วันที่ 14 พ.ค. 2567 ศาลจังหวัดสตูลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในคดีของ 3 นักศึกษา ฮัสซาน ทิ้งปากถ้ำ, ธีระเทพ จิตหลัง และศุภวิชญ์ แซะอามา ที่ร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบสตูล “ขับรถไล่ตู่” เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเรียกร้องให้จัดหาวัคซีนโควิด-19 ที่มีคุณภาพ ก่อนถูกดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และฝ่าฝืนประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสตูล
สำหรับคดีนี้พนักงานอัยการจังหวัดสตูลได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2565 โดยจำเลยทั้งสามต่อสู้คดีว่า ไม่ได้เป็นผู้จัดและกิจกรรมคาร์ม็อบไม่ได้เสี่ยงแพร่โรคโควิด-19 จัดในที่โล่งแจ้ง และในการสืบพยาน พยานโจทก์ทุกปากรับว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนใส่หน้ากากอนามัย และมีการเว้นระยะห่าง มีการเคลื่อนขบวนรถไปบนถนนเหมือนการสัญจรตามปกติ ไม่ได้มีการรวมตัวกันที่ทำให้เกิดความเสี่ยง อีกทั้งหลังกิจกรรมไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิดทั้งในส่วนของผู้เข้าร่วมและเจ้าหน้าที่ที่ติดตามการชุมนุม
ย้อนอ่านบันทึกการสืบพยาน บันทึกคดีคาร์ม็อบสตูล สามนักศึกษาต่อสู้กิจกรรมไม่เสี่ยงโรค ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากาก ไม่มีใครติดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2566 ศาลจังหวัดสตูลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามฟ้อง แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสามเป็นนักศึกษาซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ และกิจกรรมที่ได้ทำนั้นกระทำไปโดยมีเจตนาสุจริตที่มุ่งหวังให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น จึงให้รอการกำหนดโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
ต่อมา นักศึกษาทั้งสามได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพื่อโต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จากนั้นศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้มีคำพิพากษา และศาลจังหวัดสตูลนัดอ่านคำพิพากษาในครั้งนี้
ก่อนเข้าห้องพิจารณา ฮัสซาน หนึ่งในจำเลย เปิดเผยว่า ถึงเขาจะตื่นเต้นเล็กน้อยในการมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันนี้ แต่ก็ไม่ได้ตั้งความคาดหวังมาก แค่หวังเพียงเล็กน้อยว่าศาลจะพิพากษายกฟ้องคดีของเขาและเพื่อน
เวลา 09.00 น. ฮัสซาน, ธีระเทพ และศุภวิชญ์ พร้อมทนายความนั่งรออยู่ที่ห้องพิจารณาที่ 1 โดยมีผู้สังเกตการณ์คดีเข้าร่วมฟังคำพิพากษา และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วยเช่นกัน จากนั้น ผู้พิพากษาได้ออกพิจารณาคดี และเริ่มอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 สรุปได้ 2 ประเด็น ดังนี้
1. เมื่อคำสั่งจังหวัดสตูลที่ 1486/2564 ไม่ได้ระบุว่าจะต้องเป็นผู้จัดกิจกรรมเท่านั้นที่จะต้องมาขออนุญาต ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการกระทำของตน
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสามเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้เพื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและเสนอข้อเรียกร้องให้จัดหาวัคซีนให้ประชาชนอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ก่อให้เกิดความไม่สงบ ประกอบกับจำเลยทั้งสามและผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างมีมาตรการในการป้องกันตนเองจากเชื้อโควิด-19 และไม่ได้ติดเชื้อภายหลังเข้าร่วมกิจกรรม อีกทั้งจำเลยไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมจึงไม่มีหน้าที่ขออนุญาตจัดกิจกรรม และไม่ได้ทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเป็นเหตุให้โรคติดต่อระบาด
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นว่า จากคำสั่งจังหวัดสตูลที่ 1485/2564 ข้อ 5.1 ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 20 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสตูล ซึ่งคำสั่ง ข้อ 5.1 ดังกล่าว ไม่ได้ระบุว่าจะต้องเป็นผู้จัดกิจกรรมเท่านั้นที่จะต้องมาขออนุญาต เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้จัดกิจกรรมเป็นผู้ใด แต่เมื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมมาร่วมกิจกรรมชุมนุมด้วยความสมัครใจ ทั้งการกำหนดเส้นทางการเคลื่อนขบวนรวมถึงรายละเอียดของกิจกรรมเกิดจากการตัดสินใจร่วมกันของผู้เข้าร่วมทุกคน จึงต้องถือว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนต่างมีส่วนรับผิดชอบในการกระทำของตน และจำเลยทั้งสามมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งคำสั่งจังหวัดสตูลดังกล่าว
เมื่อจำเลยทั้งสามเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่มีคำร้องขอและไม่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมการชุมนุม แม้จำเลยทั้งสามและผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะมีมาตรการในการป้องกันตนเองจากเชื้อโควิด-19 และไม่ได้ติดเชื้อภายหลังเข้าร่วมกิจกรรมดังที่อุทธรณ์ก็ตาม การกระทำของจำเลยทั้งสามก็เป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
2. การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เป็นการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่เป็นความผิด มิใช่การยกเลิกบทบัญญัติที่กำหนดไว้เป็นความผิด
จำเลยทั้งสามได้อุทธรณ์ว่า เมื่อมีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ประกาศเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2565 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป เป็นการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มี.ค. 2563 ส่งผลให้การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามในคดีนี้ไม่มีกฎหมายที่ใช้ในการกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป เป็นกรณีที่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง
โดยในเรื่องนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นว่า การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้คลี่คลายลงอย่างมาก เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทแห่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น จึงเป็นการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่เป็นความผิด มิใช่การยกเลิกบทบัญญัติที่กำหนดไว้เป็นความผิดและระวางโทษแต่อย่างใด ดังนั้น จึงยังถือว่ามีกฎหมายที่ใช้ในการกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ การกระทำของจำเลยทั้งสามยังคงเป็นความผิด ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.
องค์คณะผู้พิพากษาที่ลงชื่อท้ายคำพิพากษา ได้แก่ สุชาติ อินประสิทธิ์, วราภรณ์ สุระพัฒน์พิชัย และนภาพร ถาวรศิริ
.
จำเลยผิดหวังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ทั้งกังวลบรรทัดฐานที่ให้ผู้ร่วมชุมนุมต้องรับผิดชอบ ก่อนขอให้ทุกคนยังร่วมสู้กันต่อไป
หลังฟังคำพิพากษา นักศึกษาทั้งสามได้เดินออกจากห้องพิจารณา ธีระเทพได้เปิดเผยความรู้สึกและความเห็นของตนต่อคำพิพากษาว่า“ส่วนตัวเราเองนั้นมีความคาดหวังว่าศาลอุทธรณ์จะยกฟ้องคดีนี้ เนื่องจากในการสืบพยานที่โจทก์ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าเราทั้งสามคนเป็นผู้จัดกิจกรรม แต่ศาลชั้นต้นก็ยังพิพากษาให้เรามีความผิด จึงมีความคาดหวังว่าศาลอุทธรณ์จะมีความเห็นในประเด็นนี้ต่างออกไป
“แต่เมื่อผลสรุปออกมาว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จึงทำให้เรารู้สึกผิดหวัง แต่นอกเหนือจากความผิดหวังที่เกิดขึ้นแล้ว เรารู้สึกกังวลกับบรรทัดฐานและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสินของศาลที่เหมารวมว่า ผู้เข้าร่วมต้องผิดชอบในแง่ของการขออนุญาตจัดกิจกรรมและรวมไปถึงต้องรับผิดในแง่ของกฎหมาย เรามองว่าความเห็นตรงนี้ของศาลสำหรับเราเป็นความเห็นที่ค่อนข้างไปไกลจากเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือคำสั่ง”
สุดท้ายแล้ว ฮัสซาน, ธีระเทพ และศุภวิชญ์ ได้ฝากกำลังใจถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองอยู่ตอนนี้ว่า “ขอให้ยังอดทน หากเราคิดว่าสิ่งที่เราทำมันเป็นสิ่งที่ทำได้ และในระบอบประชาธิปไตยสามารถทำได้ ก็ไม่ได้มีเหตุผลอะไรที่ต้องกังวลกับการเรียกร้อง การเรียกร้องทุกการเรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็น นักศึกษา วัยทำงาน หรือคนทุกคนที่ออกมา เพราะว่าทุกคนประสบกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากภาครัฐ คนตัวเล็กอย่างเราในประเทศนี้ การเรียกร้องคือการส่งเสียงของเราเพื่อที่จะให้พวกผู้ใหญ่เขาได้เข้าใจ และสุดท้ายขอให้กำลังใจทุกคนและร่วมต่อสู้กันต่อไป”
.
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับจำเลยทั้งสาม
ฟังเสียงสะท้อนจำเลย “คดีคาร์ม็อบสตูล” แม้ศาลเห็นว่าผิด แต่การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด
__________
* บันทึกการสังเกตการณ์โดยทีมงาน “กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach)”