ตำรวจอายัดตัว “ตะวัน” ด้วยหมายจับปี 66 แจ้งข้อหาคดีสนับสนุนทำลายโบราณสถาน ก่อนให้ประกันตัว ด้านแฟรงค์ก็ได้ประกันคดี ม.116 แล้ว

วันที่ 28 พ.ค. 2567 “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “แฟรงค์” ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร สองนักกิจกรรม ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ หลังได้ประกันตัวในคดีที่ถูกคุมขังอยู่ทั้งหมด ในกรณีตะวัน ตำรวจ สน.พระราชวัง เข้าอายัดตัวตามหมายจับในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมสนับสนุน “บังเอิญ” ในการพ่นสีกำแพงวัง โดยเป็นหมายจับออกโดยศาลอาญาตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566 แต่ตำรวจกลับไม่เคยมีการดำเนินการแสดงหมายจับหรือเข้าแจ้งข้อกล่าวหา แม้มีการจับกุมตะวันในคดีอื่น ๆ และตะวันก็ถูกคุมขังในเรือนจำเรื่อยมากว่า 105 วัน

.

ตะวันได้ประกันตัวทุกคดี แต่ตำรวจ สน.พระราชวัง เข้าอายัดตัว ด้วยหมายจับ 1 ปีก่อนหน้า

ภายหลังเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2567 ศาลอาญาก็ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวตะวันในคดีมาตรา 112 กรณีไลฟ์สดหน้า UN เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 โดยเห็นว่าไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ให้วางหลักทรัพย์ 100,000 บาท และกำหนดให้ติดกำไล EM ในระหว่างประกันตัว 

วันที่ 27 พ.ค. 2567 ศาลอาญาก็ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวตะวัน ในคดีข้อหาหลักตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สืบเนื่องมาจากถูกกล่าวหาว่า บีบแตรใส่ขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ โดยให้วางหลักทรัพย์ 100,000 บาท 

ขณะเดียวกัน พบว่าตะวันยังมีหมายขังในคดีของศาลแขวงปทุมวัน ได้แก่ คดีร่วมกิจกรรม “ไซอิ๋วตะลุยเอเปค” เดินถือป้ายประท้วงนโยบายจีนเดียวในช่วงการประชุม APEC2022 ซึ่งมีข้อหาหลักตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ทำให้ในวันที่ 28 พ.ค. 2567 ทนายความยื่นประกันตัวตะวันในคดีนี้ ก่อนศาลแขวงปทุมวันจะอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์ 30,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ทำให้ตะวันได้ประกันตัวในทุกคดี

ในวันเดียวกัน เวลาราว 12.24 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้พาตัวตะวันจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ไปติดกำไล EM ที่ศาลอาญา ตามเงื่อนไขประกันในคดีมาตรา 112 ขณะเดียวกัน ทนายความยังได้รับแจ้งว่าตำรวจจาก สน.พระราชวัง เตรียมจะเข้าอายัดตัวตะวันต่อ หากได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากมีหมายจับในคดีของสถานีตำรวจนี้อยู่อีกคดี 

เวลา 15.00 น. หลังการประสานงานกับพนักงานสอบสวนในตอนแรก ตำรวจจะกำหนดให้ตะวันมารับทราบข้อหาคดีนี้ในวันที่ 31 พ.ค. 2567 แทน โดยไม่เข้าอายัดตัว แต่เมื่อตะวันใส่กำไล EM เสร็จสิ้น และได้ถูกนำตัวจากศาลอาญาไปปล่อยตัวที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เปลี่ยนแนวทาง โดยนำรถตู้ของ สน.พระราชวัง เข้าเตรียมอายัดตัวตะวัน

จนเวลาประมาณ 16.56 น. หลังตะวันถูกปล่อยตัว ตำรวจได้เข้าควบคุมตัวตะวันจากทัณฑสถานหญิงกลาง พาตัวไปยัง สน.พระราชวัง โดยมีทนายความติดตามไป

ต่อมาพบว่าบริเวณสถานีตำรวจ มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแล และตั้งรั้วเหล็กกั้นทางเข้าสถานี โดยมีการติดป้ายข้อความ “พื้นที่ควบคุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558” และ “ห้ามเข้าก่อนได้รับอนุญาต”

.

(ภาพจากเพจไข่แมวชีส)

.

หลังจากนั้นพบว่าคดีที่ตะวันถูกอายัดตัวนี้ ดำเนินการตามหมายจับที่ออกโดยศาลอาญา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566 ในข้อกล่าวหา “เป็นผู้สนับสนุน ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ได้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน และขีดเขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใด ๆ ที่กำแพงที่ติดกับถนน หรืออยู่ในที่สาธารณะ” ออกหมายจับโดย อรรถการ ฟูเจริญ ผู้พิพากษาศาลอาญา

หมายจับดังกล่าวเป็นคดีเดียวกันกับผู้สื่อข่าวประชาไท-ช่างภาพอิสระ และสายน้ำ กรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุน “บังเอิญ” พ่นสีสเปรย์บนกำแพงวัง เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 ทั้งสามถูกจับกุมในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยไม่เคยมีหมายเรียกมาก่อน อีกทั้งหมายจับของตะวันนั้นยังลงวันที่เดียวกับทั้งสามคนด้วย แต่ตำรวจกลับไม่เคยแสดงหมายจับในคดีนี้ แม้จะมีการจับกุมตะวันในคดีบีบแตรขบวนเสด็จ หรือตะวันเดินทางไปตามนัดคดีต่าง ๆ จำนวนมากในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งไม่เคยเข้าแจ้งข้อกล่าวหาในระหว่างตะวันถูกคุมขังแต่อย่างใด แต่กลับเข้าดำเนินการหลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำแล้ว 

พ.ต.ท.ศิลปชัย ยมใหม่ และ ร.ต.ท.สุรเชษฐ์ รัตนะ พนักงานสอบสวน สน.พระราชวัง ได้เป็นผู้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหาดังกล่าวต่อตะวัน โดยกล่าวหาจากภาพถ่ายกรณีพ่นสีของบังเอิญ ที่ตะวันเป็นผู้โพสต์ลงในเฟซบุ๊ก กล่าวหาว่าตะวันเป็นผู้สนับสนุนและมีการเตรียมการกันมาก่อน แบ่งหน้าที่กันทำระหว่างคนถ่ายภาพและโพสต์ลงในโซเชียล 

ตะวันได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ปฏิเสธจะลงลายมือชื่อทั้งในบันทึกจับกุม ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา และบันทึกประจำวัน รวมทั้งปฏิเสธจะพิมพ์ลายนิ้วมือ ทำให้ทางพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา “ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เพิ่มอีก 1 ข้อหาด้วย

ขณะเดียวกัน ยังมีตำรวจจาก สน.ห้วยขวาง เดินทางมาแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในอีกคดีหนึ่ง ได้แก่ คดีทำกิจกรรมที่หน้ากระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2566 เพื่อเรียกร้องให้ถอดถอน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ออกจากตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ โดยแจ้งข้อหาตามมาตรา 368 เช่นกัน เนื่องจากตะวันปฏิเสธจะพิมพ์ลายนิ้วมือในการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาก่อนหน้านี้ ตะวันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาในคดีนี้เช่นกัน

ต่อมาหลังการแจ้งข้อกล่าวหาและให้การ พนักงานสอบสวน สน.พระราชวัง ได้อนุญาตให้ประกันตัวตะวันในชั้นสอบสวน โดยให้วางหลักทรัพย์ 20,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดให้มาส่งสำนวนให้อัยการในวันที่ 12 มิ.ย. 2567

ทำให้ตะวันได้รับการปล่อยตัวในท้ายที่สุด ในเวลาประมาณ 19.00 น. โดยใช้เวลาที่ สน.พระราชวัง ราว 1 ชั่วโมง

.

(ภาพจากเพจไข่แมวชีส)

.

แฟรงค์ได้ประกันตัวเช่นกัน ศาลเห็นว่าขังมาพอสมควรแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนไป

ในวันเดียวกัน ทนายความยังได้ยื่นขอประกันตัวแฟรงค์ ณัฐนนท์ ในคดีที่เขาถูกกล่าวหาร่วมกับตะวัน บีบแตรใส่ขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ โดยเสนอวางหลักทรัพย์ 100,000 บาท เช่นเดียวกับกรณีของตะวัน 

ในเวลา 13.45 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุคำสั่ง “แม้ศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 ในระหว่างสอบสวน แต่ในชั้นพิจารณาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้มีอัตราโทษจำคุกไม่ถึงสิบปี การสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่มีโอกาสยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ประกอบโจทก์ไม่ค้านประกัน อีกทั้งจำเลยที่ 2 ต้องขังในชั้นสอบสวนมานานพอสมควร พฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป 

“ผู้ร้องขอประกันยื่นคำร้องพร้อมเสนอหลักประกันเป็นเงินหนึ่งแสนบาท เชื่อว่าหากจำเลยที่ 2 ได้รับการปล่อยชั่วคราว จะไม่หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 ระหว่างพิจารณา โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้จำเลยที่ 2 กระทำการใดๆ อันมีลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้องร้อง หากฝ่าฝืนเงื่อนไข ศาลจะพิจารณาเพิกถอนคำสั่งปล่อยชั่วคราว และกำชับให้จำเลยที่ 2 มาศาลตามกำหนดนัด” คำสั่งลงนามโดย วิพัศวัชร พึ่งชลารักษ์ 

ทั้งนี้น่าสังเกตว่าก่อนหน้านี้มีการยื่นขอประกันตัวแฟรงค์มาแล้วทั้งหมด 10 ครั้ง โดยเป็นการยื่นประกันตัวในชั้นสอบสวน 7 ครั้ง และยื่นประกันชั้นพิจารณาหลังถูกสั่งฟ้องอีก 3 ครั้ง โดยศาลสั่งไม่ให้ประกันตัวในลักษณะเดิมว่า “ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม เกรงว่าจะหลบหนี” แม้แต่การยื่นครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2567 หรือ 6 วันก่อนหน้านี้ จนมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งในการยื่นประกันตัวครั้งที่ 11 นี้

ต่อมาหลังการวางหลักทรัพย์ประกันตัว โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ เวลา 19.35 น. แฟรงค์ก็ได้รับการปล่อยตัวออกจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยมีครอบครัว และเพื่อนนักกิจกรรม เดินทางไปรอต้อนรับท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก รวมเวลาถูกคุมขังไป 105 วัน เช่นเดียวกับตะวัน

.

(ภาพจากเพจไข่แมวชีส)

.

X