“อยากเป่าเค้กวันเกิดกับลูกอีกสักครั้ง”: คุยกับ “ธนพร” แม่ลูกอ่อน จำเลย ม.112 ในวันใกล้ฟังคำพิพากษาศาลฎีกา

27 พ.ค. 2567 ที่จะถึงนี้ ศาลอาญาตลิ่งชันนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีของ “ธนพร” (สงวนนามสกุล) แม่ลูกอ่อนชาวอุทัยธานีวัย 24 ปี ผู้ถูกดำเนินคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการใช้บัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์เฟซบุ๊กของเพจซึ่งเผยแพร่ภาพตัดต่อของรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 เมื่อช่วงปี 2564 ซึ่งเธอเล่าว่านั่นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่เธอเคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์บนโซเชียลมีเดีย

สำหรับคดีของธนพร ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2565 ลงโทษจำคุก 4 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเนื่องจากให้การรับสารภาพ คงจำคุก 2 ปี และให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี อย่างไรก็ตาม อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาตลิ่งชันในขณะนั้น ได้ทำความเห็นแย้งคำพิพากษาดังกล่าว โดยเห็นว่า ควรลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษ 

ต่อมา พนักงานอัยการได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ ทำให้ธนพรต้องเดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 14 ก.พ. 2566 และศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุกธนพร 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ ก่อนที่เธอจะได้รับการประกันตัวในระหว่างฎีกา โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์  

การกลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ทำให้ชีวิตของธนพรตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกจำคุกในชั้นฎีกา ทั้งนี้ ในชั้นฎีกาธนพรได้ขอความช่วยเหลือทางกฎหมายมาที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 

ก่อนจะถึงวันนัดฟังคำพิพากษา ศูนย์ทนายฯ จึงเดินทางไปเยี่ยมธนพรที่บ้านของเธอในจังหวัดอุทัยธานีเพื่อสอบถามสารทุกข์สุกดิบและพูดคุยถึงเรื่องราวในชีวิตของเธอ

.

.

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าแสดงหมายจับในขณะที่ธนพรอยู่ที่บ้านพัก เธอถูกนำตัวเข้ากรุงเทพฯ ไปสอบสวนที่ สน.บางพลัด ธนพรบอกว่า เธอไม่มีทนายความในชั้นจับกุมจึงให้การรับสารภาพ หลังจากถูกขังอยู่ที่สถานีตำรวจ 1 วัน ตำรวจนำตัวเธอไปขอฝากขัง ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ยืมมาจากญาติ และศาลยังมีเงื่อนไขให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) 

“ก่อนหน้านี้ตำรวจไปตามตัวที่โรงงานที่ทำงาน แต่วันนั้นหนูหยุดงานพอดี เขาก็เลยมาตามที่บ้าน แล้ววันนั้นก็ถูกเอาตัวมาที่ สน.บางพลัด เลย” 

ธนพรบอกว่า วันที่เธอถูกตำรวจจับกุม แฟนและพ่อแม่ได้ขับรถตามไปที่กรุงเทพฯ ด้วย โดยขณะนั้น ธนพรกำลังตั้งครรภ์ได้ราว 2 เดือนแล้ว 

“เขาไม่แนะนำอะไรเราเลยพี่ เขาจับเราขังเลย ตอนที่เขาเอาเราขึ้นรถไป สน. เขาก็ถามว่าเราทำจริงไหมเนี่ย เขายื่นภาพเฟซบุ๊กที่มีชื่อหนูให้ดู หนูก็บอก เออ หนูทำจริง วันนั้นเขาก็เอาเราฝากขังเลยที่ศาล แล้วบอกให้ครอบครัวหนูไปทำเรื่องประกันตัว 

“เขาบอกว่าเดี๋ยวมีทนายขอแรงมาช่วย ลำพังตัวหนูเองไม่มีตังค์ไปจ้างทนายหรอก แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่าจะไปจ้างที่ไหน”

ภายหลังธนพรถูกพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน1 ยื่นฟ้องคดีต่อศาลเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2564 ธนพรบอกว่าเธอไม่มีความรู้หรือความเข้าใจเรื่องกฎมาย รวมถึงไม่มีเงิน จึงทำใจว่าตัวเองอาจจะต้องติดคุกหลังให้การรับสารภาพในศาลชั้นต้น

“ตอนชั้นต้น ทนายขอแรงที่เข้ามาในคดีไม่ได้ให้คำแนะนำอะไร ให้รับสารภาพไปเลย เขาแนะนำแค่บอกเราว่า รับ ๆ ไปเหอะ เดี๋ยวศาลก็ใจดีให้รอลงอาญา เราไม่เคยมีคดี อายุก็น้อยให้รับ ๆ ไปเหอะ

“วันฟังคำพิพากษา ผู้พิพากษาพูดกับเราว่า ผมแนะนำให้ไปขอขมา ไปทำความดีอะไรสักอย่าง ผมให้โอกาสคุณไปคลอดลูกนะ แล้วเขาก็รอลงอาญา เพราะตอนนั้นเราท้อง 6 เดือน”

ธนพรยังเล่าว่า ในช่วงใกล้ฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นเธอกับแฟนเคยขับรถไปที่สภาทนายฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากเข้าใจว่าสภาทนายฯ จะจัดหาทนายความช่วยเหลือเธอได้

.

.

“ก่อนที่จะมาหาศูนย์ทนายฯ หนูก็นั่งรถไปกรุงเทพฯ  ไปหาสภาทนายความ เพราะตอนนั้นเราไม่รู้ว่าจะทำยังไงเนอะ เราก็ไปให้เขาช่วย แต่เขาไม่ช่วยเรา เขาบอกว่าคดีแบบนี้มันไม่ค่อยมีใครว่าความให้หรอก ทนายเขาไม่ยุ่งอยู่แล้ว ตอนนั้นหนูร้องไห้ตลอดทางเลย ทั้งขาไป – กลับ

“คือเขาไม่ได้พูดตรง ๆ เขาบอกว่าทนายไม่ค่อยรับว่าความ ไม่ค่อยมีใครทำ หลังจากนั้น 2-3 วัน เขาก็ส่งจดหมายกลับมาว่า ไม่มีทนายรับเรื่องเรา” 

ธนพรบอกว่า เธอไม่รู้จะทำอย่างไร จึงลองส่งข้อความไปหานักร้องที่เธอชื่นชอบและทราบว่าเขาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่าง แอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์ เพื่อสอบถามเรื่องคดีความ และแอมมี่ได้แนะนำให้เธอรู้จักกับศูนย์ทนายฯ 

“ตอนแรกไม่มีใครเชื่อ ที่บ้านก็ไม่เชื่อว่าจะมีใครช่วยคดีฟรี ๆ ให้” เธอว่า

ผลกระทบจากการเป็นผู้ต้องหา ม.112 เพียงคนเดียวของจังหวัด ทำให้เธอมีประวัติติดอยู่กับตำรวจและถูกตำรวจแวะเวียนมาหาอยู่บ้าง ธนพรเล่าว่าในวันหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้เธอถูกตำรวจเขียนใบสั่งจากการขับมอเตอร์ไซค์ผิดกฎจราจร แต่ตำรวจทักเธอว่า

“อ้าว ธนพรยังอยู่อีกเหรอ ยังไม่ติดคุกไปอีกเหรอ” ทำให้เธอรู้สึกไม่ดีที่ยังคงถูกจับตามองและเป็นที่รู้จักในหมู่ตำรวจละแวกบ้าน  

.

.

ย้อนกลับไปภายหลังธนพรได้รับการอนุญาตให้ประกันหลังถูกตำรวจนำตัวไปขอฝากขัง การติด EM เป็นเงื่อนไขหนึ่งในการให้ประกัน ธนพรเล่าว่า ตอนนั้นเธอใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เนื่องจาก EM อาจส่งผลให้คนทั่วไปมองเธอด้วยความกังวลหรือกระทั่งมีความเสี่ยงที่จะถูกไล่ออกจากงาน 

“ตอนติด EM ลำบากมาก ตอนนั้นท้องเราโตขึ้นทุกวัน แต่เราต้องใส่กางเกงสแลคขายาวเหมือนที่คนทำงานห้างใส่ เพื่อไม่ให้คนอื่นรู้ว่าเราใส่ EM ยิ่งถ้าเจ้าของโรงงานมาแล้วเขาเห็นว่าเราใส่ EM เราโดนให้ออกแน่ แต่ยิ่งท้องมันโตขึ้น ๆ จริง ๆ หนูต้องใส่ชุดคลุมท้อง แต่เราต้องใส่กางเกงสแลคไซส์นั้นจนท้อง 6 เดือน มันอึดอัดมาก ทรมานมากช่วงนั้น

“จริง ๆ มันก็มีคนสังเกตนะว่าทำไมเราไม่ใส่ชุดคลุมท้อง คือเราไม่ใส่จนคลอดเลย แต่อยู่ที่บ้านเราก็ใส่ คนแถวบ้านก็เลยเห็นว่าเราใส่ EM เขายังมาแซวว่า ‘ทำไมเราเอานาฬิกาไปใส่ตรงข้อเท้าล่ะ’ หรือไม่ก็ ‘ท้องแล้วยังจะมีคดีอีก’ ลำบากพี่ ลำบากมาก”

ปัญหาหนึ่งของการใส่ EM คือต้องคอยชาร์จแบต ธนพรบอกว่า เธอไม่ได้กินข้าวกับเพื่อนร่วมงานตลอดระยะเวลาที่ติด EM อยู่ เนื่องจากไม่อยากให้ใครเห็นว่ามี EM อยู่ที่ข้อเท้า แต่ก็ไม่สามารถหลบเลี่ยงสายตาของเพื่อนร่วมงานไปได้

“ช่วงเวลาพักเราก็ต้องไปนั่งกินข้าวตรงที่มีปลั๊กไฟ เพราะต้องชาร์จ EM เราติดกำไล EM อยู่นานมาก”

.

ย้อนกลับไปคุยถึงชีวิตวัยเด็ก ธนพรเล่าว่า เธอเรียนจบได้แค่วุฒิ ม.3 ถึงแม้ว่าจะเรียนไปถึง ม.5 แต่เนื่องจากพื้นเพของที่บ้านซึ่งรับจ้างทำไร่ ครอบครัวอบอุ่น มีพ่อและแม่ แต่ค่อนข้างยากจน ความยากจนทำให้เธอมีปัญหากับแม่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เมื่อมองย้อนกลับไป เป็นเพียงประเด็นเรื่องการค้างค่ารถประจำทางที่มารับส่งไปโรงเรียนราว 300 บาท จนถูกครูที่โรงเรียนทวงเงินหน้าเสาธง และถึงกับทำให้เธอตัดสินใจไม่เรียนต่อ

“หนูเริ่มทำงานตั้งแต่มัธยมเลย เพราะลูกติดพ่อแกอยู่แถวสลัมในกรุงเทพฯ แกก็ให้หนูขึ้นรถไปหา ไปรับจ้างล้างจาน ไปทำพาร์ททามไรงี้ แต่เสาร์อาทิตย์ก็จะอยู่บ้าน รับจ้างขุดหัวมัน” 

ธนพรบอกว่า คนส่วนใหญ่ในรุ่นเธอ ไม่ทำไร่ก็ไปทำงานโรงงาน หากเรียนดีมีฐานะหน่อย ก็นิยมสอบเป็นข้าราชการกัน ส่วนตัวเธอเองได้งานในโรงงานทำรองเท้า มีรายได้ราว 12,000 บาทต่อเดือน กับขายเสื้อผ้าออนไลน์ควบคู่ไปด้วย ตรงนี้เองที่นำมาซึ่งการใช้โซเชียลในการแสดงความเห็นทางการเมือง   

ธนพรเริ่มสนใจเรื่องการเมือง จากการชักชวนของเพื่อน เธอบอกว่า ได้ฟังคลิปการเมืองต่าง ๆ ทางอินเตอร์เน็ต และติดตามข่าวการเมืองอย่างค่อนข้างใกล้ชิดในช่วงเวลาที่นักศึกษาออกมาชุมนุมในปี 2563 ก่อนถูกจับกุมคุมขัง 

“เรารู้สึกว่ามันไม่ได้อะ ช่วงที่นักศึกษาออกไปชุมนุมปี 63 ที่เขาออกไปก็เป็นแค่หนึ่งเสียงที่อยากจะสื่อสาร อยากจะคิด เราก็เห็นว่าทุกคนก็ออกมา คิดว่ามันไม่ผิดอะ เราก็เอาวะ ไม่ผิดก็ไม่ผิด เพราะเราก็เป็นคนหนึ่งที่อยากพูด”

ความสนใจทางการเมืองทำให้เธอรู้สึกอยากแสดงความเห็นและอยากเป็นปากเสียงหนึ่งในสังคม แต่การคอมเมนต์ใต้ภาพภาพเดียวก็ทำให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกเธอถึง 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา โดยในวันฟังคำพิพากษาเธอได้ฝากลูกคนโตวัยเพียง 8 เดือนไว้กับแม่ที่บ้าน

.

.

ตั้งแต่ปี 2564 นอกจากการต้องพัวพันอยู่กับตำรวจและศาลแล้ว ธนพรได้เริ่มต้นชีวิตของความเป็นแม่ควบคู่ไปด้วย ปัจจุบันเธอเป็นแม่ที่เลี้ยงลูกเต็มเวลา เนื่องจากลูกคนเล็กเพิ่งจะ 6 เดือนเท่านั้น ส่วนลูกคนโตใกล้ 2 ขวบแล้ว เธอบอกว่า “ลูก” เป็นสิ่งที่เธอห่วงที่สุดถ้าหากต้องเข้าไปในเรือนจำ 

“เรื่องคดีอยู่ในหัวตลอด เวลาลูกหลับก็จะคิดตลอด ถ้าเราไม่มีคดีเราก็เลี้ยงลูกไป พอคนโตเข้าโรงเรียน ก็คงจะให้แม่ช่วยเลี้ยงคนเล็ก เราก็ไปทำงานได้ แต่ถ้าเราไม่อยู่นี่หนักเลย แฟนก็ต้องหาเงินเพิ่ม เพราะมีค่าใช้จ่ายของเด็ก มันกระทบไปหมดอะพี่ แม่หนูก็บอกว่า ไม่ไหว ถ้าจะให้เขามาเลี้ยงหลาน 2 คน หนูก็กลัวนะ ถ้าแฟนเลี้ยงลูกคนเดียว แล้วเขาต้องเข้าไปทำงานรับเหมา หนูกลัวลูกจะไม่ได้เรียนหนังสือ

“หนูเป็นห่วงลูก 2 คนนะ เพราะถ้าเราไม่อยู่ คนโตจะร้องไห้ทั้งคืนเลยแน่นอน ยิ่งถ้าเราหายไปหลายวัน เขาก็จำเราไม่ได้แล้ว มีครั้งหนึ่งที่เราไม่อยู่ 7 วัน เรากลับมาเจอหน้า เขาก็บอกว่านี่ไม่ใช่แม่ คือเขาดูลังเลว่าจะใช่แม่เขาไหมเนี่ย เขาก็น่าสงสารนะพี่ เราก็ไม่ได้อยากจะห่างลูก หัวอกคนเป็นแม่

วันที่ 28 พ.ค. เป็นวันเกิดลูกคนโต หนูเสียใจมาก เหมือนคิดว่าแบบ… เราเป็นต้นเหตุที่อาจทำให้ลูกขาดเราไป 2 ปี เหมือนทำให้ลูกขาดความรักจากแม่ เพราะเป็นช่วงที่ลูกต้องการเรามากที่สุด อยากอยู่เป่าเค้กวันเกิดกับเขาอีกสักปี”

.

.

เมื่อธนพรรู้ว่ามีโอกาสสูงที่ศาลฎีกาจะพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุก เธอได้พยายามหาข้อมูลการใช้ชีวิตในเรือนจำ เพื่อเตรียมตัวสำหรับการเข้าไปอยู่ข้างใน

“ที่หนูไปอ่านมาในพันทิป เขาบอกว่าในนั้นเขามีรับจ้างซักผ้าด้วย หนูไม่รู้ว่าจริงหรือโกหกนะ แต่สมัยนี้คงไม่มีแล้วเนอะ ที่ต้องแก้ผ้าตรวจภายใน” ธนพรหันมาสอบถาม

แม้จะพยายามเตรียมตัวอย่างไร การคิดถึงวันที่ต้องพรากจากลูกก็ยังทำใจได้ยาก ธนพรยังอยากมีความหวังว่าศาลจะรอลงอาญาอยู่ 

“ความหวังมันมีผลต่อหัวใจเรานะ แต่มีหวังอยู่แค่ 2 เปอร์เซ็นต์ ถ้าได้ออกมาก็คงเป็นของขวัญสำหรับลูก จะได้ไปทำงานหาเงินเลี้ยงลูก แต่ถ้าไม่ได้ออกมาก็คงจะเสียใจมาก เรากรี๊ดอัดหมอนไปไม่รู้กี่รอบแล้ว เหมือนมันเป็นบทเรียน จำจนตาย 

“รู้สึกเสียดายเวลาที่จะไม่ได้อยู่กับลูก ถ้าเราถูกจำคุก ออกมาลูกก็คงจำเราไม่ได้แล้ว ทุกวันนี้ลูกตื่นมาเจอเรา เจอพ่อเขาก็อบอุ่น ไปไหนก็ไปด้วยกัน แต่ถ้าเราไม่อยู่ มันก็ไม่ใช่แล้วมั้ย เรากลับมา เขาก็จำเราไม่ได้แล้ว 

“ยิ่งคนเล็กยิ่งติดเรา เขากินนมเราอยู่ (น้ำตาไหล) แต่ถ้าศาลให้ติดก็คงต้องติด มันแก้อะไรไม่ได้แล้ว แต่ถ้าเข้าไปอยู่ข้างในคงเป็นอีกความรู้สึกหนึ่งที่เราต้องอดทน ถ้าไปอยู่ข้างในอาจจะร้องไห้บ้างอะไรบ้าง แต่เราก็ต้องอยู่ให้ได้เพื่อรอเวลาให้เราได้เจอกัน”

ธนพรเล่าอีกว่า เวลาเธอเห็นลูกยิ้มและหัวเราะอย่างมีความสุข เธอจะรู้สึกเจ็บอยู่เสมอ

“ยิ่งใกล้วันฟังคำพิพากษา เวลาที่เขาหัวเราะ เราก็จะเศร้า พอคิดถึงเรื่องคดี ถ้าเราไม่ได้อยู่กับเขา มันเจ็บในใจนะ กลัวไม่ได้ยินเสียงหัวเราะอีกแล้ว หนูอะไม่อยากทำอะไรแล้วนะ หนูอยากอยู่กับลูกอย่างเดียว ไม่ได้มีกำลังใจที่จะทำอะไรเลย แต่มันก็ต้องไปต่อให้ได้” แม่ลูกอ่อนพยายามทิ้งท้ายบทสนทนาอย่างเข้มแข็ง 

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

เสียงจาก “ธนพร” แม่ลูกอ่อนวัย 23 ปี กับการต่อสู้คดี 112 ครั้งสุดท้ายในชั้นฎีกา เพื่อคว้าโอกาสกลับไปเลี้ยงดูลูก

ศาลอุทธรณ์แก้โทษคดี 112 “ธนพร” แม่ลูกอ่อน ให้จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา เหตุคอมเมนต์ใต้โพสต์เฟซบุ๊กที่เผยแพร่ภาพตัดต่อ ร.8 – ร.9 ระบุจำเลยมีวุฒิภาวะเพียงพอ แต่ยังกระทำการ ‘จาบจ้วงสถาบันฯ’

.

X