ศาลอาญาให้ประกันตัว “ตะวัน” หลังยื่นประกันในคดี ม.116 กว่า 10 ครั้ง ยังต้องรอยื่นประกันคดีชุมนุม APEC2022 อีกคดี

วันที่ 27 พ.ค. 2567 ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ในคดีข้อหาหลักตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สืบเนื่องมาจากถูกกล่าวหาว่า บีบแตรใส่ขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567 

ในคดีนี้ ตะวันได้ถูกตำรวจยื่นขอฝากขังพร้อมกับแฟรงค์ ณัฐนนท์ ซึ่งเป็นคู่ความจนครบ 4 ผัด และถูกสั่งฟ้องคดี ศาลก็ยังคงไม่อนุญาตให้ทั้งสองคนได้รับการประกันตัวเรื่อยมา แม้สถานการณ์ประท้วงอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวของผู้ต้องขังทางการเมือง ของตะวันกับแฟรงค์จะเคยอยู่ในระดับวิกฤตที่น่าเป็นห่วง 

ก่อนหน้านี้ (16 พ.ค. 2567) ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวตะวัน ในคดีมาตรา 112 กรณีไลฟ์สดหน้า UN เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 ซึ่งตะวันเคยถอนประกันตัวเองและอดอาหารตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2566  ก่อนที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ที่ตะวันถูกส่งไปรักษาตัวระหว่างการอดอาหาร ได้ยื่นคำร้องประกันตะวันในวันที่ 7 ก.พ. 2566 และศาลมีคำสั่งปล่อยตัวแบบไม่กำหนดเงื่อนไข

ต่อมา ตำรวจได้เข้ายื่นขอถอนประกันตัว โดยอ้างเหตุการณ์ในคดีบีบแตรใส่ขบวนเสด็จพระเทพฯ จนกระทั่งในวันที่ 18 เม.ย. 2567 ศาลได้ออกหมายเรียกตะวัน ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในคดี ม.116 มาคอนเฟอเรนซ์สอบถามเรื่องการประกันตัว ก่อนออกหมายขังไว้ หลังจากนั้นยังไม่เคยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวตะวันในคดีนี้อีกเลย 

ในวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา จึงเป็นการยื่นขอประกันตัวครั้งแรกหลังศาลออกหมายขัง แต่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัว ระบุคำสั่ง ‘ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม’ แม้จะเป็นการยื่นเป็นครั้งแรกหลังถูกคุมขังรอบใหม่นี้ และการยื่นขอประกันยังเกิดขึ้นภายหลังการเสียชีวิตของ “บุ้ง” เนติพร ระหว่างการถูกคุมขัง 

.

ต่อมาในวันที่ 22 พ.ค. 2567 เนื่องในวันครบรอบ 10 ปี การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเพื่อเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีทางการเมืองกับประชาชน ทนายความได้ยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง จำนวน 19 ราย โดยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวทานตะวันทั้ง 2 คดี โดยในคดี ม.112 ศาลอาญาได้มีคำสั่งให้ประกันตัวลงมาในวันเดียวกัน โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันตัว 100,000 บาท ระบุคำสั่งว่า

“พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน ภายหลังจำเลยไม่ประสงค์ที่จะขอให้ปล่อยชั่วคราวเอง แล้วถูกควบคุมตัวอยู่ทันฑสถานหญิงกลางมาจนถูกย้ายไปควบคุมที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ จนกระทั่ง ผอ. โรงพยาบาลดังกล่าว ขอให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย เนื่องจากจำเลยอาจจะเสียชีวิตระหว่างพิจารณาได้ ศาลได้ปล่อยชั่วคราวไปแล้วจำเลยไม่มารายงานตัว แต่จำเลยมาศาลตลอดในช่วงที่มีการสืบพยาน พฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าจำเลยไม่เคยหลบหนีในคดีนี้ ดังนั้นหากจำเลยสมัครใจที่จะติดกำไล EM และผู้ประกันวางเงินประกันตามเสนอ ให้เบิกตัวจำเลยมาทำสัญญาประกันตัวต่อไป”

อย่างไรก็ตาม ในคดีตาม ม.116 ซึ่งทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวไปในวันเดียวกันนั้น ศาลอาญา ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุสั้น ๆ ว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมเรื่อยมา 

มีข้อน่าสังเกตว่า การยื่นประกันตัวในวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมานั้น โดยเฉพาะในกรณีของคดี ม.112 จากการไลฟ์สดหน้า UN ศาลได้ระบุคำสั่งที่น่าสนใจว่า พฤติการณ์ของทานตะวันได้ส่อให้เห็นว่าจำเลยไม่เคยหลบหนี ซึ่งในคดีดังกล่าวเป็นคดีที่มีโทษสูงกว่า ม.116 ที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว และการระบุคำสั่งว่าจำเลยได้มาตามนัดหมายทางคดีทุกนัด และไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนีในคดีที่มีโทษสูงกว่านั้น ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาการมาต่อสู้คดีของจำเลย  ดังนั้น เหตุผลของการออกคำสั่งไม่ให้ประกันตัวในคดี ม.116 โดยระบุคำสั่งเพียงว่า ‘ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม’  จึงเป็นความลักลั่นของการใช้ดุลยพินิจในการออกคำสั่งประกันตัวที่ไม่อาจสามารถหาคำตอบได้ 

.

ในวันนี้ (27 พ.ค. 2567) ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวตะวันอีกครั้ง โดยมีใจความสำคัญในคำร้อง ระบุว่า จำเลยมีอาการป่วย และร่างกายอ่อนแออย่างต่อเนื่องจากการอดอาหารในระหว่างถูกคุมขัง ซึ่งยังไม่มีท่าทีว่าอาการจะกลับมาเป็นปกติเช่นเดิม ประกอบกับปัจจุบัน มีเหตุที่เพื่อนผู้ต้องขัง ‘บุ้ง เนติพร’ เสียชีวิตในระหว่างที่ถูกคุมขังอยู่ในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ จึงทำให้จำเลยมีอาการวิตกกังวล นอนไม่หลบ จำเป็นต้องมีแพทย์มาคอยดูแลรักษาอาการทางจิตอยู่เป็นประจำ และต้องรักษาอาการป่วยต่าง ๆ เป็นระยะเวลานาน จึงไม่มีเหตุให้หลบหนีแต่อย่างใด

ทั้งเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2567 ศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในคดีมาตรา 112 ระบุว่าจำเลยไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี พร้อมกำหนดเงื่อนไขให้ติดกำไล EM และเกี่ยวกับคดีนี้ ตะวันไม่มีพฤติการณ์เป็นความผิดอุกฉกรรจ์ ไม่มีลักษณะสร้างภยันอันตรายต่อร่างกาย ทรัพย์สิน หรือชีวิตของผู้ใด จำเลยมิใช่อาชญากรโดยแท้ แต่กลับถูกจองจำเรื่อยมา โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว และต้องถูกคุมขังในระหว่างการต่อสู้คดี ซึ่งศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด 

นอกจากนี้ ในกรณีคดีเชอร์รี่แอน ดันแคน รวมถึงในกรณีของบุ้ง เนติพร ซึ่งเสียชีวิตในระหว่างที่อยู่ในการควบคุมตัวของรัฐในระหว่างการพิสูจน์ความผิดทางกฎหมาย เป็นผลร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นโดยไม่มีหนทางที่จะบรรเทาผลร้ายได้แต่อย่างใด

ในคดีนี้ ผู้ร้องขอประกันจึงขอวางหลักประกันตัวเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท ซึ่งเป็นหลักประกันตัวที่เชื่อถือได้ จึงขอให้ศาลพิจารณาการปล่อยชั่วคราวในคดีนี้ด้วย 

ในเวลาประมาณ 15.00 น. ศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวตะวัน โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 100,000 บาท

ทั้งนี้ ตะวันจะยังไม่ได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ เนื่องจากเธอพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์มาตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. 2567 และต้องมาทำเรื่องติดกำไล EM รวมทั้งยังทราบว่ามีหมายขังในอีกคดีหนึ่งของศาลแขวงปทุมวัน จากการชุมนุมในช่วง APEC2022 ซึ่งตะวันได้ขอถอนประกันตัวเองระหว่างพิจารณาในศาลไปก่อนหน้านี้ ทำให้ต้องยื่นขอประกันตัวในคดีนี้ในวันพรุ่งนี่ต่อไป รวมแล้วตะวันถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีในรอบนี้มากว่า 104 วัน ในกรณีของแฟรงค์ ณัฐนนท์ คู่ความในคดี ม.116 ทนายความจะยื่นขอประกันตัวต่อไป

.

X