ประมวลคำให้การพยานคดีเขียน ‘ประเทศทวย’ บนป้ายจราจร-เสาไฟ ก่อนนัดพิพากษา 2 ส.ค. 65

วันที่ 2 ส.ค. 2565 นี้ เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ พึ่งบุญ ใจเย็น ศิลปินช่างสัก ที่ถูกฟ้องในข้อหาทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 จากกรณีขีดเขียนข้อความ “ประเทศทวย” ลงบนแผ่นป้ายจราจรและเสาไฟฟ้าหลายจุดในเมืองเชียงใหม่ 

พึ่งบุญ ใจเย็น หรือ หมุน ปัจจุบันอายุ 35 ปี ประกอบอาชีพเป็นช่างสัก เคยเป็นอดีตทีมชาติกีฬาลองบอร์ด (Longboard) และกิจกรรมยามว่างมักทำงานศิลปะล้อเลียนการเมือง เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสังคมในประเด็นต่าง ๆ เช่น ร่วมทำอาหารแจกคนไร้บ้านและตามแคมป์คนงาน เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครทำแนวกันไฟป่ากับสภาลมหายใจเชียงใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้เขายังเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองครั้งต่างๆ และกิจกรรมยืนหยุดขังเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวอีกด้วย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนทบทวนการต่อสู้คดีนี้ และสรุปปากคำพยานที่ถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาล

.

ภาพรวมของการสืบพยาน

คดีนี้มีการสืบพยานไประหว่างวันที่ 7-9 มิ.ย. 2565 โดยอัยการโจทก์นำพยานเข้าเบิกความจำนวน 5 ปาก ประกอบด้วย 1. ปฏิพัทธ์ อุ่นบ้าน วิศวกรไฟฟ้าหัวหน้างานสัญญาไฟและเครื่องหมายจราจรของเทศบาลนครเชียงใหม่ 2. ละเอียด ศรีล้อม นิติกร เทศบาลนครเชียงใหม่ 3-4. ร.ต.อ.ชัยพล ชัยชนะ และ พ.ต.ต.ธีระศักดิ์ ธัญธราดล ฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ 5. ร.ต.อ.ปฏิกร วังกาใจ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่

ส่วนของฝ่ายจำเลย ได้นำพยานขึ้นเบิกความจำนวน 3 ปาก คือ ตัวจำเลย, ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์นั้น พยายามแสดงให้เห็นว่า การขีดเขียนถ้อยคำว่า “ประเทศทวย” บนแผ่นป้ายจราจรและเสาไฟฟ้าเข้าลักษณะของการทำลาย ทำให้เสียหาย หรือทำให้เสื่อมค่าซึ่งทรัพย์สาธารณประโยชน์ โดยคำฟ้องกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 จำเลยได้ใช้ปากกาเมจิกเขียนข้อความลงบนแผ่นป้ายจราจรและเสาไฟหลายแห่งในบริเวณอำเภอเมืองเชียงใหม่ รวมจำนวน 14 จุด เป็นเหตุให้ป้ายจราจรและเสาไฟ อันมีไว้แก่ประชาชนโดยทั่วไปซึ่งเป็นสาธารณะประโยชน์เสียหาย ถูกทำลาย เสื่อมค่าลง และคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 37,600 บาท

สำหรับข้อต่อสู้ของจำเลยโดยสรุปคือ การขีดเขียนป้ายจราจรไม่ใช่การทำลาย ทำให้เสียหาย หรือทำให้เสื่อมค่า จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 360 สามารถทำให้กลับสู่สภาพเดิมได้ด้วยการลบ และยังมีกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ กำหนดความผิดเรื่องการขีดเขียนป้ายจราจรไว้โดยเฉพาะแล้ว อีกทั้งการเขียนป้ายจราจรของจำเลยเป็นลักษณะ “กราฟฟิตี้” ที่เป็นการแสดงออกทางศิลปะรูปแบบหนึ่ง

ย้อนอ่าน อัยการสั่งฟ้องศิลปินช่างสักเชียงใหม่ เขียน “ประเทศทวย” บนป้ายจราจร ก่อนศาลให้ประกัน 50,000 บาท

.

.

พยานโจทก์ปากแรก – วิศวกร หัวหน้างานสัญญานไฟและเครื่องหมายจราจร เทศบาลนครเชียงใหม่

พยานปากแรกของฝ่ายโจทก์ คือ ปฏิพัทธ์ อุ่นบ้าน วิศวกรไฟฟ้าชำนาญการ เป็นหัวหน้างานสัญญาณไฟและเครื่องหมายจราจร ดูแลในเขตพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ โดยมีหน้าที่ดูแลไฟจราจรและเครื่องหมายจราจร ซึ่งเกี่ยวพันกับคดีนี้

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2563 ปฏิพัทธ์ออกตรวจงานบริเวณถนนช้างม่อยตัดกับถนนช้างม่อยตัดใหม่ ประตูจีน พบว่าป้ายจราจรและเสาไฟฟ้ามีการขีดเขียนข้อความ “ประเทศทวย” หลายจุด จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่เทศบาลมาใช้ผ้าชุบน้ำลบทำความสะอาด แต่ไม่สามารถล้างออกได้ พยานจึงไปลงบันทึกประจำวันที่ สภ.เมืองเชียงใหม่

ปฏิพัทธ์อธิบายว่าเครื่องหมายจราจรประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1. แผ่นเหล็ก 2. สติ๊กเกอร์สะท้อนแสง และ 3. สติ๊กเกอร์ไม่สะท้อนแสงซึ่งจัดทำเป็นเครื่องหมายจราจร 

ต่อมาเมื่อจะมีขบวนเสด็จพระราชดำเนินผ่าน ปฏิพัทธ์จึงได้ประสานงานตำรวจเพื่อทำความสะอาดป้ายจราจรและเสาไฟอีกครั้งโดยใช้ทินเนอร์เช็ด แต่ปรากฎว่าทินเนอร์สามารถเช็ดทำความสะอาดได้ แต่ปากกาเคมีเป็นชนิดติดทนถาวร เมื่อใช้ทินเนอร์เช็ดทำให้สติ๊กเกอร์ทั้งส่วนที่ 2 สติ๊กเกอร์สะท้อนแสง และส่วนที่ 3 สติ๊กเกอร์ไม่สะท้อนแสงเสียหาย โดยสติ๊กเกอร์ส่วนที่ 3 เกิดการลอกและบิด ส่วนสติ๊กเกอร์ส่วนที่ 2 เมื่อโดนทินเนอร์ก็จะขุ่นมัวและไม่สะท้อนแสงอีก 

ดังนั้นพิจารณาแล้วเห็นว่าหากใช้ป้ายดังกล่าวต่อไป อาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการใช้ทาง จึงสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเปลี่ยนป้ายใหม่ ทั้งป้ายที่มีการขีดเขียนและป้ายที่ใช้ทินเนอร์ลบ ส่วนเสาไฟฟ้าก็ได้ให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเช็ดทำความสะอาด ปรากฏว่าสามารถเช็ดทำความสะอาดได้ไม่ทำให้เกิดความเสียหาย

ต่อมาพนักงานสอบสวนเรียกปฏิพัทธ์ไปพบและลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับความเสียหาย และได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบและได้รับมอบหมายให้กลุ่มนิติกร เทศบาลนครเชียงใหม่ ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อไป

ปฏิพัทธ์เบิกความต่อไปว่า การขีดเขียนข้อความ “ประเทศทวย” ทำให้ป้ายจราจรเสียหาย โดยทำให้ผู้ใช้ถนนมองป้ายไม่ชัดเจน และเห็นว่าบุคคลทั่วไปสามารถเขียนข้อความลงบนป้ายจราจรได้ แต่เพียงไม่สมควร เนื่องจากเป็นทรัพย์สินของราชการ

ปฏิพัทธ์ตอบทนายความถามค้านว่า หลังจากพบเห็นว่าข้อความบนแผ่นป้ายจราจร ก็ทิ้งไว้เป็นเวลาประมาณ 1 เดือน จึงได้เช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่าและทินเนอร์ โดยพยานไม่ทราบว่าทินเนอร์เป็นสารละลายและเป็นตัวทำละลายพลาสติกพีวีซีและโพลิเมอร์ได้ และไม่ทราบว่าปากกาเคมีมีกี่ประเภท 

ปฏิพัทธ์ได้คิดหาวิธีเช็ดทำความสะอาดป้ายจราจรเองโดยไม่ได้ปรึกษาผู้รู้ และไม่ได้ทดลองใช้แอลกอฮอล์หรือน้ำยาโพลิเมอร์หรือน้ำยาอื่นๆ เช็ดทำความสะอาดป้ายจราจรเก่าๆ ดูก่อน เพราะในสำนักงานมีแต่ทินเนอร์

นอกจากนี้เห็นว่าจะต้องเปลี่ยนป้ายใหม่ เนื่องจากไม่สามารถนำสติ๊กเกอร์มาแปะทับลงบนแผ่นสติ๊กเกอร์เดิมได้ เนื่องจากทำให้ผิวไม่เรียบ การใช้งานไม่คงทน น้ำอาจซึมเข้าไปได้

.

พยานโจทก์ปากที่สอง – นิติกร เทศบาลนครเชียงใหม่ ผู้กล่าวหา

พยานปากที่สองของฝ่ายโจทก์คือ ละเอียด ศรีล้อม นิติกร เทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากนายกเทศมนตรีให้ร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีนี้

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2563 ละเอียดทราบเรื่องจากปฏิพัทธ์ว่ามีผู้เขียนป้ายจราจรว่า “ประเทศทวย” ด้วยปากกาเคมี ต่อมาผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายละเอียดให้ดำเนินการ โดยได้รับหนังสือจากนายสุนทร ยามศิริ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ปฏิบัติราชการแทน ได้มอบหมายให้ละเอียดไปร้องทุกข์กล่าวโทษที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ ข้อหาทำให้เสียทรัพย์อันเป็นทรัพย์สินของเทศบาลมีไว้เพื่อบริการสาธารณะ โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด

ละเอียดเห็นภาพป้ายจราจรที่เขียนคำว่าประเทศทวยแล้ว มีความเห็นว่าเป็นการทำให้ภาพเครื่องหมายจราจรและเสาไฟฟ้าเสื่อมค่าไป และทำให้เครื่องหมายจราจรสื่อความหมายผิดไป เช่น ป้ายห้ามจอด จะมีข้อความคำว่าประเทศทวย ทับเครื่องหมายขีดเฉียงระหว่างวงกลม เครื่องหมายห้ามเลี้ยวขวาก็ปรากฏข้อความประเทศทวย และทวย ทวย อีกหลายจุด ทำให้ไม่สามารถเข้าใจความหมายของป้ายดังกล่าวได้ โดยป้ายจราจรเป็นทรัพย์สินของเทศบาลซึ่งมีไว้ใช้ร่วมกันเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ละเอียดมีความเห็นส่วนตัวว่า บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพหรือจินตนาการที่จะแสดงออกได้ แต่การใช้เสรีภาพหรือจินตนาการจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและไม่ทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อนเสียหาย ป้ายจราจรและเสาไฟได้จัดซื้อมาจากเงินภาษีของประชาชน บุคคลย่อมมีสิทธิร่วมกันบำรุงรักษาไม่ใช่ทำลาย จึงเห็นว่าการขีดเขียนข้อความทำให้ป้ายจราจรเสื่อมค่า ใช้การไม่ได้

ละเอียดตอบทนายความถามค้านว่า พยานเห็นว่างานศิลปะมีคุณค่า แต่จะต้องขีดเขียนลงบนสิ่งที่ได้รับอนุญาตหรืออยู่ในที่ที่ควรอยู่ แต่ไม่เคยมีประชาชนคนใดมาร้องเรียนกรณีป้ายดังกล่าว และไม่ทราบจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น เนื่องจากข้อความที่ถูกเขียนลงไปบนป้ายจราจรหรือไม่

นอกจากนี้เทศบาลนครเชียงใหม่ มีฝ่ายเทศกิจที่ดูแลความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ แต่เทศกิจไม่ได้เข้ามาดำเนินการ เนื่องจากเป็นการทำลายทรัพย์ซึ่งมีไว้เพื่อสาธารณะ ไม่ใช่การทำให้สปรก แต่อย่างไรก็ตามหากเทศกิจเจอเหตุการณ์ดังกล่าวซึ่งหน้า จึงจะมีอำนาจดำเนินการ จับกุมหรือเปรียบเทียบปรับก่อน หากผู้กระทำไม่ยอมเสียค่าปรับ ฝ่ายเทศกิจก็จะส่งเรื่องให้ฝ่ายนิติกรต่อไป อย่างไรก็ตามจำเลยในคดีนี้ไม่เคยถูกเทศกิจเรียกเข้าไปว่ากล่าว ตักเตือน หรือปรับ เพราะไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของเทศกิจ

แม้ว่าตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 44 (3) พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตักเตือนผู้กระทำความผิดหรือสั่งให้ผู้กระทำความผิดแก้ไขหรือขจัดความสกปรก หรือความไม่เป็นระเบียบ หรือความไม่เรียบร้อยให้หมดไปได้ แต่ละเอียดเห็นว่าการกระทำของจำเลยมีความผิดอาญาแผ่นดิน จึงเลือกใช้กฎหมายอาญาที่มีบทลงโทษหนักกว่า แจ้งความร้องทุกข์กับจำเลย

.

.

พยานโจทก์ปากที่สาม – รองสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่

พยานปากที่สามของฝ่ายโจทก์ คือ ร.ต.อ.ชัยพล ชัยชนะ รองสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ มีหน้าที่สืบสวน จับกุมผู้กระทำความผิด โดยเป็นผู้จับกุมจำเลยในคดีนี้

เมื่อประมาณเดือนมีนาคมหรือเมษายน 2563 ชัยพลได้รับแจ้งจาก ร.ต.อ.ปฏิกร วังกาใจ พนักงานสอบสวนว่ามีเหตุทำให้เสียทรัพย์ซึ่งมีไว้หรือใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ป้ายจราจรและเสาไฟฟ้า จึงได้ตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบกล้องวงจรปิดของเทศบาลนครเชียงใหม่ และเห็นว่าป้ายไฟจราจรถูกเขียนด้วยลายมือเฉพาะ ด้วยปากกาเมจิกสีขาวว่า “ประเทศทวย” หลายแห่ง

ชัยพลจึงได้ประสานเทศบาลเพื่อตรวจสอบกล้องวงจรปิด พบว่าเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2563 มีชายเล่นสเก็ตบอร์ดผ่านบริเวณจุดเกิดเหตุและหยุดบริเวณเสาไฟฟ้า เดินข้ามถนนมาและทำการเขียนข้อความลงไป 

ต่อมา 30 เม.ย. 2563 มีภาพชาย 3 คน เล่นสเก็ตบอร์ดบริเวณแยกศรีภูมิ มีชายหนึ่งในสามคนขีดเขียนข้อความบริเวณป้ายจราจรและโคนเสาไฟฟ้าบริเวณสี่แยกประตูจีน จึงได้ติดตามจับตัวคนร้ายพบว่าคือจำเลยในคดีนี้ 

ต่อมาวันที่ 21 พ.ค. 2563 ชัยพลกับชุดจับกุมพบจำเลยอยู่บริเวณหน้า สภ.เมืองเชียงใหม่ จึงได้เชิญตัวมาที่ห้องทำงาน ตึกสืบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ และพบว่าจำเลยมีหมายจับของศาล ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ซึ่งมีไว้ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงแสดงหมายจับให้จำเลยดู และได้ตรวจค้นตัวและยึดสีเมจิก 5 แท่ง 

ชัยพลสอบถามจำเลยรับว่าเป็นผู้นำปากกาเคมีเขียนข้อความว่า “ประเทศทวย” ลงบริเวณเครื่องหมายสัญญาณไฟจราจรและเสาไฟฟ้าจริง จึงได้นำตัวส่งพนักงานสอบสวน

ตอบทนายความจำเลยถามค้านว่า ในขณะเชิญตัวจำเลยเข้ามาที่ตึกสืบสวนนั้น จำเลยให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยชัยพลไม่ทราบว่าจำเลยมาทำอะไรที่หน้า สภ.เมืองเชียงใหม่ และไม่ได้สอบถามจำเลยว่ามาเรื่องอะไร ทั้งไม่ทราบว่ามีตำรวจติดต่อมาหาจำเลยให้เข้ามาพบที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ หรือไม่

นอกจากนี้ทราบว่า พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดขีดเขียนซึ่งสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจร และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 152 แต่ไม่ได้แจ้งความผิดฐานนี้ เนื่องจากไม่มีผู้เสียหายมาแจ้ง

.

พยานโจทก์ปากที่สี่ – ร.ต.อ.ปฏิกร วังกาใจ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่

พยานโจทก์ปากที่ต่อมาคือ ร.ต.อ.ปฏิกร วังกาใจ ปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ 

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2563 ขณะเป็นพนักงานสอบสวนเวรอยู่ที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้มีนายปฏิพัทธ์มาพบ แจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่เทศบาลนครเชียงใหม่ออกตรวจพื้นที่ พบว่ามีป้ายสัญญาณไฟจราจรและเสาไฟฟ้าถูกขีดเขียนข้อความเสียหาย จึงลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน โดย ร.ต.อ.ปฏิกร ได้แจ้งให้ชุดสืบสวนติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดี

วันที่ 20 พ.ค. 2563 นางละเอียด ผู้รับมอบอำนาจจากนายกเทศมนตรีจังหวัดเชียงใหม่ มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี แต่ตอนแรกละเอียดได้ไปแจ้งความที่ สภ.แม่ปิง แต่ปรากฏว่าท้องที่ที่เกิดเหตุคดีนี้อยู่นอกเขต สภ.แม่ปิง ละเอียดจึงมาแจ้งความที่ สภ.เมืองเชียงใหม่

ต่อมา พยานรวบรวมพยานหลักฐานและยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่เพื่อออกหมายจับจำเลย โดยชุดสืบสวนจับจำเลยได้ในวันที่ 21 พ.ค. 2563 และนำตัวจำเลยมาส่งให้พยาน จึงได้สอบปากคำไว้ และจำเลยให้การปฏิเสธ

จากการรวบรวมพยานหลักฐานพบว่าจำเลยกระทำความผิดสองครั้ง ครั้งแรกคือ 18 มี.ค. 2563 ที่แยกราชวงศ์ ครั้งที่สองคือ 30 เม.ย. 2563 ที่แยกชัยศรีภูมิ จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลย ว่าทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ เพราะป้ายจราจรและเสาไฟมีเพื่อให้ประชาชนที่ใช้ถนน ป้องกันอุบัติเหตุ การที่จำเลยเขียนข้อความบนป้ายจราจรและเสาไฟทำให้ความหมายสัญลักษณ์จราจรเปลี่ยนไป 

อีกทั้งเป็นการทำให้บ้านเมืองสกปรก และทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของราชการจัดหามาโดยเงินภาษีของประชาชน บุคคลทั่วไปควรดูแลรักษา มิใช่ทำให้ทรัพย์สินเสียหายเสื่อมค่าหรือด้อยค่าไป การกระทำของจำเลยทำให้เครื่องหมายไม่สามารถบอกทิศทางหรือความหมาย และทำให้ผู้ใช้ถนนเกิดความสับสน

ตอบทนายความจำเลยถามค้าน ว่าในความคิดเห็นของพยาน การเขียนคำว่า “ประเทศทวย” ลงบนแผ่นป้ายจราจรเครื่องหมายห้ามเข้า อาจจะแปลความได้ว่า ประเทศทวยห้ามเข้าหรือเข้าไม่ได้ เช่นนี้ เป็นต้น ร.ต.อ.ปฏิกร ไม่ทราบว่าภายหลังมีการเขียนข้อความลงบนแผ่นป้ายจราจร จะมีผู้ใช้ถนนเดือดร้อนเข้ามาร้องเรียนหรือไม่ 

ทนายความจำเลยถามว่า ภายหลังจากที่มีการเขียนสัญลักษณ์การจราจรแล้ว พยานขับรถผ่านจากบ้านมาที่ทำงานมีการขับหลงทางหรือไม่ ร.ต.อ.ปฏิกร ตอบว่าหากมีใครมาเขียนข้อความบนรถส่วนตัวของท่านจะรู้สึกอย่างไร นอกจากนี้พยานไม่ทราบ และพยานไม่รับรองว่ามีกฎหมาย พ.ร.บ.ทางหลวงฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ที่สามารถใช้บังคับได้อยู่

อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.ปฏิกร ไม่เคยขอออกหมายจับคดีที่มีการกระทำความผิดลักษณะเดียวกับจำเลย และเหตุที่ออกหมายจับทันทีโดยไม่ออกหมายเรียกให้จำเลยมาพบก่อน เนื่องจากคดีนี้จำเลยกระทำความผิดมาเป็นระยะเวลา 50 วันแล้ว จำเลยจึงควรมามอบตัวหรือแสดงตัวกับเจ้าพนักงานสอบสวนเอง

.

พยานโจทก์ปากที่ห้า – พ.ต.ท.ธีระศักดิ์ ธัญธราดล เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่

พยานโจทก์ปากสุดท้ายนี้ได้แก่ พ.ต.ท.ธีระศักดิ์ ธัญธราดล เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ อำนาจหน้าที่สืบสวนหาข่าวการกระทำความผิดอาญาและนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เกี่ยวข้องกับคดีนี้เป็นผู้ขอออกหมายค้นและเข้าตรวจค้นที่พักอาศัยจำเลย

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2563 พ.ต.ท.ธีระศักดิ์ ได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปขอให้ศาลจังหวัดเชียงใหม่ออกหมายค้นบ้านเช่าของจำเลย เพื่อหาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในคดีนี้ และศาลออกหมายค้นให้ในวันเดียวกัน จึงได้เข้าตรวจค้น ซึ่งจำเลยก็ยินยอมให้ตรวจค้นอย่างดี โดยได้ยึดของกลาง 8 รายการ ตรงกับเสื้อผ้า กระเป๋าสะพาย หมวกแก๊ป และรองเท้าของจำเลยที่ใช้ในวันก่อเหตุ 

ตอบทนายความจำเลยถามค้าน ธีระศักดิ์ทราบดีว่าจำเลยถูกจับกุมไปก่อนขอออกหมายค้นแล้ว โดยบุคคลที่สั่งให้ไปค้น คือ พ.ต.ท.มนัสชัย อินทร์เถื่อน ผู้บังคับบัญชาสายตรงของพยาน นอกจากนี้ พ.ต.ท.ธีระศักดิ์ ก็ไม่ทราบว่าการขอออกหมายค้นหลังจากที่จับกุมจำเลยได้แล้วจะเป็นไปเพื่อขยายผลหรือไม่

.

.

จำเลยเบิกความยืนยันเป็นการแสดงออกทางศิลปะกราฟฟิตี้ ไม่ได้ทำลายป้ายจราจร

พึ่งบุญ ใจเย็น จำเลยในคดีนี้ เบิกความต่อศาลยอมรับว่าได้ขีดเขียนคำว่า “ประเทศทวย” บนป้ายจราจรและเสาไฟฟ้าจริง แต่บางแผ่นป้ายก็ปรากฏว่ามีผู้อื่นแปะสติกเกอร์ไว้และมีร่องรองบุคคลอื่นขีดเขียนไว้ก่อนแล้วด้วย 

จำเลยเข้าใจว่าการเขียนข้อความดังกล่าวเป็นศิลปะแนวกราฟฟิตี้ เป็นการแสดงออกของชนชั้นล่างที่ถูกกดขี่ และเป็นการแสดงออกตามที่สาธารณะ โดยการขีดเขียนของจำเลยจะเลือกเขียนตามทางที่ผ่าน และอาจมีการขีดเขียนทับผลงานของบุคคลอื่นที่ทำไว้ก่อนแล้วอย่างเปิดเผย ไม่มีผู้ใดเข้ามาห้าม เข้าใจว่าการเขียนข้อความบนป้ายจราจรไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร 

อย่างไรก็ตาม จำเลยไม่มีเจตนาจะทำลายป้ายจราจรและเสาไฟฟ้าดังกล่าว แต่เป็นการเสริมคุณค่าและฝึกการเรียนรู้ว่าบุคคลอื่นๆ มีการตอบรับอย่างไรกับการแสดงออกในลักษณะนี้ นอกจากนี้การเขียนข้อความจะมีการจัดวางองค์ประกอบ และเขียนให้สอดคล้องไปกับป้ายจราจรดังกล่าว จะไม่ทำให้ป้ายจราจรมีความหมายผิดไป 

จำเลยคิดออกแบบตัวอักษรเอง ต่อมาปรากฏว่ามีบุคคลอื่นคัดลอกและเป็นที่นิยมแพร่หลาย ซึ่งมักเรียกแบบอักษรดังกล่าวว่า “ฟอนต์ประเทศทวย” ส่วนคำว่า “ประเทศทวย” คำว่า “ทวย” หมายถึงหมู่เหล่า หรือกลุ่มคน รวมกันแล้วหมายความว่า “ประเทศของประชาชน”

นอกจากนี้ ปากกาที่จำเลยใช้ไม่ใช่ชนิดติดทนถาวร เนื่องจากสามารถใช้น้ำมันเบนซินลบออกได้ ซึ่งหากใช้น้ำมันเบนซินลบ พื้นผิวแผ่นป้ายจราจรจะไม่เสียหาย 

สำหรับเหตุการณ์ที่ถูกจับกุมนั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรหาเพื่อนของจำเลย ให้ต่อสายคุยกับจำเลย โดยตำรวจสอบถามเรื่องการขีดเขียนป้ายจราจรและขอให้ไปลบข้อความดังกล่าวออก ยังแจ้งกับจำเลยว่าไม่ใช่การกระทำที่ร้ายแรงอะไร ขอให้มามอบตัว ซึ่งจำเลยก็ได้เดินทางมาจากสันป่าตองเข้าพบตำรวจในวันต่อมา

เมื่อจำเลยเดินทางไปถึงสถานีตำรวจ พบตำรวจนอกเครื่องแบบ 5-6 นาย เรียกให้จำเลยไปพบและพาขึ้นไปด้านบนอาคาร แสดงพยานหลักฐานให้จำเลยดู ซึ่งจำเลยก็ยอมรับว่าเป็นผู้กระทำจริง จำเลยเข้าใจว่าตำรวจจะพาไปพบเจ้าหน้าที่เทศบาลเพื่อขอโทษและลบข้อความ แต่ปรากฏว่ามีการออกหมายจับแล้ว

.

.

พยานจำเลยปากที่สอง – อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

สำหรับพยานฝ่ายจำเลยปากที่สองได้แก่ ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความเชี่ยวชาญด้านศิลปะร่วมสมัยผ่านมุมมองของสังคม

สำหรับคดีนี้ ศรยุทธได้เขียนบทความเกี่ยวกับเหตุการณ์โดยตรง หัวข้อ “ประเทศทวยกำลังบอกอะไรในสังคมไทย” ในสื่อออนไลน์ประชาไท ในบทความดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายในการสื่อสาร 3 ประการ ได้แก่ 1. เป็นการแสดงออกซึ่งเสรีภาพ เป็นการแสดงความคิดเห็น 2. กราฟฟิตี้เป็นภาพสะท้อนจินตนาการที่มีต่อชีวิตในสภาวะปัจจุบัน 3. กราฟฟิตี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราเห็นจินตนาการที่ผู้คนวาดฝันต่ออนาคต ซึ่งทั้งสามประการสรุปได้ว่า กราฟฟิตี้คืองานศิลปะประเภทหนึ่งซึ่งมีงานวิจัยรองรับ

ศรยุทธมีความคิดเห็นว่า กราฟฟิตี้เป็นงานศิลปะที่มนุษย์ทั่วไปย่อมสามารถกระทำได้โดยไม่จำต้องใช้ทักษะชั้นสูง มีวัตถุประสงค์เพื่อการสื่อสาร โดยสามารถย้อนกลับไปได้สมัยก่อน ประวัติศาสตร์ กราฟฟิตี้เป็นศิลปะชนิดแรก ๆ ของอารยธรรมมนุษย์ ซึ่งแตกต่างจากงานศิลปะโดยทั่วไป กราฟฟิตี้ในปัจจุบันสามารถเรียกอีกอย่างได้ว่าการออกแบบตัวอักษร เห็นว่าข้อความที่จำเลยเขียนมีลักษณะเป็นกราฟฟิตี้

.

พยานจำเลยปากที่สาม – อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

พยานปากสุดท้ายของฝ่ายจำเลย เป็นอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายที่มีลักษณะเดียวกัน แต่หน่วยงานแตกต่างกัน

พยานเบิกความว่า ความผิดในลักษณะเดียวกันกลับมีหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความผิดดังกล่าวหลากหลายหน่วยงาน ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 29 ประกอบมาตรา 152 ได้กล่าวถึงการขีดเขียนข้อความบนสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรไว้ และมี พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 35 ก็ได้บัญญัติความผิดลักษณะเดียวกันไว้ 

แต่ตาม พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับดังกล่าว มีโทษตามกฎหมายที่แตกต่างกัน และมีหน่วยงานที่บังคับใช้ได้แตกต่างกันด้วย นอกจากนี้ยังมี พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 40 ได้บัญญัติหลักการห้ามขีดเขียนเครื่องหมายจราจรเอาไว้ แต่ระบุเอาไว้ว่าเฉพาะในเขตทางหลวง ซึ่งบทลงโทษดังกล่าวมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน และปรับไม่เกิน 2,000 บาท 

พยานมีความคิดเห็นว่าจำเลยควรจะถูกฟ้องตาม พ.ร.บ. ข้างต้นมากกว่าถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 360 ซึ่งมีโทษหนักกว่า คือโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

.

X