ทำไมต้อง ‘อดอาหารประท้วง’ ชวนฟังเสียง ตะวัน – แฟรงค์  ตลอดการประท้วง 1 เดือน และยังคงไปต่อ

วันนี้ (14 มี.ค.) นับว่าครบรอบ 1 เดือน ของการอดอาหารประท้วงของ “ตะวัน” ทานตะวัน และ “แฟรงค์” ณัฐนนท์ ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ระหว่างถูกคุมขังในชั้นสอบสวนต่อเนื่องเป็นผัดที่ 3 แล้ว ในคดีมาตรา 116 จากกรณีที่ถูกกล่าวหาบีบแตรใส่ขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567  

การประท้วงครั้งนี้ทั้งสองมี 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ 

1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

2. ต้องไม่มีคนเห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีกในอนาคต

3. ประเทศไทยไม่ควรเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ทั้งตะวันและแฟรงค์ได้รับผลข้างเคียงจากการประท้วงรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ มาลำดับ จนถูกย้ายไปอยู่ใต้ความดูแลของ รพ.ราชทัณฑ์ ก่อนที่จะตะวันจะถูกส่งต่อไปยัง รพ. ธรรมศาสตร์จนถึงปัจจุบัน ส่วนแฟรงค์ยังคงต้องอยู่ที่ รพ.ราชทัณฑ์ต่อไป แม้ว่าจะมีอาการน่ากังวลหลายอย่าง และแม้ว่าญาติรวมถึงคนใกล้ชิดของแฟรงค์จะพยายามประสานงานกับ รพ.ทั้งสองแห่งให้ย้ายตัวแฟรงค์แล้วก็ตามแต่ก็ไม่เป็นผล

ตะวัน ประท้วงครั้งที่ 3

สำหรับตะวันนี่เป็นการอดอาหารประท้วงครั้งที่ 3 แล้ว ก่อนหน้านี้ ตะวันอดอาหารประท้วงครั้งแรกเมื่อช่วงกลางปี 2565 ระหว่างถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง จากการถูกศาลอาญาสั่งเพิกถอนประกันในคดีมาตรา 112 จากกรณีไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จ ครั้งนั้นเธอประท้วงอยู่นานเดือนเศษก่อนได้รับสิทธิประกันตัว

ส่วนการประท้วงครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ตะวันและ “แบม” ขอถอนประกันตัวเองในคดีมาตรา 112 ก่อนจะประกาศ “อดอาหารและน้ำ” เพื่อยืนหยัดตาม 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม, ยุติการดำเนินคดีทางการเมืองกับประชาชน และให้ทุกพรรคการเมืองเสนอนโยบายยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116 ระหว่างการประท้วงศาลให้ประกันตัวทั้งคน แต่ทั้งตะวันและแบมยังคงประท้วงต่อไปที่นอกเรือนจำเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะยุติลงเพราะร่างกายถึงขีดจำกัด

และนี่เป็นการประท้วงในเรือนจำครั้งที่ 3 และเป็นการอดอาหารและน้ำครั้งที่ 2 ของ ‘ตะวัน’ สิ่งที่ครอบครัวและคนใกล้ชิดเป็นกังวล นอกจากจะเป็นจุดวิกฤติที่อาจทำให้มีอันตรายถึงชีวิตแล้ว คงเป็นผลกระทบระยะยาวที่เกิดขึ้นกับสภาพร่างกายของตะวันหลังจากนี้ 

แฟรงค์ ประท้วงครั้งที่ 2

สำหรับแฟรงค์ เขาเคยอดอาหารประท้วงเมื่อช่วงปี 2564 ระหว่างถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าทุบรถควบคุมผู้ต้องหาหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อคืนวันที่ 30 ต.ค. 2563 ครั้งนั้นแฟรงค์ประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวอยู่นานเกือบเดือน หลังยุติการประท้วง 3-4 วันต่อมาเขาได้รับสิทธิประกันตัว

และครั้งนี้เป็นการประท้วงครั้งที่ 2 ของแฟรงค์แล้ว ก่อนหน้านี้แฟรงค์มีรูปร่างผอมบาง น้ำหนักตัวน้อยเพียง 45 กก. เท่านั้น ทำให้หลายคนเป็นกังวลว่าร่างกายแฟรงค์จะไม่มีพลังงานสำรองจากกล้ามเนื้อและไขมันให้ดึงมาใช้ระหว่างการอดอาหารนี้ และผลข้างเคียงอาจรุนแรงกว่าที่ผู้ประท้วงหลายคนที่ผ่านมาเคยประสบหรือไม่ 


ทบทวนเส้นทางการอดอาหารและน้ำประท้วง

และฟังเสียง ตะวัน – แฟรงค์ ที่ผ่านมา

ตะวัน ทานตะวัน

  • 14 ก.พ. – ถูกฝากขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง และอดอาหารและน้ำวันแรก

    นี่คือคำตอบที่ผู้ใหญ่ในประเทศนี้ให้กับหนู
    แต่หนูยืนยันที่จะสู้ต่อไป การก้าวขาเข้าเรือนจำเรา ไม่เหลืออะไร
    นอกจากร่างกายที่มีไว้ต่อสู้ หนูจะใช้ร่างกายและจิตวิญญาณที่เหลือสู้ต่อไป
    หนูและแฟรงค์จะอดอาหารและน้ำประท้วง เพื่อ 3 ข้อเรียกร้อง โดยจะไม่ยื่นประกันตัว”

16 ก.พ. – เรือนจำได้ส่งตัวตะวันไป ยัง รพ.ราชทัณฑ์

19 ก.พ. – มีอาการพะอืดพะอม ตัวร้อนมาก ปากแห้งแตกลอก เบลอ อ่อนเพลีย

20 ก.พ. – อาเจียนออกมาคล้ายน้ำย่อย การคิดและประมวลผลช้าลง ไม่ค่อยมีสติ

“สองคืนก่อนก็ฝันว่าได้รับหมายเรียก
คืนที่ผ่านมาก็ฝันว่ามีหมายจับและหยกโดนจับไปกับเพื่อน ๆ ต่อหน้าต่อตา
ใช้เวลาระยะเวลานานกว่าจะแยกออกว่านั่นคือฝัน”

22 ก.พ. – ถูกนำตัวส่ง รพ.ธรรมศาตร์ โดย รพ.ราชทัณฑ์ระบุเหตุผลในการส่งต่อว่า “เกินศักยภาพ” วันนี้ตะวันน้ำหนักตัวลดลงเหลือ 40 กก. รู้สึกเจ็บหน้าอก ไม่ขับถ่ายแล้ว ซูบผอมมาก ผิวคล้ำ ใต้ตาคล้ำ ปากแห้งจนลอก

“ไม่ไหวแล้ว ทรมานมาก”

23 ก.พ. – พูดจาวกวน พูดเสียงเบามาก เหนื่อยง่าย รู้สึกร้อนในร่างกายมาก ตัดสินใจจิบน้ำตามคำร้องขอของพ่อและแม่

24 ก.พ. – พ่อของตะวันยื่นประกันตัวต่อศาลอาญา

“อยากจะขอชีวิตลูกจากศาล”

25 ก.พ. – พ่อยื่นเอกสารทางการแพทย์จาก รพ.ธรรมศาสตร์เพิ่มเติมให้ศาล และศาลอนุญาตให้ฝากขังผัดที่ 2

26 ก.พ. – ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกัน และพ่อของตะวันยื่นคำแถลงต่อศาลอาญา ความว่า

ตามที่ศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ บุตรสาวของข้าพเจ้า
และนายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร นั้น


ข้าพเจ้าไม่ประสงค์ที่จะโต้แย้งคัดค้านใด ๆ แต่ขอศาลอาญาดูแลรับผิดชอบในชีวิตของผู้ต้องหาทั้งสองที่ท่านมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการสอบสวนต่อไปด้วย

เขาทั้งสองเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้องคดีแต่อย่างใด
ดังนั้นยังถือว่าเขาทั้งสองยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ตามกฎหมาย

หากเขาทั้งสองถึงแก่ความตายไประหว่างที่ถูกสอบสวนโดยคำสั่งของศาลอาญา
ก็ขอให้ท่านโปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ดวงวิญญาณเขาทั้งสองด้วยว่า
ใครจะต้องรับผิดชอบต่อการตายของเขาทั้งสอง จากการที่ท่านมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวชั่วคราวขอท่านได้โปรดพิจารณาและหาทางออกด้วย”

27 ก.พ. – มีภาวะขาดน้ำ มีภาวะเลือดเป็นกรด ปัสสาวะออกน้อยและมีสีเข้ม เลือดประจำเดือนมีสีดำคล้ำ

29 ก.พ. – เล็บนูนเป็นคลื่น ผิวคล้ำแห้งกร้าน หน้าตอบ แขนขาเล็กมาก ตาเหลืองขุ่น

“เมื่อคืนฝันว่าได้ไปเที่ยวกับครอบครัว
ได้รับของกินมา แต่กินไม่ได้”

2-3 มี.ค. – แพทย์บอกว่าตะวันอาจจะเข้าสู่ ‘ภาวะโคม่า’ ได้ พะอืดพะอม อาเจียน

5 มี.ค. – ตะวันปฏิเสธไม่ทานโพแทสเซียมเพื่อรักษาภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงานได้ ผมร่วงเยอะ ผิวแห้งแตก แม่ตะวันเล่าให้ฟังว่า

“แม่ทำใจไม่ได้จริง ๆ แม่ตกใจมาก ตัวตะวันมันบุ๋มลงไปเลย
แม่เห็นแต่ซี่โครงมันโผล่ออกมา สะโพกมันผายออกมามีเหลือแต่โครงกระดูก
เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกแล้ว”

7 มี.ค.ตะวันบอกกับแม่ว่า

“มันคือการต่อสู้ ลูกขอเดิมพันด้วยชีวิต”

8 มี.ค. – กลุ่มปัญญาชนสยาม นำโดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์ รวมถึงสุชาติ สวัสดิ์ศรี และชาญวิทย์ เกษตรศิริ ยื่นคำแถลงต่อศาลอาญาขอให้ศาลพิจารณาไม่รับฝากขังตะวันและแฟรงค์ หากรับฝากขังก็ขอให้มีคำสั่งให้ประกันตัว ทว่าศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผัดที่ 3 อีก 12 วัน

ขณะเดียวกันตะวันตกลงที่จะรับยาโพแทสเซียม เพราะค่าเลือดต่าง ๆ ต่ำลงกว่าปกติ แพทย์จึงขอให้รับยาเพื่อปรับแร่ธาตุในเลือดให้กลับมาเป็นปกติ และให้รับน้ำหวานมื้อละ 200 มล.

และแพทย์ยังให้ตะวันรับวิตามินบี 1 ทางหลอดเลือด เพื่อป้องกันอาการ Refeeding Syndrome (RFS) ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติของสมดุลอิเล็กโทรไลต์และสารน้ำในผู้ป่วยที่มีภาวะทุพโภชนาการหรือผู้ที่อดอาหารเป็นระยะเวลานาน แล้วกลับมาได้รับสารอาหารทดแทนในปริมาณเพิ่มขึ้น

11 มี.ค. – ตะวันบอกว่า

“ต้องสู้เพื่อไม่ให้เกิดแบบนี้กับคนอื่นอีก”


แฟรงค์ ณัฐนนท์

  • 14 ก.พ. – ถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และอดอาหารและน้ำวันแรก

    “ไม่ต้องห่วง ให้สู้ต่อไป
    ไม่เสียใจเลยที่ตัดสินใจทำแบบนี้
    ผมอยากจะทำให้เขาเห็นว่าถ้าเขาจะทำแบบนี้เขาจะได้เจอคนตายจริง ๆ


    “ตั้งแต่ผมเข้ามาข่าวมันดังมาก มีทั้งคนที่ถามว่าจะทำวิธีนี้จริงไหม
    คนไม่เข้าใจที่ผมเลือกวิธีนี้ แต่คนเข้าใจและเห็นด้วยว่า
    ประเทศเราต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม


    “คนในเรือนจำเห็นด้วยกับสิ่งที่ผมเรียกร้อง
    ทุกคนบอกว่า ‘ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม’
    ผมไม่เสียใจเลย ผมเป็นห่วงตะวัน …”


  • 19 ก.พ. – น้ำหนักตัวลดลงจาก 45 กก. เหลือ 39 กก. มึนหัว พูดไม่ค่อยได้
  • 21 ก.พ. – น้ำหนักลดเหลือ 38.4 กก. ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ อาเจียนคล้ายน้ำย่อย เลือดหนืดข้น ค่าน้ำตาลในเลือดลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำ ปัสสาวะน้อย ไม่ขับถ่าย
  • 22 ก.พ. – ซูบผอมมาก หายใจลำบาก ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ รู้สึกพะอืดพะอม

    “มันทรมานมาก ผมเหนื่อยมาก ผมเกือบยอมแพ้
    อยากนอนมากแต่นอนไม่ได้ นอนอยู่เฉย ๆ ยังทรมาน
    ทุกครั้งก่อนนอนผมต้องใช้เครื่องให้ออกซิเจนผ่านทางจมูก
    แต่ต่อให้ใช้เครื่องช่วยหายใจผมก็ยังนอนไม่ได้อยู่ดี
    เพราะมันเครียด และเป็นห่วงตะวันมาก”


  • 23 ก.พ. – น้ำหนักตัวลดลงเหลือ 38 กก. นอนไม่หลับ เห็นภาพซ้อน รู้สึกร้อนมากจากข้างในร่างกาย ซูบผอมมาก ไม่ขับถ่ายแล้ว ผิวเหลืองและคล้ำ อาเจียนคล้ายน้ำย่อย

    “ในตอนนี้ใจผมไหว แต่รู้ว่าร่างกายเริ่มไม่ไหวแล้ว
    ตรงนี้มันร้อนไปหมด มันไม่สบาย
    ผมเห็นภาพซ้อน เห็นกำแพงสั่น ผมนอนไม่หลับ
    มันมีแต่คนมาพูดเรื่องอะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด
    คนในนี้มีแต่คนมาพูดให้หมดกำลังใจ”


  • 27 ก.พ. – น้ำหนักตัวลดลงเหลือ 37.55 กก. ไม่ยอมใส่เครื่องช่วยหายใจอีกต่อไป มีอาการชักเกร็ง นิ้วจีบ มองเห็นเพดานมีสีแดงส้ม

    “ผมจะทำต่อไป”
  • 29 ก.พ. – มีอาการชักเกร็งเมื่อเครียด

    ในเหตุการณ์ที่ผมกับตะวันถูกฝากขัง
    หากมองให้ดี ๆ แล้วจะเห็นว่าการออกหมายเรียกทั้ง 2 ครั้ง
    เป็นเพียงข้อหาสร้างความเดือดร้อน ของผมมีดูหมิ่นเจ้าพนักงานเข้ามาอีกหนึ่งข้อหาเท่านั้น เราทั้งสองไม่เคยได้รับหมายเรียกอีก 3 ข้อหาตามหมายจับเลย ที่สำคัญศาลแขวงดุสิตยกคำร้องขอออกหมายจับตำรวจ และตำรวจไปขอศาลอาญาอีกรอบหลังจากเพิ่มข้อกล่าวหาพวกเรา


    “ผมยืนยันว่าการออกหมายจับผมกับตะวันในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมที่สุด
    เรื่องแบบนี้ถ้าเกิดขึ้นกับผมและตะวันได้ก็สามารถเกิดกับคุณได้เช่นกัน
    ดังนั้นเราต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม”
  • 2-3 มี.ค. – ชีพจรเต้นอ่อน 3 ครั้ง
  • 4 มี.ค. – ตัวเหลืองซีด ปากแห้งแตก เหม่อลอย ตอบสนองช้า อาเจียน ปวดเมื่อยตัว
  • 6 มี.ค. – ผิวหน้าเล็บแห้งและฉีกเป็นเส้น

    “ขอให้ทุกคนสู้ต่อไปเราจะยืนหยัดต่อสู้ไปด้วยกัน”

  • 8 มี.ค. – กลุ่มปัญญาชนสยาม นำโดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์ รวมถึงสุชาติ สวัสดิ์ศรี และชาญวิทย์ เกษตรศิริ ยื่นคำแถลงต่อศาลอาญาขอให้ศาลพิจารณาไม่รับฝากขังตะวันและแฟรงค์ หากรับฝากขังก็ขอให้มีคำสั่งให้ประกันตัว ทว่าศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผัดที่ 3 อีก 12 วัน
  • 9 มี.ค. – แฟรงค์ต้องรับการรักษาจากแพทย์ เนื่องจากถึงจุดที่เกินขีดจำกัดที่จะทนรับได้ไหวแล้ว อย่างไรก็ตาม รพ.ราชทัณฑ์ยังคงไม่ยอมส่งตัวแฟรงค์ไปที่ รพ.ธรรมศาสตร์
  • 12 มี.ค. – แฟรงค์ฝากข้อความว่า

    “แสงตะวันแม้อยู่ไกล
    แต่แววตา รอยยิ้ม – ที่ได้สัมผัส อยู่ใกล้
    จะบรรจุอยู่กลางใจ
    ของผู้สัมผัสได้นิรันดร์กาล
    ตราบใดที่ยังลมหายใจขอจงสู้ต่อไป
    เราจะชนะแน่นอน ขอขอบคุณทุกกำลังใจ
    ศักดินาจงพินาศประชาชนจงเจริญ”

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

X