25 พ.ย. 2564 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของ ดนัย อุศมา ศิลปินกราฟฟิตี้จากจังหวัดภูเก็ต ซึ่งถูกฟ้องตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (2) จากกรณีใช้เฟซบุ๊กบัญชีชื่อ “Zen Wide” โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2563 ว่าได้เดินทางกลับจากเมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน เข้าประเทศไทยโดยที่ไม่มีเจ้าหน้าที่มาตรวจคัดกรองผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิ
ภายหลังคดีนี้มีการสืบพยานไประหว่างวันที่ 5-7 ต.ค. 2564 ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันนี้ ซึ่งดนัยพร้อมภรรยาและทนายความ ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาที่ห้องพิจารณา 808 โดยในวันนี้มีคณะทูตร่วมสังเกตการณ์จากประเทศออสเตรียและเยอรมัน
เวลา 9.40 น. ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุป พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเดินทางมาจากประเทศสเปน และเปลี่ยนเครื่องที่เมืองอาบูดาบี ก่อนเดินทางถึงประเทศไทยในวันที่ 16 มี.ค. 2563 และมีการโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กเรื่องการไม่พบเจ้าหน้าที่คัดกรองบริเวณสนามบิน โดยศาลได้อ่านข้อความเต็มที่ดนัยโพสต์ พร้อมลงภาพสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งเป็นภาพเก่าในปี 2562
โพสต์ที่ถูกกล่าวหา (ภาพจาก คมชัดลึก)
โจทก์มีนายป้องเกียรติ ชายะพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของการท่าอากาศยานไทย ซึ่งเป็นผู้กล่าวหา มี นักวิชาการสาธารณสุขของสนามบินอีกสองคน เบิกความในทำนองเดียวกันว่า สนามบินมีการจัดจุดคัดกรอง มีหลุดจอดเฉพาะสำหรับเครื่องบินที่มาจากประเทศในกลุ่มเสี่ยง และมีการจัดเจ้าหน้าที่คัดกรองเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิ ซึ่งตัวจำเลยได้เดินผ่านเครื่องวัดอุณหภูมิแล้ว
แต่คดีได้ความจาก พ.ต.ท.อิสรพงศ์ ทิพย์อาภากุล รองสารวัตรสืบสวน บก.ปอท. ผู้ทำสำนวนในคดีประกอบกับหลักฐานภาพวงจรปิด ว่าจำเลยเดินผ่านจุดคัดกรองตามภาพจากกล้องวงจรปิด แต่ไม่มีท่าทีจะสังเกตเห็นเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ เช่นเดียวกับผู้ที่เดินทางเข้ามาคนอื่นๆ ยังมีนายอลงกรณ์ ศิริแสง พยานโจทก์ตอบคำถามค้านว่า จอภาพแสดงผลการตรวจวัดอุณหภูมิจะหันไปทางเจ้าหน้าที่ ส่วนนายคุณภาพ คงเจือ เบิกความว่ามาตรการการคัดกรองในขณะนั้นใช้เครื่องเทอโมสแกนตรวจวัด หากผู้ที่เดินทางเข้ามามีอุณหภูมิเกิน 37.5 องศา จึงจะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจวัดอีกครั้งหนึ่ง
ประกอบกับจำเลยได้นำสืบว่า ได้อ่านประกาศมาตรการควบคุมโรคในสถานการณ์โควิดจากเพจ “สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด” ที่เป็นประกาศเมื่อวันที่ 15 ม.ค 2563 ซึ่งกล่างถึงขั้นตอนวิธีการเข้าประเทศไทย ที่ต้องมีการตอบแบบสอบถามสุขภาพ การที่จำเลยเดินทางเข้ามาแล้วไม่พบเจ้าหน้าที่ ไม่เห็นเครื่องเทอโมสแกนย่อมเป็นไปได้
สำหรับภาพถ่ายที่จำเลยใช้ ผศ.ดร.เจนพล ทองยืน พยานโจทก์นักวิชาการ เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ภาพสนามบินสุวรรณภูมิที่จำเลยใช้นั้น เป็นภาพที่สื่อมวลชนใช้ด้วยทั่วไป หากจะสื่อถึงสุวรรณภูมิ โดยจำเลยได้เบิกความเช่นเดียวกันว่า เพียงนำภาพมาประกอบโพสต์เท่านั้น
ศาลเห็นว่าการลงข้อความของจำเลย เป็นการลงไปตามความเป็นจริง โดยไม่ได้มีเจตนาทำให้ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน หรือเจตนาโพสต์ข้อความอันเป็นเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา จึงพิพากษายกฟ้องและให้คืนของกลาง โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง ให้กับจำเลย
สำหรับคดีนี้ พนักงานอัยการได้เคยสั่งฟ้องดนัยโดย ขอให้ศาลลงโทษจำเลยในสถานหนัก โดยให้เหตุผลว่า “เนื่องจากจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องโดยทราบดีว่า การนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จดังกล่าวผ่านช่องทางแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่มีสมาชิกจำนวนมากและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ จะทำให้ข้อมูลเท็จดังกล่าวถูกเผยแพร่หรือส่งต่อในสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างรวดเร็วในวงกว้าง ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานสำคัญของประเทศ และมีบุคคลใช้สัญจรเกี่ยวข้องจำนวนมาก สร้างความสับสนและตื่นตระหนกในหมู่ประชาชนเป็นวงกว้าง”
ภายหลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้น ดนัยได้เล่าย้อนไปถึงช่วงที่ถูกดำเนินคดีว่า “ผมนอนสะดุ้งอยู่หลายเดือน เนื่องจากไม่เคยถูกดำเนินคดี” เมื่อแรกเริ่มเดิมทีที่ตนถูกจับและถูกฟ้องคดี คนรอบข้างที่มีความรู้เรื่องกฎหมาย ล้วนแต่บอกให้ตนทำใจว่าตนจะต้องแพ้คดี บ้างก็บอกให้ตนรีบรับสารภาพ ตนสงสัยว่า ตนไม่ผิดจะให้รับสารภาพได้อย่างไร ในเมื่อตนโพสต์ในสิ่งที่ตนได้เจอ
“ปกติใครทำดีผมก็อวยอยู่แล้ว ใครทำไม่ดีผมก็ด่า มันเป็นเรื่องปกติหรือเปล่าที่เราจะวิพากษ์วิจารณ์ ถึงเป็นพ่อผม ถ้าทำอะไรไม่ดี ผมก็พูด” ดนัยกล่าว
.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
คดีความเปลี่ยนชีวิตของ ‘ดนัย’ ศิลปินกราฟิตี้ ผู้โพสต์ไม่พบ จนท. คัดกรองที่สุวรรณภูมิ
อัยการยื่นฟ้อง ‘ดนัย’ ศิลปินโพสต์ติงมาตรการคัดกรองโควิด ขอศาลลงโทษสถานหนัก
.