เดือนเมษายนที่ผ่านมา มีคดีทางการเมืองเพิ่มขึ้นไม่มากนัก โดยมีคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้น 2 คดี แต่ในคดีเดิมนั้น มีทั้งคดีที่อัยการทยอยสั่งฟ้อง และศาลมีคำพิพากษา โดยในเดือนที่ผ่านมามีคำพิพากษาคดีในข้อหานี้อีกอย่างน้อย 2 คดี ส่งผลให้มีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำเพิ่มอีก 1 คน ได้แก่ กรณีของพรชัย ที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนคดีชุมนุมอื่น ๆ จากช่วงปี 2563-65 ก็ยังมีการสืบพยานต่อเนื่อง และศาลมีคำพิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกมาอีก 4 คดี มีทั้งยกฟ้อง-เห็นว่ามีความผิด
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,954 คน ในจำนวน 1,295 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงเดือนมีนาคม มีคดีเพิ่มขึ้น 2 คดี
หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 4,002 ครั้ง
สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่
1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 272 คน ในจำนวน 303 คดี
2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 152 คน ในจำนวน 50 คดี
3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,466 คน ในจำนวน 669 คดี
(คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง ทั้งนี้เดือนที่ผ่านมา ศูนย์ทนายฯ ตรวจสอบพบว่ามีการนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีหลายคดี แต่นับจำนวนคนซ้ำกัน ทำให้มีการแก้ไขข้อมูลใหม่ จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีจึงลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้านี้ แต่จำนวนคดีไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป)
4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 181 คน ในจำนวน 99 คดี
5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 201 คน ในจำนวน 224 คดี
6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 43 คน ใน 25 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี
จากจำนวนคดี 1,295 คดีดังกล่าว มีจำนวน 561 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 734 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่าง ๆ
.
.
แนวโน้มการดำเนินคดีในช่วงเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้
คดี ม.112 ใหม่ 2 คดี แนวโน้มเพิ่มในพื้นที่ภาคใต้ และยังทยอยมีผู้ถูกคุมขังเพิ่ม
เดือนที่ผ่านมามีคดีใหม่เพิ่มขึ้นไม่มาก โดยทั้งสองคดีที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้ สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เท่าที่ทราบข้อมูล เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 303 คดีแล้ว
สำหรับสองคดีที่เพิ่มขึ้นในเดือนเมษายน เป็นคดีจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กทั้งคู่ โดยคดีหนึ่งเป็นกรณีที่ บก.ปอท. ผู้ถูกดำเนินคดีเป็นชาวจังหวัดเชียงใหม่ จากการโพสต์ข้อความ 1 โพสต์ในช่วงปี 2564 และได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตนเองไปแล้ว ก่อนติดต่อมายังศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทราบว่าการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนเกิดขึ้นโดยไม่มีทนายความเข้าร่วมแต่อย่างใด จึงต้องติดตามสถานการณ์คดีในชั้นถัดไป
ส่วนอีกคดีหนึ่ง เป็นคดีในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ประชาชนจากจังหวัดบุรีรัมย์เพิ่งได้รับหมายเรียกในคดีนี้ และพบว่าคดีมีแกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันฯ เป็นผู้กล่าวหาในพื้นที่นี้เช่นเดียวกับหลายคดีก่อนหน้านี้ คดีนี้อยู่ระหว่างรอนัดหมายพนักงานสอบสวนไปเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในเดือนพฤษภาคมนี้
คดีมาตรา 112 ในพื้นที่ทางภาคใต้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงปีนี้ เนื่องจากพบว่ากลุ่มปกป้องสถาบันฯ กลุ่มดังกล่าวได้ไปแจ้งความกล่าวหาคดีบนโลกออนไลน์ไว้จำนวนมากในหลายจังหวัดแถบพื้นที่นี้
.
.
ส่วนคดีมาตรา 112 ที่ดำเนินอยู่ในชั้นศาล เดือนที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษาออกมา 2 คดี เช่นกัน โดยแยกเป็นคำพิพากษาในศาลชั้นต้น 1 คดี และในศาลอุทธรณ์ 1 คดี
คดีแรก ได้แก่ คดีของอานนท์ นำภา กรณีปราศรัยในการชุมนุม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน’ หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 ที่ลานหอศิลปกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 ซึ่งคดีนี้มีการสืบพยานต่อสู้อย่างเข้มข้นในชั้นศาล นำสืบถึงการปราศรัยที่เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของพระราชอำนาจในสมัยรัชกาลที่ 10 ที่อาจขัดต่อหลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเจตนาการวิพากษ์วิจารณ์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวของจำเลย ด้วยความปรารถนาดีให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ
ก่อนศาลอาญากรุงเทพใต้จะมีคำพิพากษาเห็นว่าคำปราศรัยของอานนท์เป็นการใส่ความรัชกาลที่ 10 เป็นการหมิ่นประมาท โดยศาลยืนยันว่ามาตรา 112 ไม่ได้มีเหตุยกเว้นความผิดในทำนองเดียวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ที่มีการยกเว้นความผิดให้กับการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต การติชมด้วยความเป็นธรรม หรือมีการยกเว้นโทษ ให้กับการพิสูจน์ได้ว่าข้อความที่กล่าวเป็นความจริง ศาลลงโทษจำคุกอานนท์ 3 ปี แต่เห็นว่าให้การเป็นประโยชน์ จึงลดเหลือจำคุก 2 ปี รวมโทษกับข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นโทษจำคุก 2 ปี 20 วัน
คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 3 ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีของอานนท์ ทำให้รวมโทษจำคุกทั้งหมดแล้ว เขาถูกศาลพิพากษาโทษไปแล้วรวม 10 ปี 20 วัน ทั้งสามคดีเขายังต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ต่อไป ทั้งยังมีคดีที่ยังไม่มีคำพิพากษารออยู่อีกถึง 11 คดี
สถานการณ์การดำเนินคดีจำนวนมากต่อแกนนำนักกิจกรรมหรือผู้ร่วมปราศรัยในการเคลื่อนไหวในช่วงปี 2563-64 ยังเป็นประเด็นใหญ่ที่ยังดำเนินต่อไป
.
.
ส่วนอีกคดีหนึ่ง ได้แก่ คดีของพรชัย วิมลศุภวงศ์ ชาวปกาเกอะญอ ที่ถูกกล่าวหาที่จังหวัดเชียงใหม่ จากกรณีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 4 โพสต์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เห็นว่ามีความผิดทั้งหมด ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 12 ปี ต่อมาศาลฎีกายังมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวพรชัย โดยเห็นว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายืน หากปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่าจำเลยอาจจะหลบหนี
ทำให้พรชัยถูกคุมขังระหว่างฎีกาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา นับเป็นผู้ต้องขังมาตรา 112 รายล่าสุด รวมยอดผู้ต้องขังในข้อหานี้ถูกคุมขังอยู่ไม่น้อยกว่า 27 คนแล้ว
ขณะที่อัยการก็ยังมีการทยอยฟ้องคดีมาตรา 112 อย่างต่อเนื่อง เดือนที่ผ่านมามีการสั่งฟ้องคดีของ “แบงค์-ต๊ะ” เหตุจากการโพสต์ภาพถือกระดาษข้อความหน้าพระบรมฉายาลักษณ์เมื่อเดือนมกราคม 2567 และคดีของ “รุ้ง-บี๋” บัณฑิตจากธรรมศาสตร์ กรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความในเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมช่วงปี 2564
รวมถึงการฟ้องคดีข้อหาหลักตามมาตรา 116 อย่างคดีของ “ตะวัน-แฟรงค์” กรณีถูกกล่าวหาบีบแตรใส่ขบวนเสด็จ ซึ่งทั้งสองคนก็ยังไม่ได้รับการประกันตัวจนถึงปัจจุบัน ทั้งหมดเป็นคดีที่ศาลอาญา
.
.
ไม่มีคดีชุมนุมเกิดขึ้นใหม่ แต่คดีเดิม ศาลสืบพยาน-มีคำพิพากษาอย่างต่อเนื่อง
ในเดือนเมษายน ไม่พบว่ามีคดีจากการชุมนุมคดีใหม่เกิดขึ้น ความคืบหน้ายังคงเป็นเรื่องการต่อสู้คดีจากการชุมนุมในช่วงปี 2563-65 ในชั้นศาล ซึ่งยังมีการสืบพยานในหลายคดี ทั้งคดีจากการชุมนุมคัดค้านนโยบายจีนเดียวช่วงการประชุม APEC2022 (สืบพยานเสร็จสิ้น ศาลแขวงปทมุวันนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 15 ก.ค. 2567) คดีเดินขบวนเรียกร้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่ยิงกระสุนยางใส่ “พายุ ดาวดิน” จนสูญเสียดวงตา (สืบพยานเสร็จสิ้น ศาลแขวงปทุมวันนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 12 มิ.ย. 2567) หรือคดีของกลุ่ม Wevo กว่า 45 คน ที่ถูกจับกุมที่ห้างเมเจอร์รัชโยธินในช่วงเดือนมีนาคมปี 2564 ก็ยังมีการสืบพยานอย่างต่อเนื่องที่ศาลอาญา ยาวมาจนถึงเดือนพฤษภาคมนี้
เดือนที่ผ่านมา ศาลยังมีคำพิพากษาคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมออกมาอีก 4 คดี โดยเป็นคดีในศาลชั้นต้น 2 คดี และศาลอุทธรณ์ 2 คดี พบว่ามีทั้งคดีที่ศาลยกฟ้อง และเห็นว่ามีความผิดจำนวนเท่า ๆ กัน
ศาลแขวงพระนครเหนือได้ยกฟ้องคดีของ 3 นักกิจกรรม กรณีชุมนุม #ม็อบ1กันยา2564 ที่หน้าพรรคพลังประชารัฐ โดยเห็นว่าในที่ชุมนุมมีกลุ่มคนหลากหลาย ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นผู้ชุมนุมหรือคนธรรมดาที่เดินผ่านไปมา การชุมนุมไม่แน่ชัดว่าเกินกว่า 25 คน ตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ นอกจากนี้ทุกคนในบริเวณนั้นสวมหน้ากากอนามัยเห็นว่าเพียงพอต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคแล้ว
ขณะที่คดีของวิชพรรษ ศรีกสิพันธุ์ จากกลุ่ม Wevo กรณีชุมนุมหน้าสถานทูตเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ศาลอุทธรณ์ก็มีคำพิพากษายืน ให้ยกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ลงโทษในข้อหาตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เห็นว่าจำเลยน่าจะทราบประกาศของเจ้าพนักงานควบคุมโรคที่ให้ยุติการชุมนุมแล้ว แต่ไม่ได้ปฏิบัติตาม ลงโทษปรับ 10,000 บาท
ส่วนคดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิด อีก 2 คดี คือคดีของอานนท์ นำภา จากการปราศรัยในการชุมนุมแฮรี่พอตเตอร์ 2 ดังกล่าวข้างต้น ศาลเห็นว่าจำเลยมีสถานะเป็นผู้จัดกิจกรรม แม้จะเพียงแค่โพสต์เชิญชวนก็ตาม แต่ไม่สามารถควบคุมให้ผู้ชุมนุมยืนห่างกันได้ ลงโทษจำคุกถึง 1 เดือน ให้การเป็นประโยชน์ลดเหลือ 20 วัน โดยอานนท์จะอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป เนื่องจากเขาต่อสู้คดีเรื่อยมาว่าไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว เพียงแต่ถูกเชิญมาร่วมปราศรัย
และอีกคดีหนึ่ง ได้แก่ คดีคาร์ม็อบสุรินทร์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่ามีความผิดตามศาลชั้นต้น เชื่อว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดกิจกรรม ลงโทษปรับคนละถึง 20,000 บาท
.
.
เดือนที่ผ่านมา อัยการก็เตรียมจะสั่งฟ้องคดีจากการชุมนุมในช่วงปี 2563 เพิ่มอีก ที่น่าสนใจได้แก่ คดีจากการชุมนุมที่ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563 ซึ่งคดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหาถึง 38 คน ทั้งที่ประชาชนหลายคนเป็นเพียงผู้เข้าร่วม ไปยืนดูเฉย ๆ หลังคดีคาอยู่กว่า 3 ปี อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งไม่ฟ้องข้อหาตามมาตรา 116 แต่มีคำสั่งให้ฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
หลังทราบว่าอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่เตรียมจะสั่งฟ้องคดีนี้ ทางตัวแทนผู้ต้องหาจึงได้ไปยื่นขอความเป็นธรรมกับอัยการอีกครั้ง เนื่องจากมีคดีลักษณะเดียวกันนี้ในพื้นที่เชียงใหม่ รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ อัยการก็สั่งไม่ฟ้องคดีทั้งหมดไปแล้ว ทำให้เกิดคำถามถึงมาตรฐานการสั่งคดีของอัยการอีกด้วย และคดีลักษณะนี้ถึงปัจจุบัน ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะแต่อย่างใด
แนวทางการพิจารณาคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมในช่วงสถานการณ์โควิด-2019 ทั้งในส่วนของอัยการหรือศาล ยังเป็นไปอย่างหลากหลายทิศทาง แนวโน้มคดีที่ต่อสู้ในชั้นศาล ศาลยังพิพากษายกฟ้องมากกว่าเห็นว่ามีความผิด ในอัตราส่วนราว 3 ต่อ 2 โดยยังไม่มีแนวคดีที่วินิจฉัยถึงชั้นฏีกาเกิดขึ้น แต่คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ น่าจะเริ่มมีคำพิพากษาในชั้นศาลสูงสุดนี้ออกมา
ขณะเดียวกัน ยังมีคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมช่วงที่ผ่านมา อีกเกือบ 400 คดีที่ยังดำเนินอยู่ ยังไม่สิ้นสุด สร้างภาระให้นักกิจกรรมและประชาชนหลายคน ที่ต้องต่อสู้คดีต่อไป
.