เปิดคำฟ้อง ม.116 ของ “ตะวัน – แฟรงค์” กล่าวหา #บีบแตรใส่ขบวนเสด็จ ท้าทาย-ดูหมิ่นพระเกียรติของพระเทพฯ

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567 ที่ศาลอาญา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดี “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “แฟรงค์” ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ถูกคุมขังในคดีที่สืบเนื่องจากการถูกออกหมายจับในคดีมาตรา 116 – พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สืบเนื่องมาจากถูกกล่าวหาว่า บีบแตรใส่ขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567

ในคดีนี้ ตะวันกับแฟรงค์ได้ถูกตำรวจยื่นขอฝากขังจนครบ 4 ผัด และศาลไม่เคยอนุญาตให้ทั้งสองคนได้รับการประกันตัว แม้สถานการณ์ประท้วงอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวของผู้ต้องขังทางการเมือง ของตะวันกับแฟรงค์จะอยู่ในระดับวิกฤตที่น่าเป็นห่วง 

สำหรับวันที่ 1 เม.ย. 2567 เป็นวันครบกำหนดฝากขังผัดสุดท้าย ที่กฎหมายให้อำนาจไว้ไม่เกิน 48 วัน โดยอัยการใช้เวลาพิจารณาสำนวนที่ส่งจากตำรวจภายในไม่กี่วัน ก่อนมีคำสั่งฟ้องคดี

ณัฐพงษ์ วายุพัฒน์ พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้เรียงฟ้องคดีตะวันและแฟรงค์ แยกเป็น 4 กระทง ใน 5 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3), ก่อความเดือดร้อนรำคาญ ตามมาตรา 397, ข้อหาเรื่องการใช้เสียงแตรรถยาวหรือซ้ำเกินควร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 14, ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 368 จากกรณีไม่พิมพ์ลายมือในระหว่างรับทราบข้อกล่าวหา  เฉพาะณัฐนนท์ยังถูกกล่าวหาในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 136 อีกหนึ่งข้อหาด้วย

บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567 ขณะที่มีการอารักขาขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ อยู่บนทางพิเศษศรีรัช มุ่งหน้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ทางลงทางด่วนพหลโยธิน 1 ตะวันและแฟรงค์ได้ร่วมกันบีบแตรรถยนต์ตลอดเวลาเสียงดังยาว 1 – 2 นาที และขับรถยนต์แทรกคันอื่น ๆ ที่หยุดรอขบวนเสด็จ เพื่อขับแทรกเข้าไปในเส้นทางของขบวนเสด็จที่กำลังเคลื่อนผ่านบริเวณทางต่างระดับมักกะสันที่รถยนต์ของผู้ต้องหาทั้งสองคนอยู่

ต่อมาเมื่อขบวนเสด็จผ่านไปแล้ว จำเลยทั้งสองคนได้ขับรถไล่ติดตามขบวนเสด็จไปในระยะกระชั้นชิดและบีบแตรลากยาวโดยไม่มีเหตุอันควร ตลอดจนถึงบริเวณทางลงของทางด่วนพหลโยธิน 1 เป็นระยะประมาณ 800 เมตร ซึ่งเจ้าหน้าที่อารักขาได้สกัดกั้นจำเลยทั้งสองคนไว้ได้

นอกจากนี้ ในขณะเกิดเหตุ อัยการได้บรรยายฟ้องอีกว่า ส.ต.อ.นพรัตน์ อินทิแสน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อารักขาขบวนเสด็จ ได้เข้าสกัดกั้นรถยนต์ของจำเลยทั้งสองให้หยุดการกระทำ โดยกล่าวหาว่าแฟรงค์ได้ดูถูกเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวด้วยถ้อยคำหยาบคาย และทำให้เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวรู้สึกอับอาย และถูกลดคุณค่าในขณะที่กำลังปฏิบัติตามหน้าที่ อันเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานในขณะที่

ในวันที่ 7 ก.พ. 2567 ตะวันได้ทำการโพสต์ภาพจากกล้องหน้ารถที่ทั้งสองขับในวันเกิดเหตุ ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยกล่าวแสดงความเห็นว่า ‘นำคลิปหลักฐานมาให้ชมค่ะ ว่ามีการปิดถนนจริง ๆ เราเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องขบวนเสด็จไปแล้ว แต่กลับไม่มีผู้ใหญ่คนไหนตอบ ซ้ำยังยัดคดี ม.112 และถอนประกันจนเข้าคุก นี่คือคำตอบที่ผู้ใหญ่ในประเทศนี้ให้กับเรา’

วันนั้น เราได้ขับรถไปทำธุระส่วนตัว เจอขบวนเสด็จพอดีและปิดถนนเหมือนเดิม เราไม่ได้รอและขับออกไปเลย เพราะทุกคนก็รีบเหมือนกัน เราขับรถไปตามเส้นทางที่จะต้องไปทำธุระ ไม่ได้จะเร่งไปเพื่อหาขบวนเสด็จ และมันก็มีแต่คำถามในหัวว่า ทำไมถึงมีรถคันไหนไปได้สะดวกกว่ารถของประชาชน?’

‘ครั้งนี้ ผู้ใหญ่ทั้งหลายในเมืองพุทธนี้ จะให้คำตอบเด็กอย่างเราแบบไหนคะ’

.

เหตุทั้งหมด อัยการได้มีความเห็นสั่งฟ้องว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองคนที่ต่อเนื่องกัน เป็นการสร้างความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องถึงขนาดที่ก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย อันมิใช่การกระทำมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และมิใช่การติชมโดยสุจริต 

และเนื้อหาการโพสต์ของจำเลยที่ 1 หรือตะวัน เป็นการอวดอ้างพฤติกรรมของจำเลยทั้งสองที่ขับรถแทรกรถยนต์ของประชาชนที่อยู่บริเวณนั้น เพื่อจะพยายามขับแซงไปข้างหน้าให้ใกล้กับขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ ทั้งยังมีการบีบแตรส่งเสียงดังแสดงความก้าวร้าว เป็นการต่อต้าน ท้าทายดูหมิ่นพระเกียรติยศ

ทั้งทำให้ประชาชนที่ติดตามเฟซบุ๊กของตะวัน เข้าใจว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มโซเชียลมีเดีย อันเป็นการกระทำที่อาจสร้างความปั่นป่วนในหมู่ประชาชน และเป็นภัยอันตรายต่อความปลอดภัยทางสาธารณะ 

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่าแม้บรรยายฟ้องของโจทก์จะกล่าวถึงพฤติกรรมของตะวันกับแฟรงค์ว่า อาจนำไปสู่ความปั่นป่วนในหมู่ประชาชน ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 นั้น ก็ยังไม่พบว่าจะมีการนำเสนอข่าว หรือผู้ใดที่กระทำการสร้างความวุ่นวายตามฟ้อง

นอกจากนี้ ตามบันทึกจับกุม ยังได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ตะวันที่นั่งอยู่ข้างคนขับ ได้เปิดกระจกรถต่อว่าตำรวจที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวว่า เดือดร้อนภาษีประชาชน และเมื่อขบวนเสด็จผ่านไปแล้ว ก็ได้เปิดการจราจรให้รถยนต์จากทางร่วมฯ วิ่งไปได้ตามปกติ โดยเห็นว่ารถของผู้ต้องหาทั้งสองคนมีพฤติการณ์ขับรถเร็ว ซึ่งตำรวจลงความเห็นว่าอาจเป็นการอันตรายต่อขบวนเสด็จ  จึงได้แจ้งทางวิทยุให้เจ้าหน้าที่รายอื่นที่ปฏิบัติงานถวายความปลอดภัยทราบถึงพฤติกรรมของรถยนต์คันดังกล่าว 

จากนั้นรถของตะวันก็ได้ขับเข้าประชิดกับรถปิดท้ายขบวนเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่รถปิดท้ายขบวนได้สกัดเอาไว้ได้ จึงทำให้ไม่สามารถแทรกเข้าไปในขบวนเสด็จได้  

ต่อมาในวันที่ 2 เม.ย. 2567 ศาลอาญานัดได้นัดให้มีการถามคำให้การทั้งสองคน โดยเบิกตัวแฟรงค์มาที่ศาลอาญา แต่ไม่สามารถติดต่อตะวันได้ โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ให้เหตุผลว่า เนื่องจากในขณะนี้ตะวันพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และตอนนี้ก็ไม่สามารถติดต่อกับโรงพยาบาลดังกล่าวได้ จึงไม่สามารถดำเนินการเบิกตัวมาตามนัดสอบคำให้การในวันนี้ได้ ศาลจึงให้เลื่อนนัดถามคำให้การไปเป็นวันที่ 2 พ.ค. 2567

.

X