วันที่ 22 ก.ย. 63 ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ นายศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์ประจําภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เดินทางเข้ายื่นคำให้การในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญต่อพนักงานสอบสวนในคดีของนายพึ่งบุญ ใจเย็น ที่ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 360 เรื่องการทำให้ทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหาย จากการเขียนข้อความว่า “ประเทศทวย” ลงบนป้ายจราจรในบริเวณตัวเมืองเชียงใหม่
คดีของนายพึ่งบุญ หลังมีการจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาเขาตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 63 โดยผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และพนักงานสอบสวนได้อนุญาตตามคำร้องของญาติของนายพึ่งบุญที่ได้ใช้เงินสดจำนวน 50,000 บาท ยื่นประกันตัวในระหว่างที่พนักงานสอบสวนทำการรวบรวมพยานหลักฐานทางคดี โดยที่นายพึ่งบุญต้องเดินทางเข้ารายงานตัวที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ในระยะเวลา 4 เดือน อย่างน้อย 6 ครั้งแล้ว เพื่อยืนยันว่าไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี และรอให้พนักงานสอบสวนมีความเห็นทางคดีต่อไป
ความเป็นมาของสตรีทอาร์ต (street art) หรือศิลปะบนท้องถนน
ในส่วนคำให้การของศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ ที่ได้ยื่นต่อพนักงานสอบสวนในวันนี้ ได้กล่าวถึงที่มาของกราฟฟิตี้ (Graffiti) ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของผลงานศิลปะที่เป็นภาพเขียนบนพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากเทคนิคของการขูดขีด การสร้างร่องรอย การพ่นสี ตลอดจนการวาด กราฟฟิตี้มักเป็นที่รู้จักในสังคมไทยโดยทั่วไปในนามของสตรีทอาร์ต (street art) หรือศิลปะบนท้องถนน ซึ่งเป็นงานศิลปะที่อยู่ภายใต้การส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นสําคัญ ทว่าแท้จริงแล้ว จุดกําเนิดของกราฟฟิตี้คือเจตจํานงในการแสดงออกซึ่งเสรีภาพ จินตนาการต่อชีวิตที่ดํารงอยู่ และความใฝ่ฝันถึงชีวิตที่ปรารถนา อันเป็นสาระสําคัญในการแสดงออกซึ่งความเป็นมนุษย์ นักวิชาการเห็นว่าจุดกําเนิดของกราฟฟิตี้มีมาตั้งแต่สมัย ก่อนประวัติศาสตร์ ภาพเขียนสีโบราณในถ้ำก็ล้วนแสดงออกซึ่งหัวใจสําคัญของความเป็นมนุษย์
กราฟฟิตี้ในโลกสมัยใหม่มีบทบาทสําคัญยิ่ง โดยเฉพาะเป็นทั้งการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองที่ถูกเก็บกดและปิดกั้น ทั้งยังเป็นตัวแทนของการดํารงอยู่อย่างไร้ตัวตนของบรรดาชนชายขอบของสังคม
กล่าวอย่างตรงไปตรงมาที่สุด ในสังคมที่ปกครองด้วยระบอบอํานาจนิยม กราฟฟิตี้จะยิ่งมีบทบาทและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในฐานะปฏิกิริยาสะท้อนกลับจากการถูกกดไม่ให้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ในทางกลับกัน ประเทศซึ่งระบอบประชาธิปไตยเป็นที่ยอมรับและมีการเคารพซึ่งสิทธิมนุษยชน กราฟฟิตี้จะได้รับการยอมรับและถูกยกย่องในฐานะงานศิลปะ ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตทางภูมิปัญญาของสังคม
“ประเทศทวย” สะท้อนความอึดอัดและการควบคุมความคิดเห็นที่แตกต่างของสังคมไทย
สำหรับในกรณี “ประเทศทวย” ศรยุทธให้ความเห็นว่าเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ศิลปะกราฟฟิตี้ในจังหวัดเชียงใหม่ที่สะท้อนถึงอุณหภูมิที่อึดอัดและบรรยากาศทางการเมืองที่ควบคุมความคิดเห็นอันแตกต่างได้เป็นอย่างดีของสังคมไทย โดยเฉพาะการควบคุมพื้นที่ในการรับรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในสื่อกระแสหลัก ตลอดจนการควบคุมและตรวจตราการใช้พื้นที่ออนไลน์ในการแสดงความคิดเห็น
“ประเทศทวย” จึงเกิดขึ้นเพื่อตั้งคำถามในความสัมพันธ์ของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐในการแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนที่ควรเป็น มากกว่าการควบคุมให้ประชนชนตกอยู่ในระบอบที่ไม่เป็นธรรม กราฟฟิตี้ประเภทนี้จึงไม่ใช่สิ่งที่รกหูรกตา ทว่าคือสัญญาณของประชาชนที่ส่งต่อรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ “ประเทศทวย” จึงเป็นสัญญาณทางสังคม เป็นจินตนาการของประชาชนที่อยากเห็นสังคมไทยมีความก้าวหน้าในทิศทางที่ถูกต้อง
พยานจึงมีข้อสังเกตว่า การใช้พื้นที่ในการดูแลของรัฐ เช่น ป้ายจราจรและป้ายบอกทาง ซึ่งอยู่ริมถนนและข้างตลาดในการแสดงผลงาน พื้นที่เหล่านี้สาธารณชนเห็นได้ง่ายและปรากฏอยู่ทั่วไปในที่ชุมนุมชน ดังเช่นกรณีกราฟฟิตี้ “ประเทศทวย” นี้สาธารณชนไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านและรู้สึกขัดตาแต่อย่างใด แต่เห็นว่าเป็นคําร้องต่อความไม่เป็นธรรมในพื้นที่ซึ่งประชาชนใช้ชีวิตอยู่จริง และผลงาน “ประเทศทวย” นี้ มีคุณค่าในทางศิลปะสมัยใหม่ ไม่ใช่เป็นการทําลายทรัพย์สินของทางราชการ แต่กลับทําให้เกิดมูลค่าเพิ่มในทางศิลปวัฒนธรรมอีกต่างหาก
สุดท้าย กราฟฟิตี้ “ประเทศทวย” คือตัวแทนของสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิที่จะมีสิทธิ‘ (the right to have rights) ในการแสดงออกทางความคิดภายในสังคมที่มีข้อจํากัดในวิธีคิดเรื่องเสรีภาพ ทั้งที่ปรากฏในแง่มุมของกฎหมายและจินตนาการถึงสังคมที่เป็นธรรม “ประเทศทวย” จึงไม่ใช่แค่รอยขีดข่วนหรือการวาด แต่คือคําถามต่อสังคมไทยว่าเราจะอดทนอยู่ในสังคมที่ปิดกั้นสิทธิของประชาชนไปอีกนานเท่าไหร่ สังคมที่เสรีภาพเป็นทั้งภาพฝันและกรงขังที่สร้างขึ้นโดยชนชั้นนํา สิทธิที่จะมีสิทธิในความหมายนี้จึงเป็นการสร้างกรอบจินตนาการว่าด้วยเสรีภาพขึ้นมาใหม่จากกลุ่มชนต่างๆ ที่ไร้พื้นที่ในการแสดงออกทางความคิดเห็น สังคมที่กําลังมุ่งหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะเห็นคุณค่าและย้อนกลับมาพิจารณาเพื่อรับฟังการเปล่งเสียงในรูปแบบต่างๆ ของประชาชน
เมื่อได้ยื่นคำให้การดังกล่าวแก่พนักงานสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ทนายความได้สอบถามว่าในการนัดหมายรายงานตัวของนายพึ่งบุญที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ วันที่ 24 ก.ย. 63 นี้ ทางพนักงานสอบสวนจะมีความเห็นทางคดีและส่งสำนวนการสอบสวน พร้อมตัวผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่เลยหรือไม่ ด้านพนักงานสอบสวนระบุยังไม่สามารถให้คำตอบได้ โดยจะต้องนำสำนวนการสอบสวนเรียนผู้บังคับบัญชาเพื่อมีความเห็นทางคดีก่อน จึงต้องรอติดตามในวันที่ 24 ก.ย. 63 ตามที่ได้นัดหมายไว้ต่อไป