2 ก.พ. 2565 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาฯ มีนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีสหพันธรัฐไท ซึ่งกาญจนา (นามสมมติ) อายุ 68 ปี ข้าราชการบำนาญ ถูกฟ้องในข้อหาข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, เป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 กรณีใส่แจ็คเก็ตสีดำแสดงธงสัญลักษณ์สีขาวแดงที่ห้างเซ็นทรัลพลาซ่า จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2561 แล้วถ่ายภาพเก็บเอาไว้ โดยใช้เวลา 1 นาทีโดยประมาณ ก่อนส่งภาพดังกล่าวไปทางไลน์ โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง ทุกข้อหาเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2563
ดูฐานข้อมูลคดี สหพันธรัฐไท สวมเสื้อดำไปเซ็นทรัล อุบลฯ
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2564 พนักงานอัยการอาวุโส สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลสูง 1 ศิษฐา วงศ์สุเมธ ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ระบุว่า
“โจทก์เห็นพ้องด้วยกับคําพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องจําเลย ไม่ติดใจอุทธรณ์ในส่วนนี้ แต่ที่ศาลชั้นต้นไม่ได้วินิจฉัยในเรื่องของกลางว่าจะริบหรือไม่ประการใด โจทก์ขออุทธรณ์คัดค้านว่าเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(9) จึงขอศาลอุทธรณ์ได้โปรดพิจารณาและพิพากษาแก้คําพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นให้สั่งริบของกลางตามคําขอท้ายฟ้องโจทก์ด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 นอกนั้นให้เป็นไปตามคําพิพากษาของศาลชั้นต้น”
ทนายความของกาญจนาได้ยื่นแก้อุทธรณ์ของพนักงานอัยการ 2 ประเด็น โดยระบุว่า
โจทก์ขอให้ศาลสั่ง “ริบธงสีขาวแดงจำนวน 15 ผืน และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อวีโว่ สีขาว จำนวน 1 เครื่อง ของกลางด้วย” จำเลยเห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ไม่ได้พิพากษาริบของกลางทั้งสองรายการเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยทุกข้อหา และโจทก์ไม่ได้ติดใจอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว คดีจึงสิ้นสุดแล้วว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 เป็นอั้งยี่ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
ดังนั้น ทรัพย์ของกลางทั้งสองรายการที่โจทก์ขอให้ริบตามคำขอท้ายฟ้อง จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยได้กระทำความผิดแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ของกลางที่โจทก์อุทธรณ์ให้ศาลมีคำสั่งริบนั้น โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือยี่ห้อวีโว่สีขาวของจำเลย เป็นทรัพย์สินที่จำเลยมีความจำเป็นต้องใช้ติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน อีกทั้งตามมาตรา 19 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ ยังกำหนดว่า “…พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งยึดหรืออายัดไว้เกินสามสิบวันมิได้” ดังนั้นการยึดโทรศัพท์มือถือซึ่งมีกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้ จึงต้องบังคับตามกฎหมายเฉพาะ กล่าวคือเมื่อสำเนาข้อมูลในโทรศัพท์มือถือแล้วให้คืนแก่เจ้าของภายใน 30 วัน
เวลา 09.15 น. ศาลได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุป พิพากษายกฟ้องอุทธรณ์ของอัยการโจทก์ โดยวินิจฉัยว่า เนื่องจากคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในฐานความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 116, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 เป็นอั้งยี่ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ของกลางโทรศัพท์มือถือและธงที่ถูกยึดจึงไม่ใช่ของที่ใช้ในการกระทำความผิด ไม่สามารถริบไว้ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ให้คืนของกลางแก่จำเลย
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ยกฟ้อง! ม.116 – อั้งยี่ – พ.ร.บ.คอม หญิงสูงวัยคดีสหพันธรัฐไท ชูธงขาว-แดง เซ็นทรัลอุบลฯ
สั่งฟ้องหญิงสูงวัยอุบลฯ ม.116-อั้งยี่-พ.ร.บ.คอมฯ เหตุสวมเสื้อดำ
ตำรวจอุบลฯ แจ้งข้อหาหญิงสูงวัย ม.116-อั้งยี่-พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เหตุถือธงกลุ่มสหพันธรัฐไทถ่ายรูป