ครั้งแล้วครั้งเล่า อดอาหารประท้วง ‘เรียกร้องอะไร’ ในเรือนจำ สำรวจทุกข้อเรียกร้องนานปี แต่ยังไม่คืบหน้า?

“บุ้ง” อดอาหารประท้วงตั้งแต่ 27 ม.ค. เป็นคนแรกในรอบปีนี้ โดยมี 2 ข้อเรียกร้อง หนึ่ง ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสอง ต้องไม่มีผู้เห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีกในอนาคต

“ตะวัน” และ “แฟรงค์” อดอาหารและน้ำตั้งแต่ 14 ก.พ. โดยมี 3 ข้อเรียกร้อง

2 ข้อแรกยกมาจากข้อเรียกร้องของบุ้ง และได้เพิ่มข้อเรียกร้องที่ 3 นั่นคือ ประเทศไทยไม่สมควรที่จะเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN)  

“บัสบาส” อดอาหารประท้วงเป็นคนล่าสุดในระลอกนี้ มาตั้งแต่ 27 ก.พ. เพื่อประท้วงความอยุติธรรม และเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับผู้ต้องขังการเมืองทุกคน 

การประท้วงที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากว่า 30 ครั้ง ตลอดเกือบ 8 ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ปี 2559 โดย “ไผ่” จตุภัทร์ ผู้อดอาหารประท้วงในเรือนจำระหว่างถูกคุมขังคดีแจกใบปลิวประชามติที่ภูเขียว เรื่อยมากระทั่งตอนนี้ในช่วงต้นปี 2567 ที่มีการประท้วงของ “บุ้ง” เนติพร, “ตะวัน” ทานตะวัน “แฟรงค์” ณัฐนนท์ และ “บัสบาส” มงคล ดูเหมือนว่าผู้ประท้วงส่วนใหญ่ต่างมีข้อเรียกร้องร่วมกันไม่มากก็น้อย และเมื่อลองขมวดประเด็นของข้อเรียกร้องดูแล้ว อาจแบ่งได้เป็น 5 เรื่อง ดังนี้

  1. เรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัว ปล่อยผู้ต้องขังคดีการเมืองทุกคน
  2. เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และเรียกร้องความยุติธรรม 
  3. เรียกร้องสวัสดิภาพพื้นฐานที่ดีในเรือนจำ
  4. เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีทางการเมือง นิรโทษกรรม และยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ มาตรา 116
  5. ประท้วงรัฐบาลไทยว่าไม่สมควรเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC)

ข้อเรียกร้องอย่างการคืนสิทธิประกันตัว ปล่อยตัวผู้ต้องขังการเมือง และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ เรื่องเหล่านี้ถูกพูดถึงทั้งนอกและในเรือนจำมาตลอดหลายปี แม้จะมีการตอบรับบ้างน้อยครั้งอย่างฉวบฉวย แต่ข้อเรียกร้องเหล่านี้ยังคงไม่ได้ถูกรับฟังอย่างจริงจังและยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม 

เมื่อการเปลี่ยนแปลงยังคงไม่เกิดขึ้น นี่จึงอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ยังคงทำให้มีการประท้วงด้วยการ ‘อดอาหาร’ เกิดขึ้นอยู่ให้เห็นเรื่อย ๆ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลแล้วก็ตาม 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชวนทบทวนดู ‘ข้อเรียกร้อง’ ในการประท้วงแต่ละครั้งว่ามีความสำคัญมากเพียงใดต่อผู้ประท้วง มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และจวบจนถึงปัจจุบันข้อเรียกร้องเหล่านั้นถูกรับฟัง หรือมีความคืบหน้าเข้าใกล้ความเป็นจริงบ้างแล้วหรือยัง หรือผู้ประท้วงกว่า 30 คนได้ทำการทรมานร่างกายตนเองไปโดยสูญเปล่าเพียงฝ่ายเดียว


จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 จนถึงปัจจุบัน (5 มี.ค. 2567) มีการอดอาหารประท้วงโดยผู้ต้องขังทางการเมืองเกิดขึ้นในเรือนจำหรือระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว อย่างน้อย 30 ครั้ง โดยผู้ประท้วง 24 คน

ปี 2559 – 1 ครั้ง 

ปี 2560 – 1 ครั้ง 

ปี 2564 – 11 ครั้ง

ปี 2565 – 7 ครั้ง 

ปี 2566 – 6 ครั้ง 

ปี 2567 – 4 ครั้ง 

การประท้วงที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง อาจสามารถขมวดประเด็นของข้อเรียกร้องออกเป็น 5 เรื่อง ได้แก่

  1. สิทธิประกันตัว ปล่อยตัวผู้ต้องขังการเมือง = 23 ครั้ง
  2. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ประท้วงกระบวนการยุติธรรม 
    ประท้วงความอยุติธรรม เรียกร้องความยุติธรรม = 15 ครั้ง
  3. ความเป็นอยู่และสวัสดิภาพในเรือนจำ = 2 ครั้ง
  4. ยุติการดำเนินการเมือง นิรโทษกรรม ยกเลิก ม.112 – ม.116 = 3 ครั้ง
  5. ประเทศไทยไม่สมควรเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็น = 2 ครั้ง

หมายเหตุ : การประท้วงในบางครั้งมีข้อเรียกร้องมากกว่า 1 เรื่อง สูงสุดมี 3 เรื่อง 

เรียกร้องต่อกระบวนการยุติธรรม และองค์กรในกระบวนการยุติธรรม

1.1. คืนสิทธิประกันตัว ปล่อยผู้ต้องขังการเมือง – 23 ครั้ง

เป็นข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นมากที่สุดในการอดอาหารประท้วง เป็นเรื่องที่ผู้ต้องขังคดีการเมืองพูดถึงและให้ความสำคัญตลอดมา 

สิทธิที่จะได้รับการประกันตัว เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเป็นสิทธิตามกฎหมายตามหลักการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) เป็นหลักกฎหมายซึ่งถือว่า ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา จะต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าผิดจริง  

ปัญหาเรื่องการได้รับการประกันตัวระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาคดีในคดีจากการแสดงออกทางการเมือง ยังเกิดขึ้นเป็นระยะ ผู้ต้องขังการเมืองบางรายถูกคุมขังต่อเนื่อง ‘ยาวนาน’ โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ทั้งที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาว่ามีผิดจริง มีทั้งถูกขังตั้งแต่ชั้นฝากขัง อย่างกรณี “แม็กกี้” ซึ่งปัจจุบันถูกขังมานานกว่า 136 วันแล้ว โดยศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษา 14 มี.ค. ที่จะถึงนี้ หรือจะเป็นการถูกคุมขังยาวนานตั้งแต่ภายหลังถูกอัยการสั่งฟ้องเป็นต้นมา อย่างกรณี “วุฒิ” ที่ถูกขังนานกว่า 300 วันกว่าศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษา 

บางรายที่แม้จะถูกพิพากษาว่ามีความผิดตามกฎหมายที่เป็นอยู่ และต้องโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา แต่คดีความยังคงถือว่า ‘ไม่สิ้นสุด’ ก็มีสิทธิที่จะได้รับการประกันตัวตามกฎหมายเช่นกัน เพื่อให้ศาลที่สูงขึ้นไปโดยทบทวนคำพิพากษา

กับบางคนเห็นว่าเพียงสิทธิประกันตัวไม่เพียงพอ พวกเขาขยับเพดานข้อเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังการเมือง ‘ทุกคน’ ทั้งที่ถูกคุมขังระหว่างสู้คดีที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวและผู้ต้องขังคดีถึงที่สุดแล้ว เพราะเหตุแห่งคดีนั้นเกิดขึ้นเพียงเพราะประชาชนออกมาแสดงออก โดยมีแรงจูงใจเกี่ยวโยงกับสถานการณ์การเมืองที่บิดเบี้ยวและไม่ปกติในแต่ละช่วงเวลา 

ความคืบหน้า : สำหรับข้อเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัว ดูเหมือนว่าเมื่อการประท้วงดำเนินไประยะหนึ่ง ในเวลาต่อมาผู้ประท้วงเพียง ‘บางคน’ จะได้รับสิทธิประกันตัว ส่วนการปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองทั้งหมด ตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ยังไม่เคยเกิดขึ้น

ใกล้เคียงที่สุดเห็นว่าจะเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นภายหลังการประท้วงเมื่อช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ซึ่งเป็นการอดอาหารประท้วงที่นำโดย “เพนกวิน” พริษฐ์ และ “รุ้ง” ปนัสยา และอีกหลายคน ซึ่งต่อมาทำให้มีผู้ได้รับสิทธิประกันตัวออกจากเรือนจำเกือบทั้งหมด 

และเมื่อต้นปี 2566 ซึ่งเป็นการอดอาหารประท้วงของ “ตะวัน” “แบม” และ “สิทธิโชค” ซึ่งต่อมามีผู้ต้องขังระหว่างสู้คดีได้รับการปล่อยตัวเกือบทั้งหมดเช่นกัน เหลือเพียง 2 คนที่ไม่ได้ถูกปล่อยตัว นั่นคือ “ถิรนัย” และ “ชัยพร”

อย่างไรก็ตาม ต่อมาหลังจากนั้นก็ยังคงมีผู้ต้องขังทยอยถูกคุมขังในเรือนจำดังเดิม โดยปัจจุบันมีผู้ต้องขังการเมือง อย่างน้อย 42 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดในรอบหลายปี อย่างน้อยในรอบ 3 ปี 

1.2 ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ประท้วงความอยุติธรรม เรียกร้องความยุติธรรม – 15 ครั้ง

ส่วนใหญ่เป็นการประท้วงที่มีข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ‘โดยตรง’ เพื่อให้ศาลคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรกมาก่อนสิ่งอื่นใด ศาลต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี ฯลฯ 

แต่บางการประท้วงเป็นการ ‘เจาะจง’ ให้แก้ไขหรือปรับเปลี่ยนการทำงานส่วนใดส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม เช่น ประท้วงการจับกุมของตำรวจที่ไม่เป็นธรรม ประท้วงต่อการถูกจำกัดสิทธิไม่ให้ติดต่อบุคคลที่ไว้วางใจ ประท้วงต่อความล่าช้าของกระบวนการจัดการฝึกอบรมตามคำสั่งศาลในสถานพินิจฯ

รวมถึงมีการประท้วงที่เกิดขึ้นเพราะผู้ประท้วงรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม อาทิ “บัสบาส” ผู้ประท้วงที่ถูกพิพากษาจำคุกในคดี ม.112 จากการโพสต์เฟซบุ๊ก สูงถึง 50 ปี (โทษหลังลดหย่อนแล้ว) เป็นโทษจำคุกสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ในคดีนี้เท่าที่ศูนย์ทนายฯ ทราบข้อมูล 

ความคืบหน้า – ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมถูกยกมาเป็นข้อเรียกร้องในการอดอาหารประท้วง ‘ครั้งแรก’ เมื่อต้นปี 2566 โดย “ตะวัน” และ “แบม” ก่อนจะถูกพูดถึงอีกครั้งในต้นปี 2567 นี้ ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังคงไม่มีวี่แววการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่เห็นได้ชัดเจน

1.3 ความเป็นอยู่และสวัสดิภาพที่ดีในเรือนจำ – 2 ครั้ง

จากการถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นอยู่ในเรือนจำของผู้ต้องขังการเมือง แม้ว่าแต่ละเรือนจำจะเผชิญปัญหาที่ต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่มักมีปัญหาร่วมคล้ายกัน ส่วนหนึ่งมาจากผู้ต้องขังที่มีจำนวนมาก ทำให้เกิดความแออัดและเข้าไม่ถึงสิทธิและสวัสดิภาพขั้นพื้นฐานต่าง ๆ อย่างที่ควรจะเป็น 

ฉะนั้นการอดอาหารประท้วงบางครั้งจึงเกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องความเป็นอยู่และสวัสดิภาพที่ดีในเรือนจำ อาทิ สิทธิการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดี ทั่วถึง และไม่เลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงปี 2564, การเรียกร้องอาหารที่ดี สะอาด เพียงพอต่อการรับประทานในแต่ละมื้อ เป็นต้น   

ความคืบหน้า – ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ผู้ประท้วงทุกคนจะได้รับการตอบสนองและจัดการแก้ไขปัญหาเมื่อการประท้วงผ่านไปไม่นาน แต่ดูเหมือนว่าการจัดการปัญหานั้น ๆ จะเกิดขึ้นอย่างฉาบฉวยเพียงระยะเวลาสั้น ๆ รวมถึงไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่นำไปสู่การแก้ไขหรือปฏิบัติใช้กับเรือนจำทุกแห่ง เพราะภายหลังยังคงพบว่ามีปัญหาเดียวกันเกิดขึ้นในเรือนจำเดียวกันนั้นอยู่ 

ประท้วงเรียกร้องต่อองค์กรอื่น ๆ เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ฯลฯ

2.2 ยุติการดำเนินคดีการเมือง นิรโทษกรรม ยกเลิก ม.112 และ ม.116 – 3 ครั้ง

ข้อเรียกร้องเหล่านี้เป็นการเรียกร้องไปยังระดับโครงสร้าง ต่อฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เป็นข้อเรียกร้องที่หลายคนเห็นว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ “ต้นตอ” เพื่อตัดขาดวงจรการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกดปราบประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง 

ความคืบหน้า – ยังคงไม่มีความคืบหน้าหรือการเปลี่ยนแปลง แต่ล่าสุดมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการเมือง และ พ.ร.บ.เสริมสร้างสังคมสันติสุข จากภาคประชาชนและจากพรรคการเมืองหลายฉบับที่มีเนื้อหาสาระต่างกันในบางเรื่อง ซึ่งจะถูกผลักดันเข้าสภาฯ เพื่อให้มีการพิจารณา และหากได้รับการเห็นชอบโดยเสียงข้างมากก็จะเข้าสู่กระบวนการออกเป็นกฎหมายต่อไป 

2.3 ประเทศไทยไม่สมควรเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็น – 2 ครั้ง

กระทรวงการต่างประเทศในนามรัฐบาลไทยได้ประกาศเจตจำนงเสนอตัวเข้ารับเลือกเป็นสมาชิก “คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ” (the United Nations Human Rights Council) ในฐานะตัวแทนเดียวของสมาคมอาเซียน ซึ่งจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2567 และหากได้รับเลือกจะต้องดำรงวาระอยู่นาน 3 ปี (2568 – 2570)   

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหลายประเด็นยังคงไม่รับการจัดการแก้ไข โดยเฉพาะสถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมือง ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ตั้งแต่ช่วงปี 2563 จนถึงปัจจุบัน (29 ก.พ. 2567) มีประชาชนถูกดำเนินคดีการเมือง อย่างน้อย 1,951 คน ในจำนวน 1,279 คดี และมีผู้ต้องขังการเมือง อย่างน้อย 42 คน ซึ่งเกินกว่าครึ่งเป็นคดีที่มีข้อหาหลักเป็นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  

นี่จึงเป็นสาเหตุทำให้ผู้ประท้วงเห็นว่าประเทศไม่สมควรจะเข้ารับคัดเลือกเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการเป็นผู้นำเรื่องสิทธิมนุษยชนและรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติ

ความคืบหน้า – ข้อเรียกร้องนี้ต่างจากข้อเรียกร้องอื่น ๆ เป็นเรื่องใหม่ในปีนี้ สอดคล้องกับท่าทีทางการเมืองของรัฐบาลชุดนี้ที่นำโดยเศรษฐา ทวีสิน จากการเรียกร้องของ “ตะวัน” และ “แฟรงค์” ในการอดอาหารและน้ำประท้วง (Dry Fasting) ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 2567 จนถึงปัจจุบัน (5 มี.ค.) ยังไม่พบความคืบหน้าของข้อเรียกร้องนี้ หรือการให้ความเห็นใด ๆ จากฝั่งรัฐบาล

X