ศาลอาญายังไม่ให้ประกัน “ตะวัน-แฟรงค์” อ้างไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ด้านศาลอาญากรุงเทพใต้ส่งคำร้องขอประกัน “จิรวัฒน์” ให้ศาลอุทธรณ์สั่ง 

ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2567 ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมือง 3 ราย ได้แก่  “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “แฟรงค์” ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ในคดีมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สืบเนื่องมาจากถูกกล่าวหาว่า บีบแตรใส่ขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ พร้อมกันนี้ทนายได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว “ตะวัน”  ในคดีมาตรา 112 กรณีไลฟ์สดหน้า UN ก่อนเวลาที่ขบวนเสด็จจะผ่านถนนราชดำเนินนอก อีกหนึ่งคดี

นอกจากนี้ ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ “จิรวัฒน์” (สงวนนามสกุล) พ่อค้าขายของออนไลน์วัย 32 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3), (5) กล่าวหาว่าแชร์โพสต์เฟซบุ๊กทั้งหมด 3 โพสต์เมื่อปี 2564 โดยเป็นโพสต์ของบุคคลทั่วไป 1 โพสต์ และเป็นโพสต์จากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” จำนวน 2 โพสต์ โดยครั้งนี้เป็นการยื่นประกันครั้งที่ 5 หลังศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 6 ปี

อย่างไรก็ตาม ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องการประกันตัวแฟรงค์และตะวันในทั้งสองคดี โดยระบุว่ายังไม่มีเหตุอันควรเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ขณะที่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งในคดีจิรวัฒน์ ให้ส่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา  

.

ศาลอาญาไม่ให้ประกัน “ตะวัน-แฟรงค์” ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม แม้ทนายจะยื่นประกันคดีไลฟ์สดหน้า UN เป็นครั้งแรก หลังศาลออกหมายขัง 

หลังทนายความยื่นขอประกันตัวตะวันและแฟรงค์ต่อศาลอาญาในช่วงเช้า โดยกรณีตะวันทนายความได้ยื่นประกันใน 2 คดี ได้แก่ คดี 116 กรณีถูกกล่าวหาว่าบีบแตรใส่ขบวนเสด็จพระเทพฯ และคดี 112 กรณีไลฟ์สดหน้า UN ต่อมา  เวลา 16.30 น. ศิริพร กาญจนสูตร ผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวตะวันและแฟรงค์ ในทั้งสองคดี ระบุว่า “ยังไม่มีเหตุอันควรเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม”

มีข้อสังเกตว่า สำหรับคดีไลฟ์สดหน้า UN ตะวันเคยถอนประกันตัวเองและอดอาหารตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2566  ก่อนที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ที่ตะวันถูกส่งไปรักษาตัวระหว่างการอดอาหาร ได้ยื่นคำร้องประกันตะวันในวันที่ 7 ก.พ. 2566 และศาลมีคำสั่งปล่อยตัวแบบไม่กำหนดเงื่อนไข กำหนดเวลา 1 เดือน และให้มารายงานตัวเมื่อครบกำหนด 

อย่างไรก็ตาม ตะวันไม่ได้ไปรายงานตัว แต่ไปศาลในนัดสืบพยานเดือนสิงหาคม 2566 ทุกนัด และศาลไม่เคยออกหมายจับแต่อย่างใด จนถึงล่าสุด ตำรวจได้ไปยื่นขอถอนประกัน โดยอ้างเหตุที่กรณีบีบแตรใส่ขบวนเสด็จ ซึ่งศาลก็ยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่า คดีนี้ศาลให้ปล่อยตัวตะวันแบบไม่มีเงื่อนไขและไม่ได้ออกหมายขัง กระทั่งเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2567 ศาลจึงได้สอบถามตะวันผ่านคอนเฟอเรนซ์ ก่อนออกหมายขังไว้ โดยหลังจากนั้นทนายความยังไม่เคยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวตะวันในคดีนี้อีกเลย ครั้งนี้เป็นการยื่นครั้งแรกหลังศาลออกหมายขัง จึงชวนสงสัยว่า คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลโดยอ้างเหตุว่า  “ยังไม่มีเหตุอันควรเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” นั้น มีเหตุผลให้ตะวันและครอบครัวเข้าใจได้อย่างไร

นอกจากนี้ การยื่นประกันตะวันและแฟรงค์ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังการเสียชีวิตของ “บุ้ง” เนติพร เสน่ห์สังคม ระหว่างการถูกคุมขัง โดยหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตที่ระบุในผลการชันสูตรเบื้องต้น คือ ภาวะสมดุลเกลือแร่ผิดปกติ ซึ่งเกิดจากการอดอาหารเป็นเวลานานก่อนหน้านี้หลังถูกคุมขัง โดยที่ตะวันและแฟรงค์เองก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเช่นเดียวกันนี้ได้ แต่ศาลยังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกันเช่นเดิม

จนถึงปัจจุบัน (17 พ.ค. 2567) ตะวันและแฟรงค์ถูกคุมขังมาแล้ว 94 วัน

.

ศาลอาญากรุงเทพใต้ส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์สั่งประกันคดี 112 ของ “จิรวัฒน์” หลังยืนยันไม่มีพฤติการณ์หลบหนี-มีภาระครอบครัวที่ต้องดูแล

ย้อนไปเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจิรวัฒน์ 9 ปี ในคดีมาตรา 112 ก่อนลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา หลังจากนั้นทนายได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ไปแล้ว 4 ครั้ง ทุกครั้งศาลอาญากรุงเทพใต้ส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา และศาลอุทธรณ์ยังไม่เคยให้ประกัน

ในการยื่นประกันจิรวัฒน์ระหว่างอุทธรณ์ครั้งที่ 5 นี้ คำร้องระบุโดยสรุปว่า ขอวางหลักประกันเป็นเงิน 700,000 บาท และยินยอมให้ติด EM หรือกำหนดเงื่อนไขประกันอื่น ๆ 

ที่สำคัญจำเลยเป็นเสาหลักของครอบครัว อีกทั้งภรรยาของจำเลยยังป่วยด้วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะที่สาม และป่วยเป็นโรคถุงน้ำรังไข่ซึ่งมีอาการรุนแรง ต้องไปพบแพทย์อย่างต่อเนื่องและมีค่ารักษาแต่ละคร้้งเป็นจำนวนมาก อีกทั้งจำเลยต้องดูแลบิดามารดาอายุ 80 ปี ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดัน หากไม่ปล่อยชั่วคราวจำเลย ย่อมกระทบหน้าที่ดูแลบิดามารดาที่กำลังป่วย และบุตรของจำเลยที่อายุเพียง 5 ปี 

อีกทั้งจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้แล้ว ประกอบกับพฤติการณ์ของจำเลยในคดีนี้ไม่ปรากฏเหตุที่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จึงขอให้ศาลยึดถือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจําเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนศาลมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่าจําเลยเป็นผู้กระทําความผิด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่กระทบเสรีภาพของจําเลย

ต่อมา หลังจากยื่นประกันไปแล้ว ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งให้ส่งคำร้องไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ซึ่งต้องใช้เวลาราว 2-3 วัน จึงจะทราบคำสั่ง

อนึ่ง จิรวัฒน์ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์มาตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 2566 หลังจากศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาให้จำคุก 6 ปี จึงทำให้ถึงปัจจุบัน (17 พ.ค. 2567) จิรวัฒน์ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 164 วัน 

X