ฟังเสียงสะท้อนจำเลย “คดีคาร์ม็อบสตูล” แม้ศาลเห็นว่าผิด แต่การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดสตูลอ่านคำพิพากษาในคดีของ 3 นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบสตูล #ขับรถไล่ตู่ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 โดยศาลเห็นว่าทั้งสามมีความผิดในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามที่ถูกฟ้อง ให้รอการกำหนดโทษไว้ 1 ปี โดยฝ่ายจำเลยเตรียมอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป

กรณีนี้อาจถือเป็นตัวอย่างคดีที่สร้างข้อสงสัยต่อการตีความกฎหมายและการให้เหตุผลประกอบการวินิจฉัย เช่น ศาลเห็นว่าแม้จำเลยทั้งสามจะเป็นเพียงผู้เข้าร่วมกิจกรรมก็ตาม เมื่อปรากฏว่าไม่มีผู้ใดขออนุญาต ผู้เข้าร่วมทุกคนต่างก็มีหน้าที่ต้องไปขออนุญาตจัดกิจกรรมก่อน ทำให้วินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิด หรือการที่ศาลเห็นว่ากิจกรรมคาร์ม็อบครั้งนี้แม้เกิดขึ้นในสถานที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ผู้ชุมนุมได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด และภายหลังการชุมนุมไม่มีรายงานเหตุการณ์คลัสเตอร์ที่มาจากกิจกรรมนี้ แต่ก็ยังเห็นว่าจำเลยมีความผิดฐานร่วมกิจกรรมชุมนุมในสถานที่แออัด ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่โรค

.

ภาพวาดบรรยากาศการพิจารณาคดีคาร์ม็อบสตูล โดยกลุ่ม Law Long Beach

.

กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach) พูดคุยถึงความคิดความรู้สึกของสามจำเลยหลังฟังคำพิพากษาในคดีนี้ ได้แก่ ฮัซซาน ทิ้งปากถ้ำ ปัจจุบันจบการศึกษาจากมหาลัยทักษิณ, ธีระเทพ จิตหลัง และ ศุภวิชญ์ แซะอามา กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

.

.

ฮัซซาน: แม้จะย้อนเวลากลับไปได้ ก็ยังออกไปร่วมกิจกรรม ยืนยันข้อเรียกร้องและเจตนาเพื่อส่วนรวม

ฮัซซาน ทิ้งปากถ้ำ หรือ “ฮัซซาน” พื้นเพเป็นคนจังหวัดสตูล ปัจจุบันเขาสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยทักษิณแล้ว

เมื่อก่อนตอนที่ผมยังเป็นเด็กมัธยม ผมเริ่มศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ผมยังเคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่จังหวัดสตูลอีกด้วย ต่อมาเมื่อเติบโตไปใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ผมเริ่มทำงานพิทักษ์สิทธิของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ร่วมเรียกร้องถึงสิทธิต่างๆ ที่นักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยควรได้รับ”

ต่อมาเมื่อเติบโตไปสู่อีกวัยหนึ่ง ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น ตลอดจนได้พบเจออะไรใหม่ๆ เขาจึงค้นพบกับความจริงหลายอย่างที่จำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ทั้งยังทำให้เขาตระหนักรู้ถึงสิทธิทางการเมืองที่พึงแสดงออกได้ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง สิ่งเหล่านี้จึงทำให้แนวคิดของฮัซซานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก

ฮัซซานเล่าถึง ช่วงเกิดเหตุเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนัก คนทุกหย่อมหญ้าล้วนได้รับผลกระทบจากวิกฤตในครั้งนี้กันทั้งนั้น แต่เหตุใดประชาชนหลายภาคส่วนจึงมิได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐแม้แต่น้อย

ในช่วงนั้นนักศึกษาทั่วประเทศต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน หลายคนมีปัญหากับการเรียนการสอนอย่างมาก แต่ระบบการศึกษาก็ดูจะไม่ได้ช่วยเหลือหรือเยียวยานักศึกษาเลย

อีกทั้งฮัซซานยังต้องดูแลยายที่ป่วยและต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนั้น ต้องเดินทางพาไปต่างจังหวัดอยู่บ่อยครั้ง เพราะเป็นโรงพยาบาลประจำที่ยายกำลังรับการรักษาอยู่ ทางภาครัฐเองยังออกมาตรการในการเดินทางเข้าออกแต่ละจังหวัดค่อนข้างยุ่งยากและลำบากมากกว่าที่ควรจะเป็น เช่น ขั้นตอนในการขอรับหนังสือรับรองการเดินทางนั้นยากลำบากเกินความจำเป็น เขาจึงมองว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐบังคับให้ทำตามในขณะนั้น ทั้งไม่ได้สัดส่วนและเกิดผลเสียแก่ผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางอย่างมาก เช่น กรณีการไปรักษาพยาบาล เป็นต้น

ในช่วงดังกล่าวนั้นเอง ฮัซซานได้เห็นโพสต์จากเพจเฟซบุ๊กชื่อ“วงสามัญชน” เกี่ยวกับกิจกรรมคาร์ม็อบวิ่งไล่ตู่ ซึ่งมีข้อเรียกร้องที่ตรงตามปัญหาที่กำลังประสบอยู่ในขณะนั้น เขาจึงตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

“หลังจากเข้าร่วมกิจกรรม ผมยังถูกคุกคามจากตำรวจอยู่บ่อยครั้ง โดยมักจะโดนจับตาจากบรรดาตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ บ้างก็ชอบขี่รถเวียนหน้าบ้าน บางก็มาขอเพิ่มเพื่อนบนเฟซบุ๊กเพื่อติดตามการเคลื่อนไหว แต่ผมก็ไม่ได้กลัวนะ เพราะมีเจตนาที่บริสุทธิ์ และเชื่อว่าผมได้รับผลกระทบจากปัญหาที่ไร้การดูแลจากทางภาครัฐจริงๆ

ในช่วงระหว่างการสืบพยาน ศาลได้แสดงท่าทีที่จะให้พวกเรายอมรับสารภาพเพื่อให้รอกำหนดโทษ โดยศาลให้เหตุผลว่า ศาลเข้าใจถึงการคิดและการตัดสินใจในช่วงวัยรุ่นดี ซึ่งเป็นปกติที่จะมีการตัดสินใจที่ผิดพลาดไปบ้าง ถือว่าเห็นแก่อนาคตของพวกคุณเถอะนะ

ฮัซซานกลับมองว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ทางเลือกเลย เพราะเขาเชื่อว่าได้ออกไปร่วมกิจกรรมด้วยเจตนาบริสุทธิ์ เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และไม่ได้ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคระบาดในช่วงนั้นเลย เขาย้ำอีกว่า ต่อให้สามารถย้อนเวลากลับไปได้ รู้ว่าไปแล้วจะถูกดำเนินคดีหรือคำพิพากษาจะเลวร้ายกว่านี้ เขาก็ยังคงไป จะไม่กลับไปแก้ไขอะไรแล้ว

“ไม่ว่าจะตัดสินยังไง ผมไม่กังวลต่อคำตัดสินเลย เพราะผมต่อสู้บนหลักการที่ถูกต้องมาตั้งแต่แรกแล้ว ผมเพียงอยากเห็นกระบวนการยุติธรรมที่มีความโปร่งใสชัดเจนและเป็นธรรม ปราศจากอำนาจอื่นครอบงำ และผมไม่อยากเห็นรัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการทำร้ายผู้ที่เห็นต่าง”

ฮัซซานได้ทิ้งท้ายว่า “ผมยังมีความหวังที่จะเห็นประเทศพัฒนากว่านี้ แม้นานแค่ไหนผมก็จะรอ เพื่อส่งต่อสิ่งที่ดีกว่าให้ลูกหลานของเราในอนาคต”

.

.

ธีระเทพ: ไม่ใช่คนแรก แต่และอาจไม่ใช่คนสุดท้าย บนเส้นทางแห่งความยุติธรรมในจังหวัดสตูล

ธีระเทพ จิตหลัง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พรรคโดมปฏิวัติ ตำแหน่งกรรมาธิการส่งเสริมประชาธิปไตยและความเท่าเทียม พื้นเพเป็นคนจังหวัดสตูล และเป็นหนึ่งในผู้สนใจปัญหาของชุมชนท้องถิ่น

“แด่สตูลผู้รักและหวงแหนในความยุติธรรม” การเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม ถือเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่จังหวัดสตูลให้ความสำคัญและไม่ได้เพิกเฉยแต่อย่างใด เพียงแต่รูปแบบของการเคลื่อนไหวนั้นอาจแตกต่างไป เช่น บางกรณีอาจเป็นการยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานของรัฐ และบางกรณีก็อาจเป็นการจัดเวทีประชุมหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ

“เท่าที่ผมจำได้ จังหวัดสตูลมีกลุ่มก้อนของชาวบ้านที่รักและหวงแหนบ้านเกิดของตัวเองและหวังการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ออกมาขยับขับเคลื่อนต่อสู้ในที่ทางต่างๆ อยู่เสมอ เช่น กรณีคัดค้านการสร้างท่าเรือน้ำลึก หรือกรณีคัดค้านการระเบิดเขาโต๊ะกรัง กระทั่งการเรียกร้องสิทธิในที่อยู่ที่กินของชาวพื้นบ้าน และอื่นๆ อีกน่ะ ดังนั้นจะกล่าวว่าเราเป็นกลุ่มแรกที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นทางสังคมในจังหวัดก็คงไม่ใช่ซะทีเดียว

“หากถามต่อไปอีกว่าการชุมนุมในลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในพื้นที่จังหวัดสตูลหรือเปล่า ก็อาจตอบได้ไม่เต็มปากว่าเป็นการชุมนุมครั้งแรก เราจึงไม่ใช่กลุ่มแรกที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นทางสังคม การงานที่เราทำไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร ทว่าเป็นเสียงของประชาชนพลเมืองไทยคนหนึ่งที่พึงจะสามารถกระทำได้ เพื่อดำรงไว้ซึ่งประโยชน์ของสาธารณะ และเราเชื่ออย่างสุดใจ ว่าเราจะไม่ใช่คนกลุ่มสุดท้าย ภายใต้รัฐที่ไม่เป็นธรรม ภายใต้สังคมที่มีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้เสมอ

“เราขอยืนยันอีกว่าเราจะไม่ใช่คนสุดท้ายเช่นเดียวกันที่ยืนหยัดอยู่บนหลักการแห่งความดี ความงาม และอยู่เคียงข้างความจริง แต่ขอให้เราอุทิศตัวเองเป็นปากเป็นเสียง และอยู่เคียงข้างคนตัวเล็กที่เสียเปรียบในสังคมจนกว่าสังคมเราจะเท่ากัน”

เมื่อสอบถามถึงความรู้สึกหลังฟังคำพิพากษา ธีระเทพเผยว่า “ผมรู้สึกงงกับเหตุผลที่ศาลใช้ประกอบการตัดสิน เช่น ศาลยังพิสูจน์ไม่ได้เลยว่าเราเป็นผู้จัดกิจกรรมคาร์ม็อบครั้งนี้ แถมยังพิสูจน์ไม่ได้อีกว่าผมเป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊กที่โพสต์เชิญชวนนั้นหรือไม่ แต่ศาลกลับพิพากษาลงโทษพวกเราเสมือนเป็นผู้จัดเสียเอง

“หลังจากฟังคำพิพากษาผมไม่รู้สึกผิดหวังเลยแม้แต่น้อย เพราะผมไม่ได้มีความหวังในกระบวนการยุติธรรมในยุคนี้อยู่แล้ว” ธีระเทพกล่าว

คดีนี้เป็นคดีแรกที่เขาต้องเผชิญกับกระบวนการยุติธรรมเองโดยตรง ธีระเทพบอกว่าถือเป็นช่วงเวลาที่รู้สึกว่าตัวเองเสียอะไรไปหลายอย่างมาก ทั้งเสียเวลา เงินในการเดินทาง และยังเสียสุขภาพอีก เนื่องจากเขาศึกษาอยู่ในต่างจังหวัด ประกอบกับการสืบพยานในแต่ละนัด เขาต้องเดินทางกลับมาเพื่อรายงานตัว

“ผมมองว่ากระบวนยุติธรรมในปัจจุบันโดยเฉพาะคดีทางการเมือง เป็นกระบวนการที่พยายามสร้างความลำบากให้กับจำเลยในแต่ละคดีเสียมากกว่า จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมเสียอีก ผมอยากให้กระบวนการยุติธรรมในสมัยนี้ดำเนินไปในทางที่ถูกต้องอย่างแท้จริง ส่วนผมเองก็จะสู้ต่อสู้ต่อไปจนกว่าจะถึงที่สุด

“ต่อไปในอนาคต ผมไม่รู้ว่าใครจะขึ้นมามีอำนาจในสังคมนี้ ผมจึงอยากฝากข้อความถึงประชาชนทุกคนว่า เราควรมีจุดยืนของตัวเองอยู่และยืนหยัดกับสิ่งนั้นเสมอ ถ้าหากมีการบริหารราชการที่ไม่เป็นธรรมต่อไป ผมยืนยันว่าจะออกเรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อดำรงตัวเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไป

“สำหรับเพื่อนๆ ที่ยังเคลื่อนไหว ขอให้ยืนหยัดในความถูกต้อง ซึ่งเราไม่รู้ว่าในอนาคต 5 ปี 10 ปี ใครจะขึ้นมามีอำนาจในสังคม ซึ่งต่อมาอาจเกิดเป็นตัวร้ายของสังคม แม้ถึงตอนนั้นอีก เราก็ควรมีจุดยืนเป็นของตัวเราเองอยู่เสมอ”

.

.

ศุภวิชญ์: “ผมยังนึกสงสัยว่าทำไมบรรทัดฐานการพิพากษาของศาลในแต่ละจังหวัดถึงออกมาไม่เหมือนกัน”

ศุภวิชญ์ แซะอามา หรือ “อิคฟาน” ขณะเกิดเหตุเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 ปัจจุบันกำลังสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่อีกครั้ง พื้นเพเป็นคนสตูลเช่นเดียวกัน

อิคฟานเล่าว่าจังหวัดสตูลเป็นเพียงจังหวัดเล็กๆ ซึ่งไม่ค่อยมีสถานการณ์การแสดงออกทางการเมืองที่โด่งดังเหมือนกับในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ แต่มันอาจจะเคยมีการเคลื่อนไหวแบบนี้เกิดขึ้น แต่เป็นการเรียกร้องในด้านอื่นๆ อยู่บ้าง

“ส่วนตัวไม่ได้รู้สึกกลัวหรือกังวลอะไรเลยในการออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ เพราะเราเองเป็นเพียงนักศึกษา ไม่ใช่ผู้มีอำนาจอะไรในสังคมนี้ เราทุกคนเปรียบเสมือนฟันเฟืองเล็กๆ ที่อยู่ในกลไกนี้ เพียงคิดว่าเสียงของเราที่เปล่งออกไปหรือการที่เราออกไปแสดงออกทางการเมืองนั้น เป็นการแสดงเจตจำนงของเราในฐานะประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น เพื่อหวังที่จะสร้างไม้บรรทัดที่เป็นมาตรวัดความถูกต้องในสังคมนี้ให้เกิดขึ้นได้จริง”

อิคฟาน ย้อนเล่าว่าสำหรับตนในช่วงนั้น รู้สึกว่าการบริหารงานของรัฐบาลมีแต่ปัญหา ทั้งเรื่องวัคซีนเอง และมาตรการจัดการโควิด หรือเรื่องอะไรก็ตามที่เป็นผลกระทบของประชาชน

“ผมคิดว่าสิ่งที่เราทำไปนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดหรือไปขัดกับรัฐธรรมนูญเลย และแม้ศาลจะพิพากษาว่าการกระทำของเราเป็นความผิด แต่ตัวเราเองในตอนนั้นและตอนนี้ ก็ยังรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ได้รู้สึกกลัวอะไรเลยกับผลการตัดสิน

“เหตุการณ์ที่ศาลมีท่าทีที่จะให้พวกเรายอมรับสารภาพ ส่วนตัวเลย ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นทางเลือกอะไร เพราะเราเองก็มีอุดมการณ์และแนวทางในการต่อสู้ของเราอยู่แล้ว เราจะสู้ให้ถึงที่สุด ฉะนั้นต่อให้เขามาบอกให้ยอมรับ แต่ในเมื่อเรามีอุดมการณ์และแนวทางของเราอยู่แล้ว และเราก็รู้ด้วยว่าสิ่งที่เราทำไปนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เราก็จะยืนหยัดในอุดมการณ์และแนวทางของเราให้ถึงที่สุด

“ผมยังรู้สึกแปลกใจและนึกสงสัยว่าทำไมบรรทัดฐานการพิพากษาของศาลในแต่ละจังหวัดถึงออกมาไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่มันก็เป็นกิจกรรมในลักษณะเดียวกันกับในพื้นที่จังหวัดอื่น และในบางพื้นที่ก็อาจมีการจัดกิจกรรมที่ใหญ่กว่าในพื้นที่จังหวัดสตูลด้วยซ้ำ แต่ทำไมคำพิพากษามันถึงออกมาไม่เหมือนกัน”

อิคฟานยืนยันว่า แม้รู้ว่าจะถูกดำเนินคดี หากย้อนเวลากลับไปได้ ก็ยืนยันที่จะออกมาเรียกร้องเหมือนเดิม เพราะตอนนั้น เชื่อว่าทำไปด้วยการมีเจตนาที่ดี และเป็นการออกมาเรียกร้องเพื่อส่วนรวม ต่อให้คำพิพากษาจะเปลี่ยนไปแบบไหน ก็ยังยืนยันที่จะออกมาเรียกร้องด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์เหมือนเดิม

“สุดท้ายนี้แด่อนาคตที่กำลังจะมาถึง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนๆ ก็ตาม เราทุกคนมีหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงาน หน้าที่นี้ไม่ได้เป็นแค่ของฝ่ายค้านเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งนี้ก็ถือเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนด้วยเช่นกัน”

.

ย้อนอ่านบันทึกการสืบพยานคดีนี้ สามนักศึกษาต่อสู้กิจกรรมไม่เสี่ยงโรค ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากาก ไม่มีใครติดเชื้อ

.

X