เปิดบันทึกสืบพยาน คดี ม.112 ของ “ลูกเกด ชลธิชา” เหตุปราศรัยวิจารณ์การออกกฎหมายใน #คาร์ม็อบ11กันยา64 ก่อนศาลธัญบุรีมีคำพิพากษา 

วันที่ 27 พ.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดฟังคำพิพากษา ในคดี  “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมทางการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จากกรณีปราศรัยและชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีการเมือง หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564

คดีนี้มีจำเลยทั้งสิ้น 10 ราย นอกจากชลธิชา (จำเลยที่ 1) ยังมี พริม มณีโชติ (จำเลยที่ 2), ศรีไพร นนทรีย์ (จำเลยที่ 3), สุนี ไชยรส (จำเลยที่ 4), ธนพร วิจันทร์ (จำเลยที่ 5), วิปัศยา อยู่พูล (จำเลยที่ 6), สุธิลา ลืนคำ (จำเลยที่ 7), วิศรุต สมงาม (จำเลยที่ 8), ไพศาล จันปาน (จำเลยที่ 9) และ อาทร โพดภูธร (จำเลยที่ 10) ทั้ง 9 คน ถูกฟ้องเฉพาะข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, คำสั่งจังหวัดปทุมธานี เรื่องมาตรการป้องกันโควิด และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 

มีเพียงชลธิชาเพียงคนเดียวที่ถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 ด้วย จากการปราศรัยในประเด็นเกี่ยวกับการที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 และแก้กฎหมาย พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เมื่อปี 2561 

คดีนี้เป็นการถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คดีที่ 2 ของชลธิชา แต่เป็นคดีแรกที่จะมีคำพิพากษา โดยคดีแรกชลธิชาถูกกล่าวหาจากกรณีโพสต์จดหมายถึงกษัตริย์ ในกิจกรรม ‘ราษฎรสาส์น’ ซึ่งยังอยู่ระหว่างสืบพยาน โดยศาลอาญานัดสืบพยานอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2568 

เป็นที่น่าจับตาคำพิพากษาในคดีนี้ เนื่องจากหากศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำพิพากษาให้ชลธิชามีความผิด พร้อมให้ลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา และไม่อนุญาตให้ประกันตัวทันที จะถือว่าชลธิชาต้องคําพิพากษาให้จําคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล ซึ่งจะขาดคุณสมบัติการเป็น สส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6) โดยทันที

.

การชุมนุม #คาร์ม็อบ11กันยา64 มีเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน, กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) และกลุ่มพะยอมเก๋า ร่วมกันจัดกิจกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ #ปล่อยเพื่อนเรา โดยตั้งขบวนจากหน้าห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ไปยังศาลจังหวัดธัญบุรี เพื่อจัดกิจกรรมลงชื่อยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหาคดีชุมนุมหน้า บก.ตชด. ภาค 1 จำนวน 5 ราย ได้แก่ ณัฐชนน ไพโรจน์, “บอย” ธัชพงศ์ หรือ ชาติชาย แกดำ, “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจําอําเภอธัญบุรี ตามหมายขังของศาลจังหวัดธัญบุรี 

ในระหว่างรอว่าศาลจะพิจารณาอนุญาตให้ประกันตัวหรือไม่ ในกิจกรรมมีการปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์และการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศว่าการชุมนุมขัดต่อกฎหมายและขอให้ยุติกิจกรรม 

ต่อมา สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายประกันออกมาแจ้งกับผู้ชุมนุมว่า ศาลจังหวัดธัญบุรี มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย การชุมนุมจึงยุติลง (ดูรายละเอียดการชุมนุมเพิ่มเติมที่ Mob Data Thailand)

คดีนี้มี พ.ต.ท.ศราวุฒิ ทองภู่ รองผู้กำกับสืบสวน สภ.ธัญบุรี เป็นผู้กล่าวหา โดยเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2564 ชลธิชาได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาร่วมกับนักกิจกรรมอีก 8 ราย ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2564 ชลธิชาเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ สภ.ธัญบุรี 

หลังจากนั้น พ.ต.ท.สุวิชญ์ สุขประเสริฐ พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 10 ราย ในความผิดฐาน ร่วมกันจัดกิจกรรมและร่วมกันชุมนุมเสี่ยงต่อการแพร่โรค ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรการ 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และคำสั่งจังหวัดปทุมธานี เรื่อง กำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้ยังได้ฟ้องชลธิชา ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย 

คำฟ้องของพนักงานอัยการระบุถ้อยคำปราศรัยของชลธิชาที่กล่าวหาว่าเข้าข่ายเป็นความผิด ดังนี้ 

ข้อความที่ 1 

 “ส่วนราชการในพระองค์นะคะ ที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นะคะ ออกกฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ 2560 ให้เป็นของขวัญแก่สถาบันพระมหากษัตริย์นะคะ เพื่อให้สถาบันกษัตริย์เนี่ยมีอํานาจนะคะ ใช้ตามพระราชอัธยาศัย หรือถ้าแปลเป็นภาษาชาวบ้านก็คือว่า ใช้ตามอําเภอใจของเจ้านะคะ ปัญหาก็คือว่า ไอ้การใช้ตามอําเภอใจของเจ้าเนี่ย มันไม่ต่างอะไรเลยกับการที่เราทําให้สถาบันกษัตริย์มีกองกําลังของตัวเอง แต่ใช้งบประมาณกับภาษีของพวกเรา” 

ข้อความที่ 2  

“รัฐบาลพลเอกประยุทธ์นะคะ ยังปล่อยให้มีการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในปี 2561 สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่ามันเป็นการกำหนดให้การจัดการ การจัดหาผลประโยชน์นะคะ ของสถาบันพระมหากษัตริย์เนี่ย ถูกย่อนะคะ เข้าไปเป็นของส่วนตัวตามพระราชอัธยาศัยตามเดิมนะคะ สิ่งที่เคยเป็นส่วนตัวหรือที่เคยเป็นส่วนรวมก็ไปเป็นของสถาบัน ก็กลายเป็นของเจ้า คือของ กษัตริย์วชิราลงกรณ์ นะคะ ซึ่งการแก้กฎหมายดังกล่าวเนี่ย ยังเป็นการเปิดทางให้มีการโอนที่ดินและหุ้นบริษัทจำนวนมาก ที่แต่เดิมสถาบันพระมหากษัตริย์เคยถือหุ้นไว้ ให้กลายเป็น กษัตริย์วชิราลงกรณ์เป็นผู้ถือหุ้นนะคะ สิ่งที่มันเกิดขึ้นควรจะถูกตั้งคำถามก็คือว่า กษัตริย์วชิราลงกรณ์ ควรจะอยู่ในฐานะของกษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของประเทศ แต่ ณ ตอนนี้มันไม่ใช่ มันถูกพ่วงท้ายด้วยคำว่า กษัตริย์นักลงทุน หรือ นักค้ากำไร ตามมาด้วยนะคะ” 

อัยการระบุว่า เมื่อบุคคลที่สามได้ฟังและทราบข้อความคําพูดและคํากล่าวปราศรัยของจําเลย ทําให้ผู้ฟังเข้าใจได้ว่า รัชกาลที่ 10 ทรงมีเจตนาเอาทรัพย์สินของส่วนรวมมาเป็นของส่วนตัว ทรงเบียดบังเอาภาษีของประชาชนมาเป็นของส่วนตัว ทรงใช้พระราชอํานาจเข้าไปแทรกแซงการเมืองการปกครอง การบริหารงานของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ 

อัยการได้บรรยายฟ้องว่า คำปราศรัยข้างต้น เป็นการใส่ความรัชกาลที่ 10 ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ต้องเสื่อมเสียพระเกียรติยศ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง ทําให้บุคคลที่สามและประชาชนทั่วไปที่ได้ทราบข้อความคําพูดและคํากล่าวปราศรัยของจําเลยเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 รวมถึงสถาบันกษัตริย์ไม่อยู่ในฐานะที่ควรเคารพสักการะอีกต่อไป 

.

คดีนี้ ศาลสืบพยานโจทก์และจำเลยไปแล้วในระหว่างวันที่ 24 – 26, 31 พ.ค., 8 – 9 มิ.ย., 18 – 19 ก.ย., 16, 30 ต.ค. 2566 และ 7 ก.พ. 2567

โจทก์นำพยานเข้าเบิกความทั้งหมด 8 ปาก ได้แก่ พ.ต.อ.ศราวุฒิ ทองภู่ ผู้กล่าวหา, พีระเดช หล้าสองสี ผู้ช่วยนิติกร เทศบาลตำบลธัญบุรี, พ.ต.ท.ธนกฤต อินภู่ รองผู้กำกับการป้องกันและปราบปราม สภ.ธัญบุรี, พ.ต.อ.วิวัฒน์ อัศวะวิบูลย์ ผู้กำกับการ สภ.ธัญบุรี, กมล เพชรรัตน์ นักวิชาการสาธารณสุข, ด.ต.สุเทพ วารีหลัง ตำรวจจราจร สภ.ธัญบุรี, พ.ต.ท.เดชา แสนว้า สารวัตรสืบสวน สภ.ธัญบุรี และ พ.ต.ท.บุญเรือง พันธนู พนักงานสอบสวน สภ.ธัญบุรี และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงพยานโจทก์อีก 1 ปาก ได้แก่ ร.ต.ท.พิสิฎฐ์ อ้ายสุรินทร์ กลุ่มงานตรวจพิสูจน์อาชญากรรมคอมพิวเตอร์

ส่วนฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบทั้งหมด 10 ปาก ได้แก่ วิปัศยา อยู่พูล จำเลยที่ 6, พริม มณีโชติ จำเลยที่ 2, สุนี ไชยรส จำเลยที่ 4, อาทร โพดภูธร จำเลยที่ 10,  รณกร บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ด้านกฎหมายมหาชน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สฤนี อาชวานันทกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน, ชลธิชา แจ้งเร็ว จำเลยที่ 1, ธนพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และสถาบันกษัตริย์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องมาตรการโควิด

.

– ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ  

จำเลยทั้งสิบไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม จึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดให้มีมาตรการควบคุมโรค และขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง  

กิจกรรมในวันเกิดเหตุจัดในรูปแบบคาร์ม็อบ ซึ่งมีโอกาสแพร่โรคโควิด-19 น้อย โดยผู้ชุมนุมส่วนมากรวมทั้งจำเลยทั้งสิบ ใส่หน้ากากอนามัย และพกเจลแอลกอฮอล์ ในขณะที่จำเลยแต่ละคนขึ้นปราศรัยก็รักษาระยะห่างจากผู้ชุมนุมไม่ต่ำกว่า 1 – 2 เมตร

นอกจากนี้ พื้นที่การชุมนุมบริเวณหน้าศาลจังหวัดธัญบุรีเป็นพื้นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนไม่มาก ประมาณ 20 – 30 คน ซึ่งอยู่กระจัดกระจายกัน ในขณะที่มารวมตัวกันก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

– ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  

จำเลยที่ 1 วิพากษ์วิจารณ์ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แก้ไขและออกกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์หลายฉบับ ได้แก่  พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560, พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561,  พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคำปราศรัยของจำเลยเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ไม่ได้เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แต่อย่างใด

นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ปราศรัยในฐานะเป็นประชาชนคนไทย ซึ่งมีหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติและสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ โดยมีเจตนากระทำด้วยความปรารถนาดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้สถาบันฯ มั่นคงยั่งยืนต่อไป

.

พ.ต.อ.ศราวุฒิ ทองภู่ ผู้กล่าวหา เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ พยานเป็นรองผู้กำกับสืบสวน สภ.ธัญบุรี โดยได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นผู้สืบสวน และบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวของผู้ที่เข้าร่วมชุมนุม

ในช่วงเวลาเกิดเหตุเป็นช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จังหวัดปทุมธานีเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยมีคำสั่งจังหวัดปทุมธานี ที่ 8566/2564 ลงวันที่ 31 ส.ค. 2564 ที่ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัว การชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในจังหวัดปทุมธานี แต่หากมีความจำเป็นจะต้องจัดกิจกรรมดังกล่าวจะต้องขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่และผู้ว่าราชการจังหวัด และประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัด มีข้อยกเว้นว่าหากจะชุมนุมต้องมีมาตรการคัดกรองด้วย

ในวันเกิดเหตุ พยานได้รับแจ้งจากฝ่ายสืบสวนว่ามีการรวมตัวกันหน้าฟิวเจอร์ปาร์ครังสิตและกำลังเคลื่อนพลมาที่ศาลจังหวัดธัญบุรีโดยใช้ถนนสายรังสิต-นครนายก และในเวลาประมาณ 11.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนมาถึงหน้าศาลจังหวัดธัญบุรีโดยรถยนต์ 10 คัน และรถจักรยานยนต์ 25 คัน ผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 50 คน มีรถยนต์กระบะบรรทุกเครื่องขยายเสียงที่ใช้กระดาษปิดแผ่นป้ายทะเบียน ทราบเลขทะเบียนและผู้ครอบครองในภายหลัง จากการตรวจสอบของตำรวจจราจร

กลุ่มผู้ชุมนุมมาจอดรถหน้าประตูทางเข้าศาลจังหวัดธัญบุรี ซึ่งเจ้าหน้าที่ รปภ. ได้ปิดประตูไว้ ขณะนั้นพยานอยู่ที่ป้อม รปภ. หน้าศาล  หลังจากนั้น พริม (ทราบชื่อภายหลัง) ได้ขึ้นปราศรัยบนรถเครื่องขยายเสียง เรียกร้องให้ประกันตัวผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวและเชิญชวนผู้ร่วมชุมนุมให้มาลงลายมือชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องให้ปล่อยผู้ถูกควบคุมตัว ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และยกเลิกมาตรา 112 และต่อมาขึ้นมาบนรถเครื่องขยายเสียง และพูดเรื่องสิทธิประกันตัว 

หลังจากนั้น ศรีไพร (ทราบชื่อภายหลัง) และสุนี ซึ่งแจ้งว่าเคยเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชน ได้ขึ้นปราศรัยพูดถึงสิทธิการประกันตัว ส่วนธนพรได้ขึ้นปราศรัยโดยอ่านบทกลอนของเพนกวิน ต่อมาพริมได้ส่งตัวแทนไปเจรจาเรื่องการประกันตัวผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 โดยเข้าทางประตู 2 และกลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนตัวตามไปด้วย รถของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเข้ามาประกาศว่า การกระทำดังกล่าวผิดกฎหมาย รวมทั้งเปิดเพลง ทำให้ไพศาลพูดผ่านเครื่องขยายเสียงตำหนิเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ต่อมา ชลธิชาขึ้นไปพูดบนรถขยายเสียงถึงเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พูดถึงรัฐบาลที่ออกกฎหมายให้พระมหากษัตริย์มีกองกำลังของตนเอง มีการใช้งบประมาณตามอำเภอใจ รวมถึงการพูดถึง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ว่ามีการแก้กฎหมายให้ทรัพย์สินที่เคยเป็นของพระมหากษัตริย์และส่วนรวมตกไปเป็นของส่วนพระองค์ มีการโอนหุ้น โอนที่ดินไปเป็นของตัวเอง และมีการพูดว่าเป็นกษัตริย์นักลงทุน นักค้ากำไร โดยมีการพูดชื่อรัชกาลที่ 10 ด้วย 

จากนั้นวิปัศยาได้ขึ้นปราศรัยเรื่องสิทธิการประกันตัว การปฏิรูปสถาบันฯ และร้องเพลงเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันฯ วิศรุตขึ้นไปพูดเกี่ยวกับมาตรา 112 ว่าไม่เป็นไปตามหลักสากล และสุธิลาขึ้นพูดเรียกร้องให้มีการประกันตัว ก่อนที่พริมจะประกาศให้ผู้ชุมนุมทราบว่า ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา และเชิญชวนให้กลุ่มผู้ชุมนุมไปทำกิจกรรมถือป้ายผ้าที่มีชื่อผู้พิพากษาที่ไม่อนุญาตให้ประกันบริเวณป้ายศาลจังหวัดธัญบุรี หลังจากนั้นจึงยุติการชุมนุม

พยานเบิกความว่า ในการชุมนุมทั้งหมด พยานเป็นผู้ถ่ายวิดีโอไว้ และจัดทำรายงานการสืบสวน ต่อมาพยานไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ขึ้นปราศรัยรวม 9 คน ตามข้อหาเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมาตรา 112 ส่วนอาทรซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกเครื่องขยายเสียง พยานได้แจ้งความดำเนินคดีในภายหลังว่าร่วมกระทำความผิดด้วย

ช่วงทนายความจำเลยถามค้าน

  • ประเด็นเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ

พยานเบิกความตอบทนายจำเลยว่า ขณะเกิดเหตุ พ.ต.อ.วิวัฒน์ อัศวะวิบูลย์ ผู้กำกับการ สภ.ธัญบุรี เป็นผู้บังคับบัญชา และเป็นผู้ประกาศข้อกฎหมายให้ผู้ชุมนุมทราบ โดยในการวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีชุดสืบสวนอยู่นอกศาลประมาณ 10 คน อยู่ด้านในศาลประมาณ 10 คน ทำหน้าที่ถ่ายภาพเก็บข้อมูล ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดอื่น พยานไม่ทราบ

พยานไม่ทราบว่า ที่ผู้ชุมนุมขยับเข้ามาใกล้รถเครื่องเสียงและไปรวมตัวกันที่ประตู 2 จะเกี่ยวกับที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเพลงที่รถเครื่องเสียงของตำรวจหรือไม่ จำไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศข้อกฎหมายหลายครั้งหรือไม่ และไม่ทราบว่ามีการใช้โดรนบินถ่ายภาพหรือก่อกวนการชุมนุมหรือไม่

พยานไม่ทราบด้วยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศจะใช้รถเครื่องเสียงความถี่สูง หากไม่ยุติการชุมนุมหรือไม่ แต่จากที่พยานถอดคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 จำเลยพูดข้อความลักษณะดังกล่าวจริง

พยานไม่แน่ใจว่า ผู้ปราศรัยอยู่ห่างจากบุคคลอื่นประมาณ 2 เมตรหรือไม่ แต่ช่วงที่ไม่ได้ปราศรัยผู้ปราศรัยก็อยู่ปะปนกับคนอื่น โดยขณะชุมนุม ผู้ชุมนุมบางคนก็สวมหน้ากากอนามัย บางคนก็ไม่ได้สวม แต่รับว่า สถานที่ชุมนุมเป็นสถานที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก 

ตามภาพถ่ายในรายงานการสืบสวน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ขณะปราศรัย ยืนอยู่เพียงลำพัง ไม่ได้อยู่ใกล้กับบุคคลอื่น โดยจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 สวมหน้ากากอนามัย ส่วนในวันชุมนุมจะมีญาติของผู้ที่ถูกควบคุมตัวรวมถึงจำเลยที่ 4 มาขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือไม่ พยานไม่ทราบ 

พยานรับว่า ในวันเกิดเหตุไม่มีการตรวจยึดรถเครื่องเสียงไว้เป็นของกลาง ไม่มีการตรวจวัดความดังของเครื่องเสียง และปกติการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงเป็นหน้าที่ของเจ้าภาพหรือผู้จัดการชุมนุม แต่ในการชุมนุมครั้งนี้ พยานไม่ทราบว่าใครเป็นคนจัดการชุมนุม เนื่องจากไม่มีใครมาแสดงตน จึงได้แจ้งข้อความดำเนินคดีทุกคน

อย่างไรก็ตาม พยานรับว่า มีการประกาศเชิญชวนให้เข้าร่วมชุมนุมผ่านทางเพจเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน โดยร่วมกับ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย, รังสิตพยอมเก๋า และ Supporter Thailand แต่พยานไม่ได้ตรวจสอบว่า ผู้ใดเป็นผู้ประกาศ และไม่ได้ขอให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบ 

พยานตอบทนายจำเลยอีกว่า เส้นทางที่ผู้ชุมนุมเดินทางจากหน้าฟิวเจอร์ปาร์ครังสิตมาศาลจังหวัดธัญบุรีนั้น อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ และ สภ.ธัญบุรี ซึ่งพยานไม่ได้ตรวจสอบว่าจะมีการไปขออนุญาตชุมนุมหรือขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงที่ใดหรือไม่ 

  • ประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 112

พยานเบิกความตอบทนายจำเลยว่า เป็นผู้ถอดเทปคำปราศรัยส่วนใหญ่ โดยฟังและดูหลายรอบ  และเป็นคณะกรรมการพิจารณาเกี่ยวกับคดีความมั่นคง ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาการกระทำของจำเลยที่ 1 ว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ แต่พยานจำไม่ได้ว่า ในการพิจารณากลั่นกรองการกระทำของจำเลยที่ 1 นั้น คณะกรรมการจะได้นำพระราชบัญญัติทุกฉบับที่จำเลยที่ 1 พูดถึงมาประกอบการพิจารณาหรือไม่ และคณะกรรมการไม่ได้วินิจฉัยว่าถ้อยคำไหนเป็นความผิดบ้าง แต่วินิจฉัยรวมกันทั้งหมด

ทนายความให้พยานดูรัฐธรรมนูญ พยานรับว่า ในมาตรา 50 (2) ระบุว่า บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ พิทักษ์รักษาเกียรติภูมิ ผลประโยชน์ของชาติ และสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งให้ความร่วมมือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และรับว่า ประชาชนทั่วไปสามารถวิจารณ์การใช้งบประมาณของแผ่นดินได้ ซึ่งหน้าที่ในการดูแลงบประมาณเป็นของรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์

ส่วนรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ซึ่งระบุว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดมิได้ นั้น พยานไม่ทราบว่า ตามรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์ไม่สามารถกระทำการใด ๆ เองได้ ต้องมีผู้สนองพระบรมราชโองการ เพื่อดำรงไว้ซึ่งสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ

พยานดู พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 แล้วตอบทนายจำเลยว่า คำปราศรัยของจำเลยที่ 1 มีรายละเอียดตอนท้ายไม่ตรงกับพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 1 ระบุว่า สิ่งที่เคยเป็นส่วนรวมหรือเป็นของสถาบันฯ ก็กลายเป็นของเจ้าคือของกษัตริย์วชิราลงกรณ์ อย่างไรก็ตาม พยานรับว่า พระราชบัญญัติดังกล่าว ไม่มีข้อความ “สาธารณสมบัติของแผ่นดิน” 

ในส่วนที่จำเลยที่ 1 พูดถึงการโอนหุ้น พยานดูประกาศเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วรับกับทนายจำเลยว่า ในเอกสารดังกล่าวมีการระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการโอนหุ้นของพระมหากษัตริย์ 

นอกจากนี้ จำเลยยังปราศรัยพูดถึง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 ด้วย ซึ่งพยานตอบทนายจำเลย รับว่า ในมาตรา 4  วรรคสอง ระบุว่า การจัดระเบียบราชการในพระองค์และการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ส่วนวรรคสามและวรรคสี่ ระบุว่า ส่วนราชการในพระองค์ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และไม่เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายอื่น แต่พยานไม่ทราบว่า ข้าราชการในพระองค์จะอยู่ภายใต้บังคับของระเบียบบริหารราชการแผ่นดินหรือระเบียบต่าง ๆ ของราชการหรือไม่ 

พยานไม่ทราบด้วยว่า ที่จำเลยที่ 1 พูดเกี่ยวกับการมีกองกำลังนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมาตรา 7 (2) ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งระบุว่า ให้โอนบรรดากิจการทั้งอำนาจหน้าที่และทรัพย์สินของกรมราชองครักษ์ กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของส่วนราชการในพระองค์ หรือไม่

พยานดูประกาศเกี่ยวกับการพระราชทานยศฝ่ายทหารชั้นสัญญาบัตร แล้วตอบทนายจำเลยว่า เอกสารดังกล่าวไม่ปรากฏผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งพยานไม่ทราบสาเหตุ

พยานเห็นว่า ที่จำเลยที่ 1 ปราศรัยนั้น มีการพูดพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 ด้วย แต่รับว่า ถ้อยคำ “ที่ดินและหุ้นบริษัทจำนวนมากที่แต่เดิมสถาบันกษัตริย์เคยถือไว้…” จำเลยที่ 1 ไม่ได้พูดว่ารัชกาลที่ 10 เบียดบังภาษีประชาชนไปเป็นของส่วนตัว และคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 ไม่มีถ้อยคำหยาบคาย เพียงแต่ใช้คำไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม พยานฟังคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 แล้ว ไม่ได้เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์น้อยลง 

พยานไม่ทราบว่า ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นของกระทรวง ทบวง กรม หรือแม้แต่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ใช้เงินภาษีประชาชน ได้หรือไม่

พยานเห็นว่า หากจำเลยที่ 1 เห็นว่ากฎหมายที่ถูกแก้ไขส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของแผ่นดิน จำเลยที่ 1 สามารถพูดถึงได้ แต่ต้องรับผิดชอบในคำพูด

.

พีระเดช หล้าสองสี เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ พยานเป็นผู้ช่วยนิติกร ที่สำนักงานเทศบาลตำบลธัญบุรี มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทศบาล 

เกี่ยวกับคดีนี้ พยานได้รับข้อมูลข่าวสารทางสื่อออนไลน์ว่าจะมีการชุมนุมที่หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี ต่อมาในวันเกิดเหตุ มีการใช้รถบรรทุกเครื่องขยายเสียงที่ใช้ในการปราศรัย ซึ่งหากมีการใช้เครื่องขยายเสียง จะต้องขออนุญาตต่อเทศบาล แต่ในกรณีนี้ไม่ปรากฏว่ามีคำร้องขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงแต่อย่างใด ผู้บังคับบัญชาจึงได้มอบหมายให้พยานไปแจ้งความดำเนินคดีผู้ชุมนุมที่ สภ.ธัญบุรี

ช่วงทนายความจำเลยถามค้าน

พยานเบิกความตอบทนายจำเลยว่า หนังสือมอบอำนาจจากผู้บังคับบัญชาไม่ได้ระบุว่าให้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ใด แต่ตามคำให้การของพยานมีระบุชื่อจำเลยที่ 1 กับพวกไว้ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้พยานทราบ

พยานเห็นว่า กฎหมายที่ควบคุมเกี่ยวกับการใช้เครื่องขยายเสียงนั้นน่าจะมี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ เพียงฉบับเดียว 

เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคนแจ้งให้พยานทราบเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียง พยานจึงเข้าให้การกับพนักงานสอบสวน โดยไม่ได้ดูคลิปการชุมนุมก่อน และไม่ทราบว่าเป็นเครื่องขยายเสียงที่ใช้ไฟฟ้าหรือไม่

ผู้ที่ต้องขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงคือคนที่มีรถเครื่องขยายเสียง ซึ่งหากได้ขออนุญาตแล้ว บุคคลอื่นที่มาใช้เครื่องขยายเสียงก็ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตอีก โดยรถที่ใช้เสียงประกาศขายผลไม้ ก็ต้องขออนุญาต

บริเวณหน้าห้างฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต น่าจะอยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลนครรังสิต โดยผู้ชุมนุมจะมีการขออนุญาตใช้เครื่องเสียงกับเทศบาลนครรังสิตหรือไม่ พยานไม่ทราบ

พยานเห็นว่า หากมีการแก้ไขกฎหมายแล้วส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของประชาชน ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ รวมถึงการนำเนื้อหาของกฎหมายมาพูดในที่สาธารณะก็น่าจะทำได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 50 (2) เกี่ยวกับหน้าที่ของปวงชนชาวไทย

.

พ.ต.ท.ธนกฤต อินภู่ รองผู้กำกับการป้องกันและปราบปราม สภ.ธัญบุรี, พ.ต.อ.วิวัฒน์ อัศวะวิบูลย์ ผู้กำกับการ สภ.ธัญบุรี, ด.ต.สุเทพ วารีหลัง ตำรวจจราจร สภ.ธัญบุรี, พ.ต.ท.เดชา แสนว้า สารวัตรสืบสวน สภ.ธัญบุรี เบิกความในทำนองเดียวกันว่า ในวันเกิดเหตุมีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาความปลอดภัยทั้งบริเวณภายในและภายนอกศาลจังหวัดธัญบุรี ทั้งบริเวณประตู 1 และประตู 2 

พ.ต.ท.ธนกฤต มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยภายในศาลบริเวณประตู 1, พ.ต.อ.วิวัฒน์ เป็นผู้บังคับบัญชาและเป็นผู้ประกาศว่าการชุมนุมฝ่าฝืนต่อกฎหมาย, ด.ต.สุเทพ ปฏิบัติการจราจรอยู่บริเวณแยกไฟแดงคลอง 7 เป็นผู้สกัดและตรวจสอบรถกระบะบรรทุกเครื่องขยายเสียง, พ.ต.ท.เดชา มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ประตู 2 

เวลาประมาณ 11.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนมาที่หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี โดยมีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ พร้อมรถยนต์บรรทุกเครื่องขยายเสียง โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 50 คน มีการขึ้นปราศรัยบนรถเครื่องเสียงขอให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำ ต่อมาประมาณ 14.30 น. หลังเจ้าหน้าที่ศาลมาแจ้งว่าไม่อนุญาตให้ประกันตัว ผู้ชุมนุมจึงร่วมกันยืนแสดงสัญลักษณ์และแยกย้ายกันกลับ 

พ.ต.ท.ธนกฤต ระบุว่า มีการปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วน พ.ต.อ.วิวัฒน์ และ พ.ต.ท.เดชา เบิกความในทำนองเดียวกันว่า มีการปราศรัยให้ยกเลิก 112, ปฏิรูปสถาบันฯ และจำเลยที่ 1 ขึ้นปราศรัยดูหมิ่นและหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 

ด.ต.สุเทพ เบิกความว่า หลังจากผู้ชุมนุมยุติการปราศรัยและแยกย้ายกันกลับ พยานได้รับแจ้งทางวิทยุให้ตรวจสอบรถกระบะบรรทุกเครื่องขยายเสียง มีกระดาษเขียนว่าปล่อยเพื่อนเราปิดบังป้ายทะเบียนหน้าและหลัง ซึ่งมุ่งหน้ามาที่แยกคลอง 7  เมื่อพยานเจอรถคันดังกล่าวจึงให้หยุดและขอตรวจใบขับขี่และบัตรประชาชน แต่คนขับรถไม่ให้ดู เพียงแต่ดึงกระดาษปิดป้ายทะเบียนออก พยานจึงถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาพนักงานสอบสวนจึงได้ออกหมายเรียกคนขับรถมาพบ

ช่วงทนายความจำเลยถามค้าน 

  • ประเด็นเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ

พ.ต.ท.ธนกฤต ตอบทนายจำเลยว่า ตามรูปถ่ายในพยานเอกสารซึ่งผู้ปราศรัยสวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างจากบุคคลอื่นมากกว่า 1 เมตร นั้น ลักษณะดังกล่าวเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 หรือไม่ พยานไม่ทราบ 

พ.ต.อ.วิวัฒน์ และ พ.ต.ท.ธนกฤต ระบุว่า ในที่เกิดเหตุมีชุดสืบสวนปะปนอยู่กับผู้ชุมนุมไม่ต่ำกว่า 10 คน โดยนอกจากของ สภ.ธัญบุรี ยังมีกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานีด้วย 

พ.ต.ท.ธนกฤต, พ.ต.อ.วิวัฒน์ และ พ.ต.ท.เดชา เบิกความในทำนองเดียวกันว่า หน้าศาลจังหวัดธัญบุรีเป็นพื้นที่เปิดโล่ง การจัดให้มีมาตรการป้องกันโรคและขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงเป็นหน้าที่ของผู้จัดกิจกรรม โดย พ.ต.ท.ธนกฤต และ พ.ต.อ.วิวัฒน์ ระบุว่า หลังจากมาดูแลการชุมนุม ก็ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 

พ.ต.อ.วิวัฒน์ เบิกความว่า ผู้ชุมนุมบางคนก็สวมหน้ากากอนามัย บางคนก็ไม่สวม ส่วน พ.ต.ท.เดชา และ ด.ต.สุเทพ ซึ่งได้ดูคลิปวิดีโอการชุมนุม ระบุว่า ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ใส่หน้ากากอนามัย 

พ.ต.อ.วิวัฒน์ เบิกความว่า ญาติ นายประกัน เพื่อน หรือทนายความ สามารถยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหาได้ โดยหลังจากยื่นประกันตัวแล้วต้องรอฟังคำสั่ง แต่พยานไม่ทราบว่าจะมีบุคคลข้างต้นหรือสื่อมวลชนยืนรอฟังผลหรือไม่

  • ประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 112

พยานทั้งสี่ตอบทนายจำเลยในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1  ได้ดูหมิ่นและหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 แต่รับว่าสามารถพูดวิพากษ์วิจารณ์กฎหมาย และรัฐบาลที่ออกกฎหมายกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ในกรอบกฎหมาย

นอกจากนี้ พ.ต.ท.ธนกฤต ระบุว่า ที่พยานให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า จำเลยที่ 1  ได้พูดก้าวล่วงรัชกาลที่ 10  โดยระบุชื่อวชิราลงกรณ์เป็นกษัตริย์นักลงทุนนั้น พยานเห็นว่า คำว่า ลงทุน หมายถึงการแสวงหากำไร ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะพูด แต่ในส่วนอื่นพยานเห็นว่าไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 

ทั้งนี้ พ.ต.ท.ธนกฤต รับว่า ตอนที่ฟังจำเลยที่ 1 ปราศรัย พยานไม่ทราบมาก่อนว่ามี พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 ซึ่งมาตรา 8 วรรคท้าย มีรายละเอียดว่าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์สามารถนำรายได้จากทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไปลงทุนได้ และพยานไม่เคยทราบเรื่องการโอนหุ้นมาก่อน อีกทั้งพยานไม่ได้ฟังจำเลยที่ 1 ปราศรัยทั้งหมด จึงไม่ทราบว่า จำเลยที่ 1 พูดถึงเรื่องที่รัฐบาลออกกฎหมายจัดการทรัพย์สินของพระมากษัตริย์ หรือพูดถึงกษัตริย์โดยตรง

ด้าน พ.ต.อ.วิวัฒน์ ตอบทนายจำเลยว่า คดีนี้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อป้องกันข้อครหาว่าใช้มาตรา 112 กลั่นแกล้งดำเนินคดีกับผู้ที่พูดถึงสถาบันฯ ถ้าหากคดีน่าจะมีมูล คณะกรรมการก็จะทำการสอบสวนด้วย ก่อนส่งไปให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องต่อไป พ.ต.อ.วิวัฒน์ ยืนยันว่า แม้ผู้กล่าวหามาเป็นพนักงานสอบสวนด้วย การสอบสวนก็ชอบด้วยกฎหมาย 

ซึ่งในการพิจารณาการกระทำของจำเลยที่ 1 คณะกรรมการพิจารณาเฉพาะคำพูดของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่ได้นำพระราชบัญญัติใด ๆ ที่จำเลยที่ 1 พูดถึงมาประกอบการพิจารณาด้วย โดยถ้อยคำที่คณะกรรมการนำมาพิจารณาว่าเป็นความผิดหรือไม่ อาทิ กษัตริย์วชิราลงกรณ์, กษัตริย์นักลงทุน, นักค้ากำไร

พ.ต.อ.วิวัฒน์ รับว่า ในชั้นสอบสวน พยานสรุปไปเองและให้การไปตามที่พยานเข้าใจ โดยที่บางถ้อยคำจำเลยที่ 1 ไม่ได้พูด โดยเฉพาะคำว่า ‘ผลาญภาษีประชาชน’ อย่างไรก็ตาม การพูดของจำเลยที่ 1 มุ่งตรงไปที่การแก้ไขกฎหมายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ไม่ได้มุ่งตรงไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ พยานไม่มีความเห็น 

ส่วน พ.ต.ท.เดชา รับกับทนายจำเลยว่า ตามบันทึกการถอดเทปคำปราศรัย จำเลยที่ 1 ไม่ได้พูดว่า พระมหากษัตริย์เอาทรัพย์สินส่วนรวมมาเป็นทรัพย์สินส่วนตัว และตอนที่พยานให้การในชั้นสอบสวน พยานไม่ทราบว่ากษัตริย์สามารถนำทรัพย์สินไปลงทุนได้ 

เมื่อฟังจำเลยที่ 1 ปราศรัยแล้ว พยานก็ยังคงเคารพสักการะรัชกาลที่ 10 เหมือนเดิม แต่คนอื่นอาจเข้าใจผิด ดูหมิ่น หรือไม่เคารพสักการะพระมหากษัตริย์ได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจของพยานเอง ไม่มีผู้ใดมาบอกว่า ฟังแล้วไม่ชอบพระมหากษัตริย์ และพยานไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้

ด.ต.สุเทพ รับว่า ในวันเกิดเหตุพยานไม่ได้เดินทางมาในที่เกิดเหตุ พยานเพียงได้ดูคลิปวีดีโอที่พนักงานสอบสวนให้ดู และเห็นว่าถ้อยคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 ว่า กษัตริย์นักลงทุนและกษัตริย์นักค้ากำไรนั้น เป็นการกล่าวที่จาบจ้วงสถาบันฯ ไม่เคารพองค์พระมหากษัตริย์ โดยพยานไม่ได้สนใจว่าจำเลยจะนำข้อความในกฎหมายที่ออกหรือแก้ไขในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์มาพูดหรือไม่ 

.

กมล เพชรรัตน์ นักวิชาการสาธารณสุข เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ พยานรับราชการที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอธัญบุรี ช่วงวันที่เกิดเหตุเป็นช่วงที่มีโรคระบาดโควิด-19 มีกฎหมายควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ ซึ่งจังหวัดปทุมธานีถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม ห้ามไม่ให้มีการรวมตัวตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป 

พยานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มาสังเกตการณ์การชุมนุม ในเวลาประมาณ 10.00 น. มีกลุ่มคนมารวมกันจำนวนมากกว่า 30 คน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ และคำสั่งจังหวัดปทุมธานี

ในระหว่างการชุมนุมมีการปราศรัยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางที่ไม่ดี แต่พยานจำรายละเอียดไม่ได้ 

ช่วงทนายความจำเลยถามค้าน

  • ประเด็นเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ

พยานเบิกความตอบทนายจำเลยว่า พยานไม่ได้มีตำแหน่งในศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคจังหวัดปทุมธานี แต่พยานปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เข้าไปดำเนินการใด ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค แต่พยานไปที่เกิดเหตุโดยไม่ได้เตรียมอุปกรณ์ในการป้องกันโรคไปด้วย 

พยานรับว่า การชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด ผู้มีหน้าที่ต้องขออนุญาตและต้องมีมาตรการป้องกันโรคติดต่อ คือ ผู้จัดการชุมนุม แต่ในวันดังกล่าวพยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัด

การสวมหน้ากากอนามัย สามารถป้องกันโรคติดต่อได้ 80 – 90 เปอร์เซ็นต์ หากผู้ป่วยโควิด-19 สวมหน้ากากอนามัย ก็จะป้องกันได้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่อัตราความเสี่ยงก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วย การอยู่ในบริเวณที่อากาศถ่ายเทสะดวกก็สามารถลดการติดเชื้อได้ องค์การอนามัยโลกก็แนะนำว่า หากไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ก็ต้องสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดต่อ 

ช่วงเกิดเหตุคือเดือนกันยายน 2564 โดยประชาชนเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ช่วงปลายเดือนเมษายน 2564  

พยานไม่ได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบว่า การชุมนุมมีความเสี่ยงแพร่โรคหรือไม่ และไม่ได้แนะนำว่าสมควรจะติดตามเฝ้าระวังต่อไปหรือไม่ 

หากการชุมนุมเป็นแบบคาร์ม็อบซึ่งใช้รถในการชุมนุม และแต่ละคนอยู่ในรถก็มีความเสี่ยงน้อย ตามรูปถ่ายในรายงานการสืบสวน หากจำเลยที่ 1 ถึง 10 อยู่ในลักษณะดังกล่าวก็ไม่เสี่ยงต่อการแพร่โรค 

  • ประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 112

พยานตอบทนายจำเลยว่า มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ขอออกความเห็นว่า คนที่จงรักภักดีควรกล้าหาญออกมาพูดอย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้สถาบันฯ ยังคงอยู่อย่างมั่นคงหรือไม่ 

ในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนไม่ได้นำพระราชบัญญัติฉบับใดมาให้พยานดู และพยานไม่เคยทราบเรื่องการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ รวมถึงเรื่องการโอนหุ้น พยานให้การไปว่า ได้ยินว่ามีการพูดถึงพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ได้ให้ความเห็นว่า คำพูดดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นหรือจาบจ้วงพระมหากษัตริย์ 

หลังจากฟังคำปราศัยของจำเลยที่ 1 พยานไม่ได้เคารพสักการะสถาบันพระมหากษัตริย์น้อยลง 

.

พ.ต.ท.บุญเรือง พันธนู พนักงานสอบสวน เบิกความว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564 ขณะพยานปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนเวรที่ สภ.ธัญบุรี มี พ.ต.ท.ศราวุฒิ มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งขณะนั้นพยานทราบชื่อเพียง 2 คน คือ ชลธิชาและพริม จากบันทึกภาพวีดีโอทำให้ทราบว่ามีบุคคลอื่นร่วมชุมนุมด้วย จึงแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่จำเลยที่ 3 – 9 ต่อมาพิสูจน์ทราบคนขับรถบรรทุกเครื่องเสียง คือ จำเลยที่ 10 รวมผู้ต้องหาทั้งหมด 10 คน พยานจึงแจ้งข้อหาทั้งหมดว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรค, ฝ่าฝืนคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ต่อมาผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานีมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง หลังจากรวบรวมพยานหลักฐานมาพิจารณาแล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เข้าข่ายความผิดมาตรา 112 จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่จำเลยที่ 1 

พยานได้สอบปากคำพยานบุคคล โดยจัดให้ดูคลิปวีดีโอ ดูพยานหลักฐานทุกอย่างรวมทั้งข้อความที่ถอดเทป พยานแต่ละปากให้ความเห็นว่า ถ้อยคำการปราศรัยดังกล่าวของจำเลยที่ 1 เป็นถ้อยคำที่ใส่ความ หมิ่นประมาท ด้อยค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงองค์พระมหากษัตริย์ 

ต่อมาหลังจากพยานได้แจ้งข้อเท็จจริงและแจ้งสิทธิแก่ผู้ต้องหาทุกคนแล้ว ทุกคนให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา หลังจากพยานรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด จึงมีความเห็นควรให้สั่งฟ้อง

ช่วงทนายความจำเลยถามค้าน

  • ประเด็นเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ

พยานตอบทนายจำเลยว่า ไม่ทราบว่าศาลอาญาเคยมีคำพิพากษาว่า หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินมีอำนาจกำหนดพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉินเพียงอย่างเดียว ไม่ได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการชุมนุม 

ตามรายงานการสืบสวน ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นคนโพสต์ข้อความเชิญชวนมาชุมนุม และพยานไม่ได้สอบสวนเพิ่มเติมเพื่อหาผู้ที่โพสต์ข้อความ หลังการชุมนุม พยานก็ไม่ได้สอบถามสาธารณสุขว่ามีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือไม่ 

ผู้ปราศรัยมีการเว้นระยะจากบุคคลอื่น แต่ผู้ชุมนุมไม่มีการเว้นระยะห่าง ทั้งนี้ หน้าศาลจังหวัดธัญบุรีเป็นสถานที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก 

จากการสอบสวนไม่ปรากฏหลักฐานการว่า จำเลยมีการว่าจ้าง จัดเตรียมอุปกรณ์ ประชุมหรือเตรียมการที่จะชุมนุม

พยานรับว่า บริเวณหน้าฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต อยู่นอกเขตพื้นที่รับผิดชอบของพยาน พยานไม่ได้ขอตรวจสอบว่าผู้ชุมนุมได้มีการขออนุญาตจัดการชุมนุมรวมทั้งขอใช้เครื่องขยายเสียงหรือไม่

  • ประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 112

พยานตอบทนายจำเลยว่า พยานความเห็นที่เป็นบุคคลภายนอก ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้ติดต่อมาให้สอบคำให้การ โดยพยานไม่ทราบว่า บุคคลที่พยานสอบคำให้การ คือ ณัฐพร โตประยูร มีบทบาทด้านใด มีเรื่องเกี่ยวกับทุจริตมาก่อนหรือไม่ และเป็นที่ปรึกษาโครงการตามพระราชดำริหรือไม่ ไม่ทราบว่า นรินทร์ ศักดิ์เจริญไชยกุล เป็นที่ปรึกษากฎหมายของกลุ่มไทยภักดีหรือไม่ และกลุ่มไทยภักดีเป็นกลุ่มที่ต่อต้านและกวาดล้างผู้คัดค้านมาตรา 112 หรือไม่

พยานไม่ทราบว่า พยานทั้งสองปากข้างต้นเป็นพยานที่อยู่ตรงข้ามกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ แต่ทางการสืบสวนของสันติบาล พยานทราบว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในกลุ่มสามกีบ หรือกลุ่มประชาธิปไตย ส่วนนักวิชาการฝ่ายที่มีความเห็นในทางเดียวกับจำเลยที่ 1 นั้น ผู้บังคับบัญชาของพยานไม่ได้จัดมาให้พยานสอบคำให้การ 

ในการสอบสวน พยานกับพนักงานสอบสวนคนอื่นไม่ได้นำพระราชบัญญัติที่จำเลยที่ 1 พูดถึงมาประกอบการพิจารณา และไม่ได้ให้พยานบุคคลภายนอกดูก่อนสอบคำให้การ รวมทั้งไม่ได้เรียกเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังหรือสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มาสอบคำให้การเกี่ยวกับถ้อยคำที่จำเลยที่ 1 พูด 

พยานไม่ได้สอบสวนว่า ถ้อยคำที่จำเลยที่ 1 พูดมาจาก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560 ที่มีการแก้ไขจากเดิมคือ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2491 โดยให้ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือไม่  

การตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการกระทำของจำเลยที่ 1 ว่าเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงหรือไม่ เป็นไปตามคำสั่งที่ 331/2564 ต่อมาเมื่อเห็นว่าเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง จึงมีการตั้งพนักงานสอบสวนตามคำสั่งที่ 333/2564 ซึ่งระบุแยกว่า บุคคลใดมีอำนาจสืบสวน บุคคลใดมีอำนาจสอบสวน 

ทนายจำเลยถามว่า ผู้กล่าวหาไม่ควรมาลงชื่อในชุดสอบสวนด้วย และไม่ควรมาเป็นคณะกรรมการวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบห้ามไว้

คำให้การของพยานในชั้นสอบสวนที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความของจำเลยที่ 1 เหมือนกันทุกถ้อยคำยกเว้นข้อมูลส่วนตัว เนื่องจากคดีมีรายละเอียดและพฤติการณ์เดียวกัน สามารถใช้รูปแบบเดียวกันได้ 

พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยที่ 1 จากข้อความว่า ‘กษัตริย์วชิราลงกรณ์’ ซึ่งบุคคลทั่วไปหรือตามประเพณีไม่มีใครเรียกแบบนั้น เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 พูดถึงการใช้ภาษีว่าการที่ประเทศไทยไม่สามารถเป็นรัฐสวัสดิการได้เนื่องจากนำงบประมาณไปใช้กับสถาบันฯ รวมถึงพูดว่า กษัตริย์นักลงทุน นักค้ากำไร

พยานเห็นว่า บุคคลทั่วไปเมื่อได้ยินคำดังกล่าวก็รู้สึกด้อยค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ และท้ายคำปราศรัยจำเลยที่ 1 ยังบอกว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นทางออกทางเดียว เป็นทางเลือกทางเดียวของกษัตริย์วชิราลงกรณ์ ทุกคนฟังแล้วเป็นการขู่เข็ญ อาฆาตมาดร้าย 

พยานรับว่า ไม่ได้แสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกฎหมายที่จำเลยพูดถึงมาประกอบสำนวนการสอบสวน และไม่แน่ใจว่า หากพบว่า คำปราศรัยของจำเลยที่ 1 เป็นข้อเท็จจริงตามกฎหมายเหล่านั้นแล้ว การพูดของจำเลยที่ 1 ก็ไม่เป็นการใส่ร้าย หรือไม่

.

พริม มณีโชติ จำเลยที่ 2 และ วิปัศยา อยู่พูล จำเลยที่ 6 อ้างตนเป็นพยานจำเลย เบิกความในทำนองเดียวกันว่า ไม่ได้สังกัดหรือเป็นสมาชิกของกลุ่มเครือข่ายรายงานเพื่อสิทธิประชาชน, กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย, กลุ่มรังสิตพยอมเก๋า หรือกลุ่ม Supporter Thailand  

วิปัศยา เบิกความว่า ทราบว่ามีการชุมนุมโดยดูจากเฟซบุ๊ก ซึ่งโพสต์ว่าจะเรียกร้องการประกันตัวให้กับผู้ต้องขังทางการเมือง ซึ่งพยานรู้จักกับชาติชาย แกดำ ที่เป็นเพื่อนในกลุ่มภาคี Save บางกลอย จึงไปร่วมชุมนุม โดยนั่งแท็กซี่มาลงหน้าโรงพยาบาลธัญบุรี เวลาประมาณ 11.00 น.  มีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 20 – 30 คน ส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ภายในบริเวณที่ชุมนุมมีการแจกเจลแอลกอฮอล์ แต่ละคนอยู่กันกระจัดกระจาย มีการรวมตัวบ้างเป็นบางครั้งแต่เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 10 นาที และมีการเว้นระยะห่าง เป็นลักษณะการเดินขบวน ชูรูปบริเวณหน้าศาล 

ขณะนั่งอยู่ริมฟุตบาท เวลาเกือบ 12.00 น. มีเสียงประกาศว่ามีผู้ใดจะออกไปให้กำลังใจเพื่อน ๆ บ้าง  พยานจึงออกไปพูดให้กำลังใจบอยที่ถูกคุมขังอยู่ และพูดเรื่องสิทธิประกันตัว 

พริม เบิกความว่า เดินทางมาชุมนุมตามคำชักชวนของเพื่อนโดยใช้รถยนต์ การชุมนุมวันเกิดเหตุเป็นการชุมนุมแบบคาร์ม็อบ จอดรถกระจัดกระจายกัน ช่วงเวลาเกิดเหตุอากาศร้อน ต่างคนจึงต่างยืนกระจายกันอยู่ ในที่เกิดเหตุยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ ชาวบ้านที่มาขายของ และสื่อมวลชนที่มาทำข่าว 

พยานทั้งสองเบิกความในทำนองเดียวกันด้วยว่า สถานที่เกิดเหตุมีลักษณะโล่ง อากาศถ่ายเท ทั้งสองสวมหน้ากากอนามัย พกสเปรย์แอลกอฮอล์ รถสามารถสัญจรได้ตามปกติ 

ช่วงพนักงานอัยการถามค้าน 

วิปัศยา เบิกความตอบอัยการว่า ก่อนการชุมนุม มีผู้มาร่วมชุมนุมประมาณ 20 คน ไม่เกิน 30 คน โดยการชุมนุมจะมีการขออนุญาตหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ เนื่องจากไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม 

.

สุนี ไชยรส จำเลยที่ 4 อ้างตนเป็นพยาน เบิกความว่า พยานเคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ต่อมาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดแรก เมื่อปี 2544 – 2552 เป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เมื่อปี 2554 ถึง 2559 หลังจากนั้นเป็นอาจารย์อยู่ที่วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เคยเป็นรองคณะบดีฝ่ายพัฒนาสังคมเพื่อความยั่งยืน แต่ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ 

ในวันเกิดเหตุพยานมาเป็นนายประกันของชาติชาย แกดำ โดยเดินทางมาถึงศาลตั้งแต่ก่อน 09.00 น. หลังจากนั้นได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวและรอฟังผล พยานไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการชุมนุมในวันดังกล่าว ทราบแต่ว่าจะมีคนมาให้กำลังใจผู้ที่ถูกควบคุมตัว โดยมีครอบครัวของผู้ต้องหามาด้วย พยานจึงไปให้กำลังใจ หลังจากนั้นพยานนั่งรออยู่ในรถยนต์ที่จอดอยู่บริเวณศาล เพื่อสอนหนังสือออนไลน์โดยใช้ระบบ Zoom

ต่อมาเวลา 11.00 น. พยานเห็นว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาบริเวณหน้าศาล แต่ละคนอยู่ในรถกันเป็นส่วนใหญ่ อยู่ด้านนอกบ้าง เนื่องจากอากาศร้อน มีชาวบ้านมาขายของ มีสื่อมาทำข่าว และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนาย โดยผู้ชุมนุมแต่ละคนจะสวมหน้ากากอนามัยและพกเจลแอลกอฮอล์ เช่นเดียวกับพยาน

ต่อมาช่วงใกล้เที่ยง พยานสอนหนังสือเสร็จแล้ว มีคนมาชักชวนให้ขึ้นไปพูดเนื่องจากพยานเคยเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชน พยานจึงไปพูดเรื่องสิทธิในการประกันตัวผู้ต้องหา และแสดงความเชื่อมั่นต่อทุกคนว่าศาลน่าจะให้ประกัน เมื่อศาลไม่อนุญาตให้ประกัน พยานได้ถ่ายรูปกับครอบครัวและญาติของผู้ต้องหา จากนั้นจึงเดินทางกลับ 

.

อาทร โพดภูธร จำเลยที่ 10 อ้างตนเป็นพยาน เบิกความว่า พยานไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 1 ถึง 9 มาก่อน ไม่ได้สังกัดหรือเป็นสมาชิกของกลุ่มเครือข่ายรายงานเพื่อสิทธิประชาชน, กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย, กลุ่มรังสิตพยอมเก๋า หรือกลุ่ม Supporter Thailand  

วันเกิดเหตุเพื่อนได้ว่าจ้างให้พยานนำรถเครื่องขยายเสียงมา ทราบคร่าว ๆ ว่ามีการชุมนุมแบบคาร์ม็อบ เรียกร้องให้ประกันตัว โดยเคลื่อนขบวนมาจากหน้าฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต โดยไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้จัดการชุมนุม 

พยานเดินทางมาจากนครนายกพร้อมกับเพื่อนชื่อ บอย ซึ่งเคยทำกิจกรรมร่วมกัน แต่จำชื่อจริงไม่ได้ ถึงที่เกิดเหตุเวลาประมาณ 10.00 น. พยานสวมหน้ากากอนามัยและพกเจลแอลกอฮอล์ตลอดเวลา พยานไม่ได้ขึ้นปราศรัย หลังยุติการชุมนุมพยานได้จัดเก็บเครื่องเสียงและรับค่าจ้าง 1,000 บาท จากนั้นจึงขับรถกลับนครนายก

ขณะชุมนุมการจราจรบริเวณหน้าศาลจังหวัดธัญบุรีไม่ติดขัด เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยบริการ ผู้ที่มาร่วมชุมนุมต่างอยู่กันกระจัดกระจายตามรถและใต้ต้นไม้ 

.

ชลธิชา แจ้งเร็ว จำเลยที่ 1 อ้างตนเป็นพยานจำเลย เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ พยานไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม เพียงมาร่วมชุมนุม และพยานไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้จัด ทราบแต่เพียงว่าเป็นกลุ่มรังสิตพยอมเก๋าจากโลโก้ที่ปรากฏในเฟซบุ๊ก

พยานเข้าร่วมกิจกรรมเนื่องจากมีความสนใจในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในการประกันตัว รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านการเมือง โดยในวันเกิดเหตุมีการชุมนุมเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับนักกิจกรรมและเยาวชนในคดีมาตรา 112 ที่ถูกควบคุมตัวที่ศาลจังหวัดธัญบุรี โดยหนึ่งในผู้ถูกควบคุมตัวคือ ชาติชาย แกดำ เพื่อนที่ร่วมกิจกรรมมาด้วยกันหลายครั้ง 

การชุมนุมดังกล่าวเป็นแบบคาร์ม็อบ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด พยานนั่งรถของคนอื่นมาร่วมกิจกรรม พบกลุ่มผู้ชุมนุมมาถึงก่อนแล้วประมาณ 30 คน กระจายกันอยู่ตามร่มไม้เนื่องจากอากาศร้อน และมีรถเครื่องขยายเสียงจอดอยู่แล้ว

พยานสวมหน้ากากอนามัย และพกเจลแอลกอฮอล์ ขณะขึ้นปราศรัยบนรถยนต์ อยู่ห่างจากบุคคลอื่นเกินกว่า 2 เมตร พยานจึงถอดหน้ากากอนามัยออก

การปราศรัยของพยานมี 2 ประเด็น ดังนี้  

ประเด็นแรก เกี่ยวกับการจัดระเบียบทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์และกฎหมายว่าด้วยข้าราชการในพระองค์ เนื่องจากพยานเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวออกในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ หลังรัฐประหาร มีการเพิ่มพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์ ซึ่งอาจกระทบกับสถานะของพระองค์ในฐานะเป็นประมุขของรัฐตามรัฐธรรมนูญไทย ที่ควรอยู่ใต้รัฐธรรมนูญตามหลักการปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง

ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง หมายถึง การบริหารราชการทำโดยหน่วยงานของรัฐ ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ ซึ่งหากพระมหากษัตริย์บริหารราชการโดยตรง อาจทำให้มีผู้ไม่เห็นชอบหรือเห็นชอบเกิดขึ้นได้ อาจเป็นที่มาของการครหา 

ตามรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์จะถูกละเมิดหรือฟ้องร้องไม่ได้ ดังนั้น การกระทำต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์จะต้องมีผู้รับสนองพระราชโองการ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการกระทำเหล่านั้น การไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการอาจทำให้เป็นที่ครหาของประชาชนว่าเป็นการกระทำของพระมหากษัตริย์โดยตรง

คำปราศรัยว่า ‘พระมหากษัตริย์มีกองกำลัง’ เนื่องจาก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 บางมาตราระบุให้ส่วนราชการในพระองค์ขึ้นตรงกับพระมหากษัตริย์โดยตรง  นอกจากนี้ ใน พ.ร.ฎ.จัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 มาตรา 10 ก็ระบุให้ส่วนราชการในพระองค์ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์และปฏิบัติภารกิจตามพระราชอัธยาศัยเช่นกัน 

ก่อนจะมีการแก้พระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว หน่วยงานราชการต่าง ๆ ขึ้นตรงกับหน่วยงานของรัฐ เช่น ข้าราชการฝ่ายทหารก็จะขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหม ข้าราชการตำรวจก็จะขึ้นตรงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่หลังจากมีการออกกฎหมายดังกล่าว หน่วยงานที่เป็นข้าราชการในพระองค์ก็ขึ้นตรงกับพระมหากษัตริย์ ตัดขาดจากหน่วยงานรัฐ แต่ได้รับเงินเดือนจากภาษีประชาชนเช่นเดิม ตามพระราชกฤษฎีกาข้างต้น มาตรา 16 

หลังจากมีการแก้ไขกฎหมาย การแต่งตั้ง เลื่อนยศหรือตำแหน่งของข้าราชการดังกล่าว ก็จะขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์โดยตรง ซึ่งหากถูกถอนยศหรือไล่ออก บุคคลดังกล่าวจะไม่สามารถกระทำการใด ๆ ได้ 

นอกจากนี้ในปี 2562 ยังมีการออก พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ พ.ศ.2562 โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณของกรมทหารราบที่ 1 และที่ 11 ไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ ขึ้นตรงกับพระมหากษัตริย์โดยตรง และเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย 

ประเด็นที่สอง คำปราศรัยในส่วนของทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์นั้น เนื่องจากในปี 2560 และ 2561 รัฐบาลมีการแก้ไขกฎหมาย ทำให้ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ซึ่งเดิมมี 3 ส่วน คือ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยบางส่วนมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล รวมเป็นกองเดียว คือ ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 มาตรา 4 และการจัดการทรัพย์สินให้เป็นตามพระราชอัธยาศัย 

พยานมีความเห็นว่า การให้อำนาจพระมหากษัตริย์สามารถจัดการทรัพย์สินต่าง ๆ ได้ อาจกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หากมีการโอนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไปเป็นของคนอื่น จะกระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ถัด ๆ ไป

นอกจากนี้ พระราชบัญญัติดังกล่าวยังเปิดช่องให้มีการโอนหุ้นซึ่งเดิมเป็นของพระมหากษัตริย์ ไปเป็นในพระปรมาภิไธยของรัชกาลที่ 10  ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจกระทบกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินเป็นพระมหากษัตริย์โดยตรง หากมีข้อพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวหรือการลงทุน จะกระทบกับสถานะของพระมหากษัตริย์ ทำให้เกิดคำครหาและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม 

พยานยืนยันว่า ปราศรัยในฐานะเป็นประชาชนคนไทย มีหน้าที่ปกป้องทรัพย์สินของแผ่นดิน เพื่อให้ทรัพย์สินดังกล่าวส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป โดยการปราศรัยของพยานเป็นการกระทำด้วยความปรารถนาดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้สถาบันฯ มั่นคงยั่งยืนต่อไป

ที่พยานปราศรัยเนื่องจากต้องการให้การจัดการเรื่องดังกล่าวกลับไปเป็นเหมือนเดิมที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินต่าง ๆ เหล่านี้ และคงทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินไว้เช่นเดิม

พยานเห็นว่า การจะให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีความยั่งยืน คงทน มั่นคงต่อไป จะต้องมีการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ด้วยเหตุและผล ไม่ควรนำมาฟ้องร้องเป็นคดี โดยอาศัยมาตรา 112 การที่พยานกระทำการดังกล่าวแม้จะเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง เป็นข้อพิสูจน์ว่าพยานมีความจงรักภักดี 

.

รณกร บุญมี อาจารย์ประจำที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ส่งเอกสารแสดงความเห็นในฐานะที่เป็นนักวิชาการด้านกฎหมายอาญาให้ศาล และเบิกความว่า พยานเห็นว่าคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดตามฟ้อง

พยานได้อธิบายถึงองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และรายละเอียดในคดีนี้ สามารถสรุปได้เป็น 3 ประเด็น ดังนี้

.

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ด้านกฎหมายมหาชน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ส่งเอกสารแสดงความเห็นในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญด้านเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพด้านศาสนา และพัฒนาการของรัฐธรรมนูญไทย

พยานเบิกความว่า พยานเห็นว่าคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 ไม่ถึงขนาดเป็นการอาฆาตมาดร้าย ไม่เป็นการดูหมิ่น 

สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น  ต้องพิจารณาว่าเป็นการกล่าวหาพระมหากษัตริย์ว่ามีคุณสมบัติอันเป็นโทษหรือมีการกระทำที่เป็นการเสื่อมเสียหรือไม่ ซึ่งในการปราศรัยของจำเลยที่ 1  เป็นการพูดกล่าวหารัฐบาล ไม่ได้กล่าวหาไปถึงพระมหากษัตริย์ พยานจึงมีความเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1  ไม่เป็นการหมิ่นประมาท 

ความเห็นของพยานประกอบกับรายละเอียดในคดีนี้ สามารถสรุปได้เป็น 2 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ข้อความแรกที่บรรยายไว้ในคำฟ้อง มีใจความว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกกฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 เป็นของขวัญแก่สถาบันพระมหากษัตริย์

ผู้กระทำในข้อความนี้ คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ผ่านกฎหมาย เป็นของขวัญแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ข้อความนี้ไม่ได้กล่าวหาพระมหากษัตริย์ กล่าวแต่เพียงว่า สถาบัน มิใช่ตัวบุคคล เป็นผู้รับของขวัญเฉย ๆ ตามหลักการให้นั้น เป็นการกระทำฝ่ายเดียวโดยมิต้องอาศัยความยินยอมพร้อมใจของผู้รับ ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างจากนิติกรรมอื่นที่เป็นนิติกรรมสองฝ่าย

การตรากฎหมายระเบียบบริหารราชการในพระองค์ เป็นข้อเท็จจริงที่รับทราบกันทั่วไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 ดังในกรณีนี้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา และเข้าถึงได้ผ่านเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตามปกติ มิใช่เรื่องเสียหาย หรือควรต้องปกปิดแต่ประการใด การนำข้อเท็จจริงอันเป็นที่รับรู้กันอย่างเปิดเผยมากล่าวซ้ำอีกครั้ง ย่อมไม่ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศของผู้ถูกกล่าวถึง 

การที่สถาบันพระมหากษัตริย์รับเงินงบประมาณ ซึ่งเก็บมาจากภาษีและรายได้ประเภทต่าง ๆ ของรัฐ ก็เป็นหลักการปกติในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่แล้ว ข้อความดังกล่าวไม่ปรากฏว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ใช้ข้าราชการส่วนพระองค์ หรือดังที่จำเลยใช้คำเรียกว่ากองกำลังนั้น ไปทำกิจการใดที่เป็นที่เสื่อมเสีย ผิดกฎหมาย หรือผิดมาตรฐานจริยธรรม ย่อมยังไม่เพียงพอจะเป็นการใส่ความพระมหากษัตริย์ให้ถูกเข้าใจผิด

นอกจากนี้ จำเลยมิได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์ แต่กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นความแตกต่างระหว่างบุคคลกับสถาบัน เมื่อประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งต้องตีความโดยเคร่งครัด ใช้คำว่า พระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ย่อมชัดเจนว่ามุ่งหมายคุ้มครองตัวบุคคล การกล่าวถึงสถาบัน ซึ่งเป็นองค์รวมโดยไม่ระบุตัวชัดเจน จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดในมาตรา 112

ประเด็นที่ 2 ในส่วนของข้อความที่สอง ซึ่งกล่าวถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แก้ไขกฎหมาย ตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 นั้น 

ประการแรก ข้อความดังกล่าวอ้างว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้กระทำ มิใช่พระมหากษัตริย์เป็นผู้กระทำ ซึ่งก็สอดคล้องกับสภาพการปกครองในขณะนั้น ซึ่งมอบหมายให้กิจการนิติบัญญัติอยู่ภายใต้รัฐบาลรักษาการ อันมีที่มาจากการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 กำหนดให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจสูงสุดเป็นรัฐบาล และแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อผ่านกฎหมายต่างๆ

ประการที่สอง การตรากฎหมายดังกล่าว เป็นข้อเท็จจริงที่รับทราบกันทั่วไป ดังจะเห็นได้จากการตีพิมพ์ลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135/ตอนที่ 88 ก/หน้า 1/3 พฤศจิกายน 2561 และเป็นข่าวปรากฏทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไทยรัฐ Thai PBS สำนักข่าวบีบีซีภาษาไทย Fortunes, The Strait Times, Financial Times มีผู้พูดถึง ถกเถียง และอธิบายกันอย่างกว้างขวาง แต่โดยสรุปสอดคล้องกับที่จำเลยอธิบาย และสอดคล้องกับเนื้อความในกฎหมายเอง ว่าถ่ายโอนอำนาจในการจัดการทรัพย์สินกลับคืนสู่พระมหากษัตริย์ มิได้เป็นการใส่ความแต่ประการใด

ประการที่สาม การพูดถึงกษัตริย์นักลงทุน หรือนักค้ากำไร เป็นไปตามการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์มาตรฐานจำนวนมาก มิว่าจะเป็น ‘Thai king takes control of some $30bn crown assets’ BBC (16 June 2018), ‘Thailand’s new king among world’s wealthiest monarchs’ Reuters (3 May 2019) หรือ ‘Thailand’s king now largest shareholder in Siam Cement Group’ Reuters (18 August 2018) มิใช่การกล่าวอ้างอย่างลอยๆ นอกจากนี้ ยังมีงานวิชาการที่ศึกษาหัวข้อดังกล่าวสืบย้อนหลังกลับไปด้วย อาทิ Wasana Wongsurawat, ‘The Crown and the Capitalists: The Ethnic Chinese and the Founding of the Thai Nation’ (University of Washington Press 2019) และ Puangchon Unchanam ‘Royal Capitalism’ (University of Wisconsin-Medison 2022)

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับเงินทุนนั้น มิใช่ความสัมพันธ์ที่จะต้องเสียหายหรือน่าอับอายในตัวเอง ในอดีต กษัตริย์ที่ค้าขายเก่งหรือสั่งสมความมั่งคั่งเก่ง เช่น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้านั้น ได้รับการยกย่องว่าเป็นกษัตริย์เจ้าสัว จากการแต่งสำเภาไปค้าขายกับเมืองจีน จนปรากฏตำนานเรื่องเงินถุงแดงใช้ไถ่บ้านเมืองเมื่อคราว รศ.112 ก็ชี้ให้เห็นว่า ความมั่งคั่งดังกล่าวเป็นคุณแก่ประเทศได้ ดังนั้น ความมั่งคั่งจึงเป็นแค่ข้อเท็จจริง ความดีชั่วของความมั่งคั่งนั้นขึ้นกับว่าเจ้าของความมั่งคั่งจะใช้ความมั่งคั่งทำอะไร หากใช้ทำดี คนไทยก็ยกย่อง หากใช้ในทางมิชอบหรือได้มาทางมิชอบก็อาจตำหนิติเตียน ดังเรื่องเล่าการเก็บภาษีผักบุ้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็กลายเป็นข้อวิจารณ์พระราชอำนาจ 

ในกรณีนี้ ความไม่ปรากฏว่าจำเลยได้พูดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ใช้ความมั่งคั่งทำอะไรเสื่อมเสีย การตีความว่า ข้อความดังกล่าวทำให้ประชาชนเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจตนาเอาทรัพย์สินส่วนรวมมาเป็นส่วนตัว หรือเบียดบังภาษี ใช้พระราชอำนาจแทรกแซงนั้น เป็นการตีความของผู้ฟ้องทั้งสิ้น และเป็นการตีความที่เกินเลยจากข้อความที่ปรากฏไปมาก ทั้งที่ตามหลักกฎหมายอาญา ควรตีความโดยเคร่งครัด รวมถึงการเสาะแสวงหาเจตนาของจำเลยด้วย  

เนื่องจากถ้อยคำในคำฟ้องปรากฏว่า กล่าวถึงการกระทำของพลเอกประยุทธ์ มิได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์เป็นส่วนพระองค์ และข้อความไม่ปรากฏว่าเป็นการกระทำ หรือโทษสมบัติใดของพระมหากษัตริย์ จึงเห็นว่า ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112

.

สฤนี อาจวานันทกุล ได้ส่งเอกสารแสดงความเห็นในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน และเบิกความว่า พยานเห็นว่าคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 เป็นคำปราศรัยที่สามารถเข้าใจได้และเป็นการแสดงความคิดเห็น เป็นการปราศรัยด้วยความห่วงใยและหวังดี 

ความเห็นของพยานประกอบกับรายละเอียดในคดีนี้ สามารถสรุปได้เป็น 2 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ข้อความตามฟ้อง พยานเห็นว่า เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏโดยทั่วไปว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้ดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ โดยกฎหมายฉบับนี้ปี พ.ศ.2560 มาตรา 4 และมาตรา 5 บัญญัติให้ประเภททรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 

1) ทรัพย์สินส่วนพระองค์ หมายความว่า ทรัพย์สินที่เป็นของกระมหากษัตริย์อยู่แล้วก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ ทรัพย์สินที่รัฐทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และทรัพย์สินที่ทรงได้มาไม่ว่าในทางใดและในเวลาใดอันเป็นการส่วนพระองค์ ทั้งนี้ รวมถึงดอกผลที่เกิดจากบรรดาทรัพย์สินเช่นว่านั้นด้วย

2) ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หมายความว่า ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์นอกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์
โดยมาตรา 10 วรรคสอง บัญญัติให้ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินและทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2475 ฯลฯ เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 6 บัญญัติให้การจัดการ การดูแลรักษา การจัดหาผลประโยชน์ และการดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

ส่วนพระราชบัญญัติที่พลเอกประยุทธ์แก้ไขใหม่อีกครั้งคือ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 เปลี่ยนชื่อทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ เป็น ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยมาตรา 4 บัญญัติให้ ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ หมายความว่า ทรัพย์สินในพระองค์และทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ และมาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติให้กรณีที่มีปัญหาว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามโบราณราชประเพณี ให้เป็นไปตามพระบรมราชวินิจฉัย

จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ย่อมเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นที่รับรู้รับทราบกันโดยทั่วไป และประชาชนสามารถตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขกฎหมายของพลเอกประยุทธ์ได้เนื่องจากเกี่ยวข้องโดยตรงกับสาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเป็นผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งชลธิชารวมทั้งประชาชนมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ในฐานะที่เป็นปวงชนชาวไทย ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 50 (2) และชลธิชามีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นและกล่าวถึงการบริหารราชการแผ่นดินที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้โดยชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย

การที่ชลธิชาแสดงความคิดเห็น ตั้งคำถามและปราศรัยถึงการกระทำของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์จึงเป็นสิ่งที่ประชาชนพึงกระทำได้ และถือเป็นหน้าที่สำคัญของพลเมืองเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ใช่การกระทำที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ตามคำฟ้องแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 2 คำปราศรัยที่ว่า “ตอนนี้มันไม่ใช่ มันถูกพ่วงท้ายด้วยคำว่ากษัตริย์นักลงทุน หรือนักค้ากำไรตามมาด้วย” ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และและนักวิชาการอิสระด้านการเงิน ข้าพเจ้าเห็นว่าถ้อยคำดังกล่าวเป็นคำทั่วไปที่ใช้ทั้งในแวดวงนักลงทุนและในหมู่ประชาชนทั่วไป ไม่ได้เป็นคำที่มีความหมายว่าเป็นสิ่งไม่ดีหรือเป็นคนไม่ดีแต่อย่างใด เพียงแต่คำปราศรัยดังกล่าวหมายถึงการเปลี่ยนแปลงตัวตนของผู้ถือหุ้นในกิจการบางกิจการ จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือบริษัทในเครือ ซึ่งมีโครงสร้างการบริหารเป็นหมู่คณะ มาเป็นการถือหุ้นในพระปรมาภิไธยโดยตรง กิจการเหล่านั้นหลายกิจการชัดเจนว่าประกอบกิจการเพื่อแสวงกำไรหรืออีกนัยหนึ่งคือ “ค้ากำไร” อาทิ สถาบันการเงินขนาดใหญ่ หรือบริษัทปูนซิเมนต์ขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และ/หรือต้องการผลตอบแทนจาก “การลงทุน” เช่น ค่าเช่าจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น 

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีบทบาทในการลงทุนเพื่อแสวงหากำไรในทางธุรกิจการค้ามาอย่างต่อเนื่องยาวนานแล้ว ดังที่ปรากฏในงานวิจัยเรื่องสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับบทบาทการลงทุนทางธุรกิจ โดย รศ.ดร.พอพันธุ์ อุยยานนท์ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อปี 2549 เป็นต้น เพียงแต่ในอดีตที่ผ่านมาเป็นการลงทุนโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ในนามพระปรมาภิไธยของในหลวง

เมื่อพลเอกประยุทธ์แก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้มีการจัดการทรัพย์สินได้ตามพระราชอัธยาศัย จึงปรากฏในภายหลังว่ามีการโอนที่ดินและโอนหุ้นใน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB หรือการโอนหุ้นใน บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG และบริษัทอื่น ๆ ซึ่งเดิมถือหุ้นในนามของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือบริษัทในเครือ ได้มีการโอนไปเป็นชื่อของในหลวงรัชกาลที่ 10 ในนามส่วนพระองค์ กรณีดังกล่าวเป็นข่าวเผยแพร่ต่อสาธารณะเป็นการทั่วไป และชลธิชาและประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่ตั้งคำถามกับการแก้ไขกฎหมายของพลเอกประยุทธ์ 

กรณีดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการท้วงติงหรือแสดงความคิดเห็นด้วยความหวังดีและห่วงใยต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสถาบันกษัตริย์จากการกระทำของพลเอกประยุทธ์ พยานจึงเห็นว่าคำปราศรัยของชลธิชาไม่เป็นการดูหมิ่น ด้อยค่า หรือใส่ความทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 ต้องเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังอันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

.

ธนพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ได้ส่งเอกสารแสดงความเห็นในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และสถาบันกษัตริย์ และเบิกความว่า พยานเห็นว่า จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะรักษาและธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และสิ่งที่ทำให้ออกมาปราศรัยเป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ โดยเฉพาะการออกกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ เป็นการพูดถึงจุดที่เป็นปัญหาเพื่อให้มีการแก้ไข 

ความเห็นของพยานประกอบกับรายละเอียดในคดีนี้ สามารถสรุปได้เป็น 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ข้อความที่ว่า “เรามาพูดในฐานะของกัลยาณมิตร หรือราษฎรนะคะ ที่หวังดีกับกษัตริย์วชิราลงกรณ์นะคะ”
พยานเห็นว่า ข้อความดังกล่าวของจำเลยที่ 1 สะท้อนให้เห็นสาระสำคัญของการปราศรัยในครั้งนี้ เพราะจำเลยที่ 1 ตระหนักดีว่าภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลประยุทธ์ได้สร้างความตึงเครียดให้กับสถาบันกษัตริย์กับประชาชนเป็นอย่างมาก

ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 กล้าหาญมาเรียกร้องต่อสถาบันกษัตริย์ ให้ประพฤติปฏิบัติให้สอดคล้องในกรอบระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หรือ Constitutional Monarchy จึงสมควรที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือแม้แต่พระมหากษัตริย์ควรรับฟัง

ประเด็นที่ 2 ข้อความเกี่ยวกับการออก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 
พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 134 ตอนที่ 48 ก ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 1 พ.ค. 2560  โดยมี ผู้รับสนองพระราชโองการคือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และในอีกฐานะหนึ่ง พลเอกประยุทธ์ คือ หัวหน้าคณะรัฐประหาร ปี 2557 ที่ได้แต่งตั้งสภานิติบัญญัติที่ออกกฎหมายฉบับนี้ด้วยเช่นกัน 

ดังนั้น ความรับผิดชอบทั้งปวงที่เกิดขึ้น คือ ผลงานของพลเอกประยุทธ์ 

ขณะเดียวกันพยานที่ศึกษาและตีพิมพ์ผลงานศึกษาเกี่ยวกับจัดการพระราชทรัพย์ของสถาบันกษัตริย์ ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขก็เห็นสอดคล้องกับจำเลยที่ 1 ว่า  การกระทำของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสียและไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หรือ Constitutional Monarchy พระมหากษัตริย์ปลอดพ้นไปจากการบริหารประเทศ  หรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ  

ประเด็นที่ 3 ข้อความเกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในปี 2561 
พยานขอยกตัวอย่างภาพถ่ายสนามหลวงเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2563 ภายหลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561



การที่สำนักพระราชวังได้เอาป้ายมาติดบริเวณสนามหลวง พร้อมกับการทำรั้วเพื่อกีดกันการใช้ประโยชน์ของประชาชนนั้น ถึงแม้จะสอดคล้องกับพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 แต่ก็ตามมาด้วยการวิพาษ์วิจารณ์มากมาย เช่นบทความ “จากสนามหลวงสู่สนามหวง: เมื่อการเมืองถูกไล่ออกจากพื้นที่สาธารณะ”  ของประชาไท เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2563  

และทั้งหมดนี้เองก็ได้นำมาสู่การชุมนุมเรียกร้อง ทวงคืนสนามหลวง และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ไปพร้อมกันในวันที่ 19 ก.ย. 2563

ส่วนคำกล่าวที่ว่า รัชกาลที่ 10 เป็น “กษัตริย์นักลงทุน หรือนักค้ากำไร” ก็เป็นความจริงทุกประการจากการตรา พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 ดังเช่น

1) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) เดิมผู้ถือหุ้นใหญ่คือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เมื่อมี พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 รัชกาลที่ 10 จึงกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 403,647,840 หุ้นหรือ คิดเป็น 33.64%

2) บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือเดิมคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เดิมผู้ถือหุ้นใหญ่คือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เมื่อมี พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 รัชกาลที่ 10 จึงกลายมาเป็นถือหุ้นใหญ่ อันดับ 1 จำนวน 793,832,359 หรือคิดเป็น 23.58 %

 การมีพระนามของพระมหากษัตริย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์นั้นเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับหลักการระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หรือ Constitutional Monarchy พระมหากษัตริย์ปลอดพ้นไปจากการบริหารประเทศ หรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อย่างชัดเจน

คำปราศรัยของจำเลยที่ 1 จึงไม่เพียงแต่ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เท่านั้น แต่ยังเป็นการรักษาสถาบันกษัตริย์ให้อยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตยให้สมกับคำว่า “ปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง”  และพ้นไปจากการวิจารณ์ใด ๆ

.

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องมาตรการโควิด และเบิกความเกี่ยวกับเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 

เกี่ยวกับคดีนี้ พยานได้ตรวจพยานหลักฐานในสำนวนแล้ว มีความเห็นว่า ช่วงวันที่ 11 ก.ย. 2564  เป็นช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 พื้นที่ที่มีการระบาดสูงสุดเป็นพื้นที่กรุงเทพมหานคร  ช่วงวันที่ 1 ก.ย. 2564 พื้นที่กรุงเทพฯ และปทุมธานี รวมทั้งปริมาณมณฑลเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม หมายถึง มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรง 

แต่สำหรับจังหวัดปทุมธานี มีการปรับการควบคุมให้เบาบางลงมากกว่าพื้นที่ในกรุงเทพฯ เนื่องจากจังหวัดปทุมธานีมีการระบาดน้อยที่สุด ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 

สำหรับกิจกรรมคาร์ม็อบในคดีนี้ พยานเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิดน้อย เนื่องจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างคนต่างขับรถ ทำให้มีการเว้นระยะห่าง มีการสวมหน้ากากอนามัย การจัดกิจกรรมยังจัดในที่โล่งแจ้ง ทำให้โอกาสในการแพร่ระบาดมีน้อย 

ความเห็นของพยานประกอบกับรายละเอียดในคดีนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้

ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน 2564 พื้นที่จังหวัดปทุมธานี จัดอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม คำสั่งจังหวัดปทุมธานีที่ 8566/2564 ลงวันที่ 31 ส.ค. 2564 จึงประกาศปรับการล็อคดาวน์และเคอร์ฟิว เริ่มวันที่ 1 ก.ย. 2564 มีสาระสําคัญ คือ ห้ามรวมกันจัดกิจกรรมเกินกว่า 25 คน ยกเว้นได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

ข้อสังเกตสำคัญ คือ แม้จะเป็นพื้นที่เข้มงวดสูงสุด (สีแดงเข้ม) แต่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปทุมธานี ได้ผ่อนคลายมาตรการลงจากที่มาตรการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ศบค. กำหนด มีความเข้มงวดน้อยกว่า เพราะปทุมธานีเป็นจังหวัดในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีสถานการณ์การระบาดต่ำที่สุด 

ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 11 ก.ย. 2564 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีการระบาดเรียงจากหนักที่สุดมาหาต่ำที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี สมุทรสาคร นครปฐม และปทุมธานี จึงทำให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปทุมธานีเลือกผ่อนคลายมาตรการเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจสามารถเดินไปได้ โดยมีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนให้น้อยที่สุด

การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะมีการแพร่เชื้อจากผู้ที่ติดเชื้อจากการไอ จาม ติด ทางน้ำลายหรือน้ำมูก สามารถติดเชื้อไปยังผู้อื่นที่อยู่ใกล้ชิดได้ มีระยะ 1 – 2 เมตร แต่ไม่ใช่การติดต่อทางอากาศ การแพร่ระบาดของโรคต้องผ่านการไอจามที่มีละอองเสมหะที่มีเชื้อจึงจะแพร่เชื้อได้

สําหรับการจํากัดจํานวนคนที่มารวมตัวหรือรวมกลุ่มกันนั้น ในทางการแพทย์จะเน้นจํากัดกิจกรรมในที่ ๆ มีการระบายอากาศไม่ดี เช่น ในห้องประชุม โรงแรม ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศ ที่มีอากาศปิด ซึ่งจะทำให้มีการระบาดของเชื้อโควิดได้ง่าย แต่หากเป็นการรวมตัวกันของบุคคลจํานวนมากในสถานที่โล่งแจ้ง มีแสง มีความร้อน มีลม มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก เช่น สนามกีฬา สวนสาธารณะ ท้องถนน ตลาดนัดในที่โล่งแจ้ง ก็จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้น้อยมาก แม้จะมีการรวมตัวกันเกินกว่า 25 คน ก็ตาม

จากข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในจังหวัดปทุมธานีของ ศบค. นั้น  พบว่า ในวันที่  11 ก.ย. 2564  มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ 134 ราย หากมีระบาดจากกิจกรรมใดในวันที่ 11 ก.ย. 2564 ก็จะพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นใน 3 – 5 วัน หลังจากนั้น ซึ่งจากข้อมูลของ ศบค. พบว่าในวันที่ 14, 15 และ 16 ก.ย. 2564 ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี มีจำนวนผู้ป่วยใหม่ทั้งสิ้น 70, 164 และ 139 ราย ตามลำดับ และไม่ปรากฏรายงานคลัสเตอร์จากเหตุการชุมนุมคาร์ม็อบหน้าศาลจังหวัดธัญบุรีจากรายงานการสอบสวนโรคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี 

จากข้อมูลข้างต้นเป็นการยืนยันว่ากิจกรรมชุมนุมคาร์ม็อบหน้าศาลจังหวัดธัญบุรีในวันที่ 11 ก.ย. 2564 ไม่ได้ทำให้มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่อย่างใด

สําหรับการชุมนุมของบุคคลที่เรียกร้องสิ่งต่าง ๆ ชมรมแพทย์ชนบทเคยเสนอความเห็นต่อผู้มีอํานาจในกระทรวงสาธารณสุขว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมืองควรมีความสมดุลกับการควบคุมโรคระบาด ซึ่งสรุปได้ 2 รูปแบบ ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนและเป็นนวัตกรรมที่ดีมาก ได้แก่ 

รูปแบบแรก ม็อบฟอร์มโฮม คือ แสดงความคิดเห็นโดยการอยู่ที่บ้านหรือที่พํานักของตัวเอง ถ่ายรูปแสดงสัญลักษณ์ต่าง ๆ แล้วลงทางสื่อโซเซียล

รูปแบบที่สอง คาร์ม็อบ คือ จัดการแสดงออกความคิดเห็น โดยแต่ละคนอยู่บนรถของตัวเอง ก็จะเกิดความสมดุลระหว่างสิทธิในการแสดงออกกับมาตรการในการควบคุมโรค 

จากการติดตามของข้าพเจ้าพบว่า มีการรวมกลุ่มจัดกิจกรรมคาร์ม็อบทุกภาคทั่วประเทศ แต่ไม่พบการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการจัดกิจกรรมแสดงออกแบบคาร์ม็อบดังกล่าว เพราะเป็นสถานที่ที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก จึงมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคต่ำ

จากลักษณะการชุมนุมที่บรรยายในคำฟ้องตลอดจนภาพถ่ายในสำนวนคดีนี้ ลักษณะของการชุมนุมรวมตัวกันหน้าห้างฟิวเจอร์พาร์ครังสิตและหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี หากผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมใส่หน้ากากอนามัย สถานที่ชุมนุมเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ลักษณะการชุมนุมมีคนขับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ก็จะมีโอกาสในการแพร่เชื้อโรคติดเชื้อโควิด-19 น้อยมาก ประกอบกับจากข้อมูลข้างต้นเป็นการยืนยันว่า กิจกรรมชุมนุมคาร์ม็อบหน้าศาลจังหวัดธัญบุรีในวันที่ 11 ก.ย. 2564 ไม่ได้ทำให้มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด
X