คดีคาร์ม็อบสตูล ศาลพิพากษารอกำหนดโทษ 1 ปี เห็นว่าแม้มีมาตรการป้องกันโรค-โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัด แต่การไม่ขออนุญาต ยังถือเป็นความผิด

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2566 ศาลจังหวัดสตูลนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ 3 นักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบสตูล #ขับรถไล่ตู่ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ฝ่าฝืนประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัดสตูล เรื่องการจัดชุมนุมที่มีความเสี่ยงการการแพร่ระบาดของโรคมากกว่า 20 คนขึ้นไป

คดีนี้มี พ.ต.อ.สนธยา ธูปทอง เป็นผู้กล่าวหาดำเนินคดีต่อนักศึกษา 3 คนที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ได้แก่ ฮัสซาน ทิ้งปากถ้ำ ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ, ธีระเทพ จิตหลัง และศุภวิชญ์ แซะอามา ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

จำเลยทั้งสามต่อสู้ว่า กิจกรรมคาร์ม็อบที่เกิดขึ้นไม่ได้มีความเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 เนื่องจากเกิดขึ้นในที่โล่งแจ้ง พยานโจทก์ทุกปากรับว่าผู้เข้าร่วมทุกคนใส่หน้ากากอนามัย และมีการเว้นระยะห่างระหว่างกัน การรอเคลื่อนขบวนรถในช่วงต้นใช้เวลาไม่นานนัก ก่อนขบวนรถจะเคลื่อนไปบนถนน เหมือนการสัญจรโดยรถตามปกติ ไม่ได้มีการรวมตัวกันที่ทำให้เกิดความเสี่ยง กิจกรรมยังเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่มีเหตุวุ่นวาย และไม่ได้มีการทำผิดกฎจราจร ทั้งหลังกิจกรรม ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิดทั้งในส่วนของผู้เข้าร่วมและเจ้าหน้าที่ที่ติดตามการชุมนุม

ย้อนอ่านบันทึกการสืบพยาน บันทึกคดีคาร์ม็อบสตูล สามนักศึกษาต่อสู้กิจกรรมไม่เสี่ยงโรค ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากาก ไม่มีใครติดเชื้อ

.

เวลา 09.05 น. จำเลยทั้ง 3 พร้อมทนายความเดินทางมาถึงศาลจังหวัดสตูลก่อนเวลานัด โดยมีประชาชนในพื้นที่แวะมาให้กำลังใจ และมีผู้สังเกตการณ์ร่วมติดตามฟังคำพิพากษาด้วย

เวลา 09.40 น. ผู้เข้าฟังการพิจารณาทั้งหมดเดินทางไปยังห้องพิจารณาคดีที่ 1 จนเวลา 9.50 น. ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเริ่มอ่านคำพิพากษาในคดีนี้

คำพิพากษาโดยสรุปวินิจฉัยใน 4 ประเด็นดังนี้

1. การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีผลทำให้คดีสิ้นสุดไปหรือไม่

ศาลเห็นว่า แม้จะมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ฉบับลงวันที่ 29 กันยายน 2565 ก็ตาม แต่ประกาศดังกล่าวเป็นเพียงประกาศซึ่งได้รับมอบมาจากกฎหมายลำดับพระราชบัญญัติเท่านั้น ประกาศดังกล่าวไม่มีผลเป็นการยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2) แต่อย่างใด หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตรา 18 ข้อ 2 ของประกาศดังกล่าวอยู่เช่นเดิม

กรณีจึงไม่ใช่เป็นการยกเลิกความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 แต่อย่างใด ดังนั้นการกระทำที่ได้กระทำไปในระหว่างที่บรรดาข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งนั้น มีผลบังคับใช้อยู่ จึงยังเป็นความผิด

2. จำเลยเป็นผู้จัดคาร์ม็อบจึงมีผลทำให้จำเลยต้องขออนุญาตก่อนหรือไม่

จากการที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยทั้งสามมีพฤติการณ์ที่อาจพิจารณาได้ว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมคาร์ม็อบในครั้งนี้  ด้วยเหตุว่าในอดีตจำเลยที่ 1 เคยเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน และจำเลยที่ 2 เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พรรคโดมปฏิวัติ ตำแหน่งกรรมาธิการส่งเสริมประชาธิปไตยและความเท่าเทียม อีกทั้งยังมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง

ส่วนจำเลยที่ 3 ก่อนเกิดเหตุ ได้โพสต์ขอความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดคาร์ม็อบไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ทั้งยังปรากฏอีกว่าจำเลยทั้งสามได้ทำการแชร์โพสต์ต่อจากเพจ “ราษฎรสตูล” หรือเพจ “ราษฎรใต้” ลงบนเฟซบุ๊กของตนเองด้วย

ในวันเกิดเหตุพบจำเลยทั้งสามได้ปรากฏตัวในที่เกิดเหตุ ทั้งยังมีการไลฟ์สดจากเพจ “ราษฎรสตูล” จากการนำสืบของพยานโจทก์ เบิกความว่าในคลิปไลฟ์สดดังกล่าวเห็นเพียงใบหน้าของจำเลยที่ 1 เท่านั้น แต่จำได้ว่าเสียงที่ปรากฏอยู่ในคลิปไลฟ์สดนั้นเป็นเสียงของจำเลยที่ 2  จากเหตุผลข้างต้นศาลเห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอจะที่จะระบุได้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดกิจกรรมคาร์ม็อบในครั้งนี้

อย่างไรก็ดี เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามหรือคนอื่นๆ ในที่ชุมนุมได้ขออนุญาตการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบในครั้งนี้ แม้พยานหลักฐานจะชี้ไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดหรือไม่ แต่จำเลยทั้งสามก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของผู้เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบในครั้งนี้ และเมื่อปรากฏว่าไม่มีผู้ร่วมชุมนุมคนใดในที่ชุมนุมได้ขออนุญาต ผู้ร่วมชุมนุมทุกคนจึงต้องร่วมกันรับผิดชอบ

3. กิจกรรมคาร์ม็อบมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคหรือไม่

จากประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสตูล ห้ามจัดกิจกรรมที่มีบุคคลเข้าร่วมมากกว่า 20 คนขึ้นไป ซึ่งประมาณการจากยอดแชร์โพสต์ประชาสัมพันธ์ของเพจเฟซบุ๊ค “ราษฎรสตูล” และ ราษฎรใต้” ที่มียอดแชร์กว่า 80 แชร์ และแม้กิจกรรมคาร์ม็อบนี้จะมีความเสี่ยงน้อยตามที่จำเลยได้กล่าวอ้างไว้ เช่น สถานที่กิจกรรมเป็นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ผู้ชุมนุมได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด และภายหลังการชุมนุมจะไม่มีรายงานเหตุการณ์คลัสเตอร์ที่มาจากกิจกรรมดังกล่าวนี้ก็ตาม

แต่ในช่วงวันเกิดเหตุยังมีการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรงต่อเนื่อง อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลหรืองานวิจัยที่สามารถแสดงได้ชัดเจนและเป็นที่ยุติได้ว่าการกระทำเช่นใดถือเป็นการกระทำที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค รวมทั้งวิธีการป้องกันการแพร่เชื้อโรคที่ชัดเจนแต่อย่างใด

ศาลจึงเห็นว่ารัฐจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการให้เคร่งครัดไว้เสียก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่โรคระบาดให้ได้มากที่สุด และเมื่อจำเลยไม่กระทำตามมาตรการเช่นนั้น จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง

4. หลักแห่งความได้สัดส่วน

ศาลเห็นว่าแม้กิจกรรมคาร์ม็อบนี้จะมีการเรียกร้องเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่ในขณะนั้นสถานการณ์การแพร่เชื้อโรคยังคงรุนแรงอยู่ ประกอบกับไม่มีรายงานหรือวิจัยใดสามารถระบุได้ชัดเจนและเป็นที่ยุติได้ว่าการกระทำเช่นใดถือเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคแต่อย่างใด กิจกรรมคาร์ม็อบนี้จึงไม่มีความได้สัดส่วนตามหลักแห่งความได้สัดส่วนระหว่างวัตถุประสงค์ของการเรียกร้องกับผลที่คาดได้ว่าจะตามมาต่อไป

ศาลพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษาให้รอการกำหนดโทษ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ด้วยเหตุที่จำเลยทั้งสามเป็นนักศึกษาซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ และกิจกรรมที่ได้ทำนั้นมีเจตนาที่จะกระทำโดยสุจริตมุ่งหวังต่อประโยชน์ส่วนรวม

.

ภาพประชาสัมพันธ์กิจกรรมคาร์ม็อบสตูล

.

หลังฟังคำพิพากษาคดีนี้ ธีระเทพ จิตหลัง จำเลยที่ 2 เปิดเผยถึงความรู้สึกว่า ฟังแล้วยังรู้สึกมึนงงกับเหตุผลประกอบการวินิจฉัยของศาล ที่เห็นว่าพวกตนยังมีความผิดตามฟ้อง   

“รู้สึกมึนงงกับเหตุผลที่ศาลให้ เช่น เรื่องการที่หลักฐานยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าพวกเราเป็นคนจัดหรือไม่ แถมยังพิสูจน์ไม่ได้อีกว่าเราเป็นเจ้าของเพจที่เชิญชวนไหม แล้วศาลก็ยอมรับเองว่าพวกเราเป็นผู้เข้าร่วม แต่ก็มาลงโทษพวกเราเสมือนเป็นผู้จัด ซึ่งมีหน้าที่ต้องไปแจ้งขออนุญาตตามคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลก่อน แต่ก็ไม่ได้รู้สึกผิดหวัง เพราะเราไม่ได้มีความหวังกับกระบวนการยุติธรรมไทยในยุคนี้อยู่แล้ว ทั้งระบบศาล อัยการ เราไม่ได้มีความหวังกับระบบตั้งแต่แรกอยู่แล้ว” ธีระเทพระบุ

ด้านหนึ่งในทนายจำเลย เปิดเผยว่า ในตอนแรกคิดว่าคดีนี้ศาลน่าจะตัดสินยกฟ้อง เพราะมีรูปแบบความคล้ายคลึงกับคดีอื่นๆ เช่น คดีคาร์ม็อบที่จังหวัดสงขลา ซึ่งผลออกมาเป็นการยกฟ้อง แต่ก็สังเกตว่าในช่วงของการสืบพยานโจทก์ ศาลได้พูดจาโน้มน้าวให้จำเลยทั้งสามรับสารภาพเพื่อรอกำหนดโทษ ดูเหมือนศาลเพียงแค่พยายามปรับเหตุผลให้เข้าที่วางไว้เท่านั้น

อีกทั้งทนายความมองว่าคำพิพากษาที่ออกมาประกอบกับหลักฐานต่างๆ ที่นำสืบกันในชั้นศาลนั้น มีความบกพร่องทั้งในส่วนของการตีความกฎหมายและการให้เหตุผลประกอบการวินิจฉัย เช่น การที่ศาลมองว่าจำเลยทั้งสามเป็นเพียงผู้เข้าร่วมกิจกรรม แต่จำเป็นต้องไปขออนุญาตจัดกิจกรรมก่อนเสียเอง ทั้งๆ ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดกิจกรรมคาร์ม็อบในครั้งนี้  เป็นต้น

ทั้งนี้ทนายความเห็นว่าจะอุทธรณ์คำพิพากษาคดีนี้ต่อไป

.

————————-

* บันทึกการสังเกตการณ์โดยทีมงาน “กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach)”

.

X