4 เหตุผลที่ไม่ควรฝากขังตะวัน – แฟรงค์ ในสถานการณ์ที่อาจอันตรายถึงชีวิต

ปัจจุบัน “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “แฟรงค์” ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ถูกคุมขังในคดีที่สืบเนื่องจากการถูกออกหมายจับในคดีมาตรา 116 – พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สืบเนื่องมาจากถูกกล่าวหาว่า บีบแตรใส่ขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567 เป็นระยะเวลาร่วมกว่า 38 วัน และศาลได้อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย เป็นผัดที่ 4 แล้ว

นอกจากนี้ ทนายความที่เข้าเยี่ยมตะวัน และแฟรงค์ได้รายงานสถานการณ์การประท้วงอดอาหาร และการจำกัดน้ำเรื่อยมาของทั้งสองคน โดยพบว่าสถานการณ์ของทั้งสองคนล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2567 ตะวันมีอาการอ่อนเพลีย และมีโพแทสเซียมในเลือดอยู่ที่ 3.1 mEq/L ส่วนระดับน้ำตาลในเลือดต่ำมากถึง 53 mg./dl ซึ่งแพทย์ประเมินว่าร่างกายของเธอมีปริมาณแร่ธาตุต่ำ และกำลังเผชิญหน้ากับสภาวะ ‘ขาดสารอาหาร’ 

ส่วนอาการของแฟรงค์ล่าสุด พบว่าเขามีน้ำหนักตัวเหลือเพียง 38 กิโลกรัม อาการทรงตัวและอ่อนเพลีย โดยไม่สามารถที่จะขยับตัวได้เอง โดยเขาต้องใช้ชีวิตอยู่บนเตียงนอนตลอดเวลา ไม่สามารถนั่งหรือยืนได้แล้ว 

ทั้งสองคนยังยืนยันที่จะประท้วงอดอาหารและจำกัดการอดน้ำต่อไป เพื่อ 3 ข้อเรียกร้อง อันได้แก่ 1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 2. ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างอีก และ 3. ประเทศไทยไม่ควรได้เป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน 

จากสถานการณ์ของผู้ต้องหาทั้งสองคน และคำสั่งอนุญาตฝากขังของศาล ซึ่งเป็นครั้งที่ 4 แล้วที่พนักงานสอบสวนได้ยื่นขอฝากขัง พร้อมทั้งศาลก็ได้อนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องขอพนักงานสอบสวน  ชวนอ่านคำร้องคัดค้านการฝากขังของตะวันและแฟรงค์ พร้อมทั้งเหตุผลว่าทำไมทั้งสองคนไม่ควรถูกฝากขังอีกต่อไป 

.

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2567 ศาลได้เปิดห้องพิจารณาคดีที่ 809 เพื่อทำการไต่สวนคำร้องขอฝากขังครั้งแรกที่พนักงานสอบสวนยื่นเข้ามา โดยมี ร.ต.อ.ศรัทธาธรรม สูตรสุวรรณ และ พ.ต.ท.สนุก พัฒนา พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง เข้าให้การในฐานะผู้ร้องขอฝากขัง

ในคดีนี้ พนักงานสอบสวนทั้งสองนาย เบิกความถึงพฤติการณ์ของคดีว่าเริ่มแรก ไม่ใช่คดีที่มีโทษสูง และเป็นคดีลหุโทษ โดยมีเพียงข้อหาเกี่ยวกับการส่งเสียงอื้ออึงเท่านั้น ซึ่งตำรวจเคยขอออกหมายจับจากศาลแขวงดุสิต แต่ศาลปฏิเสธออกหมายจับให้ เนื่องจากเป็นการขอหมายที่กระชั้นชิด 

แต่ท่ามกลางกระแสในสังคมบางส่วน เมื่อคณะพนักงานสอบสวนได้ประชุมกันแล้วลงความเห็นว่า คดีนี้ต้องแจ้ง ม.116 เพิ่มเติม ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี จึงได้เปลี่ยนมาขอออกหมายจับจากศาลอาญาแทน โดยศาลก็ได้อนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งสองคน

เหตุที่ต้องมาฝากขังกับศาลอาญา ผู้ร้องได้เสนอต่อศาลว่า การกระทำของผู้ต้องหาทั้งสองคน เป็นการกระทำที่มีโทษสูง และอาจมีพฤติการณ์หลบหนีหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เนื่องจากพนักงานสอบสวนยังต้องสอบประจักษ์พยานเพิ่มอีกเป็นจำนวน 5 ราย 

นอกจากนี้ ในวันที่ 8 มี.ค. 2567 พนักงานสอบสวนได้ทำการยื่นคำร้องขอฝากขังตะวันและแฟรงค์ เป็นครั้งที่ 3 โดยอ้างเหตุว่ายังต้องสอบปากคำประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์อีก 2 ปาก ซึ่งยังไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ และตรวจสอบเรื่องกล้องหน้ารถของประชาชน จึงต้องทำการฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองต่อไป ซึ่งศาลได้อนุญาต แต่ได้กำชับให้ดำเนินการทั้งหมดให้เสร็จในการฝากขังครั้งนี้

จนกระทั่งวันที่ 20 มี.ค. 2567 พนักงานสอบสวนได้เข้ายื่นคำร้องขอฝากขังเป็นครั้งที่ 4 พร้อมอธิบายเหตุผลว่าที่ต้องฝากขังตะวันและแฟรงค์ต่อ ก็เนื่องมาจากว่าพนักงานสอบสวนยังอยู่ในระหว่างสืบสวนรวบรวมกล้องวงจรปิดหน้ารถของประชาชนบนท้องถนน ในพื้นที่เกิดเหตุของคดีว่ามีการตัดต่อหรือไม่ จากกองพิสูจน์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งศาลก็ได้มีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องของพนักงานสอบสวนอีก โดยกำชับให้เร่งสอบสวนให้แล้วเสร็จเช่นเดิม

.

อย่างไรก็ตาม ในคำร้องคัดค้านของตะวันและแฟรงค์ ทุกฉบับได้อธิบายเหตุผลต่อศาลอย่างชัดเจนถึงการกระทำที่เกินความจำเป็นของพนักงานสอบสวน ไว้ดังนี้ 

  1. ตะวันและแฟรงค์ ยินยอมให้มีการจับกุมที่บริเวณหน้าศาลอาญา ซึ่งมิได้มีพฤติการณ์หลบหนี และในขณะจับกุมก็ได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมแต่โดยดี มิได้มีการต่อสู้ขัดขวาง หรือสร้างพฤติการณ์ที่ทำให้เข้าใจว่าจะหลบหนีแต่อย่างใด
  2. พยานหลักฐานในสำนวนคดีนี้ พนักงานสอบสวนระบุเหตุการณ์โดยเลื่อนลอย เคลือมคลุมเท่านั้น ไม่มีพยานหลักฐานในสำนวนคดีของพนักงานสอบสวนที่สมควรเชื่อได้ว่า ผู้ต้องหาทั้งสองได้กระทำผิด อันเป็นความผิดอย่างไรบ้าง เป็นเพียงการคาดการณ์และกล่าวหาฝ่ายเดียว โดยยังไม่มีการพิจารณาคดีของศาล
  3. ผู้ต้องทั้งสองราย เป็นเพียงประชาชน บุคคลธรรมดา ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ และพยานหลักฐานทั้งหมดอยู่ในความดูแลของพนักงานสอบสวนแล้วทั้งสิ้น และผู้ต้องหาทั้งสองก็ไม่ได้มีพฤติการณ์กระทำผิดที่เป็นอาชญากร ก่อให้เกิดภยันอันตรายต่อผู้อื่นและสังคมอย่างร้ายแรง

นอกจากนี้ ส่วนที่พนักงานสอบสวน ระบุเหตุผลและความจำเป็นในการควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ว่าจะต้องสอบพยานบุคคลที่พนักงานสอบสวนอ้างว่ายังสอบไม่แล้วเสร็จ และรอผลการตรวจพิมพ์ลายนิ้วมือ พร้อมประวัติของผู้ต้องหาทั้งสองคน เพื่อไปประกอบสำนวนการสอบสวน และเสนอต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องนั้น 

ตะวันกับแฟรงค์ ได้เรียนต่อศาลว่า การกระทำดังกล่าวสามารถกระทำได้ โดยไม่ต้องควบคุมตัวพวกเธอเอาไว้ ซึ่งพนักงานสอบสวนก็ได้ยืนยันต่อทนายความของผู้ต้องหาทั้งสองแล้วว่าการตรวจสอบประวัติดังกล่าว สามารถกระทำได้โดยที่ไม่ต้องเรียกตัวผู้ต้องหามาดำเนินการ หรือคุมขังไว้ ซึ่งการที่ยังมีการคุมขังทั้งสองอยู่แบบนี้ เป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาเกินสมควร

  1. ในคดีนี้ เป็นเพียงการฝากขังในชั้นสอบสวนเท่านั้น คดียังไม่มีการสั่งฟ้อง และศาลยังไม่ได้พิจารณาหรือมีคำพิพากษาว่าผู้ต้องหาทั้งสองคนเป็นผู้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาจริง อีกทั้ง การที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา ก็ไม่ได้เป็นเหตุผลที่เพียงพอว่าผู้ต้องหาจะต้องหลบหนี หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด 

ตามมาตรา 24 แห่งรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2560 ก็ได้บัญญัติไว้ว่าการควบคุมผู้ต้องหา ให้กระทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายข้างต้น การควบคุมทั้งสองคนไว้ในตอนนี้ ย่อมเป็นการคุมขังที่เกินความจำเป็น นอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้วยังสร้างภาระแก่ผู้ต้องหาอย่างยิ่ง 

ทั้งนี้ ในคำร้องขอประกันตัวตะวันกับแฟรงค์ ในวันนี้ (22 มี.ค.  2567) ได้ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า หลังจากการไต่สวนคัดค้านฝากขังครั้งที่ 4 (20 มี.ค. 2567) พนักงานสอบสวน ได้แถลงต่อศาลอย่างชัดเจนแล้วว่า หากศาลไม่อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองคนต่อ ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสอบสวนของคดีนี้ และหากศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวทั้งสองคน ก็จะไม่มีการคัดค้านการขอประกัน กรณีนี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่จะขอให้ศาลพิจารณาและอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งสองคน

อย่างไรก็ตาม ในเวลา 14.46 น. ศาลอาญาได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้งสองคน ระบุว่าพิเคราะห์แล้ว ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม


ทั้งนี้ กรณีที่ความผิดอาญาอัตราโทษจำคุก สูงเกินกว่า 6 เดือน ไม่ถึง 10 ปี ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดกัน แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 12 วัน และรวมกันไม่เกิน 48 วัน ทำให้ในคดีนี้พนักงานสอบสวน จะยังคงยื่นคำร้องขอฝากขังได้ในผัดนี้เป็นครั้งสุดท้าย หากไม่มีการสั่งฟ้องคดี จะต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งสองคนต่อไป

X