ย้อนมอง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ: การจำกัดเสรีภาพผ่านความคลุมเครือของตัวบท

ณัฐวรรธน์ แก้วจู

นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

.

บทนำ

สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาค่อนข้างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) ที่ถดถอยอย่างยิ่ง หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี 2562 ก็ไม่ทำให้ความกังวลต่อการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกผ่อนคลายลงอย่างใด แต่กลับตึงเครียดมากยิ่งขึ้น และในปัจจุบันที่ประเทศตกอยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและพยายามนำกฎหมายที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพ เช่น ข้อกำหนด กฎ ตลอดจนข้อบังคับต่างๆ มาบังคับใช้กับประชาชนโดยอ้างว่าเป็นการใช้เพื่อควบคุม บริหารสถานการณ์ ตลอดจนกำหนดมาตรการอันจะทำให้ประเทศผ่านสถานการณ์โควิด-19 ไปได้โดยเร็ว แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการจัดการชุมนุมและกิจกรรมที่เป็นการแสดงออกและเรียกร้องทางการเมืองอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา การบังคับใช้กฎหมายที่มีเนื้อหาเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพกับประชาชนที่มีความเห็นต่างหรือวิจารณ์การทำงานของรัฐ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 14 เป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่ถูกนำมาบังคับใช้เพื่อจำกัดเสรีภาพการแสดงออกในโลกออนไลน์ โดยมักถูกพ่วงเข้ากับการกระทำผิดในกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคง หรือการเมือง เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือมาตรา 116 ซึ่งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด แม้ได้มีการแก้ไขเนื้อหาจากฉบับปี พ.ศ. 2550 ไปแล้วก็ตาม

การบังคับใช้มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นไม่สอดรับกันนัก ทั้งเนื้อหาในมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็มีปัญหาในตัวของมันเอง และเนื่องจากการฟ้องร้องคดีทางการเมืองมักเกิดขึ้นกับผู้เรียกร้องทางการเมืองและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เช่น คดีที่ “หมวดเจี๊ยบ” ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย ถูกตั้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวม 12 กระทง จากการวิจารณ์รัฐบาล, คดีที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และสมาชิกพรรคอนาคตใหม่อีก 2 ราย ไลฟ์เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์พลังดูด ส.ส. ของ คสช.[1] เป็นต้น เหล่านี้ทำให้มองได้ว่ามาตรา 14 เป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้เห็นต่างหรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง[2]

เนื้อหาในมาตรา 14 กำหนดไว้ว่า “ผู้ใดกระทำความผิด

  • โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา
  • นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
  • นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
  • นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
  • เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

.

.

เนื้อหาที่มีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน

แรกเริ่มเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นั้น บัญญัติขึ้น เพื่อป้องกันและเอาผิดกับการกระทำอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์โดยแท้ ซึ่งเป็นการกระทำความผิดที่อยู่นอกเหนือหรือมีองค์ประกอบความผิดแตกต่างไปจากในประมวลกฎหมายอาญา แต่เมื่อมีการบังคับใช้จริง กลับปรากฏว่าถูกนำมาเป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐในการจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมีนัยยะสำคัญ ผ่านการตีความถ้อยคำโดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายที่มีความคลุมเครือและไม่ชัดเจน[3]

ในมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นั้น มีเนื้อหาที่คลุมเครือหลายข้อความ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 14 (1) ที่มีข้อความว่า “โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน…”

และในมาตรา 14 (2) ที่มีข้อความว่า “…โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน”

.

มาตรา 14 (1)

เดิมเจตนารมณ์ของที่แท้จริงของมาตรา 14 (1) นั้น ต้องการที่จะป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับตัวระบบโดยมีเจตนาทุจริต กล่าวคือ ใช้เอาผิดกับผู้ที่ทำข้อมูลปลอมเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สิน (Phishing) ของบุคคลอื่น เป็นการฉ้อโกงกันทางออนไลน์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนโดยทั่วไป[4] เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายปรากฏว่ามีข้อความเพิ่มเติมจากพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 ที่ทำให้การกระทำความผิดตามมาตรา 14 (1) รวมไปถึงการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ “ที่บิดเบือนหรือปลอม

คำว่า “บิดเบือน” ถือเป็นถ้อยคำที่ยากแก่การนิยามและตีความ เพราะไม่เคยปรากฏว่ามีการนิยามในกฎหมายใดมาก่อน ทั้งยังไม่มีบรรทัดฐานของคำพิพากษาศาลฎีกาที่แน่นอน ทำให้ยากที่จะรู้ได้ว่าข้อมูลอย่างไรที่จะเป็นข้อมูลที่บิดเบือน และข้อมูลแบบใดจะทำให้เป็นความผิดตามมาตรา 14 (1) ในองค์ประกอบของ “ข้อมูลที่บิดเบือน” บ้าง จึงนับว่าเป็นถ้อยคำที่กินข้อเท็จจริงอย่างกว้าง

ข้อความที่คลุมเครือนี้เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐในฐานะผู้ใช้และตีความกฎหมาย สามารถตีความเพื่อนำมาปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) ของประชาชนได้ เนื่องจากสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ถูกมองว่ากำลังประสบกับปัญหาการบริหารงานของรัฐอย่างมาก สถานการณ์เหล่านี้ย่อมทำให้ประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศเกิดความสงสัยใคร่รู้และความไม่พอใจได้ หลายคนต้องการที่จะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหาร และปัญหาอื่นๆ ในสังคม หากเป็นสังคมเสรีประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้ย่อมสามารถกระทำได้เพราะถือเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ประการหนึ่ง ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 34 รัฐธรรมนูญ 2560[5] ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

แต่ในความเป็นจริงด้วยเนื้อหาของมาตรา 14 (1) ที่คลุมเครือกินข้อเท็จจริงอย่างกว้าง เปิดช่องให้แก่ผู้ใช้ ผู้ตีความกฎหมายสามารถใช้บทบัญญัติมาตรานี้ในการ “ปิดปาก” ประชาชนได้ ทำให้หากประชาชนใช้เสรีภาพในการแสดงออก การนำเสนอข้อมูลที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลโดยสุจริต หรือนำเสนอข้อมูลต่างๆ ประกอบความคิดเห็นของตนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ อาจถูกตีความว่าเป็นข้อมูลที่ “บิดเบือน” ได้ ซึ่งสวนทางกับเจตนารมณ์ข้างต้น

.

มาตรา 14 (2)

เป็นมาตราที่มักถูกใช้ควบคู่กับคดีทางการเมือง ความมั่นคง และถูกมองว่าเป็นมาตราที่ค่อนข้างมีปัญหาในเรื่องของการบังคับใช้อย่างมาก เนื่องจากปรากฏถ้อยคำที่คลุมเครือและไม่ชัดเจนที่ว่า “..โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน”

ประการแรก การใช้คำว่า “น่าจะเกิดความเสียหาย” เป็นถ้อยคำที่ปราศจากความชัดเจนโดยสิ้นเชิง เพราะอำนาจในการตีความคำว่า “น่าจะ” นั้นขึ้นอยู่กับการใช้ดุลพินิจตีความของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นบุคลากรของรัฐเป็นสำคัญ เพียงอ่านก็รู้ด้วยสามัญสำนึกพื้นฐานได้ว่าถ้อยคำนี้สามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการนำมาลิดรอนสิทธิเสรีภาพการแสดงออกได้ตลอดเวลา

ประการที่สอง ถ้อยคำอื่นในมาตรา 14 (2) อาทิ “ความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงประเทศ” “ความปลอดภัยสาธารณะ” “ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ก็เป็นถ้อยคำที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจนเช่นกัน ประชาชนโดยทั่วไปไม่สามารถรู้ได้เลยว่าข้อมูลใดที่ได้นำเสนอไป จะเข้าข่ายนิยามของถ้อยคำในมาตรา 14 (2) เช่น ความตื่นตระหนกของประชาชน บ้าง ซึ่งขัดกับหลักนิติรัฐที่ตัวบทกฎหมายควรบัญญัติให้มีความชัดเจน แน่นอน เพื่อช่วยให้ประชาชนรู้ได้ว่าการกระทำใดที่จะเป็นความผิดตามกฎหมายนั้น และถ้อยคำที่ตีความได้กว้างขวางดังกล่าว ยังทำให้ผู้บังคับใช้และตีความกฎหมายสามารถใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อกำจัดและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้เห็นต่างได้

ความไม่แน่นอนของการบังคับใช้และการตีความถ้อยคำในมาตรา 14 (1) และ มาตรา 14 (2) นำไปสู่ความไม่แน่นอนในนิติฐานะ ประชาชนไม่ทราบถึงสิทธิและหน้าที่ของตน ซึ่งโดยหลักการถ้อยคำของกฎหมายจำต้องมีความชัดเจน ทำให้ประชาชนในฐานะผู้ที่ต้องถูกบังคับใช้กฎหมายนั้น สามารถรู้ได้ว่าการกระทำใดที่จะเป็นความผิด ยิ่งในบทบัญญัติที่มีเนื้อหาเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพด้วยแล้ว ยิ่งต้องใช้ถ้อยคำที่ชัดเจนถือเป็นการประกันสิทธิและเสรีภาพรูปแบบหนึ่ง แม้ว่าการบัญญัติกฎหมายอาจต้องมีการใช้ถ้อยคำที่ตีความครอบคลุมข้อเท็จจริงได้กว้าง แต่หากกฎหมายบัญญัติโดยใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือ จนประชาชนไม่สามารถรู้ได้เลยว่าการกระทำอย่างใดจึงจะเป็นความผิด เช่นนี้เจตนารมณ์ของกฎหมายย่อมไม่ใช่การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแน่นอน

.

.

การพยายามสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัว

มาตรา 14 (5) เป็นการบัญญัติกำหนดความผิดแก่ประชาชนคนทั่วไปที่ “ส่งต่อ” ข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) และ (4) แม้จะมีองค์ประกอบว่าที่ส่งต่อต้องเจตนาโดย “รู้อยู่แล้ว” ว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) และ (4) แต่การบัญญัติกฎหมายในลักษณะดังกล่าว ถือเป็นกลยุทธ์ทางกฎหมายของรัฐที่เมื่อพิจารณาแล้วอาจมีขึ้นเพื่อการสร้าง “บรรยากาศของความหวาดกลัว” ให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน

เมื่อความผิดตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีโทษทางอาญาที่ค่อนข้างสูง และการบัญญัติกฎหมายโดยใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน เช่น ในมาตรา 14 (1) และ มาตรา 14 (2) ทำให้ประชาชนที่ต้องการนำเสนอ ส่งต่อข่าวหรือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมือง หรือการแพร่ระบาดของโควิด-19 การจัดสรรวัคซีนของภาครัฐ หรือในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายรัฐ เกรงกลัวว่าการกระทำของตนอาจถูกตีความว่าการกระทำที่เป็นความผิดได้ จึงอาจเกิดการ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” ได้โดยง่าย

ที่ผ่านมาเฉพาะปี 2563 ก็ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่มีการกล่าวหาผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ถูกมองว่ากระทำความผิดตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำนวนมาก โดยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคง และการเมือง มีรวมกันมากกว่า 10,000 เรื่อง[6] บทบัญญัติยิ่งมีความคลุมเครือมากเท่าใด ก็ทำให้อำนาจและช่องทางของการตีความของผู้ใช้อำนาจมีมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้การใช้เสรีภาพในการแสดงออกไม่สามารถเป็นไปได้อย่างเต็มที่ เพราะต้องอยู่ในบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว

.

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2560 ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

แม้โดยหลักการ รัฐจะสามารถใช้อำนาจในการจำกัดเสรีภาพ เพื่อเป็นการประกันสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชนได้ แต่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับเงื่อนไข และหลักการในการตรากฎหมายจำกัดสิทธิ ตามมาตรา 26[7] ของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ ทั้งนี้ยังต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย

การที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งเป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลมีเนื้อหาที่จำกัดการใช้เสรีภาพการแสดงออกมากเกินไป และมีเนื้อหาที่ไม่เป็นไปตามหลักการตรากฎหมายจำกัดสิทธิ ตามมาตรา 26 รัฐธรรมนูญ 2560 กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาขัดต่อหลักพอสมควรแก่เหตุ ซึ่งทำให้บุคคลไม่สามารถใช้เสรีภาพในการแสดงออก ได้อย่างที่ควรได้ใช้ อันกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ผู้เขียนเห็นว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จึงขัดทั้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ที่รับรองเสรีภาพในการแสดงออก ของบุคคลไว้ และ ขัดต่อหลักการตรากฎหมายจำกัดสิทธิ ตามมาตรา 26 เมื่อเสรีภาพในการแสดงออก ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศในทุกฉบับ รวมทั้งในมาตรา 34 รัฐธรรมนูญ 2560 และยังถูกรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสากล และในข้อบท 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)[8] ที่รับรองว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก โดยประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในรัฐภาคี เพื่อไม่ให้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ขัดกับทั้งกฎหมายภายในและสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เป็น Soft law

รัฐจึงควรแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ผู้เขียนเชื่อว่าหน้าที่ของรัฐคือการอำนวยให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างเต็มที่และจำกัดเท่าที่จำเป็น เพื่อให้บุคคลดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

.


.

อ้างอิงท้ายเรื่อง

[1] พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2560 : กฎหมายใหม่แต่ยังถูกใช้ปิดปากเหมือนเดิม (Laws Monitoring) <https://ilaw.or.th/node/4901> สืบค้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564.

[2] “มีคนจับตาดูจริง ๆ” ข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์ในประเทศไทย (2563) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล 5 <https://www.amnesty.org/download/Documents/ASA3921572020THAI.pdf> สืบค้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564.

[3] คณะวิจัย สาวตรี สุขศรี ศิริพล กุศลศิลป์วุฒ อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา, งานวิจัยหัวข้อผลกระทบจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 18.

[4] พ.ร.บ.คอม แก้ไขใหม่แล้ว คดี “ปิดปาก” มีแต่แนวโน้มจะเพิ่มขึ้น (Laws Monitoring) <https://ilaw.or.th/node/4399> สืบค้นเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564.

[5] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 34 วรรคหนึ่ง “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน”

[6] สรุปสถิติออนไลน์ 63 แจ้งความพ.ร.บ.คอมฯ 7 พัน URLs ข่าวปลอม 39 ล้านข้อความ (The Bangkok Insight Editorial Team) <https://www.thebangkokinsight.com/news/politics-general/politics/509993/> สืบค้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564.

[7] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 26 “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย

“กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง”

[8] ข้อบท 19 กติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

1. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง

2. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ขอ้มูล

ข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ไม่ว่าด้วยวาจา เป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ในรูป

ของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก

3. การใช้สิทธิตามที่บัญญัติในวรรค 2 ของข้อนี้ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษควบคู่ไปด้วยการใช้สิทธิดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดในบางเรื่อง แต่ทั้งนี้ข้อจำกัดนั้นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายและจำเป็นต่อ

(ก) การเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น

(ข) การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน

.

X