30 พ.ค. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาของศาลฏีกาในคดีของ “ดนัย อุศมา” ศิลปินกราฟฟิตี้จากจังหวัดภูเก็ต ซึ่งถูกกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (2) จากกรณีใช้เฟซบุ๊กบัญชีชื่อ “Zen Wide” โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2563 ว่าได้เดินทางกลับจากเมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปนเข้าประเทศไทย โดยที่ไม่มีเจ้าหน้าที่มาตรวจคัดกรองผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิในช่วงการเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-2019
.
ศาลฎีกากลับคำพิพากษา เป็นยกฟ้อง เหตุว่าจำเลยโพสต์โดยเชื่อว่าเป็นจริง
ช่วงเช้าที่ห้องพิจารณา 806 ดนัยได้มานั่งรออยู่ที่ห้องพิจารณาคดี พร้อมกับมีผู้ที่มาให้กำลังใจและสื่อมวลชนมาร่วมฟังการอ่านคำพิพากษา
เวลา 09.30 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี ก่อนอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า โจทก์มี นายป้องเกียรติ ชายะพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของการท่าอากาศยานไทย ซึ่งเป็นผู้กล่าวหา เบิกความในทำนองว่า สนามบินสุวรรณภูมินั้นมีจุดคัดกรอง และมีเจ้าหน้าที่คัดกรองเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิ ซึ่งจำเลยได้เดินผ่านเครื่องวัดอุณหภูมิมาแล้ว แต่ไม่มีท่าทีจะสังเกตเห็นเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ เช่นเดียวกับผู้ที่เดินทางเข้ามาคนอื่น ๆ
นอกจากนี้ มาตรการการคัดกรองในขณะนั้นใช้เครื่องเทอโมสแกนตรวจวัด หากผู้ที่เดินทางเข้ามามีอุณหภูมิเกิน 37.5 องศา จึงจะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจวัดอีกครั้งหนึ่ง ทางโจทก์เบิกความยืนยันว่าเครื่องวัดอุณหภูมิมีอยู่จริง แต่คนทั่วไปอาจจะไม่ทราบว่าเครื่องดังกล่าวเป็นเครื่องวัดอุณหภูมิ จึงยังเป็นที่น่าสงสัยว่าจำเลยทราบหรือไม่ว่าตนได้เดินผ่านเครื่องวัดอุณหภูมิไปแล้วหรือยัง
ส่วนข้อความที่จำเลยโพสต์ว่าเดินผ่านสนามบินโดยไม่เจอเจ้าหน้าที่นั้นก็เป็นเรื่องจริง เนื่องจากจำเลยไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่อุณหภูมิร่างกายเกิน 37.5 องศา จึงไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่เดินมาหาจำเลยเพื่อคัดกรองและตรวจสุขภาพ พยานหลักฐานยังเป็นที่สงสัยว่าจำเลยทราบหรือไม่ว่าตัวจำเลยได้ผ่านจุดคัดกรองของสนามบินสุวรรณภูมิมาแล้ว
ดังนั้นการที่จำเลยโพสต์ข้อความดังกล่าว เป็นการโพสต์เรื่องราวที่ตัวจำเลยเข้าใจว่าเกิดขึ้นจริงกับตัวเอง คดีมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเจตนากระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง พิพากษากลับเป็นยกฟ้องจำเลย และให้จำเลยไปรับค่าปรับคืน 50,000 บาท
.
หลังต่อสู้กว่า 4 ปี แม้พ้นผิด แต่คดีสร้างผลกระทบแก่ชีวิต
สำหรับดนัย หรือ Mr.Zen อายุ 46 ปี เป็นศิลปินกราฟิตี้ที่จัดแสดงและส่งงานไปจำหน่ายในต่างประเทศอยู่เสมอ ในช่วงก่อนเกิดเหตุ ดนัยก็เดินทางไปแสดงงานศิลปะที่เมืองบาร์เซโลนา การถูกดำเนินคดีทำให้เขาได้รับผลกระทบ ต้องเปลี่ยนที่อยู่ และครอบครัวต้องปรับตัวใหม่ ทั้งเขายังมีอาการหวาดระแวงจากการถูกเจ้าหน้าที่ไปจับกุมถึงบ้านด้วย
“ผมนอนสะดุ้งอยู่หลายเดือน เนื่องจากไม่เคยถูกดำเนินคดี”
“ปกติใครทำดีผมก็อวยอยู่แล้ว ใครทำไม่ดีผมก็ด่า มันเป็นเรื่องปกติหรือเปล่าที่เราจะวิพากษ์วิจารณ์ ถึงเป็นพ่อผม ถ้าทำอะไรไม่ดี ผมก็พูด” ดนัยเคยให้สัมภาษณ์ไว้
คดีนี้ หลังการโพสต์ข้อความของดนัย ทำให้มีผู้แชร์และส่งต่อจำนวนมาก ป้องเกียรติ ชายะพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของการท่าอากาศยานไทย ได้เป็นผู้กล่าวหาดนัยไว้ที่ บก.ปอท. ทั้งตำรวจมีการจับกุมเขาโดยไม่เคยมีหมายเรียกมาก่อน ทั้งยังเป็นการบุกไปถูกจับกุมถึงแกลเลอรี่ส่วนตัวในจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2563 ก่อนนำตัวมาแจ้งข้อกล่าวหาในกรุงเทพฯ ท่ามกลางกระแส #Saveดนัย ในโลกโซเชียล อีกด้วย
ต่อมาวันที่ 12 พ.ค. 2563 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีนี้ พร้อมขอให้ศาลลงโทษจำเลยในสถานหนัก โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องโดยทราบดีว่า การนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จดังกล่าว ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานสำคัญของประเทศ และมีบุคคลใช้สัญจรเกี่ยวข้องจำนวนมาก สร้างความสับสนและตื่นตระหนกในหมู่ประชาชนเป็นวงกว้าง
ดนัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนศาลนัดสืบพยานในระหว่างวันที่ 5-7 ต.ค. 2564 จนกระทั่งศาลอาญาพิพากษายกฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2564 โดยเห็นว่าการลงข้อความของจำเลย เป็นการลงไปตามความเข้าใจของจำเลยโดยสุจริตและเชื่อไปเช่นนั้น ไม่ได้มีเจตนาทำให้ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน หรือเจตนาโพสต์ข้อความอันเป็นเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง
ต่อมา พนักงานอัยการ ได้ยื่นอุทธรณ์คดี ก่อนเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษากลับเป็นเห็นว่าดนัยมีความผิดตามฟ้อง เห็นว่าจำเลยไม่สามารถอนุมานได้เองว่าไม่มีเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิและจุดคัดกรอง และหากจำเลยไม่เห็นก็ควรสอบถามในเบื้องต้น ข้อความที่จำเลยโพสต์ หาใช่มีลักษณะเป็นไปเพื่อการบอกเล่าเหตุการณ์ของการเดินทางของจำเลยจากต่างประเทศสู่ประเทศไทยเท่านั้น ข้อความของจำเลยอาจทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกได้ ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุก 1 ปี และ ปรับ 50,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ทั้งยังให้ริบโทรศัพท์ของกลางที่ใช้โพสต์ข้อความเอาไว้
ดนัยจึงได้ยื่นฎีกาคำพิพากษาต่อมา และศาลฎีกาได้กลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในที่สุด ทำให้คดีเสร็จสิ้นลง รวมระยะเวลาต่อสู้คดี นับจากถูกจับกุม กว่า 4 ปี 2 เดือน กับอีก 7 วัน
.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
คดีความเปลี่ยนชีวิตของ ‘ดนัย’ ศิลปินกราฟิตี้ ผู้โพสต์ไม่พบ จนท. คัดกรองที่สุวรรณภูมิ