ศาลอาญายังยืนกรานไม่ให้ประกัน “ตะวัน-แฟรงค์” ระบุยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง แม้เสนอ “พ่อตะวัน” กำกับดูแล – พนักงานสอบสวนไม่คัดค้านการให้ประกัน

วันที่ 22 มี.ค. 2567 ประมาณ 10.00 น. ทนายความได้ยื่นประกัน “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “แฟรงค์” ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ต่อศาลอาญาอีกเป็นครั้งที่ 6 ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 กรณีถูกกล่าวหาว่าบีบแตรใส่ขบวนเสด็จของสมเด็จพระเทพฯ โดยวางหลักทรัพย์คนละ 150,000 บาท พร้อมกับเสนอให้ศาลแต่งตั้ง ‘พ่อของตะวัน’ ซึ่งเป็นนายจ้างของแฟรงค์ด้วยเป็น ‘ผู้กำกับดูแล’ ทั้งสองคน 

อย่างไรก็ตาม วันเดียวกันนี้ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่า “ตามคำร้องไม่ปรากฏเหตุอื่นในอันที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมได้”

ในการยื่นประกันครั้งนี้ ทนายความได้หยิบยกข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย 4 ประการ ซึ่งเป็น ‘เหตุผลใหม่’ ที่มีความสำคัญ เพิ่มเติมจากที่เคยแถลงไว้แล้วก่อนหน้านี้ เพื่อให้ศาลพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวตะวันและแฟรงค์  ดังนี้

  1. การไต่สวนคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นการขอฝากขังครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนได้แถลงต่อศาลว่า ได้สอบสวนคำให้การพยานบุคคลทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว เหลือเพียงรอผลตรวจทางวิทยาศาสตร์จากกองพิสูจน์หลักฐาน (คลิปวิดีโอ) ว่ามีการแก้ไขหรือดัดแปลงหรือไม่

    ทนายความเห็นว่าขั้นตอนที่เหลืออยู่นั้นเป็นเพียงการตรวจสอบวิดีโอ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของพนักงานสอบสวนแล้ว ประกอบกับพนักงานสอบสวนได้เบิกความตอบทนายผู้ต้องหาในการไต่สวนครั้งล่าสุดนี้ไว้ว่า ผู้ต้องหาทั้งสองไม่สามารถที่จะแก้ไข เปลี่ยนแปลงใด ๆ ในคลิปวิดีโอดังกล่าวได้ และแม้ว่าพนักงานสอบสวนจะยังไม่ได้รับผลการพิสูจน์คลิปวิดีโอดังกล่าว การปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสองก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคใดต่อการสอบสวนคดีนี้
  2. ประการสำคัญ พนักงานสอบสวนแถลงต่อศาลในการไต่สวนครั้งล่าสุดไว้ชัดเจนว่า หากศาลจะไม่อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองตามคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 4 ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนคดีนี้ และหากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสองระหว่างการสอบสวน พนักงานสอบสวนก็ไม่คัดค้าน
  3. ทั้งสองถูกคุมขังมาแล้วเป็นเวลา 38 วัน ตลอดระยะเวลาดังกล่าว ผู้ต้องหาทั้งสองก็ไม่มีพฤติการณ์ว่าจะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือจะไม่ก่อเหตุอันตรายประการอื่น
  4. หากศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราวและประสงค์ให้มีผู้กำกับดูแลผู้ต้องหาทั้งสองระหว่างการปล่อยชั่วคราว เสนอให้ศาลแต่งตั้งพ่อของตะวัน ซึ่งเป็นนายจ้างของแฟรงค์ด้วยเป็นผู้กำกับดูแลให้ทั้งสองปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาล

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนี้ เวลาประมาณ 12.30 น. ดวงใจ นาคินทร์ ใจจันทร์เดือน รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ยังคงมีคำสั่ง ‘ยกคำร้อง’ ขอประกันทั้งตะวันและแฟรงค์ โดยให้เหตุผลเช่นเดียวกับครั้งก่อน ๆ ว่า “พิเคราะห์คำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว เห็นว่า ศาลนี้ได้ระบุเหตุผลในการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาที่ 1 และ 2 ไว้ชัดแจ้งแล้ว ตามคำร้องไม่ปรากฏเหตุอื่นในอันที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมได้

ผลของคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวข้างต้น ทำให้ตะวันและแฟรงค์จะยังคงถูกคุมขังระหว่างการสอบสวนต่อไป โดยปัจจุบันเป็นการถูกคุมขังเข้าสู่วันที่ 38 แล้ว โดยอยู่ระหว่างการฝากขังครั้งที่ 4 (21 มี.ค. – 1 เม.ย. 2567) 

ทั้งนี้ ในคดีนี้ตะวันและแฟรงค์ถูกกล่าวหาด้วยข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี พนักงานสอบสวนจึงสามารถขอฝากขังระหว่างการสอบสวนได้รวมกันไม่เกิน 48 วัน ทำให้การขอฝากขังครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา เป็นการขอฝากขังครั้งสุดท้าย หากพนักงานสอบสวนไม่สามารถสรุปสำนวนคดีและมีความเห็นควรสั่งฟ้องเสนอต่อพนักงานอัยการ ตลอดจนอัยการไม่สามารถสั่งฟ้องและยื่นฟ้องต่อศาลได้ภายในวันที่ 1 เม.ย. 2567 ทั้งตะวันและแฟรงค์ก็จะถูกปล่อยตัวในวันที่ 2 เม.ย. 2567 

ปัจจุบันตะวันและแฟรงค์ยังคงอดอาหารประท้วงตาม 3 ข้อเรียกร้องที่ได้ประกาศไว้ ได้แก่ 1.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 2.ต้องไม่มีคนเห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีกในอนาคต 3.ประเทศไทยไม่ควรเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เป็นเวลามากกว่า 1 เดือนแล้ว โดยทั้งสองเริ่มต้นประท้วงตั้งแต่วันแรกที่ถูกคุมขังในเรือนจำ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา และเมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่งทั้งสองถูกย้ายตัวไปโรงพยาบาลนอกเรือนจำตามสภาพอาการที่รุนแรงมากขึ้นตามลำดับ โดยปัจจุบันตะวันอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ส่วนแฟรงค์อยู่ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เปิดบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาคดี #ขบวนเสด็จพระเทพฯ ของ “ตะวัน – แฟรงค์” อ้างคลิปเหตุการณ์สร้างประเด็นให้เกิดความแตกแยก จึงแจ้ง ม.116-พ.ร.บ.คอมฯ เพิ่ม ก่อนศาลไม่ให้ประกัน

ทำไมต้อง ‘อดอาหารประท้วง’ ชวนฟังเสียง ตะวัน – แฟรงค์  ตลอดการประท้วง 1 เดือน และยังคงไปต่อ

ทนายความยื่นคัดค้านฝากขัง “ตะวัน – แฟรงค์” ครั้งที่ 4 แม้ไต่สวนพบว่าไม่ฝากขังก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน แต่ศาลอาญาอนุญาตให้ฝากขังต่อ 

X