรได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังถูกนำตัวไปขอฝากขัง ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน ทำให้เขาถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 69 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกมาต่อสู้คดี

ส่วนธนพัฒน์ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์นี้ด้วย เจ้าหน้าที่ได้ออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ประชาชื่น เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 ก่อนจะได้รับการประกันตัวระหว่างสอบสวน โดยในชั้นศาล ทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้โอนย้ายคดีไปที่ศาลเยาวชนฯ เนื่องจากเขาเพิ่งอายุ 18 ปี 9 วันในวันที่เกิดเหตุ แต่ศาลได้ยกคำร้องโดยอ้างเหตุว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยพ้นเกณฑ์เยาวชนตามกฎหมายแล้ว รวมถึงจำเลยมีสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญาและนิสัย ปกติสมบูรณ์สมวัย 

ต่อมา ศาลได้มีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสองเข้าด้วยกัน ก่อนสืบพยานในวันที่ 23, 28 ก.พ. และ 1 มี.ค. 2566 โดยข้อต่อสู้ที่สำคัญของฝ่ายจำเลย คือ การเผาพระบรมฉายาลักษณ์เป็นการสื่อถึงนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ แต่ไม่ได้มุ่งหมายหรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ยิ่งไปกว่านั้น การเผาเป็นการแสดงออกทางการเมืองเพื่อสะท้อนความคิดเห็นทางการเมือง ไม่ได้สร้างความกระทบกระเทือนหรืออันตรายต่อตัวบุคคลพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด 

ภายหลังการสืบพยาน จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 140,000 บาท” นั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 34 หรือไม่ ก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และ มาตรา 34 

ย้อนอ่านประมวลคดี: “เผารูป ≠ อาฆาตมาดร้าย” ประมวลการต่อสู้คดี ม.112 “แอมมี่-ปูน” กรณีถูกกล่าวหาวางเพลิงรูปหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนพิพากษา

วันนี้ (27 พ.ค. 2567) ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 905 ศาลอาญา มีประชาชนและสื่อมวลชนอิสระจำนวนหนึ่งเดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาและให้กำลังใจแอมมี่และปูน ก่อนเวลาประมาณ 10.30 น. ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษามีใจความสำคัญโดยสรุปว่า

คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 พระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ถือเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์ การนำมาประดิษฐานติดตั้งอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ นั้น แสดงถึงความจงรักภักดีที่มีต่อพระองค์ 

การที่จำเลยอ้างว่า ที่ทำการเผานั้นไม่ได้หมายถึงการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์โดยตรง แต่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสื่อถึงนักโทษทางการเมืองที่ยังถูกคุมขังอยู่ ไม่ได้มีเจตนาอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่ได้สร้างความกระทบกระเทือนหรืออันตรายต่อตัวบุคคลพระมหากษัตริย์แต่อย่างใดนั้น เป็นเพียงสิ่งที่จำเลยคิด แม้จะมีปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการด้านกฎหมายในฐานะพยานฝ่ายจำเลย เบิกความยืนยันว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงการแสดงออกเพื่อสะท้อนความคิดเห็นทางการเมือง ไม่ได้มีเจตนาที่จะอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112 แต่การจะพิจารณาว่าจำเลยมีเจตนาหรือไม่ ต้องพิจารณาภายในจิตใจของจำเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ดังนั้นจึงต้องดูที่กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนาเป็นหลัก 

ซึ่งจากคำให้การของพยานฝ่ายโจทก์ เมื่อนำมาประกอบกับภาพถ่ายของจำเลยทั้งสอง และคำเบิกความของจำเลยทั้งสองเองว่า จำเลยได้เผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 จริงตามที่โจทก์ฟ้อง แต่เป็นเพียงการแสดงออกเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางการเมือง ย่อมแสดงให้เห็นว่า หากไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของจำเลย จำเลยย่อมสามารถเผาหรือทำลายตัวพระมหากษัตริย์ได้ จึงถือเป็นการขู่เข็ญและเป็นการลดคุณค่าของตัวพระมหากษัตริย์ 

จำเลยที่ 1 ยังโพสต์รูปภาพที่ไฟกําลังลุกไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ในบัญชีเฟซบุ๊ก และมีการพิมพ์ข้อความว่า “สื่อคงไม่กล้าออก มิตรสหายท่านหนึ่งแจ้งว่าเมื่อคืนเกิดเหตุไฟไหม้พระบรมฯ ที่หน้าเรือนจําคลองเปรม คนละ 1 แชร์แด่อิสรภาพ #ปล่อยเพื่อนเรา” ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถพบเห็นได้ ย่อมชี้ให้เห็นว่าจำเลยเผยแพร่ภาพให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียชื่อเสียง ซึ่งถือเป็นการดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 217 นอกจากนี้ เมื่อจำเลยที่หนึ่ง ได้โพสต์ภาพดังกล่าวลงสื่อสาธารณะ จึงถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ด้วย 

พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 217 และจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป

ฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และฐานวางเผลิงเผาทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ลงโทษจำคุกคนละ 3 ปี จำเลยที่ 2 ขณะกระทำความผิดอายุ 18 ปี จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี

จำเลยให้การเป็นประโยชน์ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 สำหรับจำเลยที่ 1 ฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ คงจำคุก 2 ปี ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ คงจำคุก 2 ปี รวมโทษจำคุก 4 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ คงจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา

ภายหลังการอ่านคำพิพากษา ประชาชนที่มาฟังการพิจารณาต่างเข้ามาสวมกอดและให้กำลังใจแก่ทั้งสองคน ก่อนทั้งสองถูกนำไปควบคุมตัวในห้องขังใต้ถุนศาล ต่อมา ทนายได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวทั้งสองระหว่างอุทธรณ์ 

เวลาประมาณ 16.30 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันแอมมี่และปูนระหว่างอุทธรณ์โดยไม่ได้ส่งให้ศาลอุทธรณ์สั่ง ให้วางเงินประกันสำหรับปูนจำนวน 50,000 บาท และสำหรับแอมมี่จำนวน 200,000 บาท โดยศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขประกันอื่น ๆ เพิ่มเติม

X