จับตา ฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดี ‘ดนัย’ พ.ร.บ.คอมฯ โพสต์ไม่เจอเจ้าหน้าที่คัดกรองที่สุวรรณภูมิ หลังศาลชั้นต้นยกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์กลับ จำเลยสู้ต่อ

วันพรุ่งนี้ (30 พ.ค. 2567) เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาของศาลฏีกาในคดีของ “ดนัย อุศมา” ศิลปินกราฟฟิตี้จากจังหวัดภูเก็ต ซึ่งถูกกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (2) จากกรณีใช้เฟซบุ๊กบัญชีชื่อ “Zen Wide” โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2563 ว่าได้เดินทางกลับจากเมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปนเข้าประเทศไทย โดยที่ไม่มีเจ้าหน้าที่มาตรวจคัดกรองผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิในช่วงการเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-2019

สำหรับคดีนี้ ดนัยได้ถูกจับกุมที่แกลเลอรี่ส่วนตัวในจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2563 ก่อนนำตัวมาแจ้งข้อหาที่ บก.ปอท. ในกรุงเทพฯ โดยมีตัวแทนของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี โดยอ้างว่าสิ่งที่ดนัยโพสต์ไม่เป็นความจริง และทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก เสียความเชื่อมั่นต่อสนามบินสุวรรณภูมิ ดนัยได้รับการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดี โดยใช้หลักทรัพย์ 100,000 บาท

.

ศาลชั้นต้นยกฟ้อง เห็นว่าจำเลยโพสต์ไปตามความจริง ไม่ได้มีเจตนาก่อความตื่นตระหนกแก่ประชาชน 

เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2563 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีนี้ของดนัย พร้อมขอให้ศาลลงโทษจำเลยในสถานหนัก โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องโดยทราบดีว่า การนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จดังกล่าว ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานสำคัญของประเทศ และมีบุคคลใช้สัญจรเกี่ยวข้องจำนวนมาก สร้างความสับสนและตื่นตระหนกในหมู่ประชาชนเป็นวงกว้าง

หลังจากสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2564 ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องคดีนี้ โดยเห็นว่าการลงข้อความของจำเลย เป็นการลงไปตามความเข้าใจของจำเลยโดยสุจริตและเชื่อไปเช่นนั้น ไม่ได้มีเจตนาทำให้ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน หรือเจตนาโพสต์ข้อความอันเป็นเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง

.

ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษา เห็นว่าทำให้ประชาชนตื่นตระหนก ผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

ต่อมา พีระศักดิ์ มหาวัฒนางกูล พนักงานอัยการ ได้ยื่นอุทธรณ์คดี โดยสรุปแย้งว่าข้อความที่จำเลยโพสต์นั้นเป็นเท็จ เนื่องจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีการติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกนเป็นกล้องจับภาพวัดอุณหภูมิในร่างกายบริเวณที่ผู้โดยสารผ่าน แม้จะมีพยานปากเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนเบิกความว่าจำเลยน่าจะไม่เห็นจุดคัดกรองดังกล่าว แต่ก็มีเจ้าหน้าที่คัดกรองของสนามบินเบิกความว่ามีเจ้าหน้าที่คอยบอกให้ผู้โดยสารให้เข้ามายังจุดตรวจคัดกรอง 

การที่จำเลยโพสต์ภาพ และข้อความย่อมทำให้ผู้ที่พบเห็นเข้าใจว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไม่มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ย่อมส่งผลให้ผู้ที่พบเห็นเกิดความตื่นตระหนกได้ จำเลยกระทำโดยสำนึกรู้ในการกระทำว่าภาพดังกล่าวไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง มิใช่เข้าใจโดยสุจริตและเชื่อเช่นนั้น

ขณะเดียวกันฝ่ายจำเลยก็ได้โต้แย้งอุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์เช่นกัน โดยยืนยันว่าในวันเกิดเหตุ จำเลยไม่เห็นว่ามีจุดคัดกรองและไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาแจ้งหรือดำเนินการตรวจสุขภาพจำเลยแต่อย่างใด ปรากฏตามภาพในกล้องวงจรปิดในคดี ที่ผู้โดยสารคนอื่น ๆ ก็ไม่พบว่ามีใครให้ไปมองหรือหยุดให้ตรวจอุณหภูมิ ทั้งไม่มีเจ้าหน้าที่มาเรียกให้ไปตรวจอุณหภูมิ จำเลยจึงได้โพสต์ข้อความตามความเป็นจริงตามที่ตนเองพบเห็น

ทั้งเนื่องจากจำเลยได้เดินทางกลับมาจากประเทศสเปน ที่ขณะนั้นมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สูง และพบว่าที่สนามบินทั้งที่สเปนและอาบูดาบีซึ่งแวะเปลี่ยนเครื่องบิน มีการคัดกรองเกี่ยวกับโควิดอย่างเข้มงวด อีกทั้งยังได้รับทราบจากประกาศของสถานทูต ณ กรุงมาดริด ว่าผู้เดินทางเข้าประเทศไทยจะต้องมีการตรวจสุขภาพ กรอกแบบสอบถาม และถูกกักตัว แต่เมื่อไม่พบเห็น จำเลยจึงได้โพสต์บอกเล่าประสบการณ์ ไม่ได้มีเจตนาโพสต์ข้อความอันเป็นเท็จ แต่เป็นการกระทำโดยเข้าใจโดยสุจริต

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษากลับเป็นเห็นว่าดนัยมีความผิดตามฟ้อง เห็นว่าจำเลยไม่สามารถอนุมานได้เองว่าไม่มีเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิและจุดคัดกรอง และหากจำเลยไม่เห็นก็ควรสอบถามในเบื้องต้น ข้อความที่จำเลยโพสต์ หาใช่มีลักษณะเป็นไปเพื่อการบอกเล่าเหตุการณ์ของการเดินทางของจำเลยจากต่างประเทศสู่ประเทศไทยเท่านั้น ข้อความของจำเลยอาจทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกได้ ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุก 1 ปี และ ปรับ 50,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ทั้งยังให้ริบโทรศัพท์ของกลางที่ใช้โพสต์ข้อความเอาไว้

ต่อมาฝ่ายจำเลยได้ยื่นฎีกาคำพิพากษาต่อมา และศาลอาญาได้ส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาในวันที่ 30 พ.ค. 2567

สำหรับดนัย หรือ Mr.Zen อายุ 46 ปี เป็นศิลปินกราฟิตี้ที่จัดแสดงและส่งงานไปจำหน่ายในต่างประเทศอยู่เสมอ ในช่วงก่อนเกิดเหตุ ดนัยก็เดินทางไปแสดงงานศิลปะที่เมืองบาร์เซโลนา การถูกดำเนินคดีทำให้เขาได้รับผลกระทบ ต้องเปลี่ยนที่อยู่ และครอบครัวต้องปรับตัวใหม่ ทั้งเขายังมีอาการหวาดระแวงจากการถูกเจ้าหน้าที่ไปจับกุมถึงบ้านด้วย หลังการจับกุมกรณีของเขา ทำให้เกิดกระแส #Saveดนัย ในโลกโซเชียล เมื่อปี 2563 อีกด้วย

.

ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ดนัย 

คดีความเปลี่ยนชีวิตของ ‘ดนัย’ ศิลปินกราฟิตี้ ผู้โพสต์ไม่พบ จนท. คัดกรองที่สุวรรณภูมิ

.

X