เปิดบันทึกการสืบพยานคดี พ.ร.บ.คอมฯ “ดนัย” ศิลปินโพสต์สุวรรณภูมิไม่มีจนท.คัดกรองโควิด ก่อนศาลพิพากษาพรุ่งนี้

ระหว่างวันที่ 5-7 ต.ค. 2564 ศาลอาญานัดสืบพยานในคดีของ ดนัย อุศมา ศิลปินกราฟฟิตี้จากจังหวัดภูเก็ต ซึ่งถูกกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (2) จากกรณีใช้เฟซบุ๊กบัญชีชื่อ “Zen Wide” โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 63 ว่าได้เดินทางกลับจากเมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน เข้าประเทศไทยโดยที่ไม่มีเจ้าหน้าที่มาตรวจคัดกรองผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิ 

คดีนี้ ดนัยได้ถูกจับกุมที่แกลเลอรี่ส่วนตัวในจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 63 ก่อนนำตัวมาแจ้งข้อหาที่ บก.ปอท. ในกรุงเทพฯ โดยมีตัวแทนของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี โดยอ้างว่าสิ่งที่ดนัยโพสต์ไม่เป็นความจริง และทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก เสียความเชื่อมั่นต่อสนามบินสุวรรณภูมิ ดนัยได้รับการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดี โดยใช้หลักทรัพย์ 100,000 บาท

ภายหลังอัยการได้ยื่นฟ้องดนัยในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (2) และเดิมศาลอาญานัดสืบพยานระหว่าง​​วันที่ 5-7 พ.ค. 64 ก่อนจะเลื่อนออกมาเนื่องจากสถานการณ์โควิด จนมานัดหมายสืบพยานอีกครั้งเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และหลังสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 พฤศจิกายน นี้ เวลา 9.00 น.

>>จับศิลปินโพสต์ “สุวรรณภูมิไม่มี จนท.คัดกรองโควิด” ขณะกักตัว 14 วัน หลังกลับจากสเปน

>>อัยการยื่นฟ้อง ‘ดนัย’ ศิลปินโพสต์ติงมาตรการคัดกรองโควิด ขอศาลลงโทษสถานหนัก

.

.

ผู้กล่าวหาเห็นว่าโพสต์ของดนัยใช้ภาพไม่ตรงกับความจริง ข้อความที่โพสต์ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก

ตลอดวันที่ 5-6 ต.ค. 2564 มีการสืบพยานโจทก์ในคดี รวมทั้งสิ้น 8 ปาก ก่อนศาลเริ่มพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจศาลได้ให้ผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาเก็บโทรศัพท์มือถือใส่ถุงพลาสติก และวางไว้บริเวณใกล้กับประตูเข้าห้องพิจารณา 

พยานโจทก์ปากแรกคือ นายป้องเกียรติ ชายะพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของการท่าอากาศยานไทย ซึ่งเป็นผู้กล่าวหา

ป้องเกียรติ เบิกความว่าตนทำงานที่บริษัทการท่าอากาศยานมาเป็นเวลา 15-16 ปีแล้ว เกี่ยวข้องกับคดีนี้ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ให้มาดำเนินคดีกับดนัย จากเหตุการณ์ ซึ่งบริษัทตรวจพบบุคคลชื่อ “Zen Wide” โพสต์ลงสื่อเฟซบุ๊กว่า กลับจากต่างประเทศและเข้ามาสนามบินโดยไม่ผ่านจุดคัดกรอง ซึ่งทำให้สนามบินเสียหาย ประชาชนตื่นตระหนก ทำให้สนามบินดูหละหลวม ไร้ประสิทธิภาพ 

พยานเบิกความว่าข้อความดังกล่าวโพสต์เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 63 เป็นการโพสต์อย่างเป็นสาธารณ ะประชาชนทั่วไปเข้าถึงโพสต์นี้ได้ แต่โพสต์ดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากภาพตามโพสต์ เป็นภาพบริเวณของผู้โดยสารขาออก ซึ่งจะไม่มีจุดคัดกรองบริเวณนั้น จุดคัดกรองจะอยู่ในเขตหวงห้าม เท่าที่บริษัทได้ทำการตรวจสอบ เป็นภาพเก่าจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจซึ่งเคยลงไว้ในปี 2562 

ในความเป็นจริงในสุวรรณภูมิมีจุดคัดกรองตามประเภทกลุ่มเสี่ยง ผู้โดยสารที่มาจากต่างประเทศจะถูกจัดให้อยู่ในหลุมจอดใกล้ท่าอากาศยาน ผู้โดยสารต่างประเทศในกลุ่มเสี่ยงจะผ่านจุดคัดกรอง Thermo Scan ผู้โดยสารคนใดอุณหภูมิสูงเกิน 36.5 องศาเซลเซียส เครื่องจะร้องเสียงดัง และเจ้าหน้าที่จะมานำตัวไปวัดไข้อีกครั้ง หลังผ่าน Thermo Scan แล้ว เดินผ่านโถงมาเรื่อยๆ จะต้องเจอจุดคัดกรองอีกรอบหนึ่ง โดยมีเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรควัดไข้และตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จุดรับเอกสารเอกสารการเข้าประเทศ และใบตรวจโรคยืนยันว่าปลอดเชื้อ 

ป้องเกียรติ เบิกความต่อว่าขณะไปแจ้งความยังไม่ทราบว่า เฟซบุ๊ก Zen Wide คือใคร เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอเข้าตรวจสอบกล้องวงจรปิด โดยจากการโพสต์ว่ามาจากประเทศสเปน จึงทำให้ทราบตัวตน จากกล้องวงจรปิดเห็นได้ว่าบุคคลดังกล่าวได้ผ่านเครื่อง Thermo scan ในจุดคัดกรอง และเดินเรื่อยมาตามโถง ก่อนผ่านจุดคัดกรองสุดท้าย 

ป้องเกียรติ ตอบคำถามทนายจำเลยซึ่งถามค้านเกี่ยวกับข้อความที่ดนัยได้โพสต์ว่า “หลังรับกระเป๋าแล้ว ผมและอีก 500 – 600 คน ไม่ได้เจอกับเจ้าหน้าที่แมวน้ำใดๆ มาตรวจสุขภาพแม้แต่นิดเดียว” นั้น จำเลยไม่ได้โพสต์ข้อความว่า ไม่มีมาตรการคัดกรองใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่ แต่ยังยืนยันว่าจากข้อความดังกล่าวทำให้คนเข้าใจได้ว่าสุวรรณภูมิหละหลวมเรื่องการคัดกรองโควิด 

นอกจากนี้ ป้องเกียรติรับว่าภาพที่ดนัยนำมาโพสต์นั้น เป็นบริเวณที่มองไม่เห็นจุดคัดกรองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะถ่ายขึ้นเองในวันที่ 16 มี.ค. 2563 ที่ดนัยมาถึง หรือในเดือน ก.ย. 2562 ซึ่งเป็นวันที่ของภาพต้นฉบับ  

ป้องเกียรติยังรับว่าไม่มีคลิปหรือภาพนิ่งที่แสดงให้เห็นจุดคัดกรองที่ตนอ้างว่าเมื่อดนัยผ่านจุด Thermo scan ไปแล้ว จะต้องเจอกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและจะมีเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคตรวจวัดอุณหภูมิอีกครั้ง แต่มีภาพนิ่งที่แสดงให้เห็นว่าดนัยได้เดินผ่านเครื่องตรวจวัดอุณภูมิ อย่างไรก็ตามในคลิป ดนัยและผู้โดยสารคนอื่นๆ ได้เดินไปเฉยๆ โดยไม่ได้สังเกตเห็นเครื่องดังกล่าว 

พยานได้ตอบทนายจำเลยว่า “โดยสัญชาตญาณน่าจะต้องทราบ” ว่ามีเครื่องตรวจอุณหภูมิอยู่บริเวณดังกล่าว

.

.

ตร.บก.ปอท. ผู้ทำสำนวนคดี รับ ‘มีความเป็นไปได้ที่จำเลยจะมองไม่เห็นเครื่องวัดอุณหภูมิ’

พยานปากที่ 2 พ.ต.ท.อิสรพงศ์ ทิพย์อาภากุล รองสารวัตรสืบสวน ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เกี่ยวข้องในคดีเป็นผู้สืบสวนประกอบสำนวน 

พ.ต.ท.อิสรพงศ์ เบิกความว่าจากการสืบสวน ภาพประกอบที่ดนัยใช้ วิญญูชนย่อมทราบว่าเป็นภาพสนามบินสุวรรณภูมิ จากการเข้าตรวจสอบ ตนพบว่าโพสต์ถูกลบไปแล้ว แต่มีสำนักข่าวบันทึกภาพไว้และมีผู้แสดงความคิดเห็นใต้เพจของสำนักข่าวว่าลบโพสต์ทำไม ซึ่งตนไม่เห็นว่าผู้โพสต์ออกมาตอบโต้ 

พยานสืบสวนจากบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวจึงพบภาพคล้ายจำเลย จึงได้ลงพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อตรวจดูกล้องวงจรปิดและพบว่าบุคคลที่หน้าตาเหมือนผู้ใช้บัญชีดังกล่าวเดินทางมาจริง จากการตรวจสอบสถานที่ในกล้องวงจรปิด ยังพบว่ามีจุดคัดกรอง Thermo scan ภาพที่ดนัยโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก เป็นภาพบริเวณที่ผ่านจุดคัดกรองออกมาแล้ว เป็นบริเวณด้านนอกจุดตรวจ ไม่มีการคัดกรองอุณหภูมิ 

พ.ต.ท.อิสรพงศ์ เบิกความเพิ่มว่า ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงแรกๆ ที่มีการวางจุดตรวจ ประชาชนทั่วอาจไม่ทราบว่ามีเครื่องตรวจวัด เพราะเป็นสถานการณ์โควิดครั้งแรก ในวันที่ไปตรวจสอบ มีเจ้าหน้าที่ประจำเครื่อง แต่โดยปกติเมื่อมีคนลงเครื่องเป็นร้อยคน อาจจะมองไม่เห็นว่ามีคนประจำเครื่อง พยานยังได้สรุปสำนวนไว้ว่าจำเลยอาจไม่เห็นกล้องตรวจอุณหภูมิ โดยตอนที่ตนลงพื้นที่สามารถมองเห็นเครื่องได้ แต่หากเป็นคนที่เดินทางจากยุโรปมาเหนื่อยๆ และมีผู้โดยสารจำนวนมาก อาจะมองไม่เห็นก็ได้

พ.ต.ท.อิสรพงศ์ ยังรับกับทนายจำเลย ว่าเหตุที่ทำรายงานสรุปว่าพยานไม่เห็นกล้อง เนื่องจากดูอาการตามกล้องวงจรปิดประกอบ โดยในกล้องนั้นไม่เพียงดนัย แต่ผู้โดยสารคนอื่นก็เดินมาเรื่อยๆ โดยไม่ได้หยุดมองหรือสังเกตเช่นเดียวกัน โดยตอนที่ตนเข้าตรวจ ไม่ได้วัดระยะห่างของบริเวณที่กล้องตั้งอยู่กับบริเวณที่ดนัยเดินผ่าน ตัวกล้องจะห่างออกไป 1 หรือ 2 เมตรหรือไม่ ตนไม่สามารถยืนยันได้ และจากกล้องวงจรปิดที่ได้ตรวจสอบ ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดหรือใครก็ตามได้เข้ามาพูดคุยกับดนัย 

นอกจากนี้ วันที่พยานเข้าตรวจสอบนั้นห่างจากเหตุการณ์ดังกล่าว 4 วัน โดยได้มีการตรวจวัดอุณหภูมิทีละคน ภาพที่ตนบันทึกมาในวันที่ไปตรวจสอบ จะมีเชือกกั้น (snake line) ให้เดินผ่าน Thermo scan แต่ในคลิปไม่มีในลักษณะเดียวกัน

ทนายจำเลยยังได้สอบถามว่าเหตุใดหัวหน้าพยาน จึงไปขอเอกสารจากสายการบิน Etihad เพื่อยืนยันการเดินทาง โดยสอบถามว่ามีใครร่วมเดินทางด้วยหรือไม่  พยานตอบว่ากระทำไปเพื่อหาผู้กระทำผิดคนอื่นหรือหาพยานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลย แต่ไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งและไม่มีใครสั่งให้ทำ

.

พยานความเห็นมีสายสัมพันธ์กับตำรวจและขึ้นเบิกความผิดคดี

พยานปากที่ 3 นายกรุง ชูเดช มีอาชีพรับจ้างอยู่ที่เขตจตุจักร ในตำแหน่งคนสวน โดยเป็นลูกจ้างชั่วคราว พยานเริ่มต้นโดยการเบิกความตอบอัยการว่าตนเกี่ยวข้องกับคดี เป็นผู้เห็นโพสต์ฟซบุ๊กเกี่ยวกับการจำหน่ายหน้ากากอนามัย ตามสื่อ โดยหลังจากพยานเบิกความในลักษณะดังกล่าว อัยการได้ขอให้พยานทบทวนใหม่ เนื่องจากพยานเป็นพยานในคดีอื่นๆ ด้วย จึงเกิดความสับสน 

อัยการให้พยานดูภาพโพสต์ของดนัย และสอบถามว่าพยานรู้สึกอย่างไร พยานตอบด้วยน้ำเสียงเรียบว่า ตกใจและรู้สึกว่าทำไมท่าอากาศยานไทยถึงปล่อยผู้ติดเชื้อมาในประเทศ ท่าอากาศยานไม่มีความรัดกุม เมื่อดูรูปประกอบเข้าใจว่าเป็นทางออกของสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับที่จำเลยโพสต์และในความเข้าใจของพยาน ควรมีจุดคัดกรองช่วงโควิด จากโพสต์ดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ว่าสุวรรณภูมิไม่มีจุดคัดกรอง

กรุงได้ตอบทนายความจำเลยถามค้านว่า เข้ามาเป็นพยานในคดีจากการชักชวนของอดีตพี่เขยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท. โดยตำรวจคนดังกล่าวได้ให้พยานมาช่วยให้ความเห็น ก่อนหน้านี้ตนไม่เคยเห็นโพสต์ของดนัย มาเห็นโพสต์ที่ บก.ปอท. และยังรับว่าได้ไปให้การในหลายๆ คดี เช่น เรื่องขายหน้ากากอนามัยเกินราคา ส่วนใหญ่เวลาตนได้อ่านโพสต์ต่างๆ จะรู้สึกตกใจทั้งหมด เพราะเกี่ยวกับเรื่องโควิด 

พยานยังรับว่า ตนทราบว่าช่วงที่ผ่านมามีคนแสดงความคิดเห็นจำนวนมากเรื่องโควิด โดยวันที่ไปให้ปากคำตำรวจบอกว่าจริงๆ มีเจ้าหน้าที่มาตรวจ พอตนเห็นโพสต์จึงเข้าใจว่าเป็นโพสต์ไม่จริง ถ้าในความเป็นจริงไม่มีการคัดกรองตามโพสต์นี้จริง ตนคิดว่าจะน่าตกใจมากกว่า 

.

พยานความเห็นนักวิชาการรับว่าไม่ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจุดคัดกรองในสุวรรณภูมิ

ในวันที่ 5 ต.ค. 2564 มีการสืบพยานไปได้ 3 ปาก ก่อนจะเริ่มสืบพยานปากที่ 4 ในวันที่ 6 ต.ค. 2564 โดยพยานปากที่ 4 เป็นพยานความเห็นเช่นเดียวกัน เป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ซึ่งพยานได้ตอบทนายจำเลยว่า ตนเป็นผู้ที่ไปให้ความเห็นในคดีต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ บก.ปอท. อยู่หลายครั้ง ทั้งเจ้าหน้าที่มาหาที่มหาวิทยาลัย และตนถูกเชิญไปที่ บก.ปอท.

พยานปากที่ 4 ผศ.ดร.เจนพล ทองยืน เบิกความว่า พนักงานสอบสวนได้ขอความร่วมมือให้ช่วยดูโพสต์ว่าเข้าข่ายก่อให้เกิดตื่นตระหนกตกใจหรือไหม เป็นการขอความคิดเห็น โดยช่วงดังกล่าวโควิดกำลังระบาดใหม่ๆ พยานตอบตำรวจว่า อ่านข้อความแล้วเห็นว่าสุวรรณภูมิไม่มีมาตรการป้องกันและด่านตรวจ แต่ไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร โดยข้อกล่าวลักษณะนี้จะส่งผลให้คนอ่านตื่นตระหนก จะกระทบต่อการบินและการท่องเที่ยว จากภาพถ่ายรูปประกอบ เข้าใจได้ว่าเป็นชั้น 2 หรือ 3 ของสุวรรณภูมิ แต่หากคนที่ไม่เคยไปสุวรรณภูมิก็จะไม่ทราบว่าเป็นจุดใด เนื่องจากในภาพไม่มีจุดคัดกรอง ย่อมทำให้ผู้พบเห็นภาพดังกล่าวเข้าใจว่าสุวรรณภูมิไม่มีด่านคัดกรอง

ทั้งนี้ ผศ.ดร.เจนภพ ตอบคำถามทนายจำเลยรับว่า ภาพสุวรรณภูมิดังกล่าวเป็นภาพที่สื่อใช้โดยทั่วไปเพื่อสื่อถึงสนามบินสุวรรณภูมิ 

เมื่อทนายความให้อ่านข้อความที่จำเลยโพสต์อีกครั้ง ผศ.ดร.เจนภพรับว่า โดยรวมจำเลยกล่าวว่า มาตรการการคัดกรองของสุวรรณภูมิไม่เข้มข้นเหมือนต่างประเทศ และยังรับว่าหากมีผู้โดยสารโพสต์เช่นนี้ เจ้าหน้าที่การท่าสุวรรณภูมิควรตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมาตรการตรวจคัดกรองของตัวเองว่าเป็นจริงตามโพสต์หรือไม่

.

.

จนท.คัดกรองสนามบิน ยันทุกคนต้องผ่าน Thermo scan แต่จะไม่เห็นจอแสดงผล

พยานปากที่ 5 พยานความเห็น อลงกรณ์ ศิริแสง อายุ 25 ปี อดีตเคยทำงานที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข ทำหน้าที่คัดกรองคนในสนามบินขาเข้าจากต่างประเทศ ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ พยานยืนยันว่ามี Thermo scan ที่มีลักษณะเป็นกล้องให้ผู้โดยสารเดินผ่านทีละคน หากใครอุณหภูมิเกิน 36.7 องศา จะแยกตัวไว้ แล้วแจ้งแพทย์-พยาบาลต่อไป 

พยานระบุว่าปกติหากผู้โดยสารลงมาจากเครื่อง จุดสแกนจะอยู่ห่างไม่เกิน 200 เมตร จากทางลงเครื่อง จุดที่พยานเฝ้าอยู่ จะมีเจ้าหน้าที่ 2 คน และทุกจุดตรวจมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ตลอด พยานเข้ากะ 2 ทุ่มถึง 8 โมงเช้า 12 ชั่วโมง หลังเกิดเหตุคดีนี้ พนักงานสอบสวนให้พยานลงชื่อรับรองในภาพ โดยเป็นภาพที่ดนัยเดินผ่านพยาน พยานยืนยันว่าอย่างไรทุกคนที่จะออกจากเขตหวงห้าม ก็ต้องเดินผ่านจุดนี้ทุกคน

อลงกรณ์ยังได้ตอบทนายจำเลยถามค้าน เกี่ยวกับเครื่อง Thermo scan ว่าจะตั้งไว้ริมทางเดิน เพื่อให้ผู้โดยสารเดินผ่าน และมีจอแสดงผล พยานนั่งหันหน้าไปที่จอ จอมี 2 จอ หันมาที่ตัวพยาน 1 จอ แต่ผู้โดยสารไม่เห็นจอแสดงผลเหล่านี้

.

นักวิชาการสาธารณสุขรับ จนท. 20 คน ไม่อาจคัดกรองนักท่องเที่ยว 150,000 คนต่อวันได้ ทั้งประกาศของสถานทูตไทยในมาดริดไม่ตรงกับประกาศสาธารณสุข

พยานปากที่ 6 นายคุณภาพ คงเจือ อายุ 50 ปี รับราชการด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่สนามบินสุวรรณภูมิ ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ พยานได้เล่าถึงสถานการณ์ของประเทศไทยและการเตรียมการเรื่องการคัดกรองโควิด-19 ของสนามบินสุวรรณภูมิ

พยานเบิกความว่าเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2563 เริ่มมีการเฝ้าระวังนักท่องเที่ยวจากอู่ฮั่น ขณะนั้นยังไม่มีชื่อโรค ไทยระบุให้เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เมื่อพบผู้ป่วยที่สุวรรณภูมิคนแรก และมีการระบาดไปทั่วประเทศจีน มาเก๊า ไต้หวัน อิตาลี อิหร่าน ได้มีการตั้งจุดคัดกรองที่สุวรรณภูมิ ขอให้ผู้ที่มาจากประเทศเสี่ยงสูง ลงเครื่องที่หลุมจอด E เพื่อมีการคัดกรองเข้มข้น เครื่องสแกนของสุวรรณภูมิ ใช้อุณหภูมิเฉลี่ยของคน 10 คนที่เดินผ่านเป็นตัววัด หากผู้มีอุณหภูมิสูงจากค่าเฉลี่ย จะวัดอุณหภูมิทางหูอีกครั้ง โดยหากเกิน 37.3 องศา จะให้แพทย์ซักประวัติและส่งรักษาโรงพยาบาล ทุกจุดจอดมี Thermo scan และจะมีเจ้าหน้าที่ 2 คน ประจำจุด 

พยานทราบภายหลังว่า นายดนัย เดินทางเข้ามา โดยลงที่อาคาร D เครื่องที่มีเจ้าหน้าที่ประจำ จะอยู่ตรงด่านตรวจคนเข้าเมือง ผู้โดยสารทุกคนต้องเดินผ่าน แต่อาจไม่รู้ตัว ขณะนั้นจำเลยยังไม่ได้มาจากประเทศเสี่ยงสูงที่ถูกกำหนดในไทย

อัยการนำข้อความที่ดนัยโพสต์ให้พยานอ่านและถามว่าเป็นความจริงหรือไม่ พยานตอบว่าโพสต์ถูกต้องแล้ว เพราะมีการตรวจคัดกรองโดยใช้ Thermo scan ไปแล้ว การโพสต์แบบนี้ทำให้คนเข้าใจว่าไม่มีการตรวจ แต่จริงๆ มีการตรวจไปแล้ว ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนได้สูง 

ด้านทนายจำเลยถามค้าน โดยให้พยานอ่านเอกสารมาตรการควบคุมโรค ลงวันที่ 13 มี.ค. 2563 ก่อนถามพยานว่า ทราบมาตรการดังกล่าวหรือไม่ โดยในเอกสารระบุว่า เกาหลี จีน มาเก๊า อิหร่าน อิตาลี เป็นประเทศโรคติดต่ออันตราย และมีการระบุว่าในประเทศที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง ผู้โดยสารต้องกรอก เอกสาร ต.8 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคติดต่อควบคุม

พยานตอบว่าทราบ แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะผู้ที่จะกรอก ต.8 ต้องเป็นผู้มาจากประเทศที่ถูกประกาศใน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ก่อน โดยมีเฉพาะผู้ที่ป่วยขณะนั้นหรือเสี่ยงสูง จึงจะให้กรอกเอกสาร ต.8 

ทนายจำเลยได้ส่งเอกสารประกาศสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ให้ศาลและให้พยานดูว่า ตามประกาศของสถานทูต ผู้เดินทางจากสเปนต้องกรอกเอกสาร ต.8 โดยทนายจำเลยได้ถามเจ้าหน้าที่ว่ามาตรการนี้ตรงกับที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบว่าตรงกันหรือไม่ โดยเนื้อหาที่สถานทูตประกาศนั้น ไม่ได้เป็นไปตามประกาศสาธารณสุข โดยการจะให้ทุกคนกรอกเอกสาร ต.8 เป็นไปไม่ได้ เพราะต้องใช้เวลามาก เนื่องจากผู้โดยสารมีวันละ 150,000 คน

ในช่วงหลังจึงมีการให้ผู้โดยสารทุกคนที่มาจากต่างประเทศกรอกเอกสารที่เรียกว่า ต.8 โดยพยานได้อธิบายเพิ่มเติมว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค 20 คนในสนามบิน ไม่สามารถตรวจนักท่องเที่ยว 150,000 ได้อย่างแน่นอน 

.

พนักงานสอบสวนรับจำเลยให้การว่าไม่เห็นเครื่องสแกน มาตรการคัดกรองไม่เข้มงวดเท่าที่เจอในประเทศอื่น

พยานโจทก์ปากที่ 7 นางสาวฐิดารัตน์ สาริกา ผู้ช่วยผู้ปฏิบัติงานศูนย์ควบคุมกล้องวงจรปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ทำหน้าที่ตรวจสอบเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิดสนามบิน โดยเจ้าหน้าที่ขอให้มาเป็นพยานเกี่ยวกับรูปภาพในสนามบิน อัยการให้พยานอ่านโพสต์ของดนัย แล้วถามว่าเป็นความจริงหรือไม่ พยานตอบว่าไม่จริง เพราะสุวรรณภูมิมีการคัดกรองเข้มงวด เมื่อผู้โดยสารเดินออกจากเครื่อง จะมีการตรวจเอกสาร โดยพยานเห็นการตรวจผ่านกล้องวงจรปิด แต่ไม่รู้รายละเอียดอะไรมากกว่านี้

พยานปากที่ 8 ร.ต.อ.พงศ์ปิติ ตรีนิคม พนักงานสอบสวน บก.ปอท. เบิกความว่าตนทราบเหตุในคดีนี้ เนื่องจากนายป้องเกียรติได้เข้าแจ้งความเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 64  อัยการได้นำข้อความจากโพสต์ของดนัยให้พนักงานสอบสวนดูและถามว่าข้อความนี้เป็นจริงหรือไม่ พนักงานสอบสวนตอบว่าจริง ก่อนจะแก้ไขคำตอบว่า จากการสอบสวน ดร.เจนภพ เห็นว่าโพสต์นี้น่าจะทำให้ประชาชนตื่นตระหนก 

ร.ต.อ.พงศ์ปิติ ได้ไปตรวจสอบที่เกิดเหตุและตรวจภาพจากกล้อง เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 64 พบว่ามีเจ้าหน้าที่และจุดคัดกรองที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อทราบตัวคนโพสต์ก็ได้ขออำนาจศาลออกหมายจับ ต่อมาจับกุมตัวผู้ต้องหาพร้อมโทรศัพท์มือถือของกลาง และได้แจ้งข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) โดยดนัยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าโพสต์จริง 

พนักงานสอบสวนตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ตนทราบว่าหลังจากถูกจับกุมจำเลยได้ให้การว่าประเทศสเปนมีการแพร่ระบาดหนัก และจำเลยเล่าให้ฟังว่าได้เห็นประกาศจากสถานทูต ณ กรุงมาดริด เกี่ยวกับการคัดกรองผู้ที่เดินทางจากสเปน จำเลยได้เจอการคัดกรองที่เข้มงวดที่สเปนและอาบูดาบี ทั้งจากการสอบสวนของพยาน พบว่าสเปนเป็นประเทศที่มีความเสี่ยง จำเลยยังได้ให้การไว้ว่าไม่เห็นเครื่อง Thermo scan ตั้งแต่ลงเครื่องถึงออกจากสนามบิน และไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาสอบถามหรือตรวจสุขภาพ 

พนักงานสอบสวนยังรับว่าจำเลยแสดงความบริสุทธิ์ใจโดยนำส่งตั๋วเครื่องบิน ประกาศสถานทูต และขอให้เรียกภาพกล้องวงจรปิดมาตรวจสอบ ตัวพยานได้ขอภาพกล้องจากสนามบินสุวรรณภูมิเพิ่มตามที่จำเลยขอและโดยได้รับคลิปมา 3 คลิป ที่เกี่ยวข้องกับจำเลย ส่วนภาพจากกล้องวงจรปิดบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองและตอนออกจากสนามบิน ทางสนามบินไม่ได้ส่งมาให้ตน และไม่แจ้งว่าทำไม 

ทนานจำเลยยังได้ถามพยานว่า ที่บอกว่าไปดูที่เกิดเหตุ 19 มี.ค. 64 นั้นได้รับการประสานจากสนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนจะมีผู้เข้าแจ้งความในภายหลัง คือวันที่ 20 มี.ค. 64 นอกจากนั้นจากการตรวจโทรศัพท์จำเลย ไม่พบความเชื่อมโยงกับการกระทำความผิด

.

ดนัยยืนยันตนโพสต์เฟซบุ๊กมีเจตนา เพื่อต้องการให้ระบบคัดกรองในไทยมีความเข้มข้น

วันที่ 7 ต.ค. 2564 เป็นวันนัดสืบพยานจำเลย ดนัย อุศมา อ้างตนเองเพียงผู้เดียวเป็นพยานต่อศาล

ดนัยเบิกความว่าตนเปิดธุรกิจแกลเลอรี่อยู่ในเมืองภูเก็ต โดยตนเป็นศิลปินที่ทำงานภาพพิมพ์ งานปั้น งานวาด พักอาศัยอยู่กับภรรยาและลูกสาว เมื่อปี 2563 ตนเดินทางไปประเทศสเปนเพื่อแสดงงานศิลปะ เพราะได้รับเชิญจากแกลเลอรี่ โดยในวันที่ 28 ก.พ. 63 ซึ่งเป็นวันที่เดินทางไปสัปดาห์แรก สถานการณ์ยังปกติ แต่สัปดาห์ที่สอง การระบาดของไวรัสโควิดก็มาถึงเมืองบาร์เซโลน่า ก่อนจะระบาดมากขึ้นจนถึงตนมีกำหนดเดินทางกลับ 1 สัปดาห์ สัปดาห์ที่สามที่ตนอยู่ในบาร์เซโลน่า ต้องยกเลิกโปรเจกต์ศิลปะที่อยากทำ เพราะมีคนป่วย 3-5 พันคนต่อวัน  

ดนัยจำได้ว่าช่วงที่จะออกเดินทาง ประเทศสเปนกำลังจะปิดเมือง ในวันที่ 14 มี.ค. 63 ตนออกจากที่พักไม่ได้เลย โดยตนจะต้องกลับวันที่ 15 มี.ค. ก่อนจะเดินทางกลับ ภรรยาได้ส่งเอกสารของสถานทูตไทยเกี่ยวกับระเบียบการเข้าประเทศไทยมาให้อ่าน ตนจึงมีความกังวลในเรื่องการกลับเข้ามา โดยกลัวว่าจะต้องติดอยู่ที่สเปน เนื่องจากการประกาศปิดเมือง และเนื่องจากเอกสารของสถานทูต ตนเข้าใจว่ากลับมาที่เมืองไทยแล้วต้องถูกกักตัว เพราะมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และต้องมีการกรอกเอกสาร ตม.8 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดตามตัวได้ต่อไป

ดนัยเล่าต่อว่าวันที่เดินทางกลับ บาร์เซโลน่าเริ่มปิดเมืองแล้ว ท้องถนนไม่มีรถวิ่ง เจ้าหน้าที่ที่สนามบินบางคนใส่ชุด PPE มีจอวางอยู่บริเวณทางเดิน มีกล้องตรวจจับอุณหภูมิชัดเจน ตนต้องเดินผ่าน 2-3 ด่านตรวจ จนถึงบริเวณที่รอขึ้นเครื่อง ในเที่ยวบินขากลับมีการเปลี่ยนเครื่องที่เมืองอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างต่อเครื่อง มีเจ้าหน้าที่ยืนอยู่เยอะมาก และมีจอห้อยจากเพดานให้ได้มองเห็นตัวเอง ตนเห็นคนที่เดินไปก่อนหน้าถูกล็อคตัว เพราะเครื่องสแกนมองเห็นว่าเป็นสีส้ม ตนยังถูกวัดไข้ที่หน้าผากและหู ก่อนที่จะได้เข้าไปในที่นั่งรอต่อเครื่อง 

จากเมืองอาบูดาบีมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิในตอนเช้า ตนเดินลงจากเครื่องมาเรื่อยๆ โดยไม่พบการตรวจ เมื่อเดินมาจนถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองและมายืนรอรับกระเป๋าประมาณ 20 นาที ก่อนจะลากกระเป๋าผ่านศุลกากรไปถึงโถงกลาง ตนไม่พบด่านตรวจใดๆ ในวันนั้นตนยังต้องรอเดินทางกลับไปจังหวัดภูเก็ต เมื่อกลับมาถึงก็ได้แยกตัวเอง กักตัวเองอยู่ที่สตูดิโอชั้น 3 ของบ้าน ทุกๆ ครั้ง เมื่อตนเดินทางจะเขียนเล่าเรื่องราวเป็นปกติเพื่อแชร์กับเพื่อนๆ ในเฟซบุ๊ก  

ทนายได้ย้อนถามว่า เที่ยวบินคนที่มานั้นมีสักกี่คน ดนัยตอบว่า บริเวณนั้นมีคนเดินทางมาจาก 3-4 ประเทศ รวมแล้วน่าจะ 300-500 คน เฉพาะลำของตนก็ประมาณ 100 กว่าคน 

.

ภาพเอกสารประกาศสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด

.

สำหรับประเด็นเรื่องการโพสต์ภาพสนามบินสุวรรณภูมินั้น ดนัยเบิกความว่าตนเพียงแต่เลือกภาพจากอินเทอร์เน็ตเพื่อมาประกอบโพสต์ โดยพิมพ์ใน Google ว่าสุวรรณภูมิแล้วเลือกรูปมา 1 รูป เพื่อจะสื่อถึงสนามบินเท่านั้น รูปกับเรื่องไม่ได้เกี่ยวข้องกันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพียงใช้รูปประกอบให้โพสต์น่าอ่านมากขึ้น และในวันดังกล่าว ตนก็ไม่ได้ถ่ายรูปสนามบินเนื่องจากกำลังเครียดกับเรื่องโควิด 

ดนัยยังเบิกความเพิ่มเติมว่า เหตุในการเล่าเรื่องไม่พบเจ้าหน้าที่ตรวจคัดกรองนั้น เป็นการเล่าเพื่อจะแชร์กับเพื่อนในเฟซบุ๊ก และเขียนขึ้นด้วยความแปลกใจ เนื่องจากตนสงสัยว่าทำไมการคัดกรองไม่เข้มข้น ถ้าเจอเจ้าหน้าที่เข้ามาพูดคุย ก็คงจะไม่มีโพสต์ดังกล่าว ตนคิดว่าการคัดกรองไม่มีมาตรฐานเลยหากเทียบกับที่ตนได้เจอมาในต่างประเทศ หรือแม้แต่หากได้อ่านจากประกาศของรัฐบาลเอง ก็ไม่ได้มีการคัดกรองตามประกาศ ตนเห็นว่าสถานการณ์ขณะนั้นรุนแรงแล้ว ควรต้องมีการคัดกรองเข้มข้น หากจะมีใครนำโพสต์ของตนไปเผยแพร่ต่อ ก็เป็นไปเพื่อให้เกิดการปรับปรุงระบบเท่านั้น

สำหรับเหตุที่ต้องเปลี่ยนชื่อเฟซบุ๊กและปิดโพสต์ เนื่องจากหลังโพสต์เรื่องจุดคัดกรองในวันที่ 18 มี.ค.63 จากปกติที่มีเฉพาะเพื่อนๆ มาแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ ก็เริ่มมีคนอื่นที่ไม่ใช่เพื่อนมาแสดงความคิดเห็น บ้างเห็นด้วย บ้างก็เห็นแย้ง มีคนติงว่าใช้รูปไม่จริง รูปในอินเตอร์เน็ต ตนก็รับอยู่แล้วว่าเป็นรูปในอินเตอร์เน็ต แค่เอามาใช้สื่อสาร ส่วนเรื่องที่โพสต์นั้นเป็นความจริง 

ตนเห็นว่ามีการเผยแพร่เฟซบุ๊กของตน เพื่อให้คนเข้ามาด่าทอ ข่มขู่ พยายามระดมคนมาโจมตี เพจเฟซบุ๊กแกลลอรีที่ตนได้ไปแสดงงานและเพจเฟซบุ๊กแกลเลอรี่ของตนเอง ทำให้เริ่มมีผลกระทบกับลูกค้า ภรรยาจึงแก้ปัญหาโดยการเปลี่ยนชื่อเฟซบุ๊ก แต่ยังคงถูกคุกคาม จึงเปลี่ยนการตั้งค่าโพสต์ให้มองเห็นเฉพาะเพื่อน ความวุ่นวายจึงยุติ 

ในเช้าวันที่ 19 มี.ค. 63 เมื่อเกิดเป็นกระแสและข่าวใหญ่โตแล้ว ได้มีเจ้าหน้าที่อ้างว่าโทรมาจากสนามบิน พูดกับตนว่า อีก 20 นาทีเจ้านายจะโทรมา เมื่อเขาโทรมาอีกครั้ง ผู้พูดได้แนะนำยศ ตำแหน่ง ซึ่งตนจำไม่ได้ว่าเป็นตำรวจหรือทหาร ผู้พูดได้โทรมาให้ตนช่วยแก้ไขสเตตัสและชี้แจงว่าตนได้ถูกตรวจวัดอุณภูมิแล้วเพียงแต่ไม่รู้ตัว ตนบอกว่าใช่ ถ้ารู้ก็คงไม่โพสต์ การพูดคุยเป็นไปอย่างปกติ เหมือนจะเข้าใจกัน ตนได้ยืนยันว่าไม่มีเจ้าหน้าที่มาตรวจสุขภาพ และเรื่องนี้ไม่ใช่การเขียนข่าว แต่เป็นเรื่องเล่าส่วนตัวที่พบเจอ แล้วจะให้แก้ไขอย่างไร 

หลังเจ้าหน้าที่โทรมาประมาณ 1 ชั่วโมง จึงมีการแถลงข่าวจากสนามบินสุวรรณภูมิกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เกี่ยวกับโพสต์ของตน หลังจากนั้นตนก็ถูกจับกุม โดยตำรวจปลอมตัวเป็นแกร็บมาส่งของ เมื่อสอบถามแล้วทราบว่าตนอยู่ที่แกลเลอรี่ จึงแสดงตัวว่าเป็นตำรวจ โดยมากันประมาณ 5-6 คน เป็นเจ้าหน้าที่กองปราบปราม ตนถูกพาขึ้นเครื่องบินจากภูเก็ตมาที่กองปราบฯ ก่อนจะถูกนำตัวไปสอบสวนที่ บก.ปอท. ซึ่งตนยอมรับว่าเป็นคนโพสต์และให้ความร่วมมือทุกอย่าง นอกจากนี้ยังยืนยันกับตำรวจว่าข้อความที่โพสต์เป็นเรื่องจริง

ทนายความถามได้ย้อนถามว่า ความเห็นใต้คอมเมนต์ข่าวที่ถูกแชร์ไปเป็นอย่างไรบ้าง โดยทนายได้อ้างส่งเอกสารภาพคอมเมนต์ใต้โพสต์ข่าวให้ศาลรับไว้เป็นหลักฐาน ดนัยตอบว่าคอมเมนต์ใต้ข่าวของเว็บข่าวสดที่ทนายอ้างส่งนั้น ประชาชนไม่ได้ตื่นตระหนกแต่อย่างใด ส่วนใหญ่ไม่มีคนแปลกใจหรือตกใจกับเรื่องดังกล่าว บางคนยังได้แชร์ประสบการที่คล้ายคลึงกันอีกด้วย 

ดนัยได้ตอบคำถามของอัยการโจทก์ เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ในสนามบินว่า ในวันที่ 16 มี.ค. 63 จากจุดที่ตนลงเครื่องถึงจุดตรวจคนเข้าเมือง ตนไม่เห็นเจ้าหน้าที่สนามบินเลย ได้พบเห็นอีกทีคือเจ้าหน้าที่ของจุดตรวจคนเจ้าเมือง ในวันดังกล่าวผู้โดยสารเดินทางมาเป็นร้อยคน ลงเครื่องมาพร้อมกัน โดยธรรมชาติควรต้องมี เส้นกั้นที่ให้คนเดินไปผ่านเครื่อง แต่ตนไม่เห็นอะไรเช่นนั้นในวันดังกล่าว 

การสืบพยานจำเลยเสร็จสิ้นในวันที่ 7 ต.ค. 2564 เวลา 10.30 น. และศาลได้นัดฟังคำพิพากษา ในวันที่ 25 พฤศจิกายน เวลา 09.00 น. 

.

.

อ่านเพิ่มเติม

คดีความเปลี่ยนชีวิตของ ‘ดนัย’ ศิลปินกราฟิตี้ ผู้โพสต์ไม่พบ จนท. คัดกรองที่สุวรรณภูมิ

ย้อนมอง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ: การจำกัดเสรีภาพผ่านความคลุมเครือของตัวบท

คุยกับสาวตรี สุขศรี ว่าด้วย ‘เฟกนิวส์’ และความกว้าง เทา คลุม ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

.

X