เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2565 พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีได้ยื่นฟ้องคดีของ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว และพวกรวม 10 คน ในข้อหาหลักเกี่ยวกับการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อศาลจังหวัดธัญบุรี กรณีปราศรัยและชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีการเมือง หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564
ทั้งนี้ มีชลธิชาเพียงคนเดียวที่ถูกยื่นฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการปราศรัยในประเด็นเกี่ยวกับการที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกกฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 และการปล่อยให้มีการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เมื่อปี 2561
ด้านจำเลยอีก 9 รายในคดีนี้ ซึ่งได้แก่ พริม มณีโชติ, ศรีไพร นนทรีย์, สุนี ไชยรส, ธนพร วิจันทร์, วิปัศยา อยู่พูล, สุธิลา ลืนคำ, วิศรุต สมงาม, ไพศาล จันทร์ปาน และอาพร โพดภูธร ถูกฟ้องเฉพาะข้อหาเกี่ยวกับการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดปทุมธานี เรื่องมาตรการป้องกันโควิด และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
เปิดคำฟ้อง อัยการระบุชลธิชาปราศรัยทําคนเข้าใจว่า ร.10 เจตนาเอาทรัพย์สินของส่วนรวมมาเป็นของส่วนตัว-เบียดบังเอาภาษีปชช.- แทรกแซงการเมือง
พ.ต.ท.สุวิชญ์ สุขประเสริฐ พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ได้บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564 ซึ่งอยู่ระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
ในวันดังกล่าว จําเลยทั้ง 10 กับพวก รวมประมาณ 50 คน ซึ่งมากกว่า 25 คนขึ้นไป ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมให้มีการชุมนุมและร่วมกันเข้าร่วมชุมนุมกันที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดและร่วมกันกระทําการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ระบาดออกไป บริเวณหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
จำเลยและพวกมีการใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยโจมตีการทํางานของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ และเรียกร้องให้ศาลปล่อยตัว ‘พริษฐ์ ชิวารักษ์’ กับพวก ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจําอําเภอธัญบุรี ตามหมายขังของศาลจังหวัดธัญบุรี
จําเลยได้ปราศรัยในลักษณะยืนใกล้ชิดไม่สวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้อง ไม่เว้นระยะห่าง ไม่มีแอลกอฮอล์หรือเจลแอลกอฮอล์สําหรับล้างมือ และอยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน โดยไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ตามที่ทางราชการกําหนด อันก่อให้เกิดสภาวะไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือได้รับการยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย
นอกจากนี้ อัยการยังระบุว่า จําเลยที่ 1 (ชลธิชา แจ้งเร็ว) ได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ รัชกาลที่ 10 โดยได้ปราศรัยมีใจความบางช่วงว่า “ส่วนราชการในพระองค์นะคะ ที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นะคะ ออกกฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ 2560 ให้เป็นของขวัญแก่สถาบันพระมหากษัตริย์นะคะ เพื่อให้สถาบันกษัตริย์เนี่ยมีอํานาจนะคะ ใช้ตามพระราชอัธยาศัย หรือถ้าแปลเป็นภาษาชาวบ้านก็คือว่า ‘ใช้ตามอําเภอใจของเจ้านะคะ’ ปัญหาก็คือว่า ไอ้การใช้ตามอําเภอใจของเจ้าเนี่ย มันไม่ต่างอะไรเลยกับการที่เราทําให้สถาบันกษัตริย์มีกองกําลังของตัวเอง แต่ใช้งบประมาณกับภาษีของพวกเรา” และการปราศรัยเกี่ยวกับประเด็นที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ปล่อยให้มีการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เมื่อปี 2561
อัยการระบุว่า เมื่อบุคคลที่สามได้ฟังและทราบข้อความคําพูดและคํากล่าวปราศรัยของจําเลยทําให้ผู้ฟังเข้าใจได้ว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีเจตนาเอาทรัพย์สินของส่วนรวมมาเป็นของส่วนตัว ทรงเบียดบังเอาภาษีของประชาชนมาเป็นของส่วนตัว ทรงใช้พระราชอํานาจเข้าไปแทรกแซงการเมืองการปกครอง การบริหารงานของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ
อัยการได้บรรยายฟ้องว่า จากการปราศรัยข้างต้น เป็นการใส่ความพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ต้องเสื่อมเสียพระเกียรติยศ เสียชื่อเสียง ถูกดู หมิ่นและเกลียดชัง ทําให้บุคคลที่สามและประชาชนทั่วไปที่ได้ทราบข้อความคําพูดและคํากล่าวปราศรัยของจําเลยเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 รวมถึงสถาบันกษัตริย์ไม่อยู่ในฐานะที่ควรเคารพสักการะอีกต่อไป
อัยการจึงได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 10 ราย ในความผิดฐาน ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรการ 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดปทุมธานี เรื่อง กำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และ ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และได้ยื่นฟ้องเพิ่มเติมกับชลธิชา ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
หลังพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาล ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวชลธิชาด้วยวงเงิน 150,000 บาท ส่วนจำเลยอีก 9 คนที่เหลือได้ยื่นขอประกันด้วยวงเงินคนละ 20,000 บาท จากกองทุนราษฎร์ประสงค์ทั้งหมด ต่อมาศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวตามคำร้อง เฉพาะชลธิชา ศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีเงื่อนไข 4 ประการ ดังนี้
- ห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือด้อยค่าต่อสถาบันกษัตริย์และสถาบันศาลในทุกด้าน
- ห้ามกระทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางต่อกระบวนการพิจารณาของศาล
- ห้ามโพสต์ข้อความที่เป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น หรือชักชวนให้มวลชนร่วมกิจกรรมชุมนุมในสื่อ Social Media หรือเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
- ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
ทั้งนี้ ศาลได้นัดพร้อมถามคำให้การและตรวจพยานหลักฐานคดีนี้ ในวันที่ 11 ก.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
ทั้งนี้ ในระหว่างที่ถูกคุมขังรอผลการประกันตัว และศาลได้สอบถามคำให้การเบื้องต้นในห้องเวรชี้ ชลธิชาระบุว่าเธอได้ลุกขึ้นโต้แย้งศาล ถึงเรื่องการกำหนดเงื่อนไขประกันตัวที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่ควรต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วน
สำหรับ คดีนี้สืบเนื่องจากกิจกรรม #คาร์ม็อบ11กันยา64 หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองในขณะนั้น เช่น พริษฐ์ ชิวารักษ์, ธัชพงศ์ แกดำ, พรหมศร วีระธรรมจารี และณัฐชนน ไพโรจน์ ดำเนินการจัดโดยหลากหลายกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้แก่ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน, กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และรังสิตพะยอมเก๋า
คดีนี้ นับว่าเป็นการถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คดีที่ 2 ของชลธิชา โดยคดีแรกเธอถูกกล่าวหาจากกรณีโพสต์จดหมายถึงกษัตริย์ ในกิจกรรม “ราษฎร์สาส์น”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65