- เรือนจำพลเรือนในพื้นที่ทหาร
11 ก.ย. 2558 พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ออกคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 เพื่อตั้งเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี(เรือนจำมทบ.11) ขึ้นภายในพื้นที่กองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 ด้วยเหตุผลด้านการรักษาความปลอดภัย ความเหมาะสมในการคุมขัง การปฏิบัติต่อการคุมขังในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและคดีเกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นผู้ต้องขังประเภทมีเหตุพิเศษซึ่งไม่ควรจะคุมขังรวมกับผู้ต้องขังอื่น โดยผู้ต้องขังชุดแรกที่ถูกควบคุมในเรือนจำแห่งนี้คือผู้ต้องหาในคดีระเบิดราชประสงค์
- คดีราชประสงค์พผู้ต้องขังร้องเรียนว่ามีการทรมาน ล่ามถูกดำเนินคดีข้อหามียาเสพติดในครอบครอง
14 ก.ย.58 นายอาเด็ม คาราดัก และนายไมไรลี ยูซูฟู นับเป็น “พลเรือน” ชุดแรกที่อยู่ในความควบคุมของ “เจ้าหน้าที่ทหาร” ภายใน “ค่ายทหาร” ในระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากเดิมที่เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจในการควบคุมตัวบุคคลตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 เพียงเจ็ดวัน การตั้งเรือนจำดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนส่วนต่อขยายระยะเวลาในการควบคุมตัวบุคคลภายใต้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารได้นานมายิ่งขึ้นโดยอาศัยร่มใบของกระบวนการยุติธรรม
ภายใต้การควบคุมตัวดังกล่าวทนายความได้มีปัญหาในการเข้าถึงตัวผู้ต้องหาในช่วงแรกเนื่องจากการเข้าเยี่ยมในเรือนจำดังกล่าวจะต้องเป็นทนายความที่ได้รับการแต่งทนายความแล้วเท่านั้น ในขณะที่การแต่งทนายความนั้นทนายความจำเป็นต้องให้ลูกความลงชื่อในใบแต่งทนายความก่อนและเมื่อเข้าเยี่ยมลูกความทนายความก็ไม่สามารถพบลูกความได้เป็นการส่วนตัว ต่อมา 16 ก.พ.59 ทนายความได้ให้สัมภาษณ์ในวันนัดพิจารณาคดีดังกล่าวว่านายอาเด็มถูกทรมานในระหว่างการสอบสวน ซึ่งต่อมา พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุลได้ปฏิเสธว่าไม่มีการทรมานเกิดขึ้นระหว่างการสอบสวนคดีดังกล่าวและแจ้งต่อสื่อมวลชลว่าอาจมีการดำเนินคดีต่อทนายความซึ่งให้สัมภาษณ์ว่ามีการทรมาน นอกจากนี้ล่ามในคดีดังกล่าวยังถูกจับกุมในวันที่ 1 มิ.ย.59 ข้อหามียาเสพติดในครอบครองภายหลังจากการไปทำหน้าที่ล่ามในศาลทหารของช่วงเช้าวันดังกล่าว ทำให้จนถึงปัจจุบันจำเลยถูกควบคุมตัวภายในเรือนจำในค่ายทหารมาแล้วกว่า 14 เดือน แต่คดียังสืบพยานโจทก์ปากแรกไม่เสร็จสิ้นเนื่องจากยังไม่สามารถหาล่ามได้
- ครบหนึ่งปีการตายของหมอหยองและพ.ต.ต.ปรากรมความยุติธรรมที่เงียบงัน
วันที่ 23 ต.ค. 2558 พันตำรวจตรี ปรากรม วารุณประภา ได้เสียชีวิตภายในเรือนจำโดยแถลงการณ์กรมราชทัณฑ์ระบุเหตุจากการผูกคอตนเอง โดยสภาพห้องขังเป็นกำแพงปิดทึบทั้งสี่ด้านไม่สามารถมองเห็นจากภายนอกได้หากไม่เปิดประตู พร้อมทั้งระบุว่าจะมีการส่งศพไปชันสูตรพลิกศพที่สถาบันนิติเวชและตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ต่อมา 9 พ.ย. 58 แถลงการณ์กรมราชทัณฑ์ได้ออกมาระบุว่านายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ เสียชีวิตแล้วเนื่องจากระบบหายใจไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจากติดเชื้อในกระแสโลหิต เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2558 ซึ่งทั้งสองกรณีเป็นการตายระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องมีการชันสูตรพลิกศพและไต่สวนการตายตามมาตรา150 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อย่างไรก็ตามศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลจากทางภาครัฐด้านเดียว บุคคลอื่นไม่สามารถเข้าร่วมตรวจสอบความโปร่งใสได้ และญาติของผู้ตามทั้งสองรายไม่ได้เข้าร่วมกระบวนการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย รวมถึงไม่มีพิธีศพตามศาสนาซึ่งผิดปกติวิสัยของสังคมเป็นอย่างมาก ทำให้จนถึงปัจจุบันซึ่งครบรอบการตายหนึ่งปีของบุคคลทั้งสองแล้วแต่สาเหตุการตายของบุคคลทั้งสองภายใต้ความควบคุมของเจ้าหน้าที่ยังคงเป็นที่เคลือบแคลงของสังคม
- ศาลปกครองรับฟ้องเพิกถอนเรือนจำหลังยื่นฟ้อง 11 เดือน : ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม
9 ธ.ค.58 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ยื่นฟ้องรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ขอให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 เรื่อง กำหนดอาณาเขตเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี ซึ่งเป็นคำสั่งตั้งเรือนจำชั่วคราวขึ้นในพื้นที่ทหาร เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งจัดตั้งเรือนจำนั้นมีเนื้อหาที่มีความหมายไม่แน่นอนที่บุคคลทั่วไปจะเข้าใจอันขัดต่อพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง การจัดตั้งเรือนจำจากเหตุผลทางการเมืองเป็นคำสั่งที่ออกโดยไม่สุจริต ขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ และรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมใช้ดุลพินิจไม่สอดคล้องกับความพอสมควรแก่เหตุ โดยหวังว่าศาลปกครองจะเข้ามามีส่วนตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้ในทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามศาลปกครองเพิ่งมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 59 โดยขั้นตอนต่อไปศาลจะดำเนินการส่งคำฟ้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีทำคำให้การ กระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่เพิ่งเริ่มต้นหลังการรับฟ้อง ศาลปกครองใช้เวลา 11 เดือนในการมีคำสั่งรับฟ้องหลังจากยื่นคำฟ้องดังกล่าว นับเป็นความล่าช้าในการตรวจสอบการกระทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐอีกทางหนึ่ง
- กว่าจะได้มา…สถิติของผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี
8 มี.ค.59 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยื่นขอสถิติผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีต่อเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ต้นสังกัดของเรือนจำชั่วคราวแต่ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพได้ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลดังกล่าวต่อศูนย์ทนายความฯด้วยเหตุ “ข้อมูลดังกล่าวมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการพ.ศ.2540” ศูนย์ทนายความจึงยื่นอุทธรณ์ถึงคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการว่าข้อมูลที่ขอให้มีการเปิดเผยนั้นเป็นเพียงสถิติเท่านั้น จึงไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคล และเรือนจำชั่วคราว มทบ.11 ยังขาดความโปร่งใส การปฏิเสธให้ข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลทั่วไปยิ่งทำให้สังคมเกิดความหวาดกลัว การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเป็นการทำให้สามารถตรวจสอบอำนาจรัฐได้และประกันสวัสดิภาพของผู้ต้องขังว่าจะไม่ถูกคุมขังเป็นการลับ การเปิดเผยข้อมูลย่อมเป็นประโยชน์ต่อสังคมและหน่วยงานรัฐมากกว่า ต่อมา 29 ก.ค.59 คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการจึงมีคำวินิจฉัยให้เรือนจำพิเศษกรุงเทพเปิดเผยข้อมูลจำนวนผู้ต้องขัง ฐานความผิด และจำนวนผู้คุมภายในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีต่อศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เรือนจำพิเศษกรุงเทพจึงได้ส่งข้อมูลดังกล่าวต่อศูนย์ทนายความฯ
- สถิติผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี
หลังจากคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารมีคำวินิจฉัย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับข้อมูลจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพระบุว่าตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.58 – 8 มี.ค.59 เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีมี
- จำนวนผู้ต้องขังและเคยถูกคุมขังทั้งหมด จำนวน 47 คน
- จำนวนพลเรือนที่เป็นผู้ต้องขังหรือเคยถูกคุมขัง จำนวน 45 คน
- จำนวนเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้ต้องขังหรือเคยถูกคุมขัง จำนวน 2 คน
- จำนวนผู้คุมของเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี จำนวน 6 คน
- จำนวนเจ้าหน้าที่ทหารที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้คุมพิเศษ จำนวน 80 คน
โดยฐานความผิดของผู้ต้องขังที่เคยถูกคุมขังทั้งหมดได้แก่
- ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในความครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย และใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ในการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น
- พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ
- ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นำเข้าสู่ระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ
- ลักทรัพย์
- ปล้นทรัพย์ ผิดต่อหน้าที่
- ปล้นทรัพย์ พยายามฆ่า
- ร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง พาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปีน
- ข้อสังเกตศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนต่อสถิติผู้ต้องขังและผู้คุม
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตต่อสถิติดังกล่าวดังต่อไปนี้
- สถิติดังกล่าวเป็นการควบคุมภายใน “เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี” ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลทหารบกที่ 11 เท่านั้น การคุมขังในเรือนจำดังกล่าวจึงต้องเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาแล้ว จำนวนดังกล่าวจึงไม่รวมกับบุคคลซึ่งเคยถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 หรือคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/59 ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกินเจ็ดวัน
- สถิติเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งถูกตั้งเป็นผู้คุมพิเศษตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์พ.ศ.2479 ซึ่งสูงถึง 80 คน เทียบกับผู้คุมซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เพียง 6 คน แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่านอกจากพื้นที่เรือนจำจะตั้งอยู่ในค่ายทหารแล้ว เรือนจำดังกล่าวอยู่ภายในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร
- จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีบุคคลถูกควบคุมตัวในเรือนจำแห่งนี้ใน 4 คดี คือคดีระเบิดราชประสงค์ คดีมาตรา 112 กรณีหมอหยอง คดีเตรียมป่วนระเบิด bike for dad คดีปล้นปืนวังบูรพา รวมผู้ต้องขัง 16 ราย แสดงว่ายังมีจำนวนผู้ต้องขังคดีความมั่งคงอีกหลายรายซึ่งถูกคุมขังโดยบุคคลทั่วไปไม่รับรู้ข้อมูล
- บุคคลที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำแห่งนี้มีทั้งคดีที่ต้องขึ้นสู่การพิจารณาคดีในศาลทหารดังจะเห็นได้จากความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ความผิดเกี่ยวกับอาวุธ และความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศและคำสั่งคสช. และคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมเช่นคดีปล้นทรัพย์ คดีลักทรัพย์ คดียาเสพติดในกรณที่ไม่ได้เกี่ยวโยงกับฐานความผิดที่ต้องขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลทหาร
- จากฐานความผิดที่ใช้ในการควบคุมตัวบุคคลในเรือนจำแห่งนี้นั้นเป็นฐานความผิดซึ่งโดยปกติแล้วเรือนจำในสังกัดกรมราชทัณฑ์ก็สามารถควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีต่างๆเหล่านั้นได้ และผู้ต้องขังในคดีความผิดดังกล่าวส่วนใหญ่ก็ถูกควบคุมตัวในเรือนจำปกติ การพิจารณาว่าคดีใดเป็นความผิดต่อความมั่นคงจึงไม่ได้คำนึงจากฐานความผิดหรือพื้นที่กระทำความผิด แต่เป็นการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่โดยแท้ซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์ใดมารองรับการใช้ดุลพินิจดังกล่าว
หนึ่งปีสองเดือนที่จัดตั้งเรือนจำดังกล่าวข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าผู้ต้องขัง 2 ใน 47 รายตายระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่โดยสาเหตุชวนสงสัย การเข้าถึงทนายความที่ยากลำบาก และผู้ต้องขังร้องเรียนว่ามีการทรมานเกิดขึ้น แม้ไม่มีเรือนจำดังกล่าวเจ้าหน้าที่ทหารยังคงอำนาจควบคุมพลเรือนได้ถึงเจ็ดวัน เป็นคำถามต่อสังคมว่าเราจำเป็นต้องจัดควบคุมพลเรือนในค่ายทหาร โดยเจ้าหน้าที่ทหาร 80 นาย ในนามของ”กระบวนการยุติธรรม”อยู่หรือไม่
ข้อมูลเพิ่มเติม
คกก.ข้อมูลข่าวสารฯ วินิจฉัยให้เปิดเผยจำนวนผู้ต้องขัง ผู้คุม ในเรือนจำ มทบ.11
เปิด! คำฟ้องศาลปกครองขอเพิกถอนคำสั่งตั้งเรือนจำชั่วคราวมทบ.11