ศาลเชียงใหม่พิพากษาจำคุก 2 ปี ปรับ 60,000 ศิลปินช่างสักเขียน ‘ประเทศทวย’ บนป้ายจราจร โทษจำคุกรอลงอาญา

2 ส.ค. 2565 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ พึ่งบุญ ใจเย็น ศิลปินช่างสัก ที่ถูกฟ้องในข้อหาทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 จากกรณีขีดเขียนข้อความ “ประเทศทวย” ลงบนแผ่นป้ายจราจรและเสาไฟฟ้า 14 จุด ในเมืองเชียงใหม่ 

สำหรับคดีนี้เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2563 พึ่งบุญถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์เรียกให้เข้าไปหาที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ แต่ปรากฏว่าเมื่อไปถึง เขาได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวเอาไว้ พร้อมกับแสดงหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาพร้อมกับปล่อยตัวไปโดยวางหลักทรัพย์ประกัน 50,000 บาท 

ต่อมาวันที่ 8 ก.ค. 2564 พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องพึ่งบุญต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้หลักประกัน 50,000 บาท เช่นเดียวกับชั้นตำรวจและอัยการ

คดีนี้มีการสืบพยานไประหว่างวันที่ 7-9 มิ.ย. 2565 สำหรับข้อต่อสู้ของจำเลยโดยสรุปคือ การขีดเขียนป้ายจราจรไม่ใช่การทำลาย ทำให้เสียหาย หรือทำให้เสื่อมค่า จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 360 สามารถทำให้กลับสู่สภาพเดิมได้ด้วยการลบ และยังมีกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ กำหนดความผิดเรื่องการขีดเขียนป้ายจราจรไว้โดยเฉพาะแล้ว อีกทั้งการเขียนป้ายจราจรของจำเลยเป็นลักษณะ “กราฟฟิตี้” ที่เป็นการแสดงออกทางศิลปะรูปแบบหนึ่ง

ภาพประกอบ ป้ายสัญญาณจราจรที่เขียนข้อความ “ประเทศทวย”

ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้อ่านคำพิพากษา โดยสรุปได้ว่าโจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 18 มีนาคม 2563 จำเลยใช้ปากกาเมจิกจำนวนหลายด้าม ขีดเขียนป้ายจราจร และเสาไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณเกาะกลาง แยกประตูราชวงศ์ (ประตูจีน) ถนนช้างม่อยตัดใหม่ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ และเกาะกลาง แยกชัยศรีภูมิ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 14 จุด ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อแจ้งสัญลักษณ์การจราจรและให้แสงสว่างแก่ประชาชนโดยทั่วไปซึ่งเป็นสาธารณะประโยชน์ เป็นเหตุให้ป้ายจราจรและเสาไฟฟ้าส่องสว่างดังกล่าวเสียหาย ถูกทำลาย เสื่อมค่าลง คิดค่าเสียหาย 37,600 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360, 33

ทางนำสืบนายปฏิพัฒน์ อุ่นบ้าน วิศวกรเทศบาลนครเชียงใหม่เบิกความว่า พบเห็นข้อความว่าประเทศทวยบนป้ายจราจรและเสาไฟฟ้าส่องสว่างที่เกิดเหตุหลายจุด จึงถ่ายภาพไว้และไปลงบันทึกประจำวัน เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบกล้องวงจรปิด พบชายคนหนึ่งเล่นสเก็ตบอร์ดมายังจุดเกิดเหตุ ทำการเขียนข้อความไว้ก่อนจะเล่นสเก็ตบอร์ดหลบหนีไป 

ต่อมา 3 เมษายน 2563 กล้องวงจรปิดพบชาย 3 คนเล่นสเก็ตบอร์ดผ่านบริเวณแยกศรีภูมิ มีชายรูปลักษณะคล้ายจำเลยเขียนข้อความบนป้ายจราจร จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นคนร้าย เจ้าพนักงานนำภาพจากกล้องวงจรปิดให้จำเลย จำเลยยอมรับว่าเป็นจำเลยจริง และได้เขียนแบบอักษรให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ

พนักงานสอบสวนแจ้งกล่าวหาทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 360 และจำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือรับว่าจำเลยเป็นผู้เขียนข้อความจริง แต่การกระทำไม่เป็นความผิด

นายปฏิพัฒน์สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดแต่เช็ดไม่ออก จึงใช้ทินเนอร์เช็ดที่เสาไฟฟ้าส่องสว่าง ปรากฏว่าสามารถเช็ดออกได้ แต่การใช้ทินเนอร์ทำให้ป้ายจราจรหลุดลอกและบิด ส่วนที่เป็นพื้นผิวเกิดความขุ่นมัว จึงสั่งให้เปลี่ยนป้ายใหม่

จำเลยรับว่าเป็นผู้เขียนข้อความจริง แต่เป็นการเขียนข้อความตามที่เจ้าพนักงานบอกให้เขียน เป็นงานศิลปะแนวกราฟฟิตี้ จำเลยไม่มีเจตนาทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เสื่อมค่าทรัพย์สินสาธารณะ จำเลยได้จัดวางองค์ประกอบการเขียนข้อความ จึงไม่ทำให้การสื่อความหมายผิดเพี้ยนไป และคำว่า “ประเทศทวย” นั้น คำว่า “ทวย” แปลว่า หมู่ เหล่า รวมแล้วแปลว่า “ประเทศของเรา” โดยจำเลยใช้ปากกาเคมีที่มีคุณสมบัติคล้ายสีสเปรย์เขียน

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยใช้ปากกาเคมีจำนวนหลายด้ามเขียนข้อความลงบนป้ายจราจรและเสาไฟฟ้าส่องสว่าง ในความดูแลของโจทก์ร่วม หลายจุด ข้อเท็จจริงยุติได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด

โจทก์มีนายปฏิพัฒน์ นำสืบว่าออกตรวจงานพบว่ามีป้ายจราจรบริเวณถนนช้างม่อยตัดใหม่ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ ถูกขีดเขียน จึงนำผ้าชุบน้ำเช็ดแต่เช็ดไม่ออก จึงใช้ทินเนอร์ลบข้อความบนเสาไฟ สามารถลบออกได้ แต่ใช้ลบป้ายจราจร เมื่อเวลาผ่านไปป้ายจราจรเกิดการหลุดลอกและบิด ส่วนพื้นผิวขุ่นมัว

เห็นว่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 มีองค์ประกอบคือ ผู้ใด ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ การทำให้เสียหาย หมายถึง การทำให้ทรัพย์นั้นชำรุด บุบสลาย ทำลาย หมายถึง การทำให้ทรัพย์นั้นหมดสภาพทรัพย์เดิมไปทั้งหมดหรือบางส่วน ทำให้เสื่อมค่าหมายถึง การทำให้มูลค่าของทรัพย์นั้นลดลง แต่ไม่ถึงกับเป็นการทำลาย และการทำให้ไร้ประโยชน์ หมายถึงการทำให้ใช้การไม่ได้ แม้ตัวทรัพย์ยังคงสภาพอยู่

ในส่วนของเสาไฟฟ้านั้น จำเลยนำสืบว่าเสาไฟฟ้ายังสามารถใช้การได้ตามปกติ การเขียนข้อความไม่ทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเสาไฟฟ้า ในส่วนของป้ายจราจร มีนางละเอียด ศรีล้อม เบิกความว่าบางป้ายจำเลยเขียนทับป้ายทำให้เสื่อมค่าและสื่อความหมายผิดเพี้ยนไป เห็นว่าป้ายสัญญาณจราจรใช้บอกเหตุล่วงหน้า ทำให้ผู้ใช้ถนนเข้าใจตรงกันทั่วโลก การเขียนคำว่า “ประเทศทวย” แม้ว่าไม่ถึงเป็นการทำลายป้ายสัญญาณจราจร แต่ทำให้ป้ายสื่อความหมายผิดเพี้ยนไป ทำให้สภาพของป้ายจราจรเปลี่ยนแปลงไปและทำให้ป้ายจราจรเสื่อมค่าลง

ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าสามารถลบข้อความได้และสามารถเปลี่ยนสติ๊กเกอร์บนแผ่นเหล็กเดิมได้ มีนายปฏิพัฒน์เบิกความว่าเมื่อใช้ทินเนอร์ลบข้อความ ทำให้ป้ายจราจรเกิดการหลุดลอกและบิด ส่วนพื้นผิวขุ่นมัว ไม่สะท้อนแสง หากเปลี่ยนสติ๊กเกอร์อาจทำให้น้ำเข้าและไม่สามารถใช้ได้อย่างคงทนถาวร

แม้ว่าจำเลยนำสืบว่าสามารถลบออกได้ ก็หาทำให้การกระทำความผิดตามกฎหมายนี้ไม่เป็นความผิดไม่ เพราะการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าเพียงชั่วคราว ก็เป็นความผิดแล้ว ข้อต่อสู้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

จำเลยนำพยานเบิกความว่าเป็นงานศิลปะแนวกราฟฟิตี้ ก็หาใช่องค์ประกอบความผิดไม่ ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นดังกล่าว และเมื่อจำเลยกระทำต่อทรัพย์ซึ่งเป็นป้ายสัญญาณจราจร ย่อมประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลได้ว่าเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่มีไว้หรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้องโจทก์


โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเขียนข้อความบนเสาไฟฟ้าและป้ายสัญญาณจราจรจำนวน 14 จุด โดยไม่ได้ระบุวันเวลาการกระทำความผิดแน่ชัด และฟังได้ว่าเสาไฟฟ้าไม่เสียหาย จึงลงโทษจำเลยได้เพียงกรรมเดียว

ศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี ปรับ 60,000 บาท ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน ปรับ 40,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และให้คุมประพฤติ 1 ปี ให้ทำกิจกรรมบริการสังคม ด้านทำความสะอาดหรือซ่อมแซมป้ายสัญญาณจราจร หรือทำความสะอาดทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ 48 ชั่วโมง

เมื่อศาลอ่านคำพิพากษา เรื่องค่าปรับ ศาลได้แนะนำให้จำเลยสามารถบริการสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับได้ หรือจะขอเวลา 30 วัน ในการหาเงินมาชำระค่าปรับก็ได้ 

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจศาลได้ควบคุมตัวจำเลยไปยังห้องขังใต้ถุนศาลเพื่อรอการชำระค่าปรับ ต่อมาทางจำเลยได้ตัดสินใจชำระค่าปรับเป็นเงิน 39,500 บาท (ลดลง 500 บาท เนื่องจากศาลกักขังแทนค่าปรับในวันนี้) โดยได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนราษฏรประสงค์

พึ่งบุญ ใจเย็น หรือ “หมุน” ปัจจุบันอายุ 35 ปี ประกอบอาชีพเป็นช่างสัก เคยเป็นอดีตทีมชาติกีฬาลองบอร์ด (Longboard) และกิจกรรมยามว่างมักทำงานศิลปะล้อเลียนการเมือง เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสังคมในประเด็นต่าง ๆ เช่น ร่วมทำอาหารแจกคนไร้บ้านและตามแคมป์คนงาน เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครทำแนวกันไฟป่ากับสภาลมหายใจเชียงใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้เขายังเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองครั้งต่างๆ

X