23 เม.ย. 2562 ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ มีนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกคดีที่พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ เป็นตัวแทนฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจากการออกคำสั่งตั้งเรือนจำชั่วคราวใน มทบ.11 เมื่อกันยายน 2558 เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งตั้งเรือนจำดังกล่าว
ตามที่พันธ์ศักดิ์ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 เรื่อง กำหนดอาณาเขตเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไซยศรี ที่ให้ตั้งเรือนจำชั่วคราวขึ้นในกองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 (พัน.ร.มทบ.11) ถนนพระราม 5 กรุงเทพฯ โดยมีพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ลงนามออกคำสั่ง ผู้ฟ้องคดีกล่าวถึงเหตุที่ทำให้คำสั่งตั้งเรือนจำชั่วคราวดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 4 ประการ ได้แก่ (สรุปจากคำฟ้อง)
1) คำสั่งดังกล่าวมีข้อความและเนื้อหาที่มีความหมายไม่แน่นอน ชัดเจนเพียงพอให้ประชาชนเข้าใจได้เป็นการทั่วไป อันขัดต่อหลักการออกกฎหมายต้องชัดเจนแน่นอน และขัดต่อพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 34 เนื่องจากข้อความที่ว่า “คดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ” ไม่ได้อธิบายไว้ให้ชัดเจนว่าคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐคือคดีอะไร หมายความรวมถึงความผิดใดบ้าง ประกอบกับคำว่า “ความมั่นคงของรัฐ” เป็นคำที่มีลักษณะเป็นนามธรรมถูกนำมาใช้บ่อยอย่างกว้างขวาง ไม่มีหลักเกณฑ์ ชัดเจนแน่นอน อีกทั้ง ในคำสั่งก็ไม่ได้อธิบายว่าผู้ต้องขังในคดีตามคำสั่งนี้เป็นประเภทของผู้ต้องขังที่มีเหตุพิเศษอย่างไร แตกต่างไปจากคดีความผิดอื่นอย่างไร จึงได้นำมาคุมขังแยกไว้โดยเฉพาะ
2) เหตุผลเบื้องหลังในการออกคำสั่งมีสาเหตุมาจากเหตุผลทางการเมืองเป็นหลักจึงเป็นคำสั่งที่ออกโดยไม่สุจริต กล่าวคือ พล.อ.ไพบูลย์ ยังดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกของคสช. ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่กระทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งคสช. ได้ประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองไว้ชัดเจนว่าต้องการใช้อำนาจจัดการกลุ่มบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ดังนั้น เจตนารมณ์ที่แท้จริงในการออกคำสั่งจึงเป็นไปเพื่อตอบสนองเหตุผลทางการเมืองส่วนตนเป็นหลัก อันเป็นการบิดเบือนการใช้อำนาจที่ไม่เป็นไปวัตถุประสงค์ของกฎหมาย
3) คำสั่งดังกล่าวเป็นกฎที่มีเนื้อหาขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและความผิดเกี่ยวเนื่องโดยสาระสำคัญล้วนแต่เป็นความผิดอาญาทั้งสิ้น การที่คำสั่งดังกล่าวได้กำหนดเขตเรือนจำพิเศษขึ้นมา เพื่อใช้คุมขังผู้ต้องขังในความผิดต่อความมั่นคงของรัฐและความผิดเกี่ยวเนื่องไว้โดยเฉพาะ เท่ากับว่ากระทรวงยุติธรรมจะใช้อำนาจเลือกปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญเหมือนกันให้แตกต่างกัน อีกทั้งความผิดต่อความมั่นคงของรัฐที่อยู่ในลักษณะ 1 ของประมวลกฎหมายอาญา ถือว่าเป็นความผิดทางการเมืองโดยแท้ การแยกขังผู้ต้องขังประเภทนี้ไว้เป็นพิเศษจึงเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุความแตกต่างเรื่องความคิดทางการเมือง
นอกจากนี้ สภาพเรือนจำและกฎระเบียบปฏิบัติภายในเรือนจำดังกล่าวมีลักษณะและมาตรการที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อเป็นอุปสรรคต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิของผู้ต้องขัง กล่าวคือ สภาพห้องขังเป็นปูนทึบ 4 ด้าน ไม่มีหน้าต่าง และอยู่ในสภาพขังเดี่ยวตลอดเวลา อีกทั้งผู้ต้องขังไม่มีสิทธิในการปรึกษาคดีกับทนายความเป็นการเฉพาะตัวด้วยเนื่องจากมีทหารอยู่ระหว่างการปรึกษาคดีกับทนายความตลอด
4) การออกคำสั่งฉบับนี้เป็นกรณีที่กระทรวงยุติธรรมโดยรัฐมนตรีใช้ดุลพินิจไม่สอดคล้องกับหลักความพอสมควรแก่เหตุ กล่าวคือจากสภาพของเรือนจำชั่วคราวที่ปิดทึบทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจตราจากภายนอกได้ตลอดเวลาในกรณีที่เหตุผิดปกติเกิดขึ้นในเรือนจำ ดังที่เกิดขึ้นกับเหตุการณ์เสียชีวิตของผู้ต้องขังถึง 2 คนภายในเรือนจำชั่วคราวนี้ อีกทั้งพล.อ.ไพบูลย์ยังสามารถใช้มาตราการอื่นในการแยกขังผู้ต้องขังภายในเรือนจำพลเรือนได้ตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้
ในการนั่งฟังการพิจารณาคดีครั้งแรกนัดนี้ ตุลาการผู้แถลงคดีให้ความเห็นต่อหน้าตุลาการเจ้าของสำนวนและคู่กรณีฟังว่า ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นให้ยกฟ้องคดีนี้ เนื่องจาก
1. การออกคำสั่งดังกล่าว เป็นการออกคำสั่งที่ออกโดยผู้มีอำนาจหน้าที่ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้ถูกฟ้อง โดยรัฐมนตรีออกคำสั่งถูกต้องตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมาย ใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479
2. ข้อความและเนื้อหาตามคำสั่งตั้งเรือนจำชั่วคราวดังกล่าวไม่มีความคลุมเครือตามที่ผู้ฟ้องอ้าง เนื่องจากประเภทคดีเกี่ยวกับความมั่นคงที่คำสั่งอ้างอิงถึงมีความหมายชัดเจนในตัวแล้ว อีกทั้ง ความผิดประเภทนี้ก็ระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญา โดยบุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจได้
3. ในส่วนเหตุผลในการออกคำสั่งนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมใช้ดุลยพินิจออกคำสั่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ให้อำนาจ กล่าวคือ การใช้ดุลยพินิจเพื่อแยกผู้คุมขังและแบ่งเรือนจำออกเป็นส่วนๆ ได้ตามสมควร โดยเฉพาะผู้ต้องขังที่อาจก่อการร้ายสามารถแยกคุมขังได้ ด้วยเหตุที่มีเหตุพิเศษในการคุมขังไว้ต่างหากจากนักโทษรายอื่น
4. สภาพเรือนจำชั่วคราวตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่ามีสภาพที่มีลักษณะปูนทึบทั้ง 4 ด้านนั้น ปรากฎว่าห้องขังในเรือนจำชั่วคราวดังกล่าวมีหลายลักษณะทั้งปูนทึบและลักษณะห้องกรงขังขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แห่งคดี การแยกคุมขังแม้ผู้ต้องขังต้องตกอยู่ภายใต้สภาพบังคับบ้าง แต่ไม่อยู่ตลอดเวลา เจ้าหน้าที่เรือนจำจัดให้ผู้ต้องขังสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ในช่วงเวลา 05.30-21.30 น. และครอบครัวสามารถเข้าเยี่ยมได้ อันเป็นไปตามระเบียบของเรือนจำชั่วคราวนี้ ผู้ต้องขังจึงสามารถปฏิสัมพันธ์กับทั้งบุคคลภายนอกและภายในได้ตามสมควร การปฏิบัติดังกล่าวจึงยังไม่เข้าลักษณะที่ละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง
ตุลาการผู้แถลงคดีจึงมีความเห็นให้ยกฟ้องคดีนี้
หลังการพิจารณาคดีตุลาการหัวหน้าคณะนัดอ่านผลคำพิพากษาในวันที่ 26 เม.ย.2562 เวลา 10.00 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 10 ที่ศาลปกครองกลาง
ความเป็นมาของคุกความมั่นคงในค่ายทหาร
การตั้งเรือนจำชั่วคราวในเขตทหารนี้สืบเนื่องจากเมื่อ 12 ก.ย.2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 เรื่อง กำหนดอาณาเขตเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไซยศรี ที่มีพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในเวลานั้นเป็นผู้ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2558 เรือนจำดังกล่าวจึงถูกตั้งขึ้นภายในพื้นที่ของกองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 (พัน.ร.มทบ 11) ถนนพระราม 5 คุกดังกล่าวจึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เรือนจำชั่วคราว มทบ.11”
ในคำสั่งดังกล่าวระบุเหตุผลเอาไว้ว่า “เพื่อประโยชน์ในด้านการรักษาความปลอดภัย ความเหมาะสมในการคุมขัง และการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและคดีอื่นที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นผู้ต้องขังประเภทมีเหตุพิเศษ ที่ไม่ควรจะรวมคุมขังอยู่กับผู้ต้องขังอื่น”
การตั้งเรือนจำดังกล่าวมีขึ้นภายหลังจากเกิดเหตุการณ์วางระเบิดที่ศาลพระพรหมแยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2558 ซึ่งผู้ต้องหากลุ่มแรกที่ถูกนำตัวไปคุมขังในเรือนจำแห่งนี้ คือ นายอาเด็ม คาราดัก และไมไลลี ยูซุฟู ที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันก่อเหตุวางระเบิดครั้งนั้น
ต่อมาในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ผู้ต้องหาอีกกลุ่มที่ถูกนำตัวไปคุมขังไว้ที่นี่ คือ กลุ่มคดีหมอหยอง อันประกอบด้วย นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยอง พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา และนายจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ หรือ อาร์ท ที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ภายหลังจากนั้นไม่นาน ก็ปรากฎข่าวการเสียชีวิตของพ.ต.ต.ปรากรมจากการผูกคอตนเอง และข่าวหมอหยอง “ติดเชื้อในกระแสเลือด” จนทำให้การเสียชีวิตอย่างต่อเนื่องในคุกแห่งนี้ สังคมและสื่อต่างจับตาและเข้าตรวจสอบการใช้เรือนจำแห่งนี้อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง (อ่านเพิ่มเติม ความเห็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่อกระบวนการยุติธรรม : กรณีนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์และพ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา)
แต่นอกจากคดีดัง 2 คดี ดังกล่าวแล้ว เดือนพฤศจิกายน 2558 [simple_tooltip content=’สุดท้ายไม่มีผู้ต้องหารายใดถูกแจ้งข้อกล่าวหาด้วยพฤติการณ์ดังกล่าวนี้ แต่ภายหลังพวกเขา 5 คน กลับถูกกล่าวหาว่ามีการพูดคุยในลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ระหว่างที่ถูกคุมขังในเรือนจำขอนแก่น ทำให้ถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่เพียงข้อหาเดียวและมี 2 คน ถูกแจ้งข้อหาเดียวกันนี้จากการแชทผ่านไลน์ด้วยข้อหาเดียวกัน แต่ไม่ได้มีเนื้อหากล่าวถึงแผนการใดๆ ตามที่ถูกกล่าวหา
ทั้ง 2 คดีนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาที่ศาลทหารขอนแก่น’]มีกลุ่มผู้ต้องหา 5 คน ที่พวกเขาถูกกล่าวหาว่ามีการวางแผนประทุษร้ายบุคคลสำคัญทางการเมือง 2 คน และสร้างความปั่นป่วนในหลายพื้นที่ ช่วงกิจกรรมปั่นเพื่อพ่อ[/simple_tooltip]ได้ถูกนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำแห่งนี้เช่นเดียวกัน แต่ภายหลังพวกเขาได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำแห่งนี้ทั้งหมด (อ่านเกี่ยวกับคดีนี้ได้ที่ ประมวลเหตุการณ์คดีผู้ต้องหาวางแผนป่วนกิจกรรม Bike for Dad)
ทั้งนี้ศูนย์ทนายความฯ ได้เคยติดตามสัมภาษณ์ทนายความ 2 คน จาก 2 คดี คือ นายชูชาติ กันภัย ทนายความในคดีระเบิดราชประสงค์และเบญจรัตน์ มีเทียน ทนายความในคดีป่วนกิจกรรมปั่นเพื่อพ่อ ที่ต้องเข้าไปเยี่ยมลูกความของตัวเองในเรือนจำแห่งนี้ ทนายความทั้งสองคนให้ข้อมูลตรงกันว่าประสบความลำบากในการเยี่ยมลูกความของตนทั้งขั้นตอนเข้าเยี่ยมที่ยุ่งยาก ต้องส่งคำถามให้เจ้าหน้าที่ทหารคัดกรองคำถามก่อน และเมื่อได้พบลูกความแล้วก็ปราศจากความเป็นส่วนตัวเพราะมีเจ้าหน้าที่ทหารคอยเฝ้าตลอดระหว่างที่ทนายความและลูกความปรึกษาแนวทางคดี และยังถูกจำกัดเวลาในการให้คำปรึกษาคดีกับลูกความ
นอกจากนั้นทนายความทั้งสองคนยังได้รับการร้องเรียนจากลูกความของตนถึงสภาพของการถูกคุมขังในเรือนจำแห่งนี้ กล่าวคือชูชาติให้ข้อมูลว่าอาเดมถูกซ้อมทรมานจนทำให้ต้องรับสารภาพ และเบญจรัตน์ให้ข้อมูลว่าลักษณะการคุมขังจะเป็นแบบแยกขังเดี่ยว
อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรือนจำแห่งนี้ได้ที่ คุกทหาร: ความยุติธรรมห้ามเข้า
สถิติและฐานความผิดของผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี
ทั้งนี้ศูนย์ทนายความเคยได้รับข้อมูลจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพระบุว่าตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.58 – 8 มี.ค.59 เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีมีสถิติจำนวนผู้ต้องขังดังนี้
จำนวนผู้ต้องขังและเคยถูกคุมขังทั้งหมด จำนวน 47 คน
จำนวนพลเรือนที่เป็นผู้ต้องขังหรือเคยถูกคุมขัง จำนวน 45 คน
จำนวนเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้ต้องขังหรือเคยถูกคุมขัง จำนวน 2 คน
จำนวนผู้คุมของเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี จำนวน 6 คน
จำนวนเจ้าหน้าที่ทหารที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้คุมพิเศษ จำนวน 80 คน
โดยฐานความผิดของผู้ต้องขังที่เคยถูกคุมขังทั้งหมดได้แก่
ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในความครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย และใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ในการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ
ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นำเข้าสู่ระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ
ลักทรัพย์
ปล้นทรัพย์ ผิดต่อหน้าที่
ปล้นทรัพย์ พยายามฆ่า
ร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง พาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปีน
อ่านรายงานฉบับเต็มเกี่ยวกับสถิติชิ้นนี้ได้ที่ เปิดสถิติของผู้ต้องขังและผู้คุมเรือนจำชั่วคราวสถานที่ซึ่งหมอหยองตายครบรอบหนึ่งปี
หลังเหตุการณ์เหล่านี้ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2558 ข่าวคราวเกี่ยวกับเรือนจำแห่งนี้ก็ไม่ปรากฏเป็นข่าวในทางสาธารณะอีกว่ามีการนำตัวผู้ต้องหาคดีใดเข้าไปคุมขังเพิ่มอีก เรื่องราวเกี่ยวกับเรือนจำแห่งนี้จึงเงียบหายไปตามกาลเวลาเป็นเวลาเกือบ 3 ปีครึ่ง
จนกระทั่งปรากฏข่าวการย้ายที่ตั้งของ พัน.ร.มทบ.11 ไปอยู่ที่แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่แล้ว กระทรวงยุติธรรมก็ได้มีประกาศย้ายเรือนจำชั่วคราวแห่งนี้ไปอยู่ที่เดียวกันด้วยแต่เปลี่ยนชื่อเป็น “เรือนจำชั่วคราวแขวงทุ่งสองห้อง” แทนตามประกาศที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 มี.ค.2562 โดยมีจุดประสงค์คือ “เพื่อควบคุมผู้ต้องขังคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและคดีอื่นที่เกี่ยวเนื่อง”
จากเดิมที่อยู่ที่ถนนพระราม 5 ซึ่งตามคำสั่งมีการระบุว่า พัน.ร.มทบ.11 จะย้ายไปที่เขตหลักสี่แทนซึ่งตำแหน่งตามแผนที่แนบท้ายคำสั่งย้ายเรือนจำจะอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ (ร.1 พัน 2 รอ.) แทน